คัดค้านขยายถนน 4 เลนผ่าป่าเลาะแม่น้ำปิง(ต้นกำเนิดป่าดอยหลวง) เชียงดาว
ถนนโค้งๆ เส้นนี้จากเชียงใหม่ไปอ.เชียงดาว ฝั่งขวาเป็นลำน้ำปิง ฝั่งซ้ายเป็นป่า กรมทางหลวงกำลังมีแผนพัฒนาเป็น 4 เลน...ถ้าเป็นเช่นนั้น อาจทำให้เชียงดาว สูญทั้งป่าและน้ำ?
ขณะนี้กำลังมีความเคลื่อนไหวของคนท้องถิ่นเชียงใหม่-เชียงดาวคัดค้านโครงการขยายถนนเป็นสี่เลน ระยะประมาณ 8 กิโลเมตรที่จะผ่านป่าสมบูรณ์ แถมยังตัดเลาะเลียบแม่น้ำปิงอีกต่างหาก
นี่ก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่มีความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาที่เกิดมาหลายต่อหลายหนก่อนหน้า เร็วๆ นี้คือ กรณีอุโมงค์ต้นไม้ถนนสายนี้คือทางหลวงหมายเลข 107 ชื่อถนนโชตนา เชื่อมระหว่างเชียงใหม่-ฝาง-แม่อาย เป็นทางหลวงยุคแรกๆ ที่เวนคืนก่อสร้างตั้งแต่ก่อนสงครามโลก
ดังนั้นแนวของเขตทางเป็นทางเกวียนสัญจรดั้งเดิม จุดตรงนี้เป็นร่องเขาเลาะแม่น้ำปิงก่อนจะเข้าเมืองเชียงดาว เป็นทางสัญจรโบราณ แนวเขตทางหลวงจึงล้ำเข้าไปถึงไหล่ตลิ่งของน้ำปิง เพราะแม่น้ำทางเหนือช่วงต้นน้ำมักจะเป็นโตรกตลิ่งสูง น้ำหน้าแล้งน้อยเดินลุยได้
แต่พอหน้าน้ำจะขุ่นแดงและขยายออกท่วมถึงไหล่ทาง การขยายถนนที่อาศัยเขตทางหลวง จึงไปกินพื้นที่นิเวศต้นแม่น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม่น้ำปิง ต้นกำเนิดป่าดอยหลวง
ตลอดแนวแม่น้ำปิงจากต้นกำเนิดป่าดอยหลวง ดอยผาแดงชายแดนพม่าเหนือตัวเมืองเชียงดาวลงมาแม่น้ำปิงเข้าสู่พื้นที่ชุมชน สิ่งก่อสร้างเรื่อยลงมา เหลือที่เป็นต้นน้ำที่ยังมีป่าสมบูรณ์โอบอุ้มให้สมกับเป็นต้นน้ำสำคัญไม่กี่จุดที่ยังเหลือคือ ช่วง 8 กิโลเมตรตรงนี้ ที่น้ำปิงมีป่าสมบูรณ์ขนาบซ้ายขวาด้านขวาเป็นอุทยานแห่งชาติศรีลานนา
อลังการเชียงดาว
ส่วนด้านซ้ายเป็นป่าสงวนเชียงดาว เขตคุณภาพลุ่มน้ำ 2 เอโดยกรมทางหลวงมีแผนจะขอเวนคืนเขตป่าสงวนเข้าไปเพื่อขยาย และก่อสร้างผนังกำแพงคอนกรีตกันดินถล่มยาวไปเป็นระยะตลอด 8 กิโลเมตรจะไถพื้นที่ป่าสมบูรณ์กว่า 150 ไร่
ปกติน้ำปิงต้นน้ำช่วงนี้ได้น้ำจากป่าทั้งสองฟาก คือฟากป่าเชียงดาวแม้จะมีถนนคั่นอยู่แต่ก็มีลำธารและทางน้ำลอดเป็นระยะๆ ในฤดูฝนมีน้ำไหลจากภูเขาข้ามถนนก็มีนิเวศต้นน้ำทางเหนือซับน้ำจากป่าแม่น้ำแคบเล็กเทียบกับภาคอื่นๆ เหมือนกับลำธารหรือคลอง
แต่เมื่อถึงฤดูน้ำขยายออกเป็นน้ำสีขุ่นแดงและไหลเชี่ยว ดังนั้นอาณาเขตของนิเวศแม่น้ำจึงประชิดกับแนวถนนขยายใหม่ กรมทางหลวงอธิบายว่าจะขยายออกแต่น้อย ซึ่งก็หมายว่ายังไงก็ต้องขยายเขตทางกินไหล่ตลิ่งอยู่ดี
จะสร้างถนนในเขตป่าอนุรักษ์หรือ?
