OTOP นวัตวิถี 'หมอลำหุ่น - พระพุทธรูปไหลสาน' ทุนวัฒนธรรมหลักล้าน บ้านดงน้อย
ทุนวัฒนธรรม 'บ้านดงน้อย' ทำให้คนสามวัยมีอาชีพ 'หมอลำหุ่น’ การประดิษฐ์หุ่นหมอลำจากกระติบข้าวเหนียว ‘พระพุทธรูปไหลสาน’ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่งานพุทธศิลป์ คว้ารางวัล OTOP นวัตวิถี เชื่อมโยงท่องเที่ยว มหาสารคาม
ชุมชนบ้านดงน้อย ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถนำ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มาสร้างสรรค์เป็น ‘สื่อ’ เพื่อพัฒนาชุมชน ประสบความสำเร็จกลายเป็น ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ได้อย่างงดงาม
พื้นที่ ‘บ้านดงน้อย’ เป็น 1 ใน 4 พื้นที่ที่จังหวัดมหาสารคามคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ‘ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัติวิถี’ คือการเชื่อมโยง OTOP กับการท่องเที่ยว
รางวัลนี้ มอบให้กับพื้นที่ที่สามารถเปลี่ยนผ่านรูปแบบการ ขายสินค้า OTOP ที่เคยผลักดันออกจากชุมชนเพียงด้านเดียว สู่การขายสินค้าที่มีอยู่ในชุมชนที่มาจากการท่องเที่ยว โดยใช้ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์แปลงเป็นรายได้ โดยไม่ต้องแข่งขันนำผลิตภัณฑ์ออกไปขายนอกชุมชน
ซึ่งเป็นการที่ชาวชุมชนชวนกันคิดชวนกันทำ ‘ผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ’ รวมทั้งมีการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระดับชุมชนที่มีเสน่ห์ดึงดูด และมีคุณค่าเพียงพอให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมเยือน
หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา (credit: FB/หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา)
ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ และเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวชุมชนบ้านดงน้อยคือ ครูเซียง ปรีชา การุณ ผู้สร้างสรรค์การแสดง หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นใกล้ตัว ‘กระติบข้าวเหนียว’ ที่สานจาก ‘ไม้ไผ่’ วัตถุดิบท้องถิ่น มาสร้างสรรค์เป็นหุ่น เรียก ‘หุ่นกระติบ’ เพื่อให้เด็กๆ ใช้ประกอบการแสดงหมอลำ เป็นที่รู้จักกันในนาม หมอลำหุ่น สร้างความคึกคักและชื่อเสียงให้กับชุมชนบ้านดงน้อย
ครูเซียง สำเร็จการศึกษาแผนกวิชาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษา อุบลราชธานี เคยทำงานเกี่ยวกับละครหุ่น ละครใบ้ ละครเวที กับผู้กำกับละครเวทีชื่อดังยุคละครเวทีในกรุงเทพฯ เฟื่องฟู ‘รัศมี เผ่าเหลืองทอง’
หมอลำหุ่นในรูปแบบสินค้าที่ระลึก
หลัง หมอลำหุ่น เปิดการแสดงได้ไม่นาน นักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมเยือนและได้ชมการแสดงก็พากันถามว่า “มีหุ่นขายไหม” คำถามนี้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้เด็กๆ ในชุมชนช่วยกันทำ ‘หมอลำหุ่น' ที่ทำจากกระติบข้าวเหนียว ขายเป็นรายได้เพิ่มเติม
พระพุทธรูปไหลสาน กับเส้นด้ายจากพิธีพุทธคุณที่พระบรมธาตุนาดูน
