'ณรงค์ชัย' CFO บมจ.สบาย เทคโนโลยี : กว่าจะพิชิต 6 สนามมาราธอนระดับโลก
แรงฮึดแบบไหนที่'ณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์' สบาย เทคโนโลยี จัดสรรเวลาวิ่งและวิ่งแบบไม่ธรรมดา ไต่ระดับพิชิต '6 สนามมาราธอนระดับโลก' ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับนักวิ่งมาราธอนสมัครเล่น
นักวิ่งทั่วไปรู้ดีว่า การวิ่งมาราธอน นอกจากสภาพร่างกายที่พร้อม ยังต้องมีวินัย ฝึกวิ่งให้ถูกวิธีอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ‘ใจ’ต้องแน่วแน่ เพราะการวิ่งมาราธอนไม่ใช่ 5k10k แต่เป็นฟูลมาราธอน 42 กิโลเมตร ซึ่งไม่ง่ายเลย เมื่อวิ่งในสนามเมืองไทยได้แล้ว เป้าหมายต่อไปของนักวิ่งสมัครเล่นทั่วไปคืออยากพิชิต 6 สนามมาราธอนระดับโลก
เฉกเช่น บ๊อบ-ณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานบัญชีและการเงิน ( GROUP CFO) บริษัทสบายเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและการบัญชีที่ผ่านการทำงานสถาบันการเงินต่างๆมามากมาย
อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงินธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี (ดีอี) บมจ.การบินไทย มีความมุ่งมั่น ฝึกฝน จนสามารถพิชิต 6 Stars Abbott World Marathon Major (คนไทยคนที่ 2 ที่เก็บครบด้วยเวลาเพียง 2 ปี ในช่วงปี 2560-2561) ที่วิ่งทัั้งสนามโตเกียว, บอสตัน, ลอนดอน, เบอร์ลิน, ชิคาโก และนิวยอร์กซิตี้ มาราธอนและยังไม่หยุดแค่นั้น...
ในเรื่องการวิ่ง ณรงค์ชัย น่าจะเป็นผู้บริหารไม่กี่คนที่ไปถึงจุดนั้นจะด้วยลูกฮึดหรืออะไรก็ตาม เชื่อว่า คงเป็นแรงบันดาลใจให้คนมากมายอยากวิ่งบ้าง
ลองขยับตัวออกวิ่ง แล้วจะรู้ว่า การ fulfilling ในสิ่งที่ผู้บริหารคนนี้บอกเล่าเป็นอย่างไร จุดประกายทอล์คฉบับนี้ ชวนขยับเท้าวอร์มก่อนวิ่งกับบทสนทนา...
บ๊อบ-ณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานบัญชีและการเงิน ( GROUP CFO) บริษัทสบายเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY
- กว่าจะเป็นผู้บริหารที่เชี่ยวชาญทั้งการเงิน การตลาดและเทคโนโลยี อยากให้เล่าสักนิดว่าผ่านอะไรมาบ้าง
เริ่มทำงานตั้งแต่อยู่ต่างประเทศ 5 ปี (จบปริญญาโทบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย Pittsburgh และ ปริญญาโท Info Systems มหาวิทยาลัย Golden Gate สหรัฐอเมริกา) รวมๆ แล้วทำงานในตำแหน่งบริหารประมาณ 8 แห่ง ตำแหน่งล่าสุดทำงานที่สบาย เทคโนโลยี
โดยปกติผมเป็นคนทำงานหนักและจริงจัง หากต้องทำเรื่องใหม่ๆ ผมจะลงมือทำก่อน จากนั้นให้ลูกน้องทำต่อ ถ้าตัวเราไม่รู้แล้วให้ลูกน้องทำ อาจถูกๆ ผิดๆ เราต้องรู้ด้วย เรื่องบัญชีผมไม่ได้รู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมมีลูกน้องที่เป็นนักบัญชี
เพราะการเป็นนักการเงินต้องเข้าใจธุรกิจของบริษัท คุยกับนักลงทุน นักวิเคราะห์ ผู้ถือหุ้น นายธนาคารได้ การทำงานด้านการเงินการธนาคาร ความน่าเชื่อถือสำคัญมาก หากขาดสิ่งนี้ ไม่ว่าองค์กรจะใหญ่แค่ไหน ผู้บริหารทำงานมานานเพียงใด ก็ล้มครืน สิ้นสุดได้ในพริบตา