คนเชียงดาวและกลุ่มอนุรักษ์ทราบเรื่องการขยายถนนช่วงนี้มานานพอสมควรมีการไปร่วมประชุมในเวทีรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำ EIA สาเหตุที่ต้องทำรายงานผลกระทบเพราะติดเงื่อนไขกฎหมาย หากก่อสร้างถนนในเขตป่าอนุรักษ์หรือป่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 2 เอ จะต้องทำ EIA
กรณีนี้จะขยายออกกินป่าสงวนเชียงดาวที่เป็นป่าชั้นคุณภาพลุ่มนั้นตามกฎหมายกำหนด ที่จริงแล้วมีพื้นที่อนุรักษ์ที่ละเอียดอ่อนคือต้นแม่น้ำและป่าอุทยานแห่งชาติที่อยู่ประชิดกันด้วย เป็นสามเด้ง หากจะพิจารณาเรื่องนิเวศสิ่งแวดล้อมกันจริงๆ โดยไม่มองระเบียบกฎหมาย
กรมทางหลวงศึกษา EIA แล้วเสร็จ ก็ตามสไตล์ล่ะครับ ประชุมรับฟังความเห็นที่ประชุมเห็นด้วยครบ ส่วนไอ้ที่จะตัดป่าก็จะมีการย้ายต้นไม้ ฯลฯ ขั้นตอนจากนี้จะส่งเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ส่วนทางด้านกลุ่มคัดค้านที่มีภาคีคนฮักเจียงใหม่ กลุ่มเชียงดาวแครเขียวสวยหอม มีคนเชียงดาวหลายคนร่วมเป็นแกนได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังอธิบดีกรมทางหลวงเข้าใจว่า ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมด้วย เฟซบุ๊คเพจเชียงดาวแคร์ มีสื่อรณรงค์และกำลังล่ารายชื่อสนับสนุนก็เป็นกระบวนการทั้งฝ่ายผลักดันและฝ่ายคัดค้าน
สำหรับผู้เขียน ชัดเจนว่าอยากให้กรมทางหลวงรักษาพื้นที่นี้ไว้ดีกว่าเพราะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ ไม่กระทบการเดินทางของเส้นทางหลวงหลักสายนี้ เพราะของเดิมก็แม้จะเป็นสองเลน แต่ก็มีช่วงขยายให้แซงเป็นระยะ
ปกติช่วงก่อนเข้าเชียงดาวรถวิ่งช้าอยู่แล้ว มีด่านความมั่นคง ต่อให้ขยายถนนก็ต้องชะลอเข้าด่านสู้ปรับแผนพัฒนาทางหลวงแผ่นดินให้สอดคล้องกับแนวคิดใหม่พัฒนาพร้อมอนุรักษ์อย่างยั่งยืน แถมส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย น่าจะเป็นทางออกที่ดีต่อทุกฝ่าย
อลังการเชียงดาว เมืองต้นทุนท่องเที่ยว
เมืองเชียงดาวเป็นเมืองที่มีต้นทุนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพียบพร้อมเป็นเป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวแนวนี้อยู่แล้ว ทั้งดอยหลวง เมืองงาว เมืองคอง มีทั้งป่ามีทั้งแม่น้ำปิงต้นน้ำสวยๆ ถนนตรงที่จะขยายสั้นๆ ที่ว่ามีฐานะเป็นปากประตูเมืองเข้าเชียงดาว
