ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ทำไม James Nachtwey เป็นศิลปินช่างภาพในดวงใจช่างภาพ
ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ใช้เวลา 6 ปี เชิญ เจมส์ นาคท์เวย์ (James Nachtwey) ช่างภาพสารคดีสงครามชื่อดังของโลกมาจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายสงครามในเมืองไทยสำเร็จเป็นครั้งแรก ชมภาพถ่ายชุดใหม่ทั้งหมดของเจมส์ เผยเหตุผลเปลี่ยนชุดไฟส่องภาพถ่าย ชมภาพชีวิตสงครามไปทำไม
สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้กับวงการถ่ายภาพของประเทศไทย เมื่อ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (RPST - The Royal Photographic Society of Thailand ) สามารถเชิญ เจมส์ นาคท์เวย์ (James Nachtwey) มาจัดนิทรรศการแสดงผลงานการถ่ายภาพของเขาในประเทศไทยสำเร็จเป็นครั้งแรก
James Nachtwey ช่างภาพสารคดีสงคราม วัย 75 ปี อดีตช่างภาพนิตยสารไทม์ ผ่านการถ่ายภาพในสมรภูมิรบและพื้นที่ขัดแย้งครั้งใหญ่ของโลกมานานกว่า 42 ปี ได้รับการยกย่องด้วยคำว่า ‘มาสเตอร์’ หรือปรมาจารย์การถ่ายภาพจากช่างภาพมืออาชีพทั่วโลก
ภาพถ่ายแต่ละภาพของเจมส์บอกเล่าเรื่องราว สื่ออารมณ์ และแสดงภาพสะท้อนของชีวิตที่ยังคงได้รับผลกระทบจากร่องรอยของ สงคราม และ ภัยพิบัติ ว่ากันว่าภาพถ่ายของเขาเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกได้ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจแห่งสันติภาพให้มวลมนุษยชาติ
ด้านหน้าทางเข้าห้องนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria ที่กรุงเทพฯ
เจมส์คัดสรรภาพถ่ายจำนวน 126 ภาพ มาจัดแสดงในนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นภาพถ่ายชุดใหม่ทั้งหมดซึ่งยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน และยังถือเป็นการเผยภาพถ่ายชีวิตผู้คนในสงครามยูเครนสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย
ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์กับ ‘จุดประกาย Talk’ ว่าการมาของ เจมส์ นาคท์เวย์ ครั้งนี้ มีความหมายหลายประการ สร้างแรงบันดาลใจและยกระดับมาตรฐานการจัดนิทรรศการภาพถ่ายในเมืองไทย
ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์
เบื้องหลังการเชิญ เจมส์ นาคท์เวย์ มาจัดนิทรรศการในเมืองไทยมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง
“ขอเริ่มอย่างนี้นะครับ ภารกิจของ ‘สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์’ เรามีนโยบายอยากยกระดับการเห็น มุมมองที่ดี รวมทั้งการยกระดับวิชาชีพช่างภาพของคนไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
เราก็เลยรู้สึกว่า สิ่งสำคัญของสมาคมฯ ควรเป็นองค์กรที่ให้แรงบันดาลใจ ให้องค์ความรู้กับคนซึ่งชื่นชอบการถ่ายภาพ เราก็เลยสร้างโปรเจคขึ้นมาชื่อว่า RPST Master Series โดยการเชิญช่างภาพระดับโลกเพื่อมาแสดงงานในประเทศเรา