จากนั้นครูเซียงก็พบว่า ในชุมชนยังมี กลุ่มคนสูงอายุ ไม่มีงานทำ เป็นคุณตาคุณยายซึ่งอยู่บ้าน เป็นโจทย์ใหม่ที่จะทำอย่างไรให้คุณตาคุณยายมีอาชีพ
ครูเซียงจึงคิดนำ กกราชินี พืชท้องถิ่นที่ชาวบ้านเรียก ‘ต้นไหล’ ปกติใช้สานทำเสื่อ กว้างหนึ่งเมตร ยาวสองเมตร ขายได้ประมาณผืนละสองร้อยบาท มาสานเป็นพระพุทธรูป เรียกกันว่า พระพุทธรูปไหลสาน
โดยครูเซียงขึ้นโครงพระพุทธรูปด้วยวัสดุโฟมตามแบบศิลปะพระพุทธรูปที่พบได้ทางภาคอีสาน แล้วให้คุณตาคุณยายใช้ฝีมือสานต้นไหลหุ้มโครงพระพุทธรูป พร้อมกับนำ ‘วัสดุมงคล’ อาทิ สายสิญจน์ เศษธง ที่เคยร่วมอยู่ในพิธีพุทธคุณซึ่งจัดเป็นประจำ ณ พระบรมธาตุนาดูน พุทธสถานศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองมหาสารคาม มาร่วมกับการสานต้นไหลหุ้มองค์พระ
ทำให้ พระพุทธรูปไหลสาน เกิดความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลกรมการพัฒนาชุมชนระบุว่า งานฝีมือ ‘พระพุทธรูปไหลสาน’ สามารถจำหน่ายได้ในราคาระหว่าง 1,500 – 2,000 บาท/ชิ้น โดยคุณตาคุณยายผู้สานจะได้เงิน 1,200 บาท/ชิ้นงาน
หนึ่งในสมาชิกบ้านดงน้อยผู้ทำ 'พระพุทธรูปไหลสาน'
ปัจจุบันมีผู้ชื่นชอบงานฝีมือสนใจสั่งทำ ‘พระพุทธรูปไหลสาน’ บ้านดงน้อย มูลค่ารวมกันทะลุหนึ่งล้านบาทไปแล้ว แต่ต้องรอคิวนานหน่อย เนื่องจากเป็นแรงงานผู้สูงวัย การสานต้นไหลหุ้มพระพุทธรูปแต่ละองค์ใช้เวลาสานอย่างน้อย 4 วัน และมีการจัดตั้งเป็นบริษัทเพื่อยกระดับเป็นวิสาหกิจอย่างถูกต้อง
ในชุมชนบ้านดงน้อยยังมีกลุ่มเยาวชนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 6 แต่อยู่บ้านเฉยๆ โดยไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ครูเซียงจึงชวนมาทำงานแกะสลักไม้เป็นพระพุทธรูปและงานฝีมือแบบเปเปอร์มาเช่ งานทุกชิ้นทำตามคำสั่งซื้อ ทำให้มีรายได้แน่นอนและเกิดเศรษฐกิจชุมชนอย่างแท้จริง
เนื่องจากอำเภอนาดูนเป็นพื้นที่ตั้งของ ‘พระบรมธาตุนาดูน’ ชุมชนบ้านดงน้อยจึงจัดให้มี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีการสอนทำเมี่ยงสมุนไพรแบบอีสานให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน
ชุมชนบ้านดงน้อย ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากของทำงานร่วมกันของคนสามวัย
การแสดง 'หมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา'
เด็กเยาวชนฝึกเล่นหมอลำหุ่น ได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ทั้งดนตรีและการร่ายรำ รวมทั้งได้กล่อมเกลาจิตใจ เพราะเป็นการนำวรรณกรรมซึ่งมีคำสอนท้องถิ่นมาจัดแสดง เช่น เรื่ององคุลีมาล เรื่องสังข์สินไชย
ขณะที่ผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็มีแกะสลักพระพุทธรูปไม้ การทำงานเปเปอร์มาเช่ และผู้สูงอายุทำพระพุทธรูปไหลสานลวดลายต่างๆ
เป็นการนำงานฝีมือและงานละคร ต่อยอด ‘ทุนวัฒนธรรมในพื้นที่’ ให้เกิดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในท้องถิ่น ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม
อ้างอิง : งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566 (Isan Creative Festival 2023)