นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ศูนย์การค้า ‘ลดโลกร้อน’ มุ่งสู่ ‘องค์กรขยะเป็นศูนย์’
‘ศูนย์การค้าสยามพารากอน’ ผุดโครงการเพื่อ ‘ลดโลกร้อน’ ตั้งแต่แยกขยะ, แข่งขันเก็บขยะ, ทำโซล่ารูฟท็อป ฯลฯ เป้าหมายเพื่อเป็นต้นแบบเดินหน้าสู่การเป็น ‘องค์กรขยะเป็นศูนย์’
คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้ดูแลโครงการพิเศษเพื่อ ลดโลกร้อน ของ สยามพิวรรธน์ (สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี และไอคอนสยาม) เล่าถึงกิจกรรมช่วยโลกว่า
“ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญกับภาวะโลกรวน ส่งผลกระทบแนวโน้มสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก โดยในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 องศา หากเราไม่ทำอะไรเลย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 องศา ในปี 2050
กีฬาแข่งขันเก็บขยะ SPOGOMI ในประเทศไทย
สยามพิวรรธน์ ได้เริ่มเก็บรวบรวมขยะจากอาคารศูนย์การค้ารวมถึงอาคารสำนักงานสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งในแต่ละวันมีปริมาณขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ถึง 300 กิโลกรัมต่อวัน
ตอนนั้นเราทำงานร่วมกับ SCG เพื่อสนับสนุนโครงการนำขยะไปรีไซเคิล เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ด้วยแนวคิด 3Rs (Reduce-Reuse-Recycle) ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ด้วย Eco Projects เพื่อสร้างคุณค่าของสิ่งที่ด้อยค่าของศูนย์ฯ ให้เกิดความน่าสนใจด้วยดีไซน์ เกิดเป็นโครงการต่าง ๆ เพิ่มคุณค่าของขยะและสามารถใช้งานได้จริง
โครงการแยกขยะ
เช่น ต้นคริสต์มาสจากเศษวัสดุของศูนย์ฯ ซึ่งเราได้ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 12 ปี กับ GC”
จากนั้นดำเนินกิจกรรมช่วยโลกอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี พ.ศ. 2558 เกิดโครงการการพัฒนา ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น มาใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และการคัดแยกขยะ
มอบรางวัลให้แชมป์แข่งขันเก็บขยะใน SPOGOMI
“โครงการนี้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 6,809 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้ทำการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) จำนวน 11,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งสิ้นสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 18,309 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้จำนวน 1,064,466 ต้น”
ผู้บริหารนโยบาย ลดโลกร้อน เสริมว่า วิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำได้จริงผ่านนโยบายและแนวทางปฏิบัติ
“เช่น ใช้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของระบบเครื่องทำความเย็น การเปลี่ยนหลอดไฟ LED ช่วยประหยัดพลังงาน การใช้ AI ในการควบคุมการทำงานของระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (HVAC: Heating Ventilation and Air Conditioning) และการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ด้วยโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) เพื่อแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าในไอคอนสยาม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 2,430 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์
ในส่วนของ สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ อยู่ในระหว่างการพัฒนาพื้นที่หลังคาแนวราบขนาด 20,000 ตารางเมตร เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์”
ทุกอย่างมีเป้าหมาย เช่นโครงการล่าสุด Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste
“เป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบเพื่อเดินหน้าสู่การเป็น องค์กรขยะเป็นศูนย์ ผ่านการบริหารจัดการของเสียแบบครบวงจรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อีกทั้งยังใช้พื้นที่ดาดฟ้าของอาคารจอดรถสยาม พัฒนาเป็นเรือนเพาะชำต้นไม้ สำหรับใช้ตกแต่งและปลูกในพื้นที่ศูนย์ฯ ซึ่งมีส่วนช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจน และช่วยลดอุณหภูมิโดยรอบศูนย์ฯ อีกด้วย”