จากเดิม ถ้าเราอยากดูงานในระดับมาสเตอร์ของโลก ต้องไปดูที่สิงคโปร์หรือฮ่องกง ประเทศไทยแทบไม่อยู่ในลิสต์ของเขาเลย ด้วยอุปกรณ์และสเปซ ไม่เคยมีพื้นที่ที่เอื้อให้กับการจัดงานแบบนี้
จนเรามี หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่มีสเปซเกี่ยวกับศิลปะที่กว้างขวางและแพร่หลายมากขึ้น เราเริ่มเชิญศิลปินถ่ายภาพระดับโลกคนแรก ชื่อ ไมเคิล เคนนา (Michael Kenna) เหมือนเราทำเป็นพอร์ตโฟลิโอของสมาคมฯ ก่อน และเราก็ทำเรื่อยมา 8 ปี
ภาพชุด War in Balkans ในนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria
จนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนที่เราแสดงงานให้กับ เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastiao Salgado) เจมส์ นาคท์เวย์ ก็มาเป็นแขกในงานและเห็นพื้นที่ทั้งหมดที่เราทำ ตอนนั้นเราทำนิทรรศการอยู่ที่ชั้น 8 เขารู้สึกว้าวมาก สิ่งที่เราซีเรียสมากๆ คือเราอยากยกระดับให้ศิลปินประทับใจว่าสมาคมถ่ายภาพของประเทศไทยสนับสนุนเขาแบบ full scale ในการจัดแสดงนิทรรศการ”
ศิลปินถ่ายภาพระดับโลกในโครงการ RPST Master Series ซึ่งสมาคมฯ เชิญมาจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายครั้งที่ผ่านมา ได้แก่
- ไมเคิล เคนนา ปรมาจารย์นักถ่ายภาพแนว Fine Art ร่วมสมัย
- เคนโระ อิสึ (Kenro Izu) นักถ่ายภาพนิ่งแบบ Still life มือฉมังคนหนึ่งของโลก
- ทอม จาโคบี (Tom Jacobi) ช่างภาพมือรางวัลระดับโลกจากเยอรมนี
- เซบาสเทียว ซาลกาโด ช่างภาพสารคดีระดับตำนานของโลก
- เซบาสเตียน โคปแลนด์ (Sebastian Copeland) ช่างภาพมือรางวัลผู้เป็นทั้งนักสำรวจขั้วโลก
ไฟส่องชุดใหม่ ทำให้ภาพถ่ายมีกรอบเรืองๆ โดยรอบ
full scale ในลักษณะอย่างไรบ้าง
“เราเปลี่ยนและซื้อไฟของหอศิลป์มาเพิ่ม เพื่อทำไลติ้งให้คมพิเศษ เหมาะสมกับการเป็นงานของช่างภาพระดับโลก เราถือเครื่องวัดแสง วัดระดับ lumen ของภาพ และมี ‘ซาลกาโด’ เดินตาม นาคท์เวย์เห็นสิ่งนั้น เห็นความพิเศษที่เกิดขึ้น ซึ่งเขาก็เป็นคนละเอียดมากๆ เขาก็รู้สึกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ เขาก็อยากจัดนิทรรศการร่วมกับเรา การตกลงร่วมมือจึงเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว
ข้อแม้เลยกลายเป็นว่า สิ่งที่เขาจะทำคือไม่ปริ้นต์ภาพในไทย ไม่ใช่ว่าไทยไม่มีคุณภาพ แต่เขายังไม่รู้ว่าประเทศไทยมีบริษัทที่สามารถพิมพ์ภาพคุณภาพสูงได้แบบนั้น เขาก็ส่งปริ้นต์มาจากโรม แล้วมารีดภาพในไทย คือการใช้เทคโนโลยีรีดภาพลงบนแผ่นอลูมิเนียม เพื่อให้เรียบ เนี้ยบ ไม่มีฟองอากาศ ไม่มี scratch ก่อนไปเข้ากรอบรูป เพื่อให้เวลาที่เราติดตั้งภาพถ่ายขึ้นไปบนกำแพง การเห็นภาพถ่ายทั้งภาพจะเรียบเนียนและไม่มีจุดสะดุดสายตา
