เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2023 ครั้งที่ 76
Anatomy of a Fall หนังรางวัลปาล์มทองคำมีความโดดเด่นอย่างไร หนังเอเชียคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง อ่านบทวิเคราะห์เจาะลึกผลรางวัล ‘เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์’ ประจำปี 2023 จาก ‘กัลปพฤกษ์’ คอลัมนิสต์สายเทศกาลภาพยนตร์ของเรา
ประกาศผลกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับการประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อค่ำคืนของวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังจากได้ฉายหนังสายประกวดหลักชิงรางวัลปาล์มทองคำจำนวนถึง 21 เรื่อง ระหว่างวันที่ 17-26 ของเทศกาล
คณะกรรมการตัดสินรางวัลต่าง ๆ ในสายประกวดหลักนี้ ก็ประกอบไปด้วย ผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศสผู้เคยคว้ารางวัลปาล์มทองคำเมื่อสองปีที่แล้ว Julia Ducournau ผู้กำกับชาวอาร์เจนตินา Damian Szifron ผู้กำกับชาวอัฟกานิสถาน Atiq Rahimi ผู้กำกับหญิง Maryam Touzani จากโมร็อกโก ผู้กำกับหญิงจากแซมเบีย Rungano Nyoni นักแสดงชายชาวอเมริกัน Paul Dano นักแสดงชายชาวฝรั่งเศส Denis Menochet และนักแสดงหญิงชาวอเมริกัน Brie Larson
โดยมีผู้กำกับสวีเดนที่สามารถคว้ารางวัลปาล์มทองคำมาได้แล้วถึงสองครั้ง คือ Ruben Östlund รับหน้าที่ประธานคณะกรรมการ ซึ่งผลรางวัลส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างจะไปในทางเดียวกันกับการกะเก็งของเหล่านักวิจารณ์ ดังต่อไปนี้
โฉมหน้าคณะกรรมการ
รางวัลปาล์มทองคำ PALME D’OR
Anatomy of a Fall กำกับโดย Justine Triet จากฝรั่งเศส
หลังจากที่ผู้กำกับหญิงหน้าใหม่จากฝรั่งเศส Julia Ducournau ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินประจำปีนี้ เคยคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเรื่อง Titane ไปเมื่อปี ค.ศ. 2021 ผู้กำกับหญิงจากฝรั่งเศสก็กลับคว้ารางวัลนี้อีกครั้งในสองปีให้หลัง เมื่อ Justine Triet สามารถนำหนังเกี่ยวกับการไต่สวนคดีมรณกรรมว่าเป็นอุบัติเหตุหรือการจงใจปิดบังอำพราง เมื่อฝ่ายสามีพลัดตกจากห้องใต้หลังคาลงมาตายบนกองหิมะ ขณะที่ทุกคนก็อยู่กับบ้าน เรื่อง Anatomy of a Fall เข้าสู่เส้นชัยในการประกวดประจำปีนี้ได้
Anatomy of a Fall เป็นหนังที่คณะกรรมการตัดสินชื่นชมว่ามีความสนุก เข้มข้น กระตุ้นความสนใจผู้ชมได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าหนังจะมีความยาวสิริรวมถึง 151 นาที ซึ่งเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วหนังก็มีสูตรการเล่าที่ยังคงอาศัยตำรับของงานแนวขึ้นโรงขึ้นศาลหรือ courtroom drama สืบหาหลักฐานพิรุธกล่าวโทษ/defend ความผิดกัน
โดยมีฝ่ายมารดา/ภรรยา เป็นผู้ต้องหารายสำคัญ เมื่อในการสืบหลักฐานพยานพบว่า เธอมีปัญหากับสามี ซึ่งอาจมีตราบาปในการทำให้บุตรชายต้องกลายเป็นผู้บกพร่องทางการมองเห็นตั้งแต่เมื่ออายุยังน้อย ร่องรอยการตกจากที่สูงจากหน้าต่างห้องใต้หลังคาจึงน่าสงสัยไปเสียทุกตรง แถมกิริยาท่าทางที่หนักแน่นมั่นคง ไม่ชวนให้รู้สึกสงสารเห็นใจใด ๆ ของฝ่ายภริยาเองก็ยิ่งชวนให้น่ากังขาเข้าไปใหญ่
แต่จุดเด่นที่น่าจะทำให้ Anatomy of a Fall ‘ชนะใจ’ คณะกรรมการประจำปีนี้ได้ ก็คือภาวะแห่งความ ‘ร่วมสมัย’ ของครอบครัวแบบ nuclear family นี้
เมื่อฝ่ายสามีเป็นชาวฝรั่งเศสที่เคยทำงานด้านวิชาการที่อังกฤษ ก่อนจะตัดสินใจย้ายมาเอาดีด้านการเป็นนักเขียน ณ บ้านพักตากอากาศ ณ เทือกเขาแอลป์ บ้านเกิด โดยได้แต่งงานกับหญิงชาวเยอรมัน ซึ่งประกอบอาชีพเป็นนักเขียนเช่นกัน และดูจะประสบความสำเร็จมากกว่า จนต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกัน
