3 ฉากใหญ่สาดแสงไฟสุดบรรเจิด ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง ในงาน UNFOLDING BANGKOK
CEA จับมือทีมนักออกแบบแสงไฟ และ รฟท. ออกแบบภาพเคลื่อนไหวและแสงไฟสาดส่อง 'สถานีรถไฟหัวลำโพง' อวดความงามสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เปิดโฉมหน้าการท่องเที่ยวใหม่ให้กรุงเทพฯ สร้างเศรษฐกิจชุมชนพัฒนาสู่ความยั่งยืน
UNFOLDING BANGKOK เป็นชื่อโครงการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับ ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงของประเทศไทย ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ สู่การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เจ้าของโครงการนี้คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency - CEA
CEA มีแนวทางดำเนินโครงการ UNFOLDING BANGKOK ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน ในการนำ ทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิม มาสู่การออกแบบที่คงอัตลักษณ์ผสมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างสรรค์พื้นที่และย่านต่าง ๆ ใน กรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับ เศรษฐกิจชุมชน รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
การทำเช่นนี้จะเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสร้าง ‘Soft Power’ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง
พิธีเปิดกิจกรรม Living Old Building ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง 18 มี.ค.2566
หนึ่งในกิจกรรมของโครงการ UNFOLDING BANGKOK คือการจัดกิจกรรมในธีม ‘Living Old Building’ เป็นการย้อนรอย 'อาคารประวัติศาสตร์' ในกรุงเทพฯ
โดยนำพื้นที่อาคารที่มีคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ ซึ่งมักเป็น อาคารเก่า มาปรับปรุงและนำมาอนุรักษ์ ด้วยการสร้างความโดดเด่นและเน้นให้เห็นเอกลักษณ์ในการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม
สถานีรถไฟหัวลำโพง
ล่าสุด CEA ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดกิจกรรม Living Old Building ที่ สถานีกรุงเทพ หรือที่คุ้นกันในชื่อ สถานีรถไฟหัวลำโพง ผ่านการออกแบบแสงสีเสียงภายใต้คอนเซปต์ THE WALL 2023 : UNFOLDING HUA LAM PHONG ผลงานของกลุ่มนักออกแบบแสง Lighting Designers Thailand และ DecideKit แบ่งออกเป็น 3 ฉากพื้นที่แสดงแสงไฟดังนี้
ฉากที่ 1 : The Door
Projection Mapping Show บนอาคารด้านหน้าของสถานีรถไฟหัวลำโพง
พื้นที่ฉากแรกอยู่ที่ตัวอาคารและกระจงทรงโค้งเหนือประตูทางเข้า ‘สถานีกรุงเทพ’ หรือ สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์คของสถานีฯ มองเห็นได้ชัดเจนจากด้านนอกของอาคาร เป็นฉากเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อเข้าสู่พื้นที่ภายใน
CEA จัดแสดงภาพเคลื่อนไหวและแสงสีเสียงในลักษณะ Projection Mapping Show บนผนังอาคาร ช่วยขับให้สถาปัตยกรรมภายนอกของ ‘สถานีกรุงเทพ’ ที่งามอยู่แล้ว ดูมีชีวิต เรียกร้องความสนใจแปลกตากว่าที่เคย
สถาปัตยกรรมภายนอกของ ‘สถานีกรุงเทพ’
สถาปัตยกรรมภายนอกของ ‘สถานีกรุงเทพ’ เป็นอาคารรูป โดมสไตล์อิตาเลียน ผสมผสานกับศิลปะยุค เรอเนสซองส์ อันเป็นศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่เน้นลักษณะภายนอกของมนุษย์และธรรมชาติ
ตัวอาคารประกอบด้วยเสาปูนเปลือยสีขาว หัวเสามีลวดลายวิจิตร ประดับบานหน้าต่าง ราวบันได