โครงการโซล่ารูฟท็อป ที่ไอคอนสยาม
การคัดแยกขยะในห้าง ทำอย่างไร ในเมื่อมีผู้มาใช้บริการห้างจำนวนมากทุกวัน
“เราเปิดจุดบริการรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้วแบบไดรฟ์ทรู (Recycle Collection Center; RCC) จากการผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย, บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศ ไทย) จำกัด และบริษัท เต็ดตราแพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ส่งเสริมให้คนไทยจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปิดโอกาสให้นำขยะที่ทำความสะอาด และคัดแยกแล้ว มาฝากส่งต่อไปรีไซเคิลนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรืออัพไซคลิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ ซึ่งถือเป็นจุดรับขยะแบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) แห่งแรกในประเทศไทย
จุดรับวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว
เรามีวิธีกระตุ้นให้ลูกค้าและประชาชนใส่ใจกับการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง เช่น มอบ VIZ coins ให้กับประชาชนที่นำขยะมาฝากส่งต่อที่จุด RCC ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปใช้แลกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ผ่าน ONESIAM SuperApp ภายในศูนย์การค้า”
ผลลัพธ์จากนโยบาย ลดโลกร้อน สรุปได้ว่า โครงการ Siam Piwat 360° สามารถรวบรวมขยะได้ทั้งสิ้น 1,275 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,156 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 753,227 ต้น (ข้อมูล 2564 - มิถุนายน 2566)
เปลี่ยนขยะเป็นแฟชั่น
“ในอนาคตเราเตรียมเพิ่มจุดบริการ Recycle Collection Center (RCC) ที่ไอคอนสยาม และสยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต เพื่อขยายผลและส่งเสริมให้ผู้คนร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคัดแยกขยะ ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิด Circular Economy
ในส่วนของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การประชุมและแสดงนิทรรศการระดับโลก (ชั้น 5 สยามพารากอน) ได้ดำเนินการตามนโยบาย Carbon Neutral Venue อย่างจริงจัง ด้วยการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในทุกขั้นตอนการทำงาน นำหลักคิด 4C ประกอบด้วย
แยกขยะส่งมอบไปใช้ต่อ
1. Carbon Reduction ดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อย Carbon Footprint ให้น้อยที่สุดผ่าน 3 กิจกรรมหลัก คือ Reduce, Reuse และ Recycle
2. Calculation สร้างเครื่องมือคำนวณเพื่อวัดผลให้เป็นรูปธรรม เพื่อจะได้ทราบว่าแต่ละกิจกรรมที่ทำลงไปมีส่วนช่วยโลกเรามากแค่ไหน
3. Communication สื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อสร้างความตระหนักร่วมกัน
4. Carbon Offset ชดเชย carbon footprint จากการจัดกิจกรรมให้เท่ากับศูนย์ ถือเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกในประเทศไทยที่เป็น Carbon Neutral Venue โดยสมบูรณ์”
เป้าหมายให้ห้างสรรพสินค้าเป็นต้นแบบในการจัดการขยะแบบครบวงจร ยังสร้างแรงกระตุ้นอีกทางด้วยจัดการ แข่งขันเก็บขยะ อีกด้วย
“เราบริหารจัดการขยะกว่าวันละ 20 ตัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อมุ่งสู่ องค์กรขยะเป็นศูนย์ โดยเศษอาหารที่รวบรวมได้ในแต่ละวันไปจะนำไปทำเป็นสารปรับปรุงดินด้วยเครื่องอบขยะเศษอาหาร ในโครงการความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการดูแลต้นไม้ภายในศูนย์ฯ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด
และยังส่งให้กับโครงการ ไม่เทรวม ของ กทม. เพื่อทำปุ๋ยหมัก หรือจัดเก็บรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพอ่อนนุช เพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า โครงการส่งมอบกระป๋องอลูมิเนียมให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ นำรายได้จากการขายกระป๋องเพื่อรีไซเคิลใช้ในการผลิตขาเทียม
