ครูปาน สมนึก คลังนอก ศิลปินวาดรูปผู้เกิดจากจีวรและพระธรรม
เส้นทางเป็นศิลปินวาดรูปของ 'ครูปาน สมนึก คลังนอก' จากลูกชาวนาฐานะยากจนสู่การเป็นศิลปินสร้างผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ กว่าจะค้นพบคาแรคเตอร์ลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์
Key Points :
- ตั้งแต่ 7-8 ขวบ ชอบนั่งดูฝนตกไหลลงมาตามหลังคา เป็นเส้นๆ สวยจัง คนอื่นไปเข้าป่าเก็บเห็ด ครูปานก็เก็บเห็ดเหมือนกัน แต่เอาเห็ดมาดู ทำไมสีสวยแบบนี้
- ชีวิตพลิกผันเมื่อ ม.ร.ว.ทัศนีย์ สุทัศนีย์ ไปช่วยงานบุญวัดที่ 'เณรปาน' บวชเรียน
- ห่มจีวรนั่งรถประจำทางไปกลับอยุธยา-กรุงเทพฯ เรียนศิลปะกับ ครูโต ม.ล.จิราธร จิรประวัติ 4 ปี
- ตอนนั้นเป็นช่างฝีมือ เขียนได้ วาดตามได้ แต่คิดไม่เป็น ไม่มีสไตล์ ด้วยความที่บวชพระมา 11 ปี ไม่เคยออกจากกฎ
- กลายเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติเมื่อแกลลอรีสิงคโปร์ติดต่อขอผลงานไปร่วมแสดงในงาน Affordable Art Fair
ครูปาน สมนึก คลังนอก (credit: RCB Galleria)
ครูปาน สมนึก คลังนอก ชื่อนี้มักได้ยินว่าทำงานเป็น ‘ศิลปินจิตอาสา’ อยู่เสมอ ผลงานวาดรูปของ 'ครูปาน' มีเอกลักษณ์ ลายเส้นน่ารัก ดูแล้วแอบอมยิ้ม หรือไม่ก็ยิ้มออกมาได้ทันที
หากความสำเร็จของการเป็น ‘อาร์ติสท์’ ศิลปินวาดรูป วัดกันด้วย ‘เงิน’ และ ‘กล่อง’ ครูปานก็มีอยู่ในมือแล้วทั้งสองอย่าง
อาร์ติสท์แต่ละคนมีต้นทุนมากน้อยต่างกัน แต่สำหรับ ‘ครูปาน’ ต้นทุนการเป็นอาร์ติสท์เริ่มต้นด้วยความยากจนของการเป็นลูกชาวนาในจังหวัดบุรีรัมย์
ไม่ใช้คำว่า ‘เงิน’ แต่ครูปานบอก ครอบครัวไม่มี ‘สตางค์’ ที่จะส่งลูกคนนี้เรียนหนังสือ แม่ต้องขอให้เขาบวชในบวรพุทธศาสนาเพื่อจะได้มีวุฒิการศึกษาเหมือนลูกคนอื่นที่ได้ไปโรงเรียน
ชีวิตในขณะบวชเรียนเป็นสามเณรนั่นเอง ทำให้ ‘เณรปาน’ มีโอกาสเรียนศิลปะกับ ครูโต ม.ล.จิราธร จิรประวัติ จิตรกรสีน้ำและนักออกแบบผู้มีชื่อเสียง
แต่กว่าจะเป็น ครูปาน สมนึก คลังนอก ศิลปินวาดรูปซึ่งผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ก็ต้องใช้ความพยายาม ความอดทน และฝึกฝนตั้งแต่เป็นสามเณรห่มผ้าเหลือง ดังเรื่องราวที่จะเปิดเผยต่อไปนี้
Cocoon : Lost and Found นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในไทย
ขออภัยนะครับ คุณพ่อคุณแม่ครูปานเป็นชาวนา ครูปานคิดว่าความสามารถเชิงศิลปะของตนเองมาจากไหน
“มันมาเอง เราเป็นคนชอบมองอะไรไม่เหมือนคนอื่น ตั้งแต่ 7-8 ขวบ ครูปานชอบนั่งดูฝนตกไหลลงมาตามหลังคา เป็นเส้นๆ สวยจัง คนอื่นไปเข้าป่าเก็บเห็ด นี่ก็เก็บเห็ดเหมือนกัน แต่เอาเห็ดมาดู ทำไมสีสวยแบบนี้ ดอกไม้ในป่า บางคนไม่สนใจ แต่เราดันคิด ทำไมมีสีส้ม สีม่วง สีเขียว มีเยื่อใสๆ คลุมอยู่ แม้กระทั่งน้ำค้างเราก็นั่งมอง
เป็นคนชอบจำรายละเอียดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึก เรามีความสุขกับการมองเห็นอะไรแบบนี้ ดูพระอาทิตย์ตกพระอาทิตย์ขึ้น เราจะเห็นท้องฟ้าทำไมสีสวยอย่างนี้ เป็นความสุข เราไม่รู้ว่าเด็กคนอื่นเป็นอย่างนี้หรือเปล่า แต่เรารู้สึก พอเห็นพื้นโล่งๆ ก็เริ่มอยากเขียน อยากวาด มันเป็นเอง
พ่อแม่ครูปานมีอาชีพทำนา เป็นชาวนาร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พ่อเคยไปรับจ้างที่ซาอุฯ ใช้แรงงานธรรมดา ไม่มีใครในบ้านที่ทำงานเกี่ยวกับการวาดรูปหรือเป็นศิลปิน ทุกวันนี้แม่ก็ยังถามลูกขายงาน(ศิลปะ)ได้จริงๆ หรือ
คิดว่าความรักในศิลปะได้มาจากแม่ แม่พาเราเข้าป่าแล้วหยิบใบไม้มาเป่าเป็นเพลง สอนทำตุ๊กตาเวลามีงานบุญไหว้เจ้าไหว้ผีของศาลเจ้า แม่เป็นคนตัดก้านกล้วยเป็นตุ๊กตา เราเห็นแล้วก็อยากทำเป็น
ครูปานว่า งานศิลปะเป็นเรื่องไม่จำเป็น...แต่จำเป็น มันไม่จำเป็นกับชีวิตของคนปากกัดตีนถีบ เย็นนี้ฉันจะมีอะไรกินก็ยังไม่รู้ แต่สำหรับคนที่ต้องการสิ่งมาเยียวยาหัวใจ ต่อให้เป็นชาวบ้าน เห็นรูปสวย เขาก็แช่มชื่นใจ แต่ถามว่าจำเป็นกับชีวิตมั้ย ไม่จำเป็น”
Cocoon Mink ลักษณะลายเส้นของครูปาน
ครูปานพัฒนาทักษะนี้ต่อไปอย่างไร
“ตอนเด็กๆ ครูปานลากเส้นตามการ์ตูนที่เห็น การ์ตูนขายหัวเราะเป็นครูเรานะ ก็จะเลือกเส้นตามที่เราชอบ คือคนที่ชื่อตาโต หัวเล็กๆ ตัวยาวๆ ขายาวๆ ชอบคนนี้มาก
วาดเสร็จก็เขียนจดหมายหาพี่สาวคนโตอยู่เพชรบูรณ์ พี่สาวก็เขียนชมกลับมา เราได้รับคำชม เราก็เลยวาดไปเรื่อยๆ เขียนจดหมายบ่อยตอนนั้น มันสนุกเอง”
ครูปานมีพี่น้อง 5 คน เสียชีวิตไป 1 คน ไม่เคยเจอกันเลย เหลือพี่สาว 3 คน ครูปานเป็นคนสุดท้อง เป็นลูกชายคนเดียวขณะนี้
ครูปาน สมนึก คลังนอก
ครูปานเริ่มจริงจังกับการวาดรูปตอนไหน
“ครูปานเริ่มรู้ตัวว่าชอบศิลปะมากๆ ตอนอายุ 14 ขึ้นชั้นมัธยม เราวาดรูปเหมือนคนตอนบวชเณรอยู่ที่วัดชูจิตธรรมาราม วังน้อย อยุธยา ย้ายมาจากบุรีรัมย์ ก็ไม่มีสตางค์เรียนหนังสือ แม่ก็เลยบอกว่า ลูกมาบวชแล้วกัน เพราะเรียนฟรี จะได้เรียนมัธยมได้ ด้วยความที่เราเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย แม่ให้ทำอะไรก็ทำ
ตอนบวชก็มีความสุข ไม่รู้สึกอะไร แต่เรียนหนักกว่านักเรียนคนอื่นที่เรียนมัธยมข้างนอก เราตื่นตั้งแต่ตีสี่ตีห้าท่องหนังสือ สวดมนต์ ทำวัตร ตอนเช้าเรียนบาลี เรียนนักธรรม ตอนบ่ายเรียนทางโลก กลางคืนเรียนบาลีพิเศษอีก ชีวิตมีแต่เรียนกับเรียน
