เปลี่ยนหมู่บ้านยากจน 'เสี่ยวหยู'ในคุนหมิง(จีน) เป็นเมืองน่าเที่ยว
ผู้คนในหมู่บ้านประมงเล็กๆ ที่เรียกว่าเสี่ยวหยู เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน จีน เคยยากจนมาก ที่นั่นมีจุดเด่นที่ธรรมชาติงดงาม จึงถูกเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว เพื่อขจัดความยากจน
Key Point :
- ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นว่าการขจัดความยากจนเป็นด่านแรกที่ต้องฟื้นฟูบ้านเมืองให้ดีขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศ
- ปี 2020 หลังผ่านการต่อสู้อย่างต่อเนื่องมา 8 ปี จีนได้บรรลุเป้าหมาย ประชากรที่ยากไร้ในเขตชนบทราว 100 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน
- ในอดีตประชาชนในมณฑลยูนนานมีรายได้ต่ำกว่า 4000 หยวน หรือ 20,000 บาท ต่อปี จึงมีแผนยกระดับรายได้ประมาณ 8,050 หยวนต่อปีหรือ 40,250 บาทต่อปี
ใครจะคาดคิดว่าเสี่ยวหยู หมู่บ้านประมงเล็กๆ 74 ครัวเรือน มีชาวจีนอาศัยกว่า 200 คนในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน มีพื้นที่ติดทะเลสาบเตียนฉือ(Dian Chi Lake -ไข่มุกทอแสงแห่งที่ราบสูง) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่เป็นต้นแบบการสร้างทะเลสาบคุนหมิงภายในพระราชวังฤดูร้อนกรุงปักกิ่ง จะกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่คนจีนอยากมาเดินเล่น
ในอดีตหลายครอบครัวมีรายได้จากการปลูกดอกไม้ ทำการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ และออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน เนื่องจากมีรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว จนเมื่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐโครงการขจัดความยากจนเข้ามาวางระบบช่วยกันปรับเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวร่วมกับชุมชน และเอกชน
หมู่บ้านเสี่ยวหยู จากหมู่บ้านประมงเล็กๆ ปรับเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวของคนจีนเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน จีน
สิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้าน ก็คงเค้าโครงเดิมเอาไว้ อย่างบ้านโบราณของเสี่ยวหยู นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกดอกไม้ต้นไม้มากขึ้น วางระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่มีสภาพแวดล้อมเป็นธรรมชาติ
ทั้งหมดทั้งปวงไม่ได้เกิดขึ้นชั่วพริบตา ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบายหลักของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน
การสู้รบกับความยากจนของเสี่ยวหยู
วิธีการขจัดความยากจนของจีนไม่ได้มีรูปแบบเหมือนกันทั้งมณฑล ก่อนลงมือทำจะมีการศึกษาดูงาน ดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมา อาทิ กรรมวิธีการสร้างบ้านแบบโบราณที่สืบทอดมานานกว่าสองพันปี คือสิ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้านเสี่ยวหยู พวกเขาเลือกใช้ดินในทะเลสาบเตือนฉือ (Dian Chi Lake )นำมาผสมกับเศษเปลือกหอย สร้างเป็นกำแพงบ้านโทนสีธรรมชาติ
เพราะโลกการท่องเที่ยวไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความเจริญอย่างเดียว สิ่งที่ผู้คนอยากเห็น ก็คือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่จัดวางอย่างถูกที่ถูกทาง และความสะดวกสบาย
นั่นทำให้สภาพหมู่บ้านเสี่ยวหยู มีทั้งส่วนผสมทั้งธรรมชาติริมทะเลสาบ บ้านโบราณ โฮมสเตย์ แคมปิ้งกลางลานหญ้า ร้านขายของและร้านอาหาร ฯลฯ
จากครอบครัวที่มีรายได้เดือนละ 1,000 -3,000 หยวนต่อเดือน (หนึ่งหยวน เท่ากับ 5 บาท) เมื่อกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว พวกเขายอมรับว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้โมเดลประสบความสำเร็จ ก็คือ รัฐบาลจีนใช้งบประมาณกว่า 28 ล้านหยวน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการขจัดความยากจน ปรับเปลี่ยนให้เป็นการท่องเที่ยวในรูปบริษัท เมื่อมีผลกำไรจะแบ่งให้คณะกรรมการของหมู่บ้าน 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำรายได้แบ่งให้แต่ละบ้านตามสัดส่วนที่เป็นธรรม ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