ผมเป็น CFO มานานกว่า 15 ปี ต้องชัดเจนในจุดยืน หลักการและความถูกต้อง ของตัวเลข ต้องไม่ตึงเป๊ะจนขาด ต้องเข้าใจธุรกิจ ต้องมีความสมดุลระหว่างการควบคุมทางการเงินและธุรกิจที่ต้องก้าวไปด้วยกัน
ผู้พิชิต 6 Stars Abbott World Marathon Major (คนไทยคนที่ 2 ที่เก็บครบด้วยเวลาเพียง 2 ปี ในช่วงปี 2560-2561)
อะไรหล่อหลอมและผลักดันให้คุณเป็นมืออาชีพด้านนี้
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนจะเลือกเรียนซัมเมอร์กันและได้ไปเที่ยว แต่ผมไม่เคยเรียนซัมเมอร์ ต้องไปช่วยงานพ่อที่ไซค์งานก่อสร้าง พ่อผมสอนเรื่องการมีวินัยและการทำงานหนัก ต้องเข้าใจในสิ่งที่ทำ ไม่ใช่จำ เวลาพ่อไปเจรจาธุรกิจ ผมก็ไปด้วยผมก็เลยพอมีหัวธุรกิจบ้าง
ในวัยเด็ก พ่อสอนว่า ชีวิตหนึ่งมีของควรค่าแก่การสะสม 3อย่าง 1.ทรัพย์สิน 2.ร่างกาย ต้องดูแลสุขภาพให้ดี และ 3.เครดิต ทำตัวให้น่าเชื่อถือ สามารถไว้วางใจได้
ชีวิตผมก็ค่อยๆ ไต่ระดับ ก่อนหน้านี้ทำงานสถาบันการเงินต่างชาติหลายแห่ง นโยบายก็ปรับไปตามผู้บริหาร ได้เรียนรู้การปรับตัว ทำให้ผมเข้าใจเรื่องการเงิน บริหารข้อมูลเชิงลึกมากกว่าแค่ตัวเลขกำไรขาดทุน
- ทำงานจนมาถึงจุดอิ่มตัวในวัย 58 คุณหยุดทำงานไปหนึ่งปี ?
จริงๆ แล้วเป็นคนบ้างาน ทำงานมาตลอด หยุดพักในช่วงโควิดปีหนึ่ง ช่วงแรกๆ ที่ไม่ทำงานก็เบื่อ ตื่นมาก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า วันนี้ทำอะไรดี จนกระทั่งถูกเรียกเข้าไปช่วยทำแผนฟื้นฟูการบินไทย เพราะเขาต้องการคนที่รู้เรื่องการบินไทย และเคยทำงานที่นั่น แต่เข้าไปทำงานคนละสถานภาพ ต่างจากเมื่อก่อนแล้วก็ได้มีโอกาสมาร่วมงานกับสบาย เดือนมีนาคม 2564
องค์กรก็เหมือนคนนั่นแหละ พอถึงจุดหนึ่งก็จะทำตามความเคยชิน เหมือนคนชอบนอนดึก กินอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ วันดีคืนดี อาจป่วยและไม่สบาย ซึ่งมักจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะตัวคนหรือองค์กร
"สนามวิ่งที่ดีที่สุดในมุมผมคือลอนดอน ถ้าวิ่งยากสุด โหดสุด น่าจะบอสตัน ปี 2561 สภาพอากาศเลวร้ายสุดๆ มีทั้งเนินและฝนตก"
- อะไรทำให้คุณหันมาออกกำลังกาย
ผมเป็นคนจริงจังเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่างานหรือชีวิต ออกกำลังกายตั้งแต่อายุ 25 ตอนนั้นตีกอล์ฟ คนที่สอนผมตีกอล์ฟคือ พ่อ ผมก็เคย เถียงกับพ่อ เพราะผมไม่เข้าใจในที่พ่อพูด วิธีการเรียนที่ดีที่สุด คือการได้เห็นตัวเองก็เลยถ่ายวิดีโอไว้ จะทำให้รู้ว่าตีผิดยังไง เช่นเดียวกับการวิ่ง ก็จะรู้ว่าวิ่งผิดตรงไหน
ตอนผมตีกอล์ฟ ผมลองสอบเป็นทีชชิ่งโปร (Teaching Pro) จนได้ใบประกาศ ได้แล้วก็จบ ไม่ได้ไปสอนที่ไหน ตอนนี้ผมก็ยังตีกอล์ฟ แต่ตีไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน บางคนบอกว่าการตีกอล์ฟเป็นการเข้าสังคม แต่ผมมองว่าเป็นการฝึกจิต และเวลาตีกอลฟ์กับใคร ผมจะพอรู้ว่า คนๆ นั้นนิสัยอย่างไร เช่นเดียวกับพ่อบอกว่าทำงานกับใครก็ต้องสังเกตและรู้ แนวทาง
- เห็นบอกว่า ตีกอล์ฟจนมีปัญหาเรื่องหลัง จึงหันมาฝึกโยคะ ?