พอขึ้น ม.2 มีการวาดรูปประกวดในวัด หัวข้อวันแม่ เราวาดได้เหมือนจริงมากๆ แรเงาได้เนี้ยบเนียนที่สุด ได้รางวัลที่ 1 ไม่จำกัดระดับอายุด้วย เราก็ภูมิใจ เป็นแรงให้เราชอบวาดรูป เข้าห้องสมุดของวัดเลย อ่านหนังสือศิลปะทุกเล่ม เขียนรูปเลียนแบบตามหนังสือ anatomy (กายวิภาคศาสตร์) เขียนจมูก ผม ตา อ่านทุกสิ่งอย่าง อ่านศิลปินของโลกมีใครบ้าง
หลังจากนั้นวางจุดมุ่งหมายตัวเอง ฉันอยากเข้าเรียนศิลปากร อยากเรียน Fine Art (วิจิตรศิลป์) ก็เตรียมตัว บังเอิญตอนอายุ 16 มีโยมมาทำบุญ เป็นหม่อมราชวงศ์ชื่อ ม.ร.ว.ทัศนีย์ สุทัศนีย์ คุณหญิงมาช่วยงานที่วัด ทำโรงครัวใหม่ ทำห้องน้ำให้เณร ทำตึกให้เณร ตอนนั้นมีเณรพันกว่ารูป วัดที่ครูปานบวช
อาจารย์ก็บอกเณร วาดรูปให้คุณหญิงสักรูป ครูปานก็วาดรูปให้คุณหญิงหนึ่งรูป คุณหญิงก็นิมนต์มาคุยด้วย คุยไปคุยมา คุณหญิงก็ถามเณรมาจากบุรีรัมย์ รู้จักปิกัสโซ โมเนต์ มาเนต์ แวนโก๊ะ โกแกง ได้อย่างไร เราเล่าได้หมดเพราะอ่านมา คุณหญิงเซอร์ไพรส์ ยินดีสนับสนุน ส่งอุปกรณ์วาดรูปมาให้ ส่งครูมาสอนที่วัด
พออายุ 18 ตั้งใจจะสึกมาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปรากฏว่าพ่อเสีย เราก็เลิกล้มความตั้งใจที่จะออกมานอกวัด เพราะไม่อยากเป็นภาระให้ที่บ้าน
คุณหญิงก็บอกไม่เป็นไร ขอให้เณรเรียนในวัดให้จบปริญญาตรี ส่วนเรื่องศิลปะคุณหญิงจะหาทางให้มาเรียนที่กรุงเทพฯ"
ผลงาน Cocoon Deer
ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ครูโต ม.ล.จิราธร จิรประวัติ
ม.ร.ว.ทัศนีย์ สุทัศนีย์ เข้าพบเจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม ขออนุญาตพาสามเณรปานไปเรียนวาดรูปที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับอนุญาต เนื่องจากสถานที่เรียนไม่เป็นที่พลุกพล่าน นั่นก็คือที่ เดอะ พรอเมอนาด ปาร์ค นายเลิศ ที่ตั้งโรงเรียนสอนศิลปะ ครูโต ม.ล.จิราธร จิรประวัติ
“ตอนแรกคุณหญิงพาไปหาอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ข้าพเจ้าห่มจีวรไปถึงบ้านอาจารย์ อาจารย์บอกว่า ‘ผมไม่สะดวกสอนสามเณรครับ ท่านต้องสึกก่อน ผมถึงจะสอนได้’ แต่ตอนนั้นเราเลิกล้มความตั้งใจที่จะสึก จึงไม่ได้กลับไปกราบอาจารย์อีก
คุณหญิงก็เลยพาไปหา ครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) เพราะคุณหญิงมีศักดิ์เป็นย่า ครูโตบอกท่านก็มาวันอาทิตย์วันที่คนน้อยๆ หน่อยก็ได้ ครูปานก็เลยมาเรียนทุกวันอาทิตย์ นั่งรถมาจากอยุธยามาลงหมอชิต ไปฉันเพลบ้านคุณหญิงที่นนทบุรี แล้วนั่งรถมาพรอเมอนาด ปาร์ค นายเลิศ เรียนเสร็จก็นั่งรถกลับอยุธยา ทำแบบนี้อยู่ 4 ปี”
