ศัลยกรรมต้นไม้(รุกขกร) ทางเลือกดูแลไม้ใหญ่

ศัลยกรรมต้นไม้(รุกขกร) ทางเลือกดูแลไม้ใหญ่

ต้นไม้ป่วยเป็นโพรงและค่อยๆ ผุ เนื่องจากเป็นแผลที่เปลือก หรือไม่ก็กิ่งฉีกหัก รวมถึงการตัดแต่งผิดวิธี ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงต้องนักศัลยกรรมต้นไม้หรือรุกขกร

ไม่น่าเชื่อ ต้นไม้ก็เกิดอาการเครียดได้ เมื่อเครียดแล้วจะไม่มีภูมิต้านทานโรคและค่อยๆ ผุกร่อน นั่นหมายถึงมันกำลังป่วย ระบบกลไกการสะสมพลังงานตามธรรมชาติบกพร่อง ลำต้นจะเป็นแผล เกิดโพรงผุๆ เนื่องจากอาการอักเสบ ถ้าหนักมากๆ ต้นไม้ก็ตาย จึงต้องมีนักศัลยกรรมต้นไม้ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่ารุกขกร 

ว่ากันว่า ต้นไม้ป่วยจากหลายสาเหตุ บางครั้งกิ่งฉีก หัก เป็นแผลถูกรถชน ถูกตอกตะปู เพื่อใช้แขวนนั่นแขวนนี่ ฯลฯ เพราะบางคนคิดว่าทำแบบนั้นกับต้นไม้ได้ มันไม่เจ็บ ทั้งๆ ที่เป็นการทำร้ายต้นไม้

การปฏิบัติกับต้นไม้อย่างอ่อนโยน เป็นอีกวิถีที่ชาวปกาเกอะญอมักจะขอขมาทุกครั้งที่เฉือนเปลือกไม้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะต้นไม้ใหญ่มีพลังมหาศาลในการเยียวยามนุษย์
ในกรุงเทพฯ ต้นไม้ใหญ่อย่างจามจุรีในจุฬาฯ ต้นมะขาม แถวสนามหลวง และอีกหลายแห่ง ต้นไม้โบราณเหล่านี้ หากล้มหายตายจากไป กว่าจะปลูกได้เหมือนเดิม ต้องใช้เวลาหลายสิบปี

ต้นไม้โบราณมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างโบราณ เมื่อมีการสร้างวัดวัง ก็ต้องมีการปลูกต้นไม้ มันเติบโตมาพร้อมๆ เรื่องเล่ามากมายในอดีต กว่าจะแผ่กิ่งก้านสาขาเหมือนทุกวันนี้ ก็ใช้เวลาหลายทศวรรษ

หลายสิบปีที่แล้ว เคยมีการทำศัลยกรรมต้นมะขามแถวสนามหลวง เพราะเป็นต้นไม้คู่บ้านคู่เมืองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และลองนึกดูว่า ถ้าไม่มีหมอต้นไม้ ต้นไม้เก่าแก่ที่ป่วยและบาดเจ็บกี่ร้อยต้น ต้องล้มหายตายจากไป

หมอต้นไม้มีหน้าที่ช่วยชีวิตต้นไม้เหล่านี้ โดยทางกรุงเทพมหานครริเริ่มอย่างเป็นทางกาสมัยผู้ว่าฯ พิจิตต รัตกุล และจัดตั้ง โครงการหมอต้นไม้ และในที่สุดตั้งเป็นหน่วยศัลยกรรมต้นไม้รับผิดชอบดูแลต้นไม้โบราณในกรุงเทพมหานคร ดูแลทั้งถนนราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง สวนลุมพินี สวนสราญรมย์และรอบวังสวนจิตรลดา ฯลฯ

ศัลยกรรมต้นไม้(รุกขกร) ทางเลือกดูแลไม้ใหญ่
 

ปัจจุบัน ผู้ดูแลต้นไม้ในเขตเมืองหรือนักศัลยกรรมต้นไม้ใหญ่มีจำนวนน้อยมาก ทั้งๆ ที่ กทม. มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามการแนะนำขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ชุมชนเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตร/ประชากร โดยตั้งเป้าไว้ปี 2573

