ยุคสมัย 'เครื่องแบบนักเรียนไทย' พัฒนาการที่เปลี่ยนไป

ยุคสมัย 'เครื่องแบบนักเรียนไทย' พัฒนาการที่เปลี่ยนไป

ความเป็นมาของ “เครื่องแบบนักเรียน” มีพัฒนาการมาพร้อมกับระบบการศึกษาแผนใหม่แบบตะวันตก ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ไล่เรียงมาถึงยุคผมเกรียน เสมอหู และล่าสุดไปรเวท

กระแสถกเถียงประเด็นว่าด้วย“เครื่องแบบนักเรียน”ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป หัวข้อหลักคือ “ให้ยังคงมีไว้” กับ “เห็นควรยกเลิกได้แล้ว” เป็นแกนกลางของวิวาทะ

บทความนี้จงใจทอดระยะให้กระแสซาลง เพราะเกรงจะถูกจับให้อยู่ในฝักฝ่ายใดฝักฝ่ายหนึ่งกลายเป็นหินอีกก้อนที่ถูกโยนลงไปในระลอกคลื่นขัดแย้ง บทความนี้ตั้งใจจะฉายภาพรวมลำดับความเป็นมาของ“เครื่องแบบนักเรียนไทย”ซึ่งมีพัฒนาการมาพร้อมกับระบบการศึกษาแผนใหม่ที่เริ่มปฏิรูปอย่างจริงจังเกิดระบบโรงเรียน และหลักสูตรสอบไล่ รวมเป็นแบบแผนขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5

ชวนให้ผู้อ่านถอยออกมาจากวงวิวาทะ มาย้อนดูภาพฉายของลำดับพัฒนาการ ก็จะพบว่า เครื่องแบบนักเรียนไทยนั้นเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ ตามเงื่อนไขปัจจัย และตามปรัชญาแนวคิด และสภาพการณ์ของสังคมแต่ละยุคสมัย

ยุคสมัย \'เครื่องแบบนักเรียนไทย\' พัฒนาการที่เปลี่ยนไป

หรือย้อนไปไกลกว่าเครื่องแบบนักเรียน เราจะพบว่า อันว่าเครื่องแต่งกายที่เป็นแบบแผนเหมือนๆ กันเป็นหมู่คณะที่เรียกว่าเครื่องแบบนั้น แท้จริงมีมาแต่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่พอเริ่มรู้จักทอผ้าและตัดเย็บเสื้อแสงรูปทรงที่ซับซ้อนกว่าเอาผ้าผืนมาห่มคลุม มนุษย์เราก็จำแนกชั้นวรรณะ ประเภท และจำกัดเครื่องแต่งกายเฉพาะของหมู่เหล่าขึ้นแล้ว

เครื่องแบบเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเครื่องแต่งกาย มนุษย์เราจำแนกชนชั้น ตำแหน่ง หน้าที่กันอย่างไร มันก็สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายนั้นแลฯ

และที่สำคัญ มันสามารถปรับเปลี่ยนได้ ... เป็นไปตามเหตุปัจจัยของยุคสมัยนั้นๆ

เครื่องแบบชุดนักเรียนไทยก็มีปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเช่นกัน บทความนี้ ขอจำแนกยุคสมัยของชุดนักเรียนตามสายตาของผู้เขียน ดังนี้

  • ยุคเริ่มก่อตั้งสมัยรัชกาลที่ 5

การปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5  เกิดกระทรวงธรรมการ และเริ่มเกิดมีระบบการศึกษาแผนใหม่แบบเดียวกับทางตะวันตก มีระบบการสอนหนังสือแผนใหม่ที่มีหลักสูตรเหมือนๆ กันของแต่ละโรงเรียน

และมีระบบสอบไล่กลาง แทนการเรียนอ่านเขียนแบบเดิมโดยอาศัยบ้านหรือวัด ยุคแรกสุดนักเรียนยังไม่มีเครื่องแบบ ซึ่งก็ไม่แปลกที่ยังไม่มี ขนาดทหาร ตำรวจ ที่รับมาจากตะวันตกและจำเป็นต้องมีเครื่องแบบมากกว่าพลเรือน ก็ยังเกิดมีแบบไม่ลงตัว คือเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

ทางด้านตุลาการก็เกิดมีครุยสวมแบบตะวันตก ข้าราชการทั่วไปตามกระทรวงกรมต่างๆ ยังแต่งกายปกติ อาจจะต่างออกไปตรงสีของผ้านุ่ง กรมท่า นุ่งผ้าสีกรมท่าเป็นแบบแผน ซึ่งนั่นแค่แบบแผนเดิม ไม่ใช่ “เครื่องแบบ” ตามความหมายใหม่

