ย้อนทบทวนเคยเกิดอะไรขึ้น เมื่อ'แล้ง'จัดปี 2558
ย้อนทบทวนเมื่อ'แล้ง'จัดปี 2558 'เอลนีโญ'ในปีพ.ศ. 2567 จะเกิดภัยธรรมชาติซ้ำรอยเดิมหรือไม่ ลองอ่านเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพื่อตั้งรับกับภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้น
เป็นที่ทราบกันแล้วว่ากรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนและจะยาวไปจนถึงอย่างน้อยเดือนมีนาคม 2567 ขณะเดียวกันจะเกิดภาวะแห้งแล้งฝนไม่มาตามปกติ
ซึ่งล่าสุดเป็นที่ยืนยันว่าปริมาณฝนสะสมปี 2566 จนถึง 12 กรกฎาคมที่ผ่านมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกรมอุตุฯ จริง นั่นคือ มีปริมาณฝนสะสม 487.9 มิลลิเมตร เทียบกับค่าเฉลี่ยปกติ 636.6 มม.
ก่อนที่จะไปถึงสถานการณ์แล้งของปีหน้าประเทศไทยนั้นเคยประสบกับภัยแล้งมาหลายรอบ ปีที่เกิดแล้งจัดหนัก ๆ ล่าสุดคือ ปี 2558 และ 2562 ดูเหมือนว่าวัฏจักรแล้ง จะอยู่ที่ตัวเลข 4-5 ปีหมุนเวียนมาครั้ง
บทความนี้ขอนำท่านย้อนไปทบทวนดูว่า เมื่อปีแล้งจัด 2558 เราเคยเจอปัญหาใดบ้าง เพื่อจะได้เป็นฐานข้อมูลเตรียมกับรับมือต่อไป
ปริมาณฝนรายปี พ.ศ.2558 ต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี อยู่ที่ 1247 มม. น้อยกว่าปกติอยู่ประมาณ 14.73% และน้อยสุดย้อนไปถึงปี 2524 เลยทีเดียว
ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศทั้ง 33 อ่าง น้อยมาก เมื่อถึงสิ้นสุดฤดูฝนของปี 2558 (31 ตุลาคม 2558 ) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศจึงมีปริมาณน้ำคงเหลือเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับฤดูแล้ง ปี 2558/2559 อยู่เพียง 41,105 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต
กรมชลประทาน ได้ประกาศงดปลูกพืชฤดูแล้ง 1.59 ล้านไร่ แต่มีการเพาะปลูกจริง 4.013 ล้านไร่ เกินจากแผน เป็นปัญหาที่เกษตรกรต้องรับผิดชอบความเสียหายเอง ในปีนั้นมีการห้ามสูบน้ำจากคลองส่งน้ำต่างๆ เพื่อจัดสรรยังกลุ่มใช้น้ำต่างๆ ให้เพียงพอ เกิดความขัดแย้งทั่วไป
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยรายงาน พื้นที่เกษตรเสียหาย 1.65 ล้านไร่ เกษตรกรประสบภัย 172,842 คน ใช้งบประมาณช่วยเหลือ 1,838.29 ล้านบาท เป็นปีที่มีไฟไหม้และปัญหาวิกฤตฝุ่นควันสูงมากกว่าปีปกติ
สถิติจุดความร้อนระบบ modis ระยะ 5 เดือนในปี 2558 อยู่ที่ 27580 จุด สูงกว่าปีปกติที่ไม่เกิน 20000 จุด และเกิดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กครอบคลุมหนักมากในภาคเหนือ
แม่น้ำสำคัญหลายสายแห้งจนสามารถเดินข้ามได้ แม่น้ำปิง ที่อ.จอมทอง เชียงใหม่ เช่นเดียวกับจุดที่ผ่านอำเภอเมืองกำแพงเพชรมองเห็นสันดอนทราย สามารถเดินข้ามได้เช่นกัน ข่าวปลาในกระชังตายในหลายจังหวัด เช่นที่ลำปาง และ ขอนแก่น เลย สุพรรณบุรี เพราะแล้งจัด อากาศร้อน
พืชยืนต้นตายมีข่าวอ้อยยืนต้นตายนับหมื่นไร่ที่นครสวรรค์ เช่นเดียวกับต้นข้าวในนาภาคกลางแถบสุพรรณบุรี
ระบบผลิตประปากรุงเทพฯฝั่งตะวันออก / ปทุมธานี ขาดน้ำดิบไม่เพียงพอการผลิต เช่นเดียวกับระบบการผลิตป้อนนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือที่ลำพูนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ราคาสินค้าเกษตรขึ้นพรวด โดยเฉพาะวิกฤตราคามะนาวราคาขายปลีกพุ่งสูงถึงลูกละ 9-10 บาท
- ย้อนดูวิกฤตโลกเมื่อปี 2558
อันที่จริงปี 2558 ไม่ได้เป็นปีพิบัติภัยเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว หากยังเกิดกับอีกหลายประเทศในโลก เนื่องจากเป็นปี Very Strong El Niño 2015-2016 (2558-2559)
เมื่อปี 2559 หลังเกิดวิกฤตภัยแล้งใหญ่ครั้งนั้น องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ออกบทความชื่อว่า 2558 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อชี้ว่า ภัยแล้งที่เกิดในประเทศไทยแท้จริงเป็นส่วนหนึ่งของพิบัติภัยร่วมกันของโลก เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยข้อมูลจาก NOAA ชี้ว่า ปี 2558 เป็นปีที่
- 1.ปริมาณน้ำแข็งอาร์กติกลดเหลือปริมาณน้อยสุดในช่วงเวลาที่ควรขยายตัวมากที่สุดของปี และในช่วงฤดูร้อนก็ลดเหลือปริมาณน้อยที่สุดเป็นอันดับสี่ในประวัติศาสตร์ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.9 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิเฉลี่ยของศตวรรษที่ผ่านมา
- 2.ทั่วทวีปเอเชียเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนกว่าปกติ โดยประเทศจีนช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคมเป็นช่วงที่ร้อนที่สุด และฮ่องกงในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม
- 3.ฝนตกหนักในประเทศจีนช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ทำให้เกิดอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อ 75 ล้านคน โดยทางใต้ของประเทศจีนเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับฝนมากที่สุดในเดือนพฤษภาคมในรอบ 40 ปี
- 4.มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นมากกว่าระดับปกติ โดยมีพายุไต้ฝุ่นทั้งสิ้น 21 ครั้ง และพายุ 28 ครั้งตลอดทั้งปี
- 5.ทวีปยุโรปเผชิญกับปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยร้อนที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ (อันดับหนึ่งคือปี 2557)
- 6.อินเดียต้องต่อกรกับคลื่นความร้อนในช่วง 21 พฤษภาคม-10 มิถุนายน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส และบางพื้นที่สูงเกิน 48 องศาเซลเซียส
- 7.พายุหมุนเขตร้อนชาปาลาในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน เป็นพายุหมุนหมุนเขตร้อนที่มีความแรงระดับ 4 พัดถล่มเกาะของประเทศเยเมน และเป็นครั้งแรกที่ทำให้เกิดดินถล่ม
- 8.ประเทศชิลีในช่วงเดือนมกราคม ปี 2558 เป็นเดือนมกราคมที่แล้งที่สุดในช่วง 50 ปี
- 9.พายุเฮอร์ริเคนแซนดรา ในช่วง 23-28 พฤศจิกายน ความรุนแรงระดับ 3 เป็นเฮอร์ริเคนที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือฝั่งตะวันออก ตั้งแต่บันทึกสถิติไว้เมื่อปี 2514
- 10.ช่วงกรกฎาคม 2557-มิถุนายน 2558 เป็นช่วงที่แล้งที่สุดของทวีปแอฟริกาใต้ตั้งแต่ปี 2534/2535
- ฤๅแล้งร้ายภัยโลก จะเกิดซ้ำอีกในปีเอลนีโญ67
ประเทศไทยไม่ได้จะเผชิญภัยแล้งฝุ่นควันไฟผลกระทบแค่ประเทศเดียวในรอบนี้ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2558 ปรากฎการณ์เอลนีโญผสมกับภาวะโลกรวน โลกร้อนแสดงอาการให้เห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ต้นปี เริ่มด้วยปรากฏการณ์ Asian Heatwave อากาศร้อนจัดผิดปกติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในทวีปเอเชียตั้งแต่ จีน อินเดีย บังคลาเทศ ไปจนถึงเวียดนามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ภาวะโลกรวน เป็นภาวการณ์ใหม่ส่งผลต่อปรากฏการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ใหม่ๆ ที่ไม่อยู่ในสารบบคอมพิวเตอร์จดจำ สิ่งที่สะท้อนชัดเจนที่สุดคือ การพยากรณ์อากาศที่ขาดความแม่นยำ เพราะไม่เคยมีข้อมูลเปรียบเทียบในโมเดลพยากรณ์ ในประเทศไทย
กรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศเตือนฝนฟ้าพายุฤดูร้อนในภาคเหนือช่วงระหว่างเทศกาลสงกรานต์ พยากรณ์ว่าจะมีฝนที่เชียงใหม่ในวันที่ 15-16 เมษายน 2566 ล่วงหน้าราว 1 สัปดาห์ แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับไม่มีฝน ต้องแก้ไขประกาศใหม่หลังจากที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดจริง
การพยากรณ์ผิดพลาดเช่นนี้ โมเดลพยากรณ์ใหญ่ระดับโลกเช่น ECMWF หรือ GFS ล้วนต่างก็ผิดพลาดจากลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนไปจากเดิมเช่นกัน