ตีกอล์ฟจนปวดหลัง ก็เลยหันไปฝึกโยคะ ไปเรียนอาทิตย์ละครั้งผ่านไป 3 ปีอาการดีขึ้น ตอนฝึกโยคะอายุ 42 กว่าๆ ข้อดีของโยคะคือ ร่างกายยืดหยุ่น ฝึกลมหายใจ และที่สำคัญได้ออกกำลังกายโดยไม่บาดเจ็บ ทุกวันนี้ก็โยคะจริงจังพอควร สัปดาห์ละครั้ง
- เริ่มวิ่งจริงจังตอนไหน
ประมาณปี 2555 คุยกับเพื่อนสนิท เอกชัย สุขสถาพร ท้าทายกันว่า ก่อนตายจะวิ่งมาราธอนให้ได้ซักครั้ง ถัดไป 2 ปี ปี 2557ตอนนั้นอายุ 52 ก็เริ่มหัดวิ่ง 2k ก่อน เกือบตาย จากนั้นค่อยๆขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
งานแรกที่สมัครไปวิ่งคือ งานวิ่งวันแม่ 12 สิงหา 2557 ระยะ 10k ตอนนั้นกลัวว่าจะวิ่งไม่ไหว แต่รู้ว่ายังไงๆต้องให้จบเพื่อ ได้เหรียญและต้นมะลิเอาไปให้แม่ วิ่งทุกปี ผ่านมา 5 ปีจนเขาเลิกจัดงาน จากนั้นผมก็วิ่งฮาล์ฟมาราธอน 21กิโลเมตร แล้ววิ่งฟูลมาราธอน 42 กิโลเมตร ปี 2558 ร่างกายพังยับเยิน เพราะฝึกวิ่งเองแบบมวยวัด
จากนั้นก็วิ่งฟูลมาราธอนในเมืองไทย 3-4 งาน ตอนทำงานที่การบินไทย ก็มีคนพูดตลกๆ ว่าทำงานยังหนักไม่พอ การวิ่งในงานต่างๆ ไม่ได้เพื่อรางวัลหรอก ก็แค่ได้เหรียญเมื่อตอนวิ่งจบ แต่มันรู้สึกดีมาก มัน fulfilling มาก
อีกเหตุผลที่ผมวิ่งจริงจัง เพราะช่วงทำงานธนาคาร เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ชีวิตวนเวียนกับงานเลี้ยงรับรองลูกค้าและกิจกรรมเดินทางเยอะสุดปีละ 40-50 เที่ยว แม้ผมจะสุขภาพดีพอควร แต่ น้ำหนักเพิ่มเป็น 78-79 กิโลกรัม ช่วงนั้นไม่ได้ตีกอล์ฟ ยังอยากออกกำลังกาย ก็ลองวิ่ง แค่มีรองเท้าและชุดวิ่งติดไปเวลาเดินทางต่างประเทศ
จากนั้นไปวิ่งที่ลอนดอน อังกฤษ ปี 2560 ทำเวลาได้ 5 ชั่วโมงกว่าๆ ครั้งนั้นก็เจ็บมาก แต่สนุก วิวสวยมาก วิ่ง ผ่านแม่น้ำเทมส์(Thames) ผ่านเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) ข้ามสะพานTower Bridge กลางกรุงลอนดอน ได้ซึมซับบรรยากาศมากกว่าการนั่งรถทัวร์ผ่านที่ต่างๆ
เหรียญจาก 6 สนามมาราธอนระดับโลก (เวิลด์ มาราธอน เมเจอร์ส World Marathon Majors)
- หลังจากวิ่งแล้วบาดเจ็บหลายครั้ง มีคนแนะนำว่าควรมีโค้ช ?