ในยุคแรกสุด การเรียนประโยคบุรพบท มูลบทบรรพกิจเรื่อยมา ยังแบ่งแค่ 3 ภาค คือ เลขสามัญวิธี สยามไวยากรณ์ และ ให้เขียนตามคำบอก (อ่านออกเขียนได้บวกลบได้)

การสอบไล่กลางทุกโรงเรียนต้องมาสอบรวมกัน ปรากฏในยุคแรกมีสามเณรจากวัดต่างๆ มาสอบร่วมกับนักเรียนจากโรงเรียนแผนใหม่

นั่นก็คือ ไม่ได้แยกวัดกับโรงเรียนอย่างเด็ดขาด โรงเรียนยุคแรกอยู่ในวัด แค่เรียกชื่อให้พิเศษขึ้นจากเดิมว่าโรงเรียน แค่นั้น กระทรวงธรรมการยุคแรกยังคุมทั้งพระ คุมทั้งโรงเรียน และการพยาบาล

ยุคสมัย \'เครื่องแบบนักเรียนไทย\' พัฒนาการที่เปลี่ยนไป

การเปลี่ยนแปลงเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ชัดเจน รัชกาลที่ 6 ทรงจบศึกษาจากประเทศอังกฤษ ชนชั้นนำไทยรับและคุ้นเคยกับเครื่องแต่งกายตะวันตก รวมถึงเครื่องแบบของหน่วยงานต่างๆ ข้าราชการมีเครื่องแบบ นักเรียนมหาดเล็กหลวง ที่สวนกุหลาบและวชิราวุธวิทยาลัยใช้เสื้อราชปะแตน แรกสุดโจงกระเบน ค่อยปรับมาเป็นกางเกงขาสั้น  

โรงเรียนเอกชนทยอยตั้งมากขึ้น เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งก็เอาระบบฝรั่งมา มีเครื่องแบบ สมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มพัฒนาระบบสถาบันการศึกษาจริงจัง โรงเรียนประจำจังหวัดชายหญิงในต่างจังหวัดทยอยตั้ง เป็นยุคแรกๆ ของระบบโรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนได้เริ่มมีเครื่องแต่งกายชุดนักเรียน

  • เครื่องแบบนักเรียนยุคหลังสงครามโลก

เครื่องแบบนักเรียนเกิดมีเป็นแบบแผนเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังเกิดหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คือ ในยุคนั้นแต่ละโรงเรียนให้มีเครื่องแบบนักเรียนกันแล้ว แต่ยังไม่เป็นแบบแผน เกิดมีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482 ขึ้นมาในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม สั้นๆ ไม่กี่มาตรา คือ ให้แต่งเครื่องแบบ และห้ามคนอื่นที่ไม่ใช่นักเรียนบังอาจแต่ง (กฎหมายใช้คำบังอาจ) ส่วนรายละเอียดเป็นไปตามระเบียบลูก

ในยุคนั้นเป็นยุคขวาจัด ชาตินิยมนำไทย ความคิดเรื่องเครื่องแบบมีอุดมการณ์ของการปกครอง ความเป็นปึกแผ่น และระเบียบวินัยแฝงอยู่ เครื่องแบบนักเรียนที่ประกาศใช้จึงออกมาแนวยุวชนทหาร ที่สำคัญต้องมีหมวก เพราะเป็นยุคมาลานำไทยสู่มหาอำนาจ  

เครื่องแบบนักเรียนยุคท่านผู้นำ โรงเรียนรัฐบาล ให้สวมหมวกแก๊ปทรงหม้อตาลผ้าสีกากีแกมเขียว มีตราจักรสมอไขว้หน้าหมวก ฉลุคำว่า “รักชาติยิ่งชีพ” ไว้ที่หน้าหมวก เสื้อนักเรียนไม่ใช้สีขาว

แต่เป็นเสื้อเชิ้ตผ้ากากีแกมเขียวคอพับผ่าอกตลอด ที่บ่ามีอินทรธนูสีเดียวกับเสื้อ กำหนดสั้นยาวกี่เซ็นๆ เป๊ะๆ กางเกงผ้ากากีแกมเขียวเหมือนกัน ขาสั้นเหนือเข่า เข็มขัดหนังน้ำตาล ถึงเท้ายาวสีดำ รองเท้าหุ้มส้นหนังดำ หน้าอกติดอักษรย่อโรงเรียน และเลขหมายประจำตัว