สิ่งสำคัญที่สมาคมฯ ทำในรอบนี้ เราคิดว่าสิ่งที่พิเศษที่สุดจะยกระดับคุณภาพของการจัดนิทรรศการภาพถ่ายของประเทศเราได้ ผมสั่งไฟส่องภาพที่สามารถคัตติ้งเป็นขอบสี่เหลี่ยมขยายเท่ากับกรอบรูป เหมือนภาพเรืองขึ้นมาจากเฟรม ทำให้ศิลปินรู้ว่าเราตั้งใจและเต็มที่กับการทำงานกับศิลปิน
กลายเป็นว่าแฟนคลับของเจมส์ที่มาจากสำนักข่าวทั่วโลกบอกเลยว่า ที่เขาแสดงงานที่นิวยอร์กที่มิลาน สวยเท่าที่นี่ไม่ได้
พื้นอีพ็อกซี่กาวพิเศษสีเทา สะท้อนภาพถ่ายบนผนังสวยงามแปลกตา
อีกหนึ่งความพิเศษคือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเทพื้นอีพ็อกซี่ (epoxy) ให้เราใหม่ เป็นกาวพิเศษ เราอยากให้เป็นสีเทา เพราะในโลกการถ่ายภาพคือ ‘เทากลาง’ ที่ใช้สำหรับการวัดแสง
เราก็อยากให้เขามั่นใจ ว่าคนไทยสามารถทำทุกอย่างที่เป็นมาตรฐานแบบเดียวกับที่มาตรฐานโลกต้องการได้
สิ่งที่เราทำทั้งหมดคือการยกระดับขึ้นมาทั้งก้อน เพื่อทำสิ่งนี้ให้มันเกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ แค่เราเริ่มต้นว่าเราจะจัดแสดง ศิลปินนักถ่ายภาพทั่วเอเชียตกลงบุ๊กกิ้งบินมาเป็นกรุ๊ปเพื่อมาดูนิทรรศการในคราวนี้ เป็นกรุ๊ปทัวร์โฟโตโดยตรง เขาอยากมาดูงานเจมส์
ปกติถ้าจะดูงานเจมส์ ต้องบินไปนิวยอร์กและมีค่าเข้าชม ตั๋วใบละ 1,000 บาท ซึ่งสมาคมเราจัดการให้ทุกท่านสามารถเข้าชมได้ฟรี และทุกบอร์ดมีคิวอาร์โค้ดเพื่ออ่านรายละเอียดทั้งหมดได้เลย
เราตั้งใจทำสิ่งนี้เพื่ออยากให้คนไทยเห็นภาพถ่ายสงครามจากอีกโลกหนึ่งที่เราอยู่คู่ขนานกันแบบนี้ เราอยู่อย่างมีความสุข อย่ารบกันเลย เรารักกันดีกว่า”
ไลติ้งที่เห็น จะติดตั้งไว้ที่ ‘หอศิลป์ กทม.’ ตลอดเลยไหมครับ
“สมาคมฯ ตั้งใจว่า เราจะมอบไลติ้งชุดนี้ทั้งหมดไว้ให้ ‘หอศิลป์ กทม.’ จะได้เป็นประโยชน์กับศิลปินท่านอื่นที่อยากจะแสดงงานที่นี่ จริงๆ ก็ถอดแยกได้ เราตั้งใจทุ่มงบประมาณเพื่อทำสิ่งนี้โดยตรง อยากให้เป็นสมบัติของหอศิลป์และวงการถ่ายภาพ”
ภาพถ่ายชุด War in Iraq ของ เจมส์ นาคท์เวย์
เหตุใดจึงใช้เวลาถึง 6 ปี กว่าจะจัดนิทรรศการของ เจมส์ นาคท์เวย ได้สำเร็จ
“ความยากที่สุดอย่างหนึ่งคือ ทุกวันนี้เจมส์อายุ 74 ปี เขายังเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่เกิดสงครามหรือเกิดปัญหาความขัดแย้งและภัยพิบัติต่างๆ อยู่ ตอนที่เขาหายไปทำงาน จะโทรศัพท์ติดต่อเขาไม่ได้เลย ก็กลายเป็นทดเวลาไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งเราเห็นว่ารอไม่ได้แล้ว เราต้องทำงานในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเราที่จะปิดพื้นที่ได้ยาวสามเดือน เราก็ไม่อยากให้งานระดับโลกแบบนี้ที่เราทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อทำให้เกิดความพิเศษมาจัดในช่วงเวลาสั้นๆ เราอยากได้ระยะเวลาที่ยาว และบังเอิญเขาออกจากยูเครนพอดี เขาก็เลยให้ภาพถ่ายเซ็ตพิเศษที่สุดที่เขาไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน”
บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา, มอสตาร์, 1993 : การรบชิงเมือง Mostar เกิดขึ้นตามบ้านแต่ละหลัง ห้องแต่ห้อง บ้านใกล้เรือนเคียงสู้กันเอง แม้แต่ห้องนอนอันเป็นสถานที่พักเหนื่อยหรือสถานที่ถือกำเนิดชีวิตเองก็กลับกลายเป็นสนามรบ เมื่อกองกำลังติดอาวุธชาวโครเอเชียเข้ายึดอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งพร้อมขับไล่ผู้อยู่อาศัยชาวมุสลิมออกไป
อิรัก, แบกแดด, 2003 : เมื่อกองกำลังรีพับลิกันการ์ดของอิรักหนีการไล่ล่าของกองทัพอเมริกันไปแล้ว พลรบกองโจรจึงเข้ามารับบทบาทผู้ต่อต้านการรุกรานแทน ในภาพคือนาวิกโยธินสหรัฐฯ ปราบกองกำลังคนหนึ่งในช่วงต้นของความขัดแย้งออันยืดเยื้อยาวนาน
คุณตุลย์คิดว่าเหตุใด เจมส์ นาคท์เวย์ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นช่างภาพระดับโลก
“คงจะเป็นความพิเศษที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเขา ผมว่าเหมือนสัญชาตญาณของคนทำงานแนวนี้ ที่เขามักอยู่ถูกที่ถูกเวลาอยู่เสมอ ผมว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่สามารถทำสิ่งนี้ได้ เลยกลายเป็นเหตุผลที่เขาเป็นหนึ่งในตำนานของคนซึ่งชื่นชอบการถ่ายภาพ เป็นศิลปินช่างภาพในดวงใจช่างภาพอีกที
คือไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะทำได้แบบเขา เหมือนเราตั้งคำถามในใจ ถ้าเราห็นคนกำลังจะถูกยิง เราจะแบ่งความรู้สึกของเราคือการทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุด หรือเราจะวางอุปกรณ์ถ่ายภาพของเราลง แล้วช่วยคนนั้น
ผมว่านี่คือความพิเศษที่เขาสามารถถ่ายทอด fact ที่เกิดขึ้นในอีกมุมโลกที่เราไม่เคยเห็นออกมาจากภาพข่าว เป็นสิ่งสะท้อนที่สำคัญ
ผมว่าเราดูงานของ เจมส์ นาคท์เวย์ อาจรู้สึกถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นบนโลก แต่ผมอยากบอกว่า เมื่อเราดูจบ ผมว่ามันคือการเห็นคุณค่าความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ คือสิ่งสวยงามที่ผมว่าเป็น the other side อีกทีหนึ่ง เป็นสิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกและลองคิดแบบนั้นดู”
ผลงานของเจมส์มีการจัดแสดงไว้ที่ใดที่เป็นนิทรรศการถาวรไหมครับ
“ไม่มีครับ มีที่มหาวิทยาลัยในอเมริกาที่หนึ่งที่เขาเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่นั่น แต่ก็ไม่มีนิทรรศการถาวร นิทรรศการที่กรุงเทพฯ จะเป็นงานครั้งที่ใหญ่ที่สุด และรวมปริมาณงานที่เยอะที่สุดของเขาไว้ในงานนี้”
ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ และ่ Mr.JAMES NACHTWEY วันเปิดนิทรรศการฯ
เหตุใดจึงสามารถเปิดให้เข้าชมนิทรรศการครั้งนี้ได้ฟรี
“ฟรีหมดตลอดระยะเวลาจัดแสดงนิทรรศการ 3 เดือน เราก็คุยกับเจมส์ตรงๆ ว่าเราอยากทำให้สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างภาพ ให้กับคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพได้เห็นความพิเศษนี้ของเขา
