กระบวนทัศน์ใหม่ 'ปฐมวัยไทยแลนด์' ปรับโลกเรียนรู้เข็มทิศด้วย 'การเล่น'
ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า พ่อแม่จึงมักเลือกปล่อยลูกไว้กับหน้าจออุปกรณ์เทคโนโลยีมากกว่าการออกไปเล่นหรือไปมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริง ซึ่งนั่นอาจส่งผลในแง่ลบต่อพัฒนาการและทักษะต่างๆ ของเด็กได้
ในความเป็นจริง ความเจริญของเทคโนโลยีและสังคมเหล่านี้อาจกำลังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ที่สำคัญยังทำให้เด็กห่างหายการเรียนรู้จาก "การเล่น" มากขึ้น ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมให้เกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย สามปีที่ผ่านมาเด็กถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ไม่ได้เล่นกับเพื่อน ขาดโอกาสเสริมพัฒนาการเรียนรู้โดยการเล่น และยังส่งผลต่อการมีทักษะทางสังคมหลายด้าน ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า "เด็กปฐมวัยไทยกว่า 30% มีพัฒนาการที่ล่าช้า มีปัญหาทั้งด้านภาษา การเรียนรู้โภชนาการ และมีจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงระบบฟื้นฟู ติดตามช่วยเหลือ"
เมื่อเรื่อง "เล่น" ของ "เด็กปฐมวัย" นั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยเครือข่ายการศึกษาปฐมวัยทั่วประเทศ จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 เรื่องการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้หัวข้อ "ชวนรู้ ชวนเล่น สร้างสรรค์ผ่านนวัตกรรมเด็กปฐมวัย" ด้วยหวังการสร้างความรู้ความเข้าใจ ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นสำหรับเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้มีทักษะการเรียนรู้เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับโลกที่มีความผันผวนในอนาคต เพราะถึงวันนี้ทักษะชีวิตแบบเดิมๆ นั้นอาจไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อีกต่อไป
โลกเรียนรู้ปฐมวัยยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ครู
การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องให้เด็กปฐมวัยได้รับการดูแล พัฒนา จัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักของผู้ใหญ่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สถานศึกษา ภาคสังคม พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ภาคนโยบาย บูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านและเต็มศักยภาพ เข้าถึงสิทธิ พร้อมที่จะเป็นพลเมืองคุณภาพของประเทศในอนาคต
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนา เด็กปฐมวัย ตามนโยบายยกระดับพัฒนาเด็กปฐมวัย อันเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ จึงมีบทบาทขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นเอกภาพ
เนื่องจากเด็กยุคปัจจุบันต้องเติบโตในโลกที่มีความผันผวนสูง มีแต่ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน และเป็นโลกแห่งความคลุมเครือตลอดเวลา เป็นโลกที่ถูกเรียกว่าโลก VUCA World ยิ่งทำให้ทักษะชีวิตแบบเดิมๆ ที่เด็กเคยได้รับนั้นอาจไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตยุคใหม่
ดังนั้น "บทบาทของครู" วันนี้จึงไม่ใช่ผู้สอนสั่ง แต่เป็นผู้สร้างโอกาสการเรียนรู้ ผ่านนวัตกรรมให้แก่เด็ก ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการจึงได้บูรณาการงานร่วมกับ 6 กระทรวงตาม MOU กลุ่มเด็กปฐมวัย ซึ่งการประชุมครั้งนี้ช่วยย้ำให้เห็นคุณค่าของ "การเล่น" ที่เด็กจะเรียนรู้ได้ดีผ่านประสบการณ์ตรง
เล่น = เคล็ดลับเรียนรู้
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้ยกกระดับการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยในเชิงรุกมากขึ้น ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้และเล่นอย่างสร้างสรรค์ และได้ร่วมกับ สสส. จัดทำเว็บไซต์ "ปฐมวัยไทยแลนด์" สร้างสื่อโซเชียลเชื่อมต่อภาครัฐ โรงเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครองให้ใกล้กันมากขึ้น
ขับเคลื่อนปฐมวัยภายใต้ MOU 6 กระทรวง
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 จะเป็นกลไกที่เพิ่มความเป็นเอกภาพการทำงานของ 6 กระทรวงหลักด้วยกลไกคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570
"สสส. ร่วมเป็นคณะทำงานสนับสนุนฝ่ายเลขานุการในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา เด็กปฐมวัย เพื่อ 4 เป้าหมายหลัก นั่นคือ 1. ขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนอย่างน้อย 2 ประเด็นต่อปี 2. สนับสนุนด้านวิชาการ 3. มีฐานข้อมูลผลงานวิชาการสำคัญและนวัตกรรมส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัย แก่หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง 4. สังคมเกิดความตระหนัก รับรู้ มีส่วนร่วมส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก จำเป็นต้องทำงานกับคนรอบๆ ตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนครอบครัว ผู้ปกครอง การสร้างกิจกรรมและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับเด็ก เพราะในวัยผู้ใหญ่ไม่ว่าเป็นเรื่องการศึกษาหรือสุขภาพความสำคัญคือการนำความรู้ออกไปใช้ ขณะที่เด็กความสำคัญอยู่ที่การนำเข้า (Input) ข้อมูลอย่างถูกต้องเพื่อสอนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ดังนั้น การเล่น จึงสำคัญมากสำหรับเด็ก" ดร.ประกาศิต กล่าว
