'สังคมสูงวัย' โจทย์ท้าทาย โอกาส และการเตรียมความพร้อม
ผนึกกำลังจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมถอดบทเรียน 11 ชุมชนต้นแบบ สู่แนวทางการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ กทม. เพื่อรับมือ "สังคมสูงวัย" อย่างมีคุณภาพ
ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่า หลัง กรุงเทพมหานคร ได้ก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัย อย่างสมบูรณ์แบบเมื่อปี 2564 โดยมี ผู้สูงอายุ มากกว่า 1 ล้านคน หรือ 20.6% ที่เป็นประชากรในเมืองหลวง ถือเป็นอีกความท้าทายกับการวางทิศทาง ตลอดจนจัดเตรียมความพร้อมด้านแผน เพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และ กทม. พร้อมด้วยภาคีที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภายใต้ กทม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชุมชนในพื้นที่ต้นแบบ ร่วมกันจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุระดับชุมชนพื้นที่เมืองหลวง และถอดบทเรียน 11 ชุมชนต้นแบบ ผ่านเวทีเสวนาสรุปบทเรียนสู่แนวทางการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุคนเมือง
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ในวันนี้ ถือเป็นความท้าทายต่อการทำงานและนโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุของ กทม. ที่ได้มีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง พึ่งพาตนเอง และเป็นพลังพัฒนาสังคมได้
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนปฏิบัติการดังกล่าว ถูกแบ่งเป็น 3 แผนย่อย คือ 1. เตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ 2. ยกระดับชีวิตผู้สูงอายุ และ 3. ระบบรองรับ สังคมสูงวัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กทม. นอกจากนี้ยังร่วมมือกับเครือข่าย เดินหน้าพัฒนา กทม. ให้เป็นเมืองที่ตอบโจทย์และรองรับผู้สูงอายุ อาทิ การจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ (Active Aging) เพื่อสอนเทคโนโลยีต่างๆ ป้องกันการถูกหลอกลวง การมีนโยบายสวน 15 นาที โครงการขยายเตียงในบ้านไม่ใช่ในโรงพยาบาล เป็นต้น
การถอดบทเรียนครั้งนี้ ยังมีทั้งชุมชนในพื้นที่ กทม. รวมถึงภาคีที่มีประสบการณ์ทำงานด้าน ผู้สูงอายุ หลายภาคส่วน มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ทำงาน รวมถึงเส้นทางการเป็นต้นแบบนวัตกรรมทางสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีความเข้าใจถึงงานดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ โดยหนึ่งในนั้นคือ องค์กรด้านสุขภาวะ สสส. ที่มีบทบาทขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนระบบรองรับ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ในพื้นที่ชุมชน และเขตเมืองกทม. ตั้งแต่ปี 2559 โดยมีพื้นที่ต้นแบบ 11 ชุมชน มีการจัดตั้ง โรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อการเรียนรู้ทางด้านสุขภาพ (Health Literacy) ใน 11 ชุมชน สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายคนสามวัย ธนาคารเวลาเพื่อคนสามวัย การทำงานร่วมกับแกนนำเยาวชน ผู้สูงอายุ และวัยทำงาน เพื่อสร้างสุขภาวะร่วมกัน
"การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุใน กทม. ที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายทั้งปัญหา จำนวนผู้สูงอายุ รวมถึงโครงสร้างการดำเนินงานของ กทม. โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องอาศัยการบูรณาการ การทำงานเชิงรุก รวมทั้งประสานความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนงานวิชาการ องค์ความรู้ พัฒนาระบบข้อมูลกับโครงการจุฬาอารี รวมถึงทำงานร่วมกับ กทม. ผ่านสำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข เวทีวิชาการวันนี้จึงมีความสำคัญที่ทุกภาคส่วนมาร่วมถอดบทเรียน สอดคล้องตามแผนฯ ระยะที่ 3 ที่ต้องบูรณาการ ทำงานเชิงรุก ระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยทั้งนี้จะมอบข้อเสนอแนะต่อ กทม. อันจะเป็นทิศทางพัฒนาระบบรองรับ คุณภาพชีวิตสังคมสูงวัย ให้สอดคล้องตามแผนฯ กทม. ต่อไป"
ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ร่วมกันสังเคราะห์บทเรียนจากโครงการต้นแบบ และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนงานด้าน ผู้สูงอายุ โดยมีสาระสำคัญคือ 1. ถ่ายทอดสาระสำคัญของแผนฯ ระยะที่ 3 สู่หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับสำนัก และเขต 2. ปรับปรุงโครงสร้างและกลไกการขับเคลื่อน 3. พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านผู้สูงอายุ 4. พัฒนากำลังคนทั้งในเชิงปริมาณและศักยภาพ 5. ใช้พื้นที่เป็นจุดบูรณาการการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ และ 6. สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งงบประมาณ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทำให้ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มวัย โดยท้ายสุดของการจัดงานครั้งนี้จะมีการนำข้อเสนอไปพิจารณา กำหนดเป็นแนวทางขับเคลื่อนแผนฯ ระยะที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพต่อไป