'บุหรี่ไฟฟ้า' แท้จริงแล้ว 'ถูกหรือผิดกฎหมาย' ?

'บุหรี่ไฟฟ้า' แท้จริงแล้ว 'ถูกหรือผิดกฎหมาย' ?

"บุหรี่ไฟฟ้า" ถูกหรือผิดกฎหมายกันแน่? ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันในสังคมอย่างแพร่หลาย ซึ่งแท้จริงแล้วมีประโยชน์หรือโทษแง่มุมไหนบ้าง หากมันอันตรายจริง เราจะมีวิธีป้องกันให้คนรอบตัวปลอดภัย และไม่มีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร?

ปัจจุบันอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพที่กำลังทวีความรุนแรงคือ สถานการณ์เด็กไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ "บุหรี่ไฟฟ้า" กำลังแพร่หลายในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งในเดือนรณรงค์งดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 นี้ หลายเวทีต่างจับมือกันร่วมถกประเด็นร้อนแห่งยุค ตั้งวงเสวนาคุยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับคนรุ่นใหม่ หวังร่วมหามาตรการป้องกัน "นักสูบหน้าใหม่" ก่อนหลุดเข้าวังวนสิงห์อมควันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

บุหรี่ไฟฟ้า = อันตราย

เริ่มที่เสวนาทางวิชาการเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับคนรุ่นใหม่ หัวข้อ "รู้ไหมว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย" จัดโดย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชน

รศ. ดร. พญ. เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย 3 ด้าน คือ 1) อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ 2) อันตรายต่อสุขภาพของคนรอบข้าง 3) ทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเสพติดนิโคตินเพิ่มขึ้น โดยในแง่อันตรายต่อสุขภาพผู้สูบ ยังมีความเข้าใจผิดในสังคมอยู่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งแท้จริงแล้วในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายบางอย่างที่ไม่พบในบุหรี่ธรรมดาเกือบ 2,000 ชนิด และที่สำคัญนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยเป็นนิโคตินรูปแบบใหม่ที่ยิ่งทำให้เสพติดง่ายขึ้น

"สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ งานวิจัยในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กที่ได้ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดา รวมทั้งสูบในปริมาณที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งตรงกับข้อมูลการศึกษาในไทยที่พบเด็กไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 4 เท่า" รศ. ดร. พญ. เริงฤดี กล่าว

\'บุหรี่ไฟฟ้า\' แท้จริงแล้ว \'ถูกหรือผิดกฎหมาย\' ?

บุหรี่ไฟฟ้า = สินค้าต้องห้าม

ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย ตามกฎหมายควบคุม 4 ฉบับ ดังนี้

  1. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่องห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า "บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า" มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท
  4. พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมายตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

โดยที่ผ่านมายังมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนมาตลอด จึงอยากขอความร่วมมือให้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง

ระบุนิสิต-นศ.แพทย์ ใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 3.4%

นพ. พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวในเวทีเสวนา "ถกประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า" ซึ่งจัดโดยสมาคมนิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) ศจย. และสสส. ว่า ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็มีการลักลอบนำเข้า ซึ่งเด็กและเยาวชนยังไม่รู้ถึงพิษภัยทำให้หลงผิดเข้าไปทดลองใช้เป็นจำนวนมาก

"ขณะนี้เยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 12.3% และในจำนวนนี้มีกลุ่มนักศึกษาแพทย์ ที่จะกลายเป็นแพทย์ในอนาคต จากการสำรวจในปี 2564 พบว่ามีนักศึกษาแพทย์ที่เสพบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3.4% และเสพยาสูบทุกชนิด 4.3% ซึ่งหมายถึงนักศึกษาแพทย์ที่ต้องการเสพนิโคติน 80% จะเลือกได้รับนิโคตินผ่านทางบุหรี่ไฟฟ้า" นพ. พงศ์เทพ กล่าว

ผศ. ดร. นพ. วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าทั้งมือหนึ่งและมือสอง มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ทำให้มีความผิดปกติของระบบประสาท เป็นโรคสมาธิสั้นน้ำหนักแรกเกิดน้อย โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาของเด็กและเยาวชนอายุถึง 25 ปี ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบ 3-4 เท่า

พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีความปลอดภัยกว่าการใช้บุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้ามีสารประกอบ เช่น นิโคติน กลีเซอรีน และสารทำละลายต่างๆ ส่งผลให้ผู้ใช้งานได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และยังมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้เลิกบุหรี่มวนได้ ในอังกฤษมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือช่วยให้เลิกบุหรี่มวนในการควบคุมดูแลของแพทย์ จากการติดตามผลพบว่า คนสูบบุหรี่มวนมีจำนวนลดลง แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นแทน ดังนั้นการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือเลิกบุหรี่จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

นอกจากนี้มีความเข้าใจผิดถึงความล้าหลังของ กฎหมายไทย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งความเป็นจริงมีกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้า และอีกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก มีกฎหมายควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยไทยมีประกาศห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2557 และ WHO มีประกาศออกมาเมื่อปี 2559

ผนึกสถานประกอบการต้านบุหรี่ไฟฟ้า

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ให้ข้อมูลในการจัดงานประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ภายใต้แนวคิด : รวมพลังสถานประกอบการต้านบุหรี่ไฟฟ้า ให้สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ประเมินสถานประกอบการปลอดบุหรี่ 73 แห่ง ว่า ผลสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ปี 2564 พบว่าในภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงตามลำดับ แต่กลุ่มวัยทำงานสูบบุหรี่ถึง 21% ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มอื่น

สสส. จึงสนับสนุน สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบการปลอดบุหรี่มากกว่า 4,000 แห่ง มีการบูรณาการการทำงานในประเด็นสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ และการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ที่ต้องการ เลิกบุหรี่ ไปยังสายเลิกบุหรี่ 1600 ปัจจุบันมีสถานประกอบการปลอดบุหรี่ต้นแบบมากกว่า 400 แห่ง จากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ

ประไพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายบริหารและบุคคล บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่จาก สสส. และหน่วยงานจากภาครัฐ โดยมีคณะทำงานสนับสนุนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้ปลอดบุหรี่ มีกลไกการช่วยพนักงานที่ติดบุหรี่ให้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ปัจจุบันมีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ 43 คน จากพนักงานที่ติดบุหรี่ 107 คน และสามารถเลิกบุหรี่ได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปได้ 10 คน ส่งผลให้ให้บริษัทผ่านการประเมินเป็นสถานประกอบปลอดบุหรี่ระดับดีเด่นในที่สุด

\'บุหรี่ไฟฟ้า\' แท้จริงแล้ว \'ถูกหรือผิดกฎหมาย\' ? \'บุหรี่ไฟฟ้า\' แท้จริงแล้ว \'ถูกหรือผิดกฎหมาย\' ? \'บุหรี่ไฟฟ้า\' แท้จริงแล้ว \'ถูกหรือผิดกฎหมาย\' ?