โครงการความร่วมมือกับสำนักงานเขตปทุมวันในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายเพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี โครงการแยกขวดช่วยหมอร่วมกับ Less Plastic นำขวดพลาสติกใส (ขวด PET) ไปอัพไซเคิลผลิตเป็นชุด PPE มอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โครงการถังวนถุงมือวิเศษXวน- ร่วมกับ PPP Plastics Thailand นำพลาสติกยืดสะอาดนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่"
โตโน่ ร่วมแข่งขันกีฬาเก็บขยะ
ล่าสุด จัดกิจกรรม SPOGOMI WORLD CUP 2023 THAILAND STAGE เป็นการแข่งขันกีฬาเก็บขยะครั้งแรกของประเทศไทย
"SPOGOMI สอดคล้องกับแนวคิดของสยามพิวรรธน์ ที่ไม่ปล่อยให้ขยะออกสู่นอกระบบ มุ่งหวังที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม”
การแข่งขันกีฬาเก็บขยะครั้งแรกของประเทศไทย (จัดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา) ถือว่าได้สร้างการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แพร่หลาย สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างทั่วถึง ทั้งยังสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของขยะ
อาทิ การช่วยลดปริมาณขยะ การแยกขยะอย่างถูกต้อง ด้วยการสร้างสรรค์ผ่านรูปแบบของกิจกรรมกีฬาด้วยการเปลี่ยนเรื่องขยะมาให้เป็นเรื่องที่มีทั้งความสนุก และสร้างประโยชน์ อันเป็นแรงจูงใจให้คนทุกเพศทุกวัยมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อคืนความสมดุลให้ธรรมชาติ สร้างการเรียนรู้ให้เห็นว่าขยะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้
SPOGOMI กิจกรรมแข่งขันเก็บขยะ
“เรามองว่า SPOGOMI ไม่ใช่เป็นเพียงแค่กิจกรรม หากเน้นการสร้างให้เกิดพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้ทุกคน มาร่วมเป็นส่วนหนี่งของการเก็บขยะและการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี”
ผู้จัดการแข่งขันกีฬาเก็บขยะ รายงานว่า ผลลัพธ์ของการแข่งขันจากการเก็บขยะทั้ง 4 ประเภทตามกติกาที่กำหนดไว้จากผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 70 ทีม สามารถรวบรวมขยะได้ทั้งสิ้น 170.23 กิโลกรัม แบ่งออกเป็น 1.กระดาษ 12.61 กิโลกรัม 2.พลาสติก 44.01 กิโลกรัม 3.ขวดแก้วหรือกระป๋อง 108.39 กิโลกรัม 4.ก้นบุหรี่ 5.22 กิโลกรัม ทั้งหมดช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (หรือ 200 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้จำนวน 21 ต้น
“ขยะทั้งหมดได้ถูกนำไปเข้าสู่การบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
หลังเสร็จสิ้นเกมการแข่งขัน GC หนึ่งในพาร์ทเนอร์ของงาน มีโครงการ YOUเทิร์น ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ร่วมแก้ปัญหาเรื่องขยะพลาสติก ได้มาร่วมรับขวดพลาสติกซึ่งเป็นขยะประเภทหนึ่งที่กำหนดในการแข่งขัน เพื่อนำไปเป็นวัสดุสำหรับจัดทำเป็นต้นคริสต์มาสรีไซเคิล และมีแผนตั้งวางอยู่ด้านหน้าสยามดิสคัฟเวอรี่ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้ผู้คนเห็นถึงคุณค่าของขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกว่าสามารถนำไปสร้างคุณค่าใช้ประโยชน์ต่อได้”
การแข่งขัน SPOGOMI WORLD CUP 2023 THAILAND STAGE จะไปต่อระดับชาติ ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ประเทศญี่ปุ่น อันเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายให้คนไทยเห็นความสำคัญถึงการเก็บขยะและคัดแยกขยะ
“Global Climate Risk Index 2021 ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากโลกรวนเป็นอันดับ 9 ของโลก และมีความเสี่ยงต่อภัยแล้งสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
ภาคธุรกิจถือเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อน สยามพิวรรธน์ จึงต้องดำเนินธุรกิจโดยไม่เพิ่มปัญหา หรือยิ่งไปกว่านั้นยังต้องสร้างประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาปัญหาภาวะโลกร้อน จึงต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้”