ในยุคนั้นมีเครื่องแบบยุวชนทหารด้วย แยกออกมาจากเครื่องแบบนักเรียน

นักเรียนหญิง ผ้าขาวเกลี้ยงคอกะลาสี ที่พับใต้คอเป็นสีกรมท่า แขนสั้นปลายแขนจีบเล็กน้อย หน้าอกปักอักษรย่อและเลขประจำตัว

ส่วนผ้านุ่งนั้นในยุคโน้นไม่มีกระโปรง ให้ใช้ผ้าถุงสีกรมท่า ยาวกรอมครึ่งระหว่างเข่าถึงข้อเท้า ถุงเท้าขาว รองเท้าหนังหรือผ้าใบก็ได้ สีดำ น้ำตาล หรือขาว หรือตามโรงเรียนกำหนด

มีคำพูดอธิบายว่า เครื่องแบบนักเรียนมีไว้เพื่อไม่ให้แบ่งชั้นวรรณะ ลูกคนรวยลูกชาวบ้าน แต่ที่จริงโรงเรียนในยุคแรก (จนถึงหลัง พ.ศ.2500) ยังมีชนชั้นวรรณะแบ่งกัน โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนราษฎร์ และโรงเรียนประชาบาล (ก่อนเปลี่ยนการปกครอง มีโรงเรียนหลวง คือ สวนกุหลาบที่มีไว้สำหรับลูกหลานขุนนางเจ้านาย กับโรงเรียนทั่วไปที่มักกำเนิดจากวัด)

เครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนประชาบาล/เทศบาลในยุคท่านผู้นำ ถูกกำหนดให้หรูน้อยกว่าโรงเรียนรัฐบาล อาจเพราะเข้าใจว่าอยู่บ้านนอกชนบท

นักเรียนชาย เสื้อสีขาว สีน้ำเงินแก่ หรือกากีแกมเขียว เชิ้ตคอพับแขนสั้นผ่าอก / กางเกงขาสั้น สีดำ สีน้ำเงินแก่ หรือ สีกากีแกมเขียว

นักเรียนหญิง เสื้อสีขาวหรือน้ำเงินแก่คอพับแขนสั้น นุ่งผ้าถุงสีกรมท่า น้ำเงินแก่หรือสีด ส่วนโรงเรียนราษฎร์ กำหนดให้แบบเดียวกับโรงเรียนเทศบาล

ในช่วงรัฐนิยม มีระเบียบเพิ่มให้นักเรียนสวมหมวกสาน มีปีกและมีผ้าแถบสีกรมท่าผูกเป็นโบว์ห้อยด้านหลัง

เครื่องแบบนักเรียนยุคสงครามโลกแบบที่ว่า อยู่ได้ไม่นาน และในทางปฏิบัติก็แทบไม่มีได้ใช้จริงเพราะระหว่างสงครามข้าวยากหมากแพง ผ้านุ่งไม่มีจะใส่กัน โรงเรียนมักจะอนุโลมเท่าที่นักเรียนมี

ยุคสมัย \'เครื่องแบบนักเรียนไทย\' พัฒนาการที่เปลี่ยนไป

  • ยกเลิกเครื่องแบบท่านผู้นำ

ระเบียบเครื่องแต่งกายเป๊ะเว่อแบบท่านผู้นำจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกยกเลิกเมื่อปี 2492 มีระเบียบใหม่เสื้อขาวแขนสั้นที่ นักเรียนชายสวมเชิ้ตคอตั้งผ้าขาวแขนสั้น มีกระเป๋าติดราวนมด้านซ้าย กางเกงขาสั้นกากีเหนือเข่า นักเรียนหญิง เสื้อขาวที่แยกเป็นประถม มัธยม และชั้นสูงขึ้นไป กระโปรงกรมท่า

หลัง 2493  มีการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเป็นชุดนักเรียนแบบที่เราท่านเห็นคุ้นตา โรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนหลวงทยอยขอใช้เครื่องแบบที่เป็นแบบแผนของตนเอง กางเกงน้ำเงิน กางเกงดำ แม้กระทั่งกระโปรงแดง เช่น โรงเรียนดาราวิทยาลัยจังหวัดเชียงใหม่ขอใช้กระโปรงแดง ก็ยังใช้สีแดงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

  • ยุคนักเรียน ต้องผมเกรียน เสมอหู

หลัง พ.ศ. 2500 ยังมีโรงเรียนที่ใช้หมวกเป็นเครื่องแบบติดมาจากระเบียบยุคก่อนและหมดไปในช่วง พ.ศ. 2515-2518 โดยประมาณ

ระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบมันมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในกระทรวงศึกษาธิการด้วย จากยุคประชาบาลมาสู่ยุคคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ก็เกิดมีพัฒนาการของการกำหนดมาตรฐานเครื่องแบบรวมขึ้นมา  

ในยุคนี้มีแบบแผนว่าด้วยการแต่งกายที่ครอบคลุมไปถึงทรงผม และ อุปกรณ์การเรียน เช่นกระเป๋าหนังสีดำ นักเรียนถือกระเป๋าแฟชั่น ใบโตหรือมีสีสันไม่ได้ และคำว่าเครื่องแบบนั้นยังรวมไปถึง ทรงผม นักเรียนชายต้องตัดทรงนักเรียนหรือรองทรงสูงสำหรับมัธยมปลาย นักเรียนหญิงต้องสั้นเสมอหู

เครื่องแบบ มีความหมายกว้างขึ้นหมายถึงวินัยและการบังคับต้องปฏิบัติที่รวมถึงทรงผม และอุปกรณ์กระเป๋าถือ

มีกรณีความขัดแย้งว่าด้วยเครื่องแต่งกายที่เคร่งครัดกำหนดให้นักเรียนหญิงต้องแต่งตามระเบียบเกิดขึ้นในเขตจังหวัดภาคใต้ที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาจึงมีระเบียบให้นักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามแต่งกายให้สอดคล้องกับความเชื่อได้

ยุคสมัย \'เครื่องแบบนักเรียนไทย\' พัฒนาการที่เปลี่ยนไป

  • ยุคเอกลักษณ์ แฟชั่น ถึงยุคคลี่คลายไปรเวทได้

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน มีประกาศที่เป็นแบบแผนกลาง และเปิดช่องให้โรงเรียนขอให้ประกาศเครื่องแบบเฉพาะโรงเรียนนั้นๆ

หลังทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา เครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนเอกชนเริ่มมีสีสันเฉพาะมากขึ้น เช่น กระโปรงลายตาสก๊อตมีสีสันเฉพาะที่สดใส มีเสื้อกั๊กสีเดียวกันที่ฉีกออกไป หรือมีเนคไท เหมือนชุดนักเรียนในต่างประเทศ

น่าสังเกตว่าเครื่องแบบฉูดฉาดเก๋ไก๋เป็นเครื่องดึงดูดทางการตลาดให้กับโรงเรียนด้วยอีกทางหนึ่ง

ในปี 2542 กระทรวงอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามามีบทบาทในเครื่องแบบนักเรียน (ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการอีกแล้ว) เมื่อมีการประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมชุดเครื่องแบบนักเรียนซึ่งมีมูลค่าการตลาดสูงมากในแต่ละปีและมีผู้ผลิตรายใหญ่แข่งขันกันหลายรายขึ้น

มาตรฐานที่ว่านอกจากกำหนดไซส์ขนาดมาตรฐานของเสื้อผ้าแล้ว ยังกำหนด มอก. ของชนิดของผ้าที่ใช้ และความแข็งแรงทนทานของการตัดเย็บ ทำให้เกิดมีกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรว่า ทำไมใช้ผ้าทอมือ กี่กระตุกในการตัดเย็บชุดนักเรียนไม่ได้ ทำไมไม่ส่งเสริมผ้าพื้นเมือง (คือส่งเสริมแต่โรงทอผ้าและผู้ผลิตรายใหญ่)

นั่นคือจุดที่ทำให้ต่อมาปี 2546 มีประกาศให้แต่ละโรงเรียนจะใช้ผ้าพื้นเมืองมาเป็นเครื่องแบบก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผูกขาดผ้าจากโรงงานรายใหญ่

ในระยะหลังจากนั้น เครื่องแบบแต่งกาย รวมไปถึง ทรงผม อุปกรณ์การเรียน เริ่มคลี่คลาย ไม่ผูกพันกับแนวความคิด ระเบียบวินัยเป๊ะๆ เหมือนยุคก่อนหน้า และเริ่มมีแนวคิดให้อิสระในเรื่องทรงผม และ มีบางโรงเรียนเริ่มให้แต่งกายไปรเวทได้ในบางวัน จากเดิมที่มีแต่ชุดพื้นเมือง หรือชุดพละ

ดั่งที่เราท่านได้เห็นข่าวคราวผ่านตาในระยะไม่นานมานี้