แปลงร่างเศษอาหาร ขยะอินทรีย์ที่มีส่วนสร้างก๊าซมีเทน เพิ่มดีกรีโลกร้อน
ขยะอาหารหรือขยะอินทรีย์ที่นำมาฝังกลบ เมื่อเน่าเปื่อยจะกลายเป็นก๊าซมีเทนเพิ่มดีกรีความร้อนให้โลก ทางเลือกที่ทำได้ลองแปลงร่างเศษอาหารให้เกิดประโยชน์
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ อาหารที่ถูกทิ้งๆ ขว้างๆ บนโลกใบนี้มีมากถึง 1 ใน 3 ของอาหารทั้งโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) รายงานไว้ว่า ปัจจุบันอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกมีมากถึง 1,300 ล้านตัน
รายงานดัชนีขยะอาหาร ปี 2564 ประเมินว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะอาหาร 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ที่มีค่าเฉลี่ยปริมาณขยะอาหาร 76 กิโลกรัมต่อคนต่อปีซึ่งใกล้เคียงกับกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในปี 2563 ไทยมีปริมาณขยะอาหาร 5.58 ล้านตัน หรือ 80 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
และส่วนใหญ่ขยะอาหารจะถูกนำมาฝังกลบ จึงผลิตก๊าซมีเทนเป็นจำนวนมาก กลายเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศถึง 8 % และนั่นยังไม่รวมเศษอาหารกว่าล้านตันที่ปนเปื้อนกับขยะชนิดอื่นๆ ทั้งส่งกลิ่นเหม็นและเน่าเสียทับถมกัน กว่าจะย่อยสลายก็ใช้เวลานาน
ก๊าซมีเทน (methane) เป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับที่สองรองจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลให้โลกร้อนได้มากที่สุด เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 80 เท่า
เนื่องจาก 1 โมเลกุลของมีเทนมีประสิทธิภาพในการดักจับความร้อนได้มากกว่า 1 โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ แต่มีเทนที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะคงอยู่ได้เป็นเวลาสั้นกว่าที่ 12 ปีก่อนที่จะค่อย ๆ เสื่อมลง เมื่อเทียบกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานมากกว่า 100 ปี
เรื่องราวคร่าวๆ ของขยะอาหารที่สร้างมลพิษทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นทุกวัน ก่อนจะทิ้งขยะอินทรีย์เหล่านี้ เรามีทางเลือกแบบไหนบ้าง...
กู้ชีพอาหาร บริจาคให้คนยากไร้
แม้การเปลี่ยนขยะอาหารให้มีคุณค่า ยังไม่เป็นที่แพร่หลายสำหรับคนทั่วไป ทั้งๆ ที่รายงานดัชนีขยะอาหาร ปี 2564 (Food Waste Index Report 2021) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ(UNEP) ระบุว่า ปี 2562 ทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารกว่า 931 ล้านตัน เทียบได้กับรถบรรทุก 40 ตัน จำนวน 23 ล้านคัน
ว่ากันว่า ขยะอาหารเหล่านี้เกิดจากผู้บริโภค ร้อยละ 61 ผู้ประกอบการ ร้อยละ 26 และผู้จำหน่ายอาหาร ร้อยละ 13 โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารคิดเป็น 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า สร้างก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 8 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
มีอาหารส่วนเกินที่ถูกทิ้ง ทั้ง ๆ ที่ยังสภาพยังดีอยู่ อาหารเหลือเหล่านี้อาจเป็นสิ่งไร้ค่าในสายตาเรา แต่อาจมีค่าสำหรับคนด้อยโอกาส
ธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกุล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการมูลนิธิSOS Thailand หยิบยกเรื่องราวของขยะอาหาร (Food Waste) มาตีแผ่ให้สังคมรับรู้ เธอพยายามกู้ชีพอาหารส่วนเกิน เพื่อกลายมาเป็นขยะให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
เธอเรียกอาหารที่กำลังจะกลายเป็นขยะว่า สิ่งเล็ก ๆ ที่ถูกมองข้าม และสร้างผลกระทบกับโลกในระยะยาว เธอบอกไว้ในwww.nia100faces.com (ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม) ว่า
“การหาผู้บริจาคอาหารเป็นเรื่องยาก เวลาไปถาม ใคร ๆ ก็บอกว่า ไม่มีขยะหรือไม่มีอาหารเหลือทิ้ง และยังไม่เข้าใจว่า เราต้องการอาหารแบบไหน เมื่อถูกปฏิเสธมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงเริ่มใหม่ โดยเริ่มจาก Compost Program
นั่นคือเริ่มจากการให้โรงแรมทดลองแยกขยะ เมื่อแยกออกมา เขาจะทราบว่าจริง ๆ แล้วในถังขยะ 1 ใบมีอะไรบ้าง ในถังขยะเหล่านั้นมีอาหารที่ยังกินได้ มีผลไม้ทั้งลูก มีขนมปัง
จากนั้นเราเริ่มเก็บข้อมูล ถ่ายรูป แล้วแจ้งไปยังโรงแรมว่าเราอยากได้อะไรแบบนี้ แต่เราต้องการให้แยกไว้ เพื่อนำไปให้คนอื่นกิน โรงแรมก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า Surplus Food หรือขยะเหลือทิ้งที่เราต้องการคืออะไร เขาจึงเริ่มแยกอาหารตามโปรแกรมที่เราจัดไว้ให้”
จากการดำเนินงานของมูลนิธิ SOS การเดินทางของอาหารที่เหลือจากก้นครัวสู่ปลายทาง ถูกวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ โดยทางมูลนิธินำอาหารจากครัวต้นทางไปส่งยังแหล่งชุมชนอย่างทั่วถึงและทันท่วงที เพราะอาหารเหล่านี้อาจใกล้หมดอายุ จึงจำเป็นต้องได้รับการส่งต่ออย่างรวดเร็ว เพื่อคงคุณภาพของอาหารไว้ให้ดีที่สุด
การกู้ชีพอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจ เพื่อส่งต่อแก่ผู้ที่ขาดแคลนนี้ ไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพโภชนาการแก่ผู้คนทุกเพศทุกวัยในสังคมอย่างทั่วถึง แต่ยังช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในการลดขยะอาหาร อันเป็นปัจจัยที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย
จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของมูลนิธิที่ต้องการช่วยผู้ที่ขาดแคลน นำมาสู่การสร้างแรงขับเคลื่อนสังคมรูปแบบใหม่ มีหน่วยงานระดับประเทศร่วมมือช่วยเหลือ และเตรียมพัฒนาต่อยอดแนวคิดนี้สู่โครงการ BKK FOOD BANK ธนาคารอาหารส่วนเกิน ที่พร้อมกระจายอาหารจากภาคธุรกิจไปช่วยเหลือคนกรุงเพื่อขจัดความหิวโหยและสร้างความตระหนักในการบริโภคอย่างยั่งยืน
เฟซบุ๊คดูได้ที่ Scholars of Sustenance Thailand - SOS Thailand
แยกขยะให้สนุก
ทั้งๆ ที่รู้ว่า การแยกขยะไม่ได้ทำให้ดูหล่อขึ้นกว่าเดิม แต่ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ เจ้าของเพจ Konggreengreen ก็ยังผลิตสื่อให้ความรู้เพื่อให้คนหันมาดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการแยกขยะ
เขาเริ่มจากแยกขยะลงติ๊กต๊อก แล้วชวนคนมาเรียนรู้การแยกขยะ เพราะเชื่อว่า ความรู้เปลี่ยนคนได้