ลองจินตนาการดูถนนที่เลาะแม่น้ำปิงยาวไปท่ามกลางป่าเขาสีเขียวพอทะลุเขาออกไปก็จะเจอแอ่งที่ราบเชียงดาว และดอยหลวงเชียงดาว มันมีความอลังการเชียงดาวเป็น Exotic อยู่ในตัวอยู่แล้ว
หากกรมทางหลวงพัฒนาทางสายนี้ให้เป็นสายสนับสนุนการท่องเที่ยวประเภทที่ใครผ่านต้องหยุดเช็คอิน เหมือนจุดชมวิวหมายเลข 3 ที่น่าน หรือถนนสายอุโมงค์ต้นไม้ที่หลายๆ จังหวัด คนที่ขับผ่านไม่อยากเหยียบคันเร่งเร็วหรอก
เขาอยากชะลอช้า เพื่อชื่นชมวิวทิวทัศน์ เหมือนทางเลาะชายทะเลเมืองจันทน์ ชลบุรี ไม่มีใครอยากขับเร็วกัน
จุดเช็คอินที่เหมาะสม เช่น บริเวณแก่งปันเต๊า มีแก่งหินแม่น้ำปิงตื้นใสเป็นที่ท่องเที่ยวของคนท้องถิ่นอยู่แล้ว เลาะแม่น้ำปิงที่มีป่าเขียวโอบอุ้มสองฟากปากประตูเชียงดาว มันขายได้ในทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่กรมทางหลวงน่าจะพิจารณา
จากนั้นเส้นทางจะขยายออกเป็นสี่เลนยาวไปมีระยะที่ผ่านเมืองเชียงดาวจะข้ามดอยหัวโท ไปยังเขตอำเภอไชยปราการที่กำลังจะขยายเป็นสี่เลนเช่นกัน ตรงนั้นเห็นด้วยสามารถขยายเลยทำได้เต็มที่เพราะเป็นดอยสูงชันเล็กแคบบางช่วงไม่มีไหล่ทาง
ขอยกเว้นบริเวณปิงโค้ง สะพานข้ามแม่น้ำปิงโบราณ พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นสะพานยุคแรกเริ่มของถนนโชตนาสาย 107 ข้ามแม่น้ำปิงช่วงต้นน้ำที่เล็กแคบและตื้น หน้าแล้งกระโดดข้ามได้ เวิ้งตรงนั้นกรมทางหลวงมีสวนหย่อมน่ารักไว้เป็นจุดแวะพักอยู่เดิม
หากกันถนนสายเก่าพร้อมกับสะพาน อนุรักษ์ไว้เป็นเวิ้ง แวะพักจุดเช็คอินเที่ยวชมสวนหย่อมน้ำปิง พร้อมกับสะพานโบราณกึ่งๆ พิพิธภัณฑ์ของกรมทางหลวง ก็จะยิ่งขับเน้นความเป็นถนนสายอนุรักษ์ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของท้องถิ่นได้อีก
ถนนสายหลักที่เชื่อมอำเภอทางเหนือสาย 107 ที่กำลังจะขยายเป็นสี่เลนทั้งเส้นในเร็วๆ นี้ อาจจะมีบางช่วงสั้นๆ แค่ 8 กิโลเมตรที่ไม่ใช่สี่เลน นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถนนผ่าเขาใหญ่ก็เส้นสำคัญแต่ถือการอนุรักษ์ทรัพยากรของชาติผู้ผ่านทางเข้าใจได้
นี่ระยะสั้นๆ แค่ 8 กิโลเมตร ปกติรถก็ใช้ความเร็วได้ มีจุดแซงมีความปลอดภัยทางวิศวกรรมได้มาตรฐานอยู่ หากส่งเสริมให้เป็นถนนสายสีเขียวส่งเสริมเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยถือเป็นความก้าวหน้าเชิงวิสัยทัศน์ของกรมทางหลวงก้าวสำคัญอีกก้าวทีเดียว ...ขอผู้เกี่ยวข้องช่วยพิจารณากัน
..............
เขียนโดย : บัณรส บัวคลี่