ครูปานกล่าวว่าการได้เรียนศิลปะกับครูโต เปรียบเสมือน ‘การเปิดโลก’ ได้เรียนรู้เรื่องรสนิยม และทั้งหมดที่ได้มาในวันนี้ ได้เพราะครูโต โดยเฉพาะ ‘สไตล์’
“ได้ฝีมือ ได้วิธีดูสี ผสมสี วาดตามได้หมด แต่ตอนนั้นเราไม่มีสไตล์ เราเป็นช่างฝีมือ เราเขียนได้ วาดตามได้ แต่เราคิดไม่เป็น ด้วยความที่เราเป็นพระ เราบวชมา 11 ปี วัยรุ่นทั้งหมดของเราจนถึงอายุ 24 คืออยู่ในวัด เราไม่เคยออกจากกฎ ไม่เคยใช้ชีวิตนอกวัด อันนี้คือมาวิเคราะห์ตัวเองทีหลัง”
หลังจากห่มจีวรนั่งรถไปกลับอยุธยา-กรุงเทพฯ อยู่ 4 ปีจนสำเร็จปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เณรปานก็ตัดสินใจลาสิกขา เนื่องจากต้องการออกมาดูแลแม่และอยากช่วยให้ทุกคนในบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น
ตอนนั้นคิดแต่ว่า หากบวชต่อไปก็เหมือนตัดช่องน้อยแต่พอตัว ช่วยที่บ้านไม่ได้ ขอสึกออกมาลองสู้เอาดาบหน้า
เมื่อสึกออกมาแล้ว ครูปานได้งานที่บริษัทการบินไทย ทำงานได้สองเดือน ก็โทร.หาครูโตเพื่อขอคำแนะนำเนื่องจากไม่เคยใช้ชีวิตทางโลก
พอครูโตเอ่ยปากชวนให้มาช่วยสอนศิลปะที่โรงเรียน ทิดปานจึงตอบตกลงทันที โดยช่วยครูโตสอนวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันอังคาร พร้อมกับฝึกฝีมือการวาดไปด้วย ซึ่งตอนนั้นครูปานยอมรับว่ายังไม่มีคาแรคเตอร์ลายเส้นเป็นของตัวเอง
ภาพ Cocoon Swing
กว่าจะค้นพบคาแรคเตอร์งานศิลป์ของตนเอง
“สำหรับครูปานยากมาก อยู่ในกรอบมาเยอะ เราออกจากกรอบไม่ได้ เพราะเราชินกับการทำตาม วันหนึ่งเห็นคนนั้นคนนี้เขียนสไตล์เป็นของตัวเอง แล้วงานฉันล่ะ ครูโตบอกฉันจะคิดให้เธอก็ได้ แต่ฉันไม่คิด เธอต้องหาตัวตนของเธอเอง
จนวันหนึ่งอยากลองอะไรใหม่ๆ เพราะเราวาดเหมือนจริง เหมือนเป๊ะเลยนะ แล้วใครๆ ก็วาดได้ มารู้ตัวว่าชอบวาดรูปคน ในหนังสือแฟชั่นมีนางแบบคนหนึ่งเราชอบมาก สวย ตาโต คางเล็กๆ โหนกแก้มสูงๆ
เราชอบคนนี้มาก เอามาวาด แต่พอวาดเสร็จแล้วลองเปลี่ยนดูหน่อยดีกว่า เปลี่ยนผมให้เป็นฟอร์ม เปลี่ยนหน้าให้ไม่เป๊ะขนาดนั้น เอาหน้าผากลงมาเยอะๆ เขียนตาโต จมูกเล็กๆ เพราะเราไม่ชอบเขียนจมูก ปากเล็กๆ สีแบนๆ ไม่เหมือนจริง ไม่มีแสงเงา ลงตาสีเขียวมะกอก ใส่จุดเล็กๆ ตรงขอบๆ ตา เท่านั้นแหละยูเรก้า พบว่าฉันไปอยู่ไหนมา แค่นี้ก็สนุกมากแล้ว
จากนั้นลองใส่ผมเป็นลูกตุ้ม กลายเป็นการค้นหาสไตล์ของตัวเอง กลายเป็นที่มาของการวาดผู้หญิงตาโต เพราะเราชอบวาดตามาแต่ไหนแต่ไร รายละเอียดตาเอาไว้สุดท้าย เพราะมันสนุกที่สุด วาดตาเสร็จเหมือนรูปเสร็จ ถ้าวาดตาก่อนจะไม่อยากทำอย่างอื่นแล้ว”