"ฟื้นฟู" ภารกิจเร่งด่วนเพื่ออนาคต
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเด็ก พบว่าช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ประเด็นสำคัญเร่งด่วนคือการฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้เด็กได้ "เล่น"
“สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นมนุษย์ตัวเล็กที่ธรรมชาติไม่สามารถนั่งเฉยๆ แต่ต้องการเคลื่อนไหว ลงมือทำ ปีนป่าย เล่นน้ำ กับเพื่อน ดังนั้นในห้องเรียน อนุบาลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยากชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูให้ไม่กังวลเรื่องการเรียนแต่ปล่อยให้เด็กเล่นอย่างอิสระ ได้ใช้ร่างกายเยอะๆ เพราะสามปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ไม่ได้เล่นกับเพื่อนที่ส่งผลต่อทักษะทางสังคม"
ณัฐยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพราะมนุษย์เราเติบโตแบบขั้นบันได ไม่สามารถก้าวกระโดดข้ามและย้อนกลับได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นวิกฤติของเด็กที่ผู้ใหญ่อาจมองไม่เห็น โจทย์การทำงานเด็กปฐมวัยระดับนโยบาย สิ่งสำคัญคือ การบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีภาคีมากมาย โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็กกว่าสามถึงสี่หมื่นแห่งทั่วประเทศ ครูพี่เลี้ยงทั้งหมดต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพ หรือการ Re-skill อีกมาก ส่วนที่สองคือด้านงบประมาณในการดูแลเด็กในศูนย์ฯ แต่ละแห่ง ที่ต้องพิจารณาว่าเพียงพอหรือไม่ ของเล่นส่งเสริมพัฒนาการ สภาพแวดล้อมต้องปลอดภัย และสุดท้ายการส่งเสริมนวัตกรรม เด็กยุคใหม่รวมถึงความรู้ทักษะพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ต้องถูกอัปเกรด ซึ่งในเรื่องนี้นวัตกรรมจึงมีบทบาทมาช่วยมากขึ้น
ครู - พ่อแม่ ต้องเป็น Facilitator
Ms. Sonali Khan Managing Director of Sesame workshop India ที่มาร่วมถ่ายทอดกรณีศึกษาการส่งเสริมการเรียนรู้โดยการเล่นในอินเดีย กล่าวในการประชุมยังมีการบรรยายพิเศษ International best practice ว่า ประโยชน์การเรียนรู้ผ่าน การเล่น ไม่ได้เป็นการพัฒนาทักษะทางสมองอย่างเดียว หากยังต้องเป็นการพัฒนาทักษะทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์ ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีผลต่อพัฒนาการเด็ก ทั้งด้านความเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศต่างๆ โภชนาการ รวมถึงวิกฤติต่างๆ มีผลกระทบต่อการเรียนรู้ และปัจจุบันยังมีเด็กที่ประสบภาวะ learning poverty หรือความยากจนทางการเรียนรู้ หรือขาดโอกาสทางการเรียนรู้
ในช่วง ปฐมวัย หากการเรียนสนุกจะทำให้เกิดการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือครูต้องเปลี่ยนบทบาทเป็น Facilitator หรือผู้ช่วยสนับสนุนด้านการเรียนรู้แก่เด็ก นอกจากนี้ ในการศึกษาเรื่องปฐมวัยช่วงห้าปีที่ผ่านมา ในการสรุปกรอบคิดเรื่องความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยนั้นพบว่า ต้องเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะในโรงเรียน หากเลยไปถึงครอบครัว รวมถึงภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนโอกาสให้ผู้ปกครอง พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูเด็กไปพร้อมๆ กับการเสริมพัฒนาการ
"ศูนย์เรียนรู้เด็กเป็นตัวสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบ เป็นพื้นที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ที่สำคัญเรียนและเล่นต้องสนุก หากเรียนเล่นแล้วทุกข์คือไม่เกิดการเรียนรู้ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ลงมือทำ หรือทดลองทำให้เด็กจดจำได้ดี" Ms. Sonali ย้ำ
สำหรับการเล่น Play Based Learning ที่ถูกวิธี เป็นการเล่นที่ไม่ใช่เด็กต้องทำถูกต้องเสมอไป แต่เป็นการเรียนรู้การลองผิดลองถูก การใช้จินตนาการทดลอง การเลียนแบบบทบาทผู้อื่น เช่น ผู้ใหญ่ จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ การเล่นเพื่อเรียนรู้ มีทั้งแบบการปล่อยให้เด็กอิสระมีพื้นที่ตัวเองจริง ที่เรียกว่า Free Play แต่บางกรณีก็จำเป็นต้องใช้การเล่นแบบ Guided Play เป็นการเล่นที่พ่อแม่คอยให้คำแนะนำในการเล่น
นอกจากนี้ แม้ศูนย์ปฐมวัยจะสำคัญ แต่ที่ "บ้าน" หรือ "ครอบครัว" ก็มีความสำคัญเช่นกัน บทเรียนจากโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทำให้เราตระหนักบทบาทของพ่อแม่ในฐานะผู้นำการเล่นเพื่อเรียนรู้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่การมีกิจกรรมเล็กน้อยกับลูก ไม่จำเป็นต้องใช้ของเล่นราคาแพง หรืออุปกรณ์พัฒนาการชั้นเลิศ
"ลูกไม่ได้อยากได้ของเล่นราคาแพง แต่เขาต้องการเวลา ต้องการไอเดียและความใส่ใจ แม้แต่การพับผ้า นับเลข ช่วยงานบ้าน รวมถึงพ่อสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก เช่น ทำงานบ้านให้ลูกเห็น สร้างบทสนทนากับลูกก็เป็นการเล่นแบบหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการมีปฏิสัมพันธ์"
Ms. Sonali กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลพลอยได้คือสุขภาพจิตที่ดีขึ้น บรรยากาศในบ้านดีขึ้น ลูกไม่ดื้อ คุยกันมากขึ้น