กว่าจะมีโค้ช ผมวิ่งมาราธอนมาถึงครั้งที่ 5-6 วิ่งแล้วเหนื่อย เจ็บตัวตลอด โค้ชจะช่วยสองเรื่องคือ ทำให้สมรรถภาพของร่างกายดีขึ้น และทำให้ไม่บาดเจ็บ มีนักกายภาพดูแลให้คำแนะนำด้วยมีโปรแกรมการวิ่งแต่ละวันให้ 5K 8K 10K วิ่ง 200, 400เมตรแบบเร็วแล้วหยุดพัก (HIIT)มีนาฬิกา ทำให้รู้ว่า ระหว่างวิ่งหัวใจเต้นระดับไหน ทำให้เราเข้าใจสภาพร่างกาย
- สนามวิ่งมาราธอนประเทศไหนยากที่สุด
สนามวิ่งที่ดีที่สุดในมุมผมคือลอนดอน ถ้าวิ่งยากสุด โหดสุด น่าจะบอสตัน ปี 2561 สภาพอากาศเลวร้ายสุดๆ มีทั้งเนินและฝนตก อุณหภูมิตอนนั้น 1-2 องศาเซลเซียส ฝนตกตลอดตั้งแต่ 04.00 น. หนักมากตอนเริ่มวิ่ง 09.00 น.และฝนตกจนวิ่งจบ ลมแรง 25-30 mph ถือหนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์ 50 กว่าปีของบอสตัน
การวิ่งมาราธอนต่างประเทศที่ใช้เวลาเดินทางน้อยสุด คือที่โตเกียว ปี 2561 ออกจากกรุงเทพคืนศุกร์ ถึงเช้าเสาร์ไปรับบิบนอนคืนเสาร์ วิ่งเช้าวันอาทิตย์เสร็จบ่ายๆ แล้วบินกลับคืนอาทิตย์มาทำงานตอนเช้าวันจันทร์ ไม่ได้ลางานเลย มาราธอนล่าสุดผมวิ่งที่สนามโตเกียว ปี 2566 ใช้เวลา 3:58 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าใช้ได้เลยสำหรับนักวิ่งสมัครเล่น
อีกบรรยากาศที่ผมชอบคือ การวิ่งเที่ยวชมเมืองเวลาไปเที่ยวหรือทำงาน เคยวิ่งใกล้หอคอยไอเฟล ในปารีส ฝรั่งเศส วิ่งเลียบแม่น้ำเซน (Seine) เข้าไปแถวพระราชวัง รู้สึกฟินมาก
เวลาวิ่งในยุโรปสนุกมาก เส้นทางสวยและดี คนที่นั่นเอื้อเฟื้อให้คนวิ่งและคนเดิน จึงเกิดอาการเสพติด วิ่งไปแล้วกว่า 20 เมืองทั่วโลก วิ่งถนนในเมืองไทยก็มี แต่ก็อันตรายพอควร ถ้านับจากเริ่มวิ่ง วิ่งตามงานต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน วิ่งมาราธอนไปแล้วกว่า 20งาน และวิ่งสนามมาราธอนในต่างประเทศประมาณ 14-15 งาน
- อะไรทำให้คุณกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักวิ่งสมัครเล่นส่วนหนึ่งที่อยากไปสนามมาราธอนระดับโลก ?
ป๊อก-อิทธิพล สมุทรทอง (นักวิ่งคู่ใจตูน บอดี้สแลม) เขาทำเพจแล้วมาสัมภาษณ์ผมเรื่องการวิ่ง ตั้งแต่วันนั้นผมจึงเป็นคนจุดประกาย ผมเป็นนักวิ่งสมัครเล่น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นคนไทยกลุ่มแรกๆที่ได้เหรียญมาราธอนระดับโลกที่วิ่งครบ 6 สนาม ตอนนี้มีคนไทยประมาณ 20 กว่าคนที่ทำได้
เวลาผมไปวิ่งที่สวนลุม ก็จะมีคนมาทักและถามว่า ถ้าจะไปวิ่งลอนดอน หรือบอสตันต้องทำยังไง ฝึกวิ่งแบบไหน จะมีคนพูดเรื่องพวกนี้เยอะมาก
"เป้าหมายใหญ่คือ IRONMAN ซึ่งยากมาก ว่ายน้ำ 4 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่ง 42 กิโลเมตร แต่ก็คิดว่าจะลองทำดู"
- ทุกคนบอกว่าวิ่งเป็น วิ่งได้ แต่คุณบอกว่าต้องวิ่งให้ถูกวิธี ไม่อย่างนั้นบาดเจ็บ ?