โมเดลการขจัดความยากรูปแต่ละหมู่บ้าน จะมีการส่งทีมข้าราชการเข้าไปฝังตัวอยู่ในชุมชนเพื่อเก็บข้อมูล ค้นหาความต้องการ และจัดทำแผนขจัดความยากจนรายบุคคล เพื่อส่งเข้าส่วนกลางในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือและพัฒนา ประเมินผลงาน
การปกครองตามระบบสังคมนิยมของจีน ถือว่าแผนการขจัดความยากจน เป็นแผนหลักของชาติที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคนในหมู่บ้านยากจนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
ว่ากันว่าในอดีตประชาชนในมณฑลยูนนานมีรายได้ต่ำกว่า 4000 หยวน หรือ 20,000 บาท ต่อปี เนื่องจากสภาพความแตกต่างทางภูมิภาคและปัญหาการคมนาคม รัฐจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์หลายด้าน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ประชาชนจีนมีการใช้จ่ายภายในประเทศ
Xu Wenli ผู้อำนวยการพัฒนาและความร่วมมือ สำนักงานฟื้นฟูชนบท มณฑลยูนนาน บอกว่า ยูนนานมีแผนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีรายได้ประมาณ 8,050 หยวนต่อปีหรือ 40,250 บาทต่อปีภายใน 3 ปี
ในปี 2020 จีนกำหนดไว้ว่า จะเป็นปีที่ขจัดความยากจนให้หมดไป สร้างสังคมมีกิน-มีใช้รอบด้าน พร้อม ๆ กับการสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีฉบับที่13 หรือ “แผน 13–5” ( ค.ศ. 2016 – 2020 )
ในช่วงระยะเวลา 5 ปีของแผน 13-5 จีนมีคนยากจนกว่า 50 ล้านคนที่หลุดพ้นจากความยากจน อัตราความยากจนลดลงจากร้อยละ 4.5 ในปี2016 เหลือร้อยละ 0.6 ในปี2019 ทำให้ความยากจนโดยรวมได้รับการแก้ไข รายได้ของคนยากจนเพิ่มขึ้น
และเชื่อว่า รายได้ที่ทำให้หมู่บ้านหลุดพ้นจากความยากจน ไม่ใช่แค่การขายไลฟ์หรือขายของในหมู่บ้านท่องเที่ยวอย่างเดียว ยังรวมถึงการทำงานทั้งระบบ มีโลจิสติกส์ อุปกรณ์วิธีการนำเสนอที่น่าสนใจและดึงดูดลูกค้า
ไอติมจากหมู่บ้านเสี่ยวหยู มณฑลยูนนาน จีน
ย้อนดูนโยบายขจัดความยากจน
- ปีค.ศ. 1986 จีนเริ่มแก้ไขปัญหาความยากจน ตั้งหน่วยงานแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นทางการ และกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนที่มุ่งเน้นการพัฒนา
- ปีค.ศ. 1994 มีการปรับนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนครั้งที่ 2 รัฐบาลเปิดตัว “แผนแก้ไขปัญหาความยากจนแห่งชาติ” คือ การแก้ปัญหาเรื่องอาหารและเครื่องนุ่งห่มให้กับคนยากจน 80 ล้านคนในพื้นที่ชนบทของประเทศ โดยใช้เวลา 7 ปี(ค.ศ.1994 - 2000)
- ปีค.ศ. 2001 มีการปรับนโยบายครั้งที่ 3 ในชื่อโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทของจีน (ค.ศ. 2001-2010) ปลดอำเภอที่ยากจนในพื้นที่ชายฝั่งที่ได้รับการพัฒนาแล้ว และเพิ่มจำนวนอำเภอที่ยากจนในภาคกลางและภาคตะวันตก ให้เป็นพื้นที่หลักในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจน
- ปี 2020 หลังผ่านการต่อสู้อย่างต่อเนื่องมา 8 ปี จีนได้บรรลุเป้าหมายและภาระหน้าที่การขจัดความยากจนตามเวลาที่กำหนด ประชากรที่ยากไร้ในเขตชนบทราว 100 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน อำเภอยากจนที่เคยมีชื่ออยู่ในบัญชียากจนไม่มีอีกแล้ว
- ในปีเดียวกัน จีนสามารถบรรลุ“ความหมดห่วง 2 ประการ และ3 หลักประกัน” นั่นก็คือ หมดห่วงในเรื่องอาหารการกินและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ส่วน 3 หลักประกัน คือด้านการศึกษาภาคบังคับ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และความปลอดภัยด้านที่อยู่อาศัย
- เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 มณฑลยูนนานประกาศหลุดพ้นความยากจนรวม 88 แห่ง สามารถลดจํานวนคนยากจน 9.33ล้านคน มากเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน
- ปี 2022-2024 มณฑลยูนนานประกาศแผนปฏิบัติการ 3 ปีเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับประชากรที่หลุดพ้นความยากจน
..........
หมายเหตุ : จากกิจกรรมศึกษาดูงานสาธารณรัฐประชาชนจีน (คุนหมิง) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โครงการอบรมหลักสูตรมองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ครั้งที่ 5 วันที่ 24-27 กรกฎาคม 2566