“เมื่อความรู้เปลี่ยนเราได้ ก็อยากบอกคนอื่น เพราะเคยทำสารคดี ก็อยากทำให้ข้อมูลต่างๆ มันง่ายที่สุด และพยายามทำให้คนมีแรงบันดาลใจในเรื่องการแยกขยะ จึงมีกลุ่มแยกขยะ"ก้อง เล่า และย้อนชีวิตวัยเด็กว่า
ภาพจากเพจ Konggreengreen
"ตอนเด็กๆ เวลาพ่อซื้อไอศกรีมใส่กล่องพลาสติกให้ เราก็ล้างเก็บกล่องไว้ใช้ต่อ บางคนมองว่าเป็นขยะ แต่เรารู้สึกว่าเป็นภาชนะเป็นคนชอบใช้ของซ้ำ ตอนอยู่ต่างประเทศก็แยกขยะ จนวันหนึ่งได้ทำรายการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็เลยไปดูที่ปลายทางบ่อขยะในพื้นที่ 50 ไร่ จ.นนทบุรี เต็มไปด้วยกองขยะ
คนแยกขยะมองว่ามันคือทรัพยากร บางอย่างขายได้ บางอย่างรีไซเคิลจนมาทำเพจเรื่องนี้ ค่อยๆ หาความรู้ วันหนึ่งทำรายการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราก็พยายามชั่งน้ำหนักให้เรื่องกรีนๆ เป็นไปได้กับคนทุกระดับ ดีกว่าที่จะบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของฉัน เรามีบทบาทส่วนไหนก็ทำตรงนั้น"
นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ก้องเลือกที่จะบริโภคเท่าที่จำเป็น เพราะเชื่อว่าการกระทำทุกอย่างมีผลต่อโลก ดังนั้นการบริโภคแบบยั่งยืน จึงเป็นทางเลือกให้คิดก่อนซื้อ แล้วใช้และทิ้งเมื่อถึงเวลา ก็เท่านั้นเอง
(ข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ งาน Chula Sustainability Fest 2022 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ภาพจากเฟซบุ๊ค Bangkok Rooftop Farming - ฟาร์มบนดาดฟ้า
4 วิธีกำจัดเศษอาหาร
- 1.ทำปุ๋ย ปรุงดิน ปลูกผัก
วิธีนี้ wastegetable ได้ทำการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่บนดาดฟ้ากลางเมืองกรุงเพื่อเปลี่ยนเป็นสวนผักดาดฟ้า โดยนำเศษอาหาร มาแปรรูปเปลี่ยนเป็นปุ๋ย เพื่อนำไปปรุงดินให้ได้สารอาหารที่เหมาะนำมาบำรุงผักที่ ปลูกบนดาดฟ้า บนห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน ในพื้นที่อนุสาวรีชัยสมรภูมิ
ซึ่งเป็นแปลงผักใจกลางเมืองและมีความคิดจะเปลี่ยนเมืองเป็นสีเขียวโดยมีความตั้งใจให้เปลี่ยนเมืองและเพื่อการสร้างมูลค่าให้กับเศษอาหารด้วยการแปลงเศษอาหารให้เป็นปุ่ยอินทรีย์
- 2.การนำมาแปรรูปให้เป็นอาหารสัตว์
การนำเศษอาหาร Food waste มาแปรรูป เพื่อทำการเลี้ยงสัตว์นั้นก็สามารถทำได้อีกขั้นตอน แต่วิธีนี้นั้นก็ยังไม่สามารถกำจัดเศษอาหาร ให้หมดจดได้
- 3.แปลงเศษอาหารเป็นก๊าซชีวภาพ
เป็นอีกวิธีที่ฟาร์มแห่งนี้นำมาใช้ แต่ใช้เศษอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแล้ว เพื่อให้ได้ก๊าซชีวภาพ เพื่อสามารถนำมาใช้ต่อในอนาคต
- 4.นำกลับมาใช้ใหม่
มีอาหารบางจำพวกยังสามารถใช้งานหรือนำมาบริโภคได้ เนื่องจากสภาพอาหารยังไม่เสียหายมาก หรือเป็นอาหารใกล้หมดอายุ อย่างเช่น อาหารจากศูนย์การค้า อาหารเหล่านี้จะมีอายุการอยู่บนชั้นขายนั้นเหลือน้อย ทางศูนย์การค้าจะใช้วิธีโดยการจำกัดด้วยวิธีต่าง ๆ และการนำไปบริจาคเพื่อใช้ใหม่สำหรับผู้ด้อยโอกาส
- ดูได้ที่เฟซบุ๊ค Bangkok Rooftop Farming - ฟาร์มบนดาดฟ้า
อ้างอิงเพิ่ม : ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า