ส่วนใหญ่บอกว่า ขาแข็งแรงก็วิ่งได้ จริงๆ แล้วการวิ่งไม่ได้แข็งแรงเฉพาะที่ขา ต้องแข็งแรงที่ก้นและตัว การวิ่งด้วยน่องและต้นขา วิ่งไม่นานตะคริวกิน และวิ่งไม่เร็ว แรงจากการวิ่งต้องมาจากแกนกลางผ่านก้น ซึ่งเป็นจุดหมุนแล้วไปที่ขา เวลาวิ่งต้องมีแรงเหวี่ยงที่แขน คุณไม่ได้วิ่งด้วยขาอย่างเดียว คนสมัยนี้นั่งเยอะบางคน ฮิปเฟล็กเซอร์ (Hip Flexor -กลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนที่) ติด จนเดินไม่สะดวกเพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้นั่งเป็นหลัก
- คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องฟอร์มการวิ่ง ?
ผู้ใหญ่กับเด็ก ฟอร์มการวิ่งไม่เหมือนกัน เด็กวิ่งเป็นธรรมชาติมากกว่า เพราะสภาพร่างกายเด็กไม่ได้เปลี่ยนแปลงเยอะ ต่างจากผู้ใหญ่ทั้งทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน การวิ่งระยะยาวควรมีท่าวิ่งที่เหมาะสมพอควร มีเทคนิครายละเอียดเยอะ เพื่อทำให้การวิ่งมีประสิทธิภาพ
- การทำงานเป็นผู้บริหารมีงานมากมาย แบ่งเวลาออกกำลังกายอย่างไร
ข้อดีของการออกกำลังกายคือ ต้องตื่นเช้าคือ 4.30-5.00 น. ไปวิ่งเช้า ก็นอนดึกไม่ค่อยได้ ผมมีวินัยในชีวิตประจำวัน เมื่อก่อนจะตีกอล์ฟตอนเช้า ก็ต้องตื่นเช้า แล้วมีเวลาทำกิจกรรมกับครอบครัวตอนบ่าย เรื่องวิ่งบางวัน ผมวิ่งวันละเป็นชั่วโมงๆ ก็ต้องรู้จักแบ่งเวลา ผมทำมา 7-8 ปีแล้ว ทุกคนก็ต้องทำได้เพราะคนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเหมือนกัน
- วิ่งสนามระดับโลกครบ 6 สนามแล้ว จะทำอะไรต่อ
ผมคิดว่าอยากจะไปไตรกีฬา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แม้ว่าจะผ่านไตรกีฬาระยะสั้นมาแล้ว 3-4 งาน แต่เป้าหมายใหญ่คือ IRONMAN ซึ่งยากมาก ว่ายน้ำ 4 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่ง 42 กิโลเมตร แต่ก็คิดว่าจะลองทำดู
จากคำท้าทายกับเพื่อนว่าจะวิ่งมาราธอนให้ได้ซักครั้งก่อนตาย ตอนนี้เราวิ่งไปมากกว่า 20 งานแล้ว เลยท้าทายกันใหม่ว่า เราฉลองแซยิดด้วยการวิ่ง 100k กัน ปี 2564 เอกชัยอายุครบ 60 ปีก็ไปวิ่งเขาใหญ่100k ด้วยกัน ผมใช้เวลาวิ่ง 14:40 และปี 2565 ผมอายุ 60 เอกชัยก็มาวิ่ง KY100k กับผม ใช้เวลาวิ่งไป13:30 ชั่วโมง ถือว่าเป็น fulfilling อีกระดับหนึ่งเหมือนกัน คิดว่าเราคงวิ่ง KY100k ด้วยกันจนกว่าจะวิ่งไม่ไหว
- อยากฝากอะไรไว้ให้กับนักวิ่ง
การวิ่งที่ดี คือ ต้องรู้จักตัวเอง คนที่วิ่งแล้วเสียชีวิต เพราะไม่รู้จักตัวเอง เราต้องฟังเสียงตัวเรา รู้ว่าวิ่งไหวไหม บางคนเหนื่อยไม่ยอมหยุด บางคนนอนน้อย พักไม่พอ กินไม่เต็มที่ ถ้าไม่กิน ไม่ดื่มน้ำ พักผ่อนไม่พอ ก็พัง ซึ่งอันตรายมาก ในงานวิ่งถ้าวิ่งไม่ไหว ยังมีปีหน้าหรืองานอื่นอีก สำหรับชีวิตถ้าไม่ไหวแล้ว มันไม่มีชีวิตใหม่ให้เราใช้อีก
"การวิ่งในงานต่างๆ ไม่ได้เพื่อรางวัลหรอก ก็แค่ได้เหรียญเมื่อตอนวิ่งจบ แต่มันรู้สึกดีมาก มัน fulfilling มาก"