อักษรปูนปั้นคำว่า ‘สถานีกรุงเทพ’ ติดอยู่ที่ด้านบนโถงระเบียงทางเข้าด้านหน้าอาคารสถานี ได้รับการออกแบบเมื่อ พ.ศ.2455 โดยนายมาริโอ ตามานโญ (Mr.Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาเลียนซึ่งขณะนั้นทำงานที่กรมโยธาธิการ
อักษรปูนปั้นชื่อสถานีกรุงเทพ
‘สถานีกรุงเทพ’ มีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แม้กระทั่งวัสดุในการก่อสร้างก็เป็นวัสดุสำเร็จรูปจากเยอรมนี ทำให้ ‘สถานีกรุงเทพ’ โดดเด่นกว่าสิ่งก่อสร้างใดๆ ในกรุงเทพมหานครในยุคสมัยนั้น
การแสดงแสงสีเสียงและภาพเคลื่อนไหวบนความงามของสถาปัตยกรรม ‘สถานีกรุงเทพ’ หรือที่เรียกกันคุ้นปาก หัวลำโพง ได้รับการออกแบบภายใต้ธีมชื่อ The Door สื่อถึงการสะท้อนจินตนาการของผู้คนสู่ก้าวย่างใหม่ของการเดินทางที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นชุมทางสำคัญของการเดินทางในยุคสมัยนั้น
Projection Mapping Show บนอาคารด้านหน้าของหัวลำโพง
Projection Mapping Show เล่าเรื่องการเดินทาง
“เราเปรียบสถานีหัวลำโพงเป็นเสมือนประตูวิเศษพาเราไปที่ไหนก็ได้ที่เหนือจินตนาการ ธรรมชาติที่สวยมากๆ จักรวาลก็ได้ หรือย้อนเวลาสมัยสร้างหัวลำโพง เราจึงเรียกธีมการแสดงแสงสีและภาพเคลื่อนไหวข้างหน้าตรงนี้ว่า The Door หรือประตู” ตัวแทนกลุ่มนักออกแบบให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’
ภาพเคลื่อนไหว แสงและสี ที่ปรากฏบนสถาปัตยกรรมอาคาร 'สถานีกรุงเทพ’ มีอาทิหัวรถจักรไอน้ำที่วิ่งออกจากสถานี มีภาพของป่าไม้ น้ำตก สัตว์ป่า ท้องทะเล สถานที่ที่รถไฟวิ่งผ่านหรือเป็นจุดหมายปลายทาง
ขณะที่เสียงประกอบการแสดงแสงสีและภาพเคลื่อนไหว ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับสถานที่ที่รถไฟวิ่งผ่าน และเน้นเสียงเบสหนักๆ ให้ได้ความรู้สึกของเสียงรถไฟวิ่ง
ฉากที่ 2 : The People
โถงอาคารที่พักคอยผู้โดยสารของ ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’
ฉากนี้จัดแสดงภายในโถงอาคารของสถานีรถไฟกรุงเทพ ในส่วน โถงที่พักคอยผู้โดยสาร ที่ดูเรียบง่าย ได้รับการออกแบบแสงในธีม The People หมายถึง การพบปะกันของผู้คน ซึ่งเดินทางมาใช้บริการสถานีรถไฟหัวลำโพงที่เต็มไปด้วยความคึกคัก
สะท้อนความคึกคักของผู้คนที่มาพบปะกันผ่าน แสงไฟ ที่สาดส่องให้เคลื่อนไหวไปมาบนเพดานประวัติศาสตร์ทรงโค้งของหัวลำโพง และจัดให้มี การแสดงดนตรี หลากหลายรูปแบบที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา ระหว่าง 18.00-22.00 น. เฉพาะวันที่ 24-26 มี.ค.2566
- วันศุกร์ที่ 24 มี.ค. เป็นการแสดงดนตรีของ Dulyasith $ Friends, วงสุนทราภรณ์, Southern Boys Thai Rockability
- วันเสาร์ที่ 25 มี.ค. รองแง็งสวนกวี, E-San Fusion, Swing Dance at Hua Lamphong Railway Station by the Stumbling Swingout & Jelly Roll Dance Club
- วันอาทิตย์ที่ 26 มี.ค. เริ่มเวลา 16.00 น. บางกอกระบำสุ่ม(Bangkok Random Dance), สะบัด (Sa-Bad), Dr.Pathorn’s Kitasewi และเวลา 20.15 น. HED นักดนตรีจากภูมิภาคอีสาน
ร้านป๊อปอัปจำหน่ายของกินในงาน
นอกจากนี้ยังมีป๊อปอัปคาเฟ่ที่คัดสรรมาให้ได้ช้อปชิมหลายร้านค้า อาทิ aircraft cola - เครื่องดื่มโคล่า, Mother Roaster - กาแฟ, กินตามอัธยาศัย - ไอศกรีมแซนด์วิช, เกี๊ยวปลาสุขใจ - เกี๊ยวปลา, เปาเหล่ากง - ซาลาเปา ขนมจีบ, ไสใส - น้ำแข็งไสน้ำตาลสดดอกจาก และ ชิกกี้ชิก - ไก่ทอด เฟรนช์ฟรายทอด ให้บริการเฉพาะวันที่ 24-26 มี.ค. เวลา 16.00 - 22.00 น.
ฉากที่ 3 : The Emotion
รถไฟหัวรถจักรไอน้ำ
ฉากที่3 เป็นการจัดแสงไฟที่บริเวณ ชานชาลา เปรียบเสมือนพื้นที่แห่ง การพบปะและจากลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่แสงไฟจะช่วยสร้างอารมณ์ร่วมในการพบและจากลาของผู้คนในอดีตซึ่งเคยโดยสารรถไฟหัวรถจักรไอน้ำที่ผ่านกาลเวลามาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
“เมื่อก้าวไปถึงชานชาลา ถ้าจากกันก็เศร้า หรือคนเดินทางไปท่องเที่ยวก็จะตื่นเต้น หรือคนที่เดินทางมาพบกันก็จะดีใจ พื้นที่นี้เต็มไปด้วยอารมณ์ จึงออกแบบแสงไฟให้มีความดราม่าโดยใช้แสงไฟที่มีความตัดกันสูง ทั้งความสว่างและสีสัน” ตัวแทนกลุ่มนักออกแบบอธิบายถึงแสงสีที่ปรากฏอยู่ที่บริเวณชานชาลา
พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างฉากที่ 2 และฉากที่ 3
ความน่าสนใจของแสงสี ‘ฉากที่ 3’ เริ่มจากพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างโถงพักคอยผู้โดยสาร (ฉากที่ 2) กับชานชาลา (ฉากที่ 3) กลุ่มนักออกแบบปรับอารมณ์ที่สนุกสนานสู่ความดราม่าด้วยกลุ่มหมอกควันกับแสงเลเซอร์สีฟ้าใต้ซุ้มประตูออกสู่ชานชาลา
สปอตไลท์ เวทีแสดงความรู้สึก ณ ชานชาลา
เมื่อก้าวสู่พื้นที่แรกของชานชาลา ไฟส่องสว่างตามปกติถูกดับลง มีเพียงแสงไฟ สปอตไลต์ ส่องเป็นดวงใหญ่ๆ ลงบนพื้นอันมืดมิด ดูราวแสงไฟในโรงละครที่สาดส่องจากเพดานไปยังนักแสดงหลักที่ยืนอยู่บนเวที
เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานสร้างสรรค์อารมณ์กลางสปอตไลท์ สวมบทใดก็ได้ตามแต่ใจ..เมื่อมาถึงชานชาลา
เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี กับ ป้ายกรุงเทพฯ
เมื่อเดินลึกเข้ามาจะพบกับป้ายบอกว่าที่นี่คือ ‘กรุงเทพฯ’ ขนาบข้างด้วย ‘เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี’ สัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟ และต้นไม้ประดิษฐ์ที่เต็มไปด้วยดอกสีชมพู
แสงไฟที่สาดส่องลงมาทำให้ฉากนี้สวยโรแมนติกราวภาพวาด ผู้เข้าชมงานต่างผลัดกันเข้าไปนั่งเก็บภาพประทับใจ
กำแพงสีขาวสาดแสงแบล็คไลต์
เดินต่อไปมี กำแพงสีขาว ขนาดใหญ่ จำนวน 3 กำแพง ตั้งชื่อว่า The Wall 2023 ให้ผู้เข้าชมงานได้เขียนความคิดเห็น ความในใจ ตลอดจนคำอวยพร กำแพงนี้สาดส่องด้วยแสงไฟแบล็คไลต์ จึงดูสวยงามแปลกตาน่าดึงดูดใจ
ถัดจากกำแพงเหล่านี้คือชานชาลาอันยาวเหยียดทอดตัวขนานไปกับรางรถไฟ ทีมงานติดตั้งแสงไฟสีแดงอาบไล้ไปตลอดความยาวของชานชาลา เป็นชานชาลาที่ไม่มีโอกาสเห็นได้ในความเป็นจริง
ชานชาลาสถานีหัวลำโพงถูกย้อมด้วยแสงไฟสีแดง
สีไฟสีแดงสร้างอารมณ์และความรู้สึกให้กับผู้เข้าชมงานแตกต่างกันไปแล้วแต่ภูมิหลัง ความนึกคิดและประสบการณ์ของแต่ละคน
หลากหลายอารมณ์ ณ ชานชาลาสีแดง
แต่ที่แน่ๆ เท่าที่สังเกตดู ทุกพื้นที่ของชานชาลา นับตั้งแต่แสงสปอตไลต์บนพื้น ป้ายกรุงเทพฯ กับเก้าอี้ไม้รูปวงรี กำแพง และชานชาลาสีแดง กลายเป็นจุดที่ผู้เข้าร่วมงานพากับเก็บภาพความประทับใจผ่านการถ่ายรูปที่แต่ละคน แต่ละคู่ แต่ละกลุ่ม สร้างสรรค์การโพสต์กันอย่างเต็มที่
แอบดูหน้าจอสมาร์ทโฟนของแต่ละคน ต่างก็ได้ภาพที่สวยงามแปลกตาหลากอารมณ์ แสงไฟที่สาดส่องลงไปแต่ละจุด สร้างบรรยากาศภาพที่แตกต่างกันไป เพียงแค่การโพสต์ท่าที่ต่างกัน
การแสดงภาพเคลื่อนไหวและแสงไฟในกิจกรรม Living Old Building ตามโครงการ UNFOLDING BANGKOK ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง ภายใต้คอนเซปต์ THE WALL 2023 : UNFOLDING HUA LAM PHONG เปิดให้ชมตั้งแต่วันนี้-26 มีนาคม 2566 ระหว่างเวลา 19.00-22.00 น.
ภาพ : กอบภัค พรหมเรขา