ส่วนสาเหตุการป่วยของต้นไม้มีหลายเหตุผล ทั้งการติดเชื้อรา แมลงกัดแทะกลายเป็นโพรงผุ ถูกลมพัดแรง ลำต้นหัก ฯลฯเมื่อต้นไม้ป่วยก็ต้องดูแล เพื่อที่จะให้มันมีชีวิตเป็นร่มเงาและสร้างสีเขียวให้คนกรุงเทพฯ 

นอกจากต้นไม้ที่กล่าวถึง ยังมีต้นไม้โบราณอีกหลายชนิด สวนแห่งความรัก สมัยรัชกาลที่ 5 ในสราญรมย์ โดยเฉพาะช่วงลันทมขาว ลันทมแดง แข่งกันออกดอก งดงามมาก

“เวลาต้นไม้เป็นแผล ถ้าไม่ทำแผล มันจะผุกร่อนมากขึ้น ต้นไม้บางชนิดมีแมลงกัดกิน เวลาฝนตก น้ำเข้าไปขังในโพรงไม้ ทำให้ต้นไม้ติดเชื้อ เราต้องรักษามัน” อีกเรื่องที่หมอต้นไม้ เคยเล่าให้ฟัง

เมื่อเกิดโพรงในลำต้น นั่นหมายถึง ต้นไม้กำลังป่วยหนัก มันติดเชื้อรา จนเกิดการอักเสบ เนื้อไม้จะค่อยๆ เปลี่ยนสี ผุเป็นแผลและร่วงหลุด ช่องว่างของโพรงก็จะขยายขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นต้นไม้ก็จะเครียด

อีกความรู้ที่หมอต้นไม้บอก เมื่อต้นไม้เครียด มันจะไม่สะสมพลังงาน เพื่อใช้ในการต้านทานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงเกิดการผุเร็วขึ้น โดยธรรมชาติแล้ว หากต้นไม้มีสภาพแข็งแรง มันจะหยุดยั้งการผุได้เอง และปิดโพรงได้เองด้วยการสร้างผนังปิดล้อม

การที่ต้นไม้ป่วยเป็นโพรงและค่อยๆ ผุ เนื่องจากเป็นแผลที่เปลือก หรือไม่ก็กิ่งฉีกหัก รวมถึงการตัดแต่งผิดวิธี พวกปลวก มดก็จะค่อยๆ กินเนื้อไม้ เชื้อโรคที่เกิดกับลำต้น ก็จะค่อยๆ ขยายตัว

ก่อนจะทำแผลให้ต้นไม้ หมอต้นไม้ต้องทำความสะอาดโพรงก่อน จากนั้นขูดเนื้อเยื่อไม่ดีออกไป ขั้นตอนสำคัญคือ การหาเนื้อเยื่อเส้นใยที่ดีให้เจอ ตรงนี้บอบบางมาก จะช่วยให้ไม้ฟื้นตัวแ ละเติบโตจากด้านในออกมาปิดบาดแผล

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับหมอต้นไม้คือ ไม่ตัดพุ่มใบออกมากเกินไป จนต้นไม้เสียสมดุล เพราะใบทำหน้าที่กักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ ถ้าตัดทิ้งมากไป ต้นไม้จะมีพลังงานไม่พอในการป้องกันโรคและแมลง

..............

ข้อควรรู้การตัดแต่งต้นไม้

  • ตัดแต่งผิดวิธี อาทิ ทำเปลือกฉีก การกุดกิ่งเหลือตอ การบั่นยอด 
  • บาดแผลของต้นไม้ จะหายต่อเมื่อมีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่บนที่ใหม่หุ้มแผล
  • การตัดแต่งหนักต้นไม้อายุมาก ทำได้เฉพาะที่แข็งแรงเท่านั้น
  • เมื่อตัดแต่งให้ผิวเรียบแล้ว ท้้งไว้ให้แผลแห้งในช่วงหลายเดือน จากนั้นทาด้วยยูริเทนสูตรน้ำแบบเจือจางปีละครั้ง
  • การตัดที่ถูกต้อง ต้นไม้จะส่งพลังงานไปที่กิ่งที่เหลือในฤดูถัดไป
  • การบั่นยอดเหลือตอ ต้นไม้จะส่งพลังงานไปที่ยอดตอ ทำให้แตกกิ่งย่อยมากกว่าเดิมในฤดูถัดไป