ปภ. เตือน 17 จว.พายุฝนลมแรง กทม.โดนด้วย เช็กอุตุประกาศ พายุฤดูร้อน ฉบับล่าสุด
ปภ. เตือน 17 จังหวัดระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กทม.ปริมณฑลโดนด้วย เผยช่วง 2 วันพายุฝนถล่มบ้านเรือนประชาชนเสียหายกว่า 3,000 หลัง ด้าน กรมอุตุฯประกาศ 'พายุฤดูร้อน' ฉบับ 8
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.00 น. พื้นที่เฝ้าระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง น้ำทะเลหนุนสูง ขณะที่ 'กรมอุตุนิยมวิทยา' ประกาศ ฉ.8 'พายุฤดูร้อน' บริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2566
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวัง พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง มีดังนี้
ภาคเหนือ : จ.แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย ชัยภูมิ หนองบัวลำภู นครราชสีมา และบุรีรัมย์
ภาคกลาง : จ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำ และพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง
ภาคกลาง : จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร
ภาคใต้ : จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ยังได้สรุปสถานการณ์วาตภัย (ภัยที่เกิดขึ้นจากพายุลมแรงจนทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ และสิ่งก่อสร้าง) ช่วงระหว่างวันที่ 8 - 9 พฤษภาคม 2566 (เวลา 16.00 น.) มีสถานการณ์ในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน เพชรบูรณ์ น่าน เชียงใหม่ นครสวรรค์ ลำปาง กำแพงเพชร แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ชัยภูมิ อุดรธานี นครนายก ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี และพระนครศรีอยุธยา รวม 70 อำเภอ 167 ตำบล 617 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 3,668 หลัง
ปภ.ได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ ฉ.8 พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบถึง 10 พฤษภาคม 2566
โดยประเทศไทยตอนบนจะมี 'พายุฤดูร้อน' เกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย ชัยภูมิ หนองบัวลำภู นครราชสีมา และบุรีรัมย์
ภาคกลาง : จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี และสระบุรี
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 10-14 พฤษภาคม 2566 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน และคาดว่าจะเคลื่อนเข้าอ่าวเบงกอลตอนบน หลังจากนั้นจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเมียนมา ส่งผลให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ในช่วงวันที่ 11-14 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าว