ครูปานได้คาแรคเตอร์ลายเส้นนี้ในปี 2008 ตั้งชื่อคาแรคเตอร์นี้ว่า ‘หญิงตุ้ม’ จากนั้นค่อยๆ คลี่คลายเป็นหญิงตาโต หญิงผมฟู เริ่มขยายขนาดให้คอยาว ปากใหญ่ ตาเล็ก เริ่มสนุกเพราะกลายเป็นสไตล์ของตัวเอง แล้วก็เริ่มเติมสิ่งประดับต่างๆ เข้าไปที่ส่วนหัว เสื้อผ้า และต่อไปได้อีกเรื่อยๆ
ครูปานกับผลงานประติมากรรม Forest of Love
แกลลอรีสิงคโปร์ติดต่อไปแสดงผลงาน
“วันดีคืนดี มีเพื่อนจากสิงคโปร์บอกอยากทำแกลลอรี อยากได้อาร์ติส คุณมีรูปไหม ก็บอกให้มาดูว่าชอบหรือเปล่า พอเขาเปิดแฟ้มรูปที่เราวาดไว้ที่เป็นรูปสีน้ำ เขาบอกนี่ล่ะคือสิ่งที่เขาต้องการ มันไม่เหมือนใครเลย เขาเอาไปโชว์ที่สิงคโปร์ ปี 2012 เป็นครั้งแรกที่ออกไปโชว์นอกประเทศ ฉันอยู่เมืองไทยก็พอมีคนรู้จักบ้างแล้วจากการวาดภาพประกอบให้นิตยสารพลอยแกมเพชร
ที่สิงคโปร์เป็นงาน Affordable Art Fair จัดตามเมืองใหญ่ของโลก ลอนดอน นิวยอร์ก ฮัมบูร์ก (เยอรมนี) ฮ่องกง คนสิงคโปร์เครซี่อาร์ตมาก เราคิดในใจงานฉันจะไหวไหม คนสิงคโปร์ไม่รู้จักฉันเลย เขาจะรับงานแบบฉันได้ไหม
แกลลอรีเลือกงานไปประมาณ 30 รูป ติดบน 2 ผนังใหญ่ๆ งานมี 5 วัน คืนแรกรูปเราขายไป 11 รูป หนังสือพิมพ์ที่สิงคโปร์ลงเลยว่าถ้าคุณไปงาน Affordable Art Fair คุณต้องไปที่บูธเลขที่นี้ เพราะศิลปินจากประเทศไทยชื่อ สมนึก คลังนอก ขายรูปวีไอพีไนท์ไปแล้ว 11 รูป เยอะที่สุดเป็นประวัติการณ์
ภาพ Cocoon in Cinema
ตื่นเช้ามาแกลลอรีเรานัดเจอกันร้านกาแฟ เอาหนังสือพิมพ์ให้ดู ครูปานอ่านไปน้ำตาไหลพรากๆ ทำเก้าอี้ร้านเขาล้มไปได้ยังไงไม่รู้ มันตื้นตันนะ
รูปเรา 30 รูป ขายไป 3 วัน sold out พอมีคนซื้อเขาก็จะยกออกไป เอากลับบ้านได้เลย พอวันที่สี่วันที่ห้าผนังโล่ง คนที่มาดูตั้งแต่คืนแรกยังไม่ซื้อกลับมาอีกทีรูปหายไปหมดแล้ว เขาก็ติดต่อแกลลอรีบินมาซื้อที่เมืองไทย”
ในปีนั้นหลังกลับจากสิงคโปร์ ครูปานก็เริ่มสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ใหม่ชื่อ Cocoon (โคคูน)ได้แรงบันดาลใจจากนักเรียนศิลปะตัวน้อยสวมใส่ฮู้ดมาเรียนศิลปะที่โรงเรียนครูโต ดูน่ารักมาก จึงนำโครงร่างมาวาด เพิ่มสัดส่วนให้น่ารัก
ทุกครั้งที่ไปแสดงงานยังต่างประเทศทั้งแสดงเดี่ยวและแสดงร่วม ครูปานก็นำภาพคาแรคเตอร์โคคูนไปแสดงด้วยเสมอ และกลายเป็นภาพแรกๆ ของงานที่ขายได้
นิทรรศการ Cocoon : Lost and Found 2023
ล่าสุด ครูปาน สมนึก คลังนอก เพิ่งมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทย Cocoon: Lost and Found ที่ RCB Galleria 1 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็ นำเสนอผลงานที่เป็นความสุขส่วนหนึ่งในชีวิตที่บางส่วนก็สูญหายและพานพบบางส่วน ทำให้ลูกชาวนากลายเป็น ‘อาร์ติสท์’