ในขณะที่บุตรชายสายตาพิการของทั้งคู่ก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศแบบ ‘พหุวัฒนธรรม’ ในครอบครัวเล็ก ๆ ที่มีสมาชิกเพียงแค่สามราย
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ในระหว่างการไต่สวน ฝ่ายภรรยาถูกจับได้ว่าเคยนอกใจสามีแอบไปลักลอบมีความสัมพันธ์ หากไม่ใช่กับผู้ชาย แต่กลายเป็นชู้รักผู้หญิงด้วยกัน สะท้อนมิติความเป็นตัวละคร LGBTQ+ ของตัวละครหลักรายนี้ ให้มีมิติที่ซับซ้อนชวนเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ให้มากขึ้น
รางวัล GRAND PRIX
The Zone of Interest กำกับโดย Jonathan Glazer
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศของเทศกาลประจำปีนี้ ได้แก่หนังที่สำแดงศักยภาพความเป็นภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่เรื่อง The Zone of Interest ของผู้กำกับอังกฤษ Jonathan Glazer ซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายอังกฤษชื่อเดียวกัน (2014) ของ Martin Amis เกี่ยวกับเรื่องราวความรักนอกสมรสของนายทหารนาซีที่มีต่อภรรยาของผู้บัญชาการค่ายกักกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งสลับเล่าโดยใช้เสียงของตัวละครที่แตกต่างกันถึงสามราย
แต่การดัดแปลงจากวรรณกรรมประเภทนวนิยายมาเป็นภาพยนตร์ใน The Zone of Interest ของ Jonathan Glazer ครั้งนี้ เรียกได้ว่าผู้กำกับได้ ‘รื้อสร้าง’ เนื้อหาในหนังสือ แล้วหยิบเอาเพียงบรรยากาศและบางส่วนของเหตุการณ์มาถ่ายทอดด้วยศิลปะแห่งการใช้ภาพและเสียง
ทั้งจากการถ่ายภาพในระยะไกลให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในแต่ละสถานที่ การใช้ภาพ negative สะท้อนเหตุการณ์อันน่าพิศวง การใช้ภาพมุมสูงแบบ bird eyes’ view เสียงระเบิดอันสนั่นหลอน และการตัดต่อตัดตอนแบบสลับข้ามเวลา จนกลายเป็นหนังที่มีเนื้อหาแปลกใหม่แตกต่างไปจากรสชาติในการอ่านนิยายอย่างสิ้นเชิง
รางวัล JURY PRIZE
Fallen Leaves กำกับโดย Aki Kaurismaki
มาที่รางวัล Jury Prize หรือรางวัล ‘ขวัญใจคณะกรรมการ’ ซึ่งน่าจะเป็นทั้งขวัญใจนักวิจารณ์และขวัญใจผู้ชมในเทศกาลไปด้วย นั่นก็คือเรื่อง Fallen Leaves ของผู้กำกับ Aki Kaurismaki จากฟินแลนด์ หนัง romantic-comedy ตลกหน้าตาย เล่าเรื่องราวการพบกันก่อนจะห่างหายด้วยโชคชะตาของคนงานก่อสร้างหนุ่มขี้เมา กับสาวพนักงานร้าน supermarket ที่ชอบแอบปิด แถมลดราคาสินค้าและเก็บอาหารหมดอายุไว้ทานเอง
ทั้งคู่พบกัน ณ บาร์คาราโอเกะแห่งหนึ่ง ก่อนจะนัดหมายไปดูหนังด้วยกัน แต่พรหมลิขิตของทั้งคู่ก็พลิกผัน เมื่อฝ่ายชายดันเผลอปล่อยให้หมายเลขโทรศัพท์ของฝ่ายหญิงหลุดหายไปกับสายลม จากคู่รักที่ดูจะเหมาะสมด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องพลัดพรากจากกันโดยไม่สามารถหาทางติดต่อกันได้อีก
หนังใช้ลีลางานภาพและบรรยากาศในการเล่าเรื่องราวตามแบบฉบับเฉพาะตัวของผู้กำกับ Aki Kaurismaki ที่หลาย ๆ คนก็อาจจะคุ้นตามาจากผลงานเรื่องเก่า ๆ ของเขาแล้ว ทั้งการสร้างฉากด้วยสีสันตุ่นทึมเล่นกับความสว่างสลัว ตัวละครที่มาในมาดหน้าตายหากแฝงไว้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงฉากการร้องรำทำเพลงอันเป็นลายเซ็นสำคัญของผู้กำกับ สร้างความประทับใจให้กับทั้งแฟนประจำขาเก่า และผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ ได้อย่างถ้วนหน้า
รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม BEST SCREENPLAY
Monster เขียนบทโดย Yuji Sakamoto กำกับโดย Hirokazu Kore-eda
รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ก็ตกเป็นของหนังญี่ปุ่นเรื่อง Monster ที่เล่าเรื่องราวได้มีมิติซับซ้อนมากที่สุดในสายประกวดหลัก จากฝีมือการเขียนบทโดย Yuji Sakamoto และกำกับโดยผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda
เนื่องจากบทภาพยนตร์เรื่อง Monster ใช้วิธีการเล่าในแบบ Rashomon effect หรือ การสลับเล่าเหตุการณ์เดียวกันผ่านมุมมองของตัวละครที่เกี่ยวข้องรายต่าง ๆ ทำให้เหตุการณ์เดียวกันนั้นถูกบิดผันไปตามการตีความของตัวละครแต่ละราย คล้ายวิธีการเล่าในภาพยนตร์เรื่อง Rashomon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa
ซึ่งใน Monster เรื่องนี้ มีตัวละครสำคัญอยู่ด้วยกันสี่ราย แล้วไล่เล่าไปทีละคู่ เริ่มจากคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้ต้องเจอแต่เรื่องกลุ้มใจเมื่อบุตรชายวัยย่างเข้าวัยรุ่นของเธอแสดงพฤติกรรมเก็บกดก้าวร้าว ก่อเรื่องยั่วยุจนทำให้คุณครูหนุ่มต้องใช้ความรุนแรงลงโทษ ก่อนจะค่อย ๆ คลี่คลายเหตุการณ์ว่าครูหนุ่มมีเจตนาอย่างไรในการสั่งสอนบุตรชายของคุณแม่จอมโวย โดยเฉพาะเมื่อบุตรชายรายนั้นมีนิสัยชอบข่มเหงรังแกนักเรียนชายร่วมชั้น
แต่เมื่อบทหนังหันมาเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของนักเรียนชายทั้งสอง ความเข้าใจของเรื่องทั้งหมดก็ได้พลิกเปลี่ยนไป นำไปสู่เหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ สะท้อนให้เห็นอย่างละเมียดละไมว่าการมองสถานการณ์เดียวกันจากเพียงมุมเดียวมันให้ภาพที่คับแคบจนไม่สามารถเป็นภาพแทนใด ๆ ได้อย่างน่าใจหาย
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม BEST DIRECTOR
Tran Anh Hung จากเรื่อง The Pot-au-Feu
ผู้กำกับเชื้อสายเวียดนาม Tran Anh Hung ถือเป็นคนทำหนังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายแรกที่มีหนังเข้าฉายในสายทางการของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ นั่นก็คือเรื่อง The Scent of Green Papaya ในสาย Un Certain Regard เมื่อปี ค.ศ. 1993 ซึ่งเขาก็สามารถคว้ารางวัลกล้องทองคำสำหรับผู้กำกับหน้าใหม่จากเทศกาลไปได้ ก่อนจะเข้าชิงชัยในสายหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีถัดมาบนเวทีออสการ์ กระทั่งคว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสกับเรื่องถัดมา คือ Cyclo (1995)
แต่ทว่าหลังจากนั้นแล้ว ผู้กำกับ Tran Anh Hung ก็ไม่สามารถรักษาตำแหน่ง ‘ผู้กำกับระดับคุณภาพ’ ได้อย่างยั่งยืนสักเท่าไหร่ แม้จะมีหนังยาวออกมาอีก 4 เรื่องในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปี ก็มักจะมีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตี จนกระทั่ง ณ ค.ศ. 2023 นี้ เขาก็กลับมาเกรียงไกรอีกครั้งกับหนังใหม่เรื่อง The Pot-au-Feu ที่ไม่เพียงแต่จะได้เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หากยังสามารถคว้ารางวัล ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’ ติดไม้ติดมือมาอีกด้วย
จากชื่อหนังก็คงจะพอเดาได้ว่า The Pot-au-Feu เป็นหนังเกี่ยวกับการปรุงอาหารตำรับฝรั่งเศสขนานแท้และดั้งเดิม โดยเล่าเรื่องราวผ่านการใช้ชีวิตและการทำงานของพ่อครัวแม่ครัวคู่หนึ่งในช่วงปี 1885 นำแสดงโดย Benoit Magimel และ Juliette Binoche ที่แม้จะอาศัยร่วมชายคาเดียวกัน แต่ยังคงความสัมพันธ์เป็นเพื่อนร่วมงาน
เมื่อฝ่ายชายอยากจะตกร่องปล่องชิ้นกับผู้ช่วยสาวที่เขามีใจเสียที พ่อครัวหนุ่มของเราจึงลงมือปรุงอาหารมื้อพิเศษให้หญิงคนรัก ซึ่งแน่นอนว่ามันจักต้องเป็นตำรับสุดแปลกที่ไม่เคยมีผู้ใดได้ลิ้มลองมาก่อน!
โดยหนังเรื่องนี้ก็ถ่ายทอดให้เห็นทุก ๆ ขั้นตอนกว่าจะได้อาหารรสชาติวิเศษเหล่านี้มาจนกินเวลายาวนานหลายนาที มีความประณีตบรรจงตรงส่วนไหนบ้าง แต่ผู้กำกับ Tran Anh Hung ก็ถ่ายทอดทุกอย่างออกมาได้อย่างงดงามมีความสุนทรีย์ ทั้ง ๆ ที่เขาก็มิได้มีประสบการณ์คลุกคลีกับการปรุงอาหารแบบฝรั่งเศสเช่นนี้มาแต่กำเนิด!
รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม BEST ACTOR
Koji Yakusho จากเรื่อง Perfect Days กำกับโดย Wim Wenders
นอกเหนือจาก The Pot-au-Feu ที่ถือเป็นการกลับมาอย่างเกรียงไกรของผู้กำกับ Tran Anh Hung แล้ว Perfect Days ก็ยังถือเป็นการกลับมาอย่างสง่างามของผู้กำกับ Wim Wenders ด้วยเช่นกัน หลังจากที่มีผลงานว่างเว้นจากสายประกวดหลักที่คานส์มายาวนานถึง 15 ปี
คราวนี้เขากลับมาทำหนังญี่ปุ่น เล่าผ่านตัวละครชายหนุ่มช่างฝันผู้โดดเดี่ยวอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา โดยได้ Koji Yakusho มารับบทเป็นพนักงานทำความสะอาดสุขาสาธารณะที่ต่าง ๆ ในโตเกียว ผู้ชอบใช้เวลาว่างในการใช้กล้องถ่ายรูปบันทึกภาพรังสีแสงลอดผ่านยอดไม้ และฟังเพลงสากลเก่า ๆ โดยใช้ตลับเทปคาสเซ็ตต์ผ่านเครื่องเล่นในรถ
เขาเป็นหนุ่มเหงาเดียวดายอย่างโรแมนติกผู้นิยมชีวิตอันสมถะห่างไกลจากความยิ่งใหญ่ ซึ่ง Koji Yakusho ก็ถ่ายทอดตัวละครออกมาได้น่าประทับใจ ไม่ดูเด่นจนเป็นพระเอกมาเกินไปในขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นแรงงานรากหญ้า ที่สร้างฐานะให้ตัวเองมีอยู่มีกินได้ผ่านความสงบเสงี่ยมเจียมตัว
รางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม BEST ACTRESS
Merve Dizdar จากเรื่อง About Dry Grasses กำกับ Nuri Bilge Ceylan
อาจจะเป็นรางวัลที่สร้างเซอร์ไพรส์ได้พอสมควร เพราะจะว่ากันจริง ๆ การประกวดปีนี้ก็มีนักแสดงฝ่ายหญิงในบทเด่น ๆ ชวนให้ตื่นเต้นร่วมลุ้นกับการชิงรางวัลอยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น Sandra Hüller จากทั้ง Anatomy of a Fall และ The Zone of Interest หรือ Alicia Vikander จาก Firebrand หรือ คู่ขวัญ Natalie Portman กับ Julianne Moore จาก May December
แต่สุดท้ายนักแสดงสาวชาวตุรกี Merve Dizdar ในบทคุณครูสาวที่ต้องมาวิพากษ์จริยธรรมความถูกต้องกับคุณครูหนุ่มโดยที่ไม่ได้เป็นบทนำเสียด้วยซ้ำ ก็สามารถคว้ารางวัลนี้ไปครองได้ โดยแทบไม่มีใครกะเก็งมาก่อน
แต่เมื่อได้ดูการแสดงของเธอจากตัวหนังที่ต้องนั่งถกสนทนาธรรมกับตัวละครเอกกันอย่างยาวนานหลายสิบนาที กับ dialogue ที่ต้องจำให้แม่นยำทุกคำต้องลงจังหวะจำนวนหลายหน้า
ที่สำคัญคืออารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดต้องมาต้องได้ ก็นับเป็นการแสดง ‘สายหิน’ ที่เหมาะควรกับรางวัลไป เพราะดูแล้วน่าจะเป็นบทบาทการแสดงที่ท้าทายมากที่สุดแล้วสำหรับนักแสดงฝ่ายหญิง ณ เวทีคานส์ปีนี้