หนึ่งสิ่งที่สำคัญนะครับ ผมว่าความพิเศษของพื้นที่ ของสิ่งที่เขาเห็นความตั้งใจที่เราทำกับมาสเตอร์ก่อนหน้านี้ ผมเชื่อว่าแรงผลักดันตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีที่เขาทำให้เขารู้ว่าความตั้งใจดีคือ give and take”
ภาพถ่ายชุด Attack on New York : สหรัฐอเมริกา, นครนิวยอร์ก, 2001
นักดับเพลิงที่กำลังค้นหาผู้รอดชีวิตดูตัวเล็กลงไปถนัดตาเมื่อเทียบกับระดับความเสียหายใหญ่หลวงในโศกนาฏกรรมครั้งนี้
ตึกแฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ได้รับการออกแบบและก่อสร้างให้ทนไฟไหม้ใหญ่จากเหตุเพลิงไหม้ปกติได้ ทั้งยังทนแรงลมได้มากกว่า 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ความร้อนสูงที่เกิดจากเชื้อเพลิงเครื่องบินปริมาณกว่า 75,000 ลิตร ทำให้โครงสร้างอ่อนแรงจนทรุดตัวลง
อาคารฝั่งใต้ถล่ม
คุณตุลย์ประเมินผลการทำโปรเจค RPST Master Series ไว้อย่างไร
“ทุกครั้งที่เราจัดงาน จะสร้างสถิติพิเศษ เราเรียก new high คือจำนวนผู้เข้าชมพื้นที่หอศิลป์ฯ สูงขึ้นทุกครั้ง อย่างวันเปิดนิทรรศการวันแรก ครึ่งวันแรกไม่ได้เริ่มนับ แต่ตอนเย็นที่เริ่มนับคือ 1,200 คน ซึ่งหอศิลป์ก็บอกว่านี่มันกระจุย เขาตั้งใจว่าสามเดือนนี้ หอศิลป์กทม. คงแตก
เมื่อก่อนตอนที่เราทำงานของเซบาสเทียว ซาลกาโด เขาทำเรื่อง Climate Change การอนุรักษ์ต้นไม้ มีคุณครูมาดู เสร็จแล้วเขารู้สึกว่ามันวิเศษจังเลย เขาก็กลับไปที่โรงเรียนนานาชาติ พาเด็กนักเรียนมัธยมกลับมาเป็นหมู่คณะ มานั่งวาดรูปจากภาพถ่ายแล้วอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น
พอเราบอก เจมส์ นาคท์เวย์ จะมา ตอนนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ม.รังสิต ลาดกระบัง ติดต่อขอพานักศึกษาทั้งชั้นปีเข้ามาชม
ความพิเศษของเจมส์ เราอาจจะต้องคิดว่า ทำไมคนถึงอยากจะต้องเห็นภาพถ่ายสงคราม ผมเชื่อว่าคนเราไม่อยากเห็นการสูญเสีย การฆ่า การทำลายคนอื่น แต่สิ่งสำคัญที่สุดมันคือภาพแบบนี้คุณไม่สามารถเสิร์ชและเห็นได้บนอินเทอร์เน็ต
แต่การเห็นภาพถ่ายขนาดใหญ่เท่าตัวคน มันจะมี visual impact ที่เราเห็นแล้วรู้สึกถึงความสูญเสีย ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นตรงหน้านั้น เหมือนเขาลากเราไปเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเขา เราได้ยินเสียงปืน เห็นควันปืน เหมือนที่เขาได้เห็น ผมว่ามันเลยกลายเป็นความพิเศษที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง”
ณภัชป์ รัตนศักดิ์, อุมาวร วินด์เซอร์-ไคลฟ์, เจมส์ นาคท์เวย์, สุรินทร์ บัญญัติปิยพจน์, ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ผู้ร่วมจัดนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria
หมายเหตุ : นิทรรศการ James Nachtwey: Memoria (เจมส์ นาคท์เวย์ : ห้วงความทรงจำ) จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 กันยายน 2566 - 26 พฤศจิกายน 2566 (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร