Youth Policy Lab 2023 เมื่อเด็กออกแบบนโยบายเพื่อเด็ก
ในสังคมที่ทุกคนสามารถมีสิทธิ์และมีเสียงเท่าเทียมกัน เสียงของเด็กจึง "มีค่า" แต่บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่มักละเลยที่จะฟังเสียงเด็ก จึงนำมาสู่โครงการ Youth Policy Lab 2023 เพื่อให้เด็กสามารถออกแบบนโยบายเพื่อเด็กได้
จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เด็กและเยาวชนเองก็มีเสียงและมีโอกาสในการแก้ปัญหาของพวกเขาเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือรอรับฟังแต่เสียงคำสั่งของผู้ใหญ่? แนวคิดดังกล่าวนี้เอง นำมาสู่โครงการดีๆ อีกหนึ่งโครงการ "Youth Policy Lab 2023 ห้องทดลองออกแบบนโยบายโดยเด็กและเยาวชนเพื่อเด็กและเยาวชน" ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายเด็ก-ครอบครัว (คิด for คิดส์) 101PUB และ LUKKID จัดขึ้นโดยหวังเปิดเวทีเยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้ "มีส่วนร่วม" ออกแบบนโยบายแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านการฝึกประสบการณ์ด้วยสองเครื่องมือกระบวนการคิดสร้างคนอย่าง Design Thinking และ System Thinking
Youth Policy Lab 2023 เกิดขึ้นจากมุมมองในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก-เยาวชน ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจได้ดีกว่าตัวเด็ก-เยาวชน โดยเด็ก-เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 30 คน แบ่งเป็น 6 ทีม ร่วมออกแบบนโยบายที่ผ่านกระบวนการคิด การตัดสินใจ รวมถึงแลกเปลี่ยนกับผู้ชำนาญ และทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน จนทำให้ได้ข้อเสนอนโยบายแก้ปัญหาโจทย์ ทั้งเรื่องสุขภาพจิต ทำอย่างไรให้สังคมกรุงเทพฯ เป็นมิตรต่อสุขภาพจิต ออกแบบระบบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก ให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพทั่วถึง เท่าเทียม และอนาคตการทำงาน ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ความท้าทายใหม่ๆ ในตลาดแรงงานที่พวกเขาต้องเผชิญ
แม้ว่า Youth Policy Lab 2023 จะเป็นห้องปฏิบัติการนโยบายหน่วยเล็กๆ ของสังคม แต่หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ การนำแนวคิดการรับฟังเสียงของประชาชน "ตัวเล็ก" มาใช้ออกแบบนโยบาย
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า เริ่มจากที่คิด for คิดส์ เป็นศูนย์วิชาการของสำนัก 4 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นเด็กเยาวชนอายุ 15-25 ปี กว่า 20,000 คน จากทุกภูมิภาค พบ 3 ประเด็นที่กระทบความสุขของเด็กและเยาวชน ดังนี้ 1) การศึกษาที่มองว่ายังเข้าถึงยาก เฉพาะในกรุงเทพฯ มีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษากว่า 2,500 คน จากเหตุไม่มีเงิน โรงเรียนอยู่ไกล มีความสามารถไม่พอ 2) ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี เผชิญปัญหาสุขภาพจิต เสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย และพบว่าโรคซึมเศร้าบั่นทอนชีวิตเยาวชนมากกว่าช่วงวัยอื่น 3) งานหายากโดยเฉพาะงานที่ถูกใจ โดยปัจจัยเรื่องทักษะ เส้นสาย และเงิน เป็นอุปสรรคต่อการประสบความสำเร็จด้านการทำงาน โดย 3 ประเด็น ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในห้องปฏิบัติการนโยบาย ซึ่งทาง สสส. และภาคียังเปิดโอกาส ให้เด็กและเยาวชนได้ทดลองออกแบบนโยบายและนำร่องปฏิบัติการในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังเปิดรับโครงการเมื่อก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 84 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ 30 คน ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้คิด ทดลองทำ
ล่าสุดเยาวชนทั้ง 6 ทีม ยังได้มีโอกาสมานำเสนอนโยบายที่ได้ออกแบบมา ให้บรรดาผู้ใหญ่ร่วมรับข้อเสนอนโยบายและร่วมแสดงความคิดเห็นใน Demo day ซึ่งงานนี้ยังได้ทีมผู้ใหญ่จากทีมผู้บริหาร กทม. มาร่วมรับฟังและรับข้อเสนอของเด็ก-เยาวชนที่น่าสนใจ เพื่อนำสู่การขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไปด้วย
"โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากวัตถุประสงค์ที่เห็นว่า ที่ผ่านมาโครงการแนวแก้ปัญหาให้กับเยาวชนมีคนทำเยอะแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือ เยาวชนเองเขาคิดอย่างไร มองปัญหาของเขาอย่างไร และอยากได้ความช่วยเหลือ หรือควรทำแบบไหนถึงจะตอบโจทย์ที่ป้องกันปัญหาเขาได้จริง ซึ่งเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่คนอื่นคิดแทนเยาวชนไม่ได้ เราเลยอยากให้เป็นจุดเด่นของงานนี้ จึงใช้ชื่อโครงการว่าห้องทดลองนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเยาวชนโดยเยาวชน" ณัฐยา กล่าว
Youth Policy Lab 2023 จึงเป็นการนำแนวทางหรือแนวนโยบายแก้ปัญหาและความต้องการของเยาวชนโดยเยาวชนอย่างแท้จริง ซึ่งณัฐยาเชื่อว่าจะเข้ามาช่วยเติมเต็มโครงการแก้ปัญหาหรือนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาเยาวชนโครงการอื่นๆ ที่มีอยู่เยอะแล้ว
"เราจะมีเครื่องมือสำคัญสองตัวคือ Design Thinking กับ System Thinking มาอบรมให้ความรู้แก่เขา สำหรับ System Thinking เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้น้องๆ วิเคราะห์ภาพรวมทั้งหมด ทั้งระบบได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการที่เขาต้องไปสัมภาษณ์ ศึกษาข้อมูลจากคนหลายคน ขณะที่ Design Thinking คือกระบวนการที่เขาต้องไปเก็บข้อมูลโดยตรงจากเยาวชนที่เผชิญปัญหานั้น Design Thinking จึงช่วยให้เขาขุดลึกว่า ในแต่ละบุคคลพบเจอ pain point อะไรและอยากได้อะไรมาเป็นตัวช่วย"
ณัฐยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ทำให้กลุ่มเยาวชนนักคิดเรียนรู้สองวิธีการนี้ จะช่วยให้น้องๆ สามารถเห็นภาพมุมมองที่กว้างขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมความต้องการระดับบุคคลด้วย
"แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของงานนี้คือ ความต้องการของระดับบุคคล เพราะเวลาที่น้องๆ เขาคิดสร้างสรรค์นโยบายหรือคิดไอเดียออกมา ก็ควรจะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาระดับบุคคล ส่วนในเรื่องนโยบายนั้นมองว่าอย่าง กทม.เองก็มีคณะทำงานที่ทำเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตความปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งเป็นการมองภาพใหญ่ในเชิงระบบอยู่แล้ว โดยในท้ายที่สุดอยากให้เยาวชนเหล่านี้มาเป็นคณะทำงานร่วมกับกทม. โดยใช้มุมมองจากมุมมองเยาวชนที่ประสบปัญหาแล้วเขาก็จะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ โดยร่วมมือกับผู้ใหญ่ในหน่วยงานอื่นๆ ต่อ"
อีกหนึ่งหัวใจของโครงการนี้คือ การสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ณัฐยาอธิบายว่า การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายแตกต่างและไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมเฉยๆ หรือ Meaningful Participation
"เรามองว่าการมีส่วนร่วมอย่างเฉยๆ ไม่สามารถนำไปสู่อะไรเลย เช่น การเชิญเยาวชนสองคนมาเป็นตัวแทนฝ่ายเยาวชนในที่ประชุมผู้ใหญ่ ซึ่งอาจแค่ถามความเห็นของเขา เขาอาจตอบคำถามด้วยความไม่เข้าใจลึกซึ้งพอ แต่สุดท้ายข้อสรุปการประชุมที่ได้ก็ยังคงเป็นมุมมองจากผู้ใหญ่เหมือนเดิม ไม่ได้มีเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ"
การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเยาวชน จึงเป็นมากกว่าแค่การที่เยาวชนมาบอกว่าตนเองต้องการอะไร หรือต้องการมาส่งเสียงเท่านั้น หากได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแก้ปัญหาของเขาด้วยตัวเอง
"สสส. เชื่อว่าการเปิดพื้นที่ให้ได้มีส่วนร่วม จะช่วยลดความอึดอัดและความขัดแย้งได้ โดย สสส. จะนำบทเรียนที่ได้รับจากโครงการในครั้งนี้มาต่อยอดดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ หลังจากจบการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว จะได้จัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาผลักดันร่วมกันต่อไป" ณัฐยา กล่าว
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ร่วมขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนร่วมกับ สสส. มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการนี้ เน้น 3 ประเด็นปัญหาที่กทม.ให้ความสำคัญเร่งด่วนเช่นกัน รวมถึงการศึกษาที่ยังเหลื่อมล้ำ
"กทม. กำลังเดินหน้าขยายโอกาสให้ครอบคลุมเด็ก-เยาวชนอย่างเท่าเทียม พัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการประกอบอาชีพในฝันของเด็ก ส่วนเรื่องสุขภาพจิต เน้นป้องกันมากกว่าเยียวยาส่งเสริมการปกป้องสิทธิ เช่น การแต่งกาย ทรงผม จะช่วยลดภัยคุกคามทางใจของเยาวชน สำหรับการเปิดพื้นที่ให้เจ้าของปัญหาได้มาออกแบบนโยบายแก้ไข จะตอบโจทย์เยาวชนมากที่สุด ทางกทม.มาร่วมรับฟังทั้งฝ่ายราชการ-ฝ่ายการเมืองจะรับข้อเสนอไปปรับ สู่การขับเคลื่อนจริงในพื้นที่ กทม."