'สวน 15 นาที' พื้นที่สร้างสุขคนกรุง ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

'สวน 15 นาที' พื้นที่สร้างสุขคนกรุง ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

ถอดแนวคิด "สวน 15 นาที" อีกหนึ่งนโยบายสร้างสุขให้คนกรุง สู่การสร้างพื้นที่สุขภาวะ ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ เปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

เมื่อพูดถึง "สวน" ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่เอื้อให้ทุกคนได้ออกมาขยับร่างกาย แต่เมื่อมาดูจำนวนคนเข้าสวนในปัจจุบัน พบว่า มีแค่ 20-30% เท่านั้น และจากสถิติค่าเฉลี่ยกิจกรรมทางกายของคนไทยส่วนใหญ่ เดินเพียงแค่ 4,700 ก้าวเท่านั้น นำมาสู่แนวคิดการปรับพื้นที่กรุงเทพฯ ให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะ ที่ถูกโยงกับแนวคิด "สวน 15 นาที" ที่สามารถเดินไปไม่ถึง 15 นาที โดยมีพื้นที่ให้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับคนกรุง

สวนลดความเหลื่อมล้ำ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สานพลัง จัดเวที PA Forum EP.1 ขึ้น ตั้งเป้าชูแนวทาง 3 Actives เพิ่มพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะอย่างเสมอภาคใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. เส้นเลือดฝอยและสุขภาพคนกรุง พัฒนาระบบสาธารณสุขดูแลเข้าถึงคนในชุมชน 2. สังคมผู้สูงอายุและโรคคนเมือง จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุไม่ให้เป็นผู้ป่วยติดเตียง เน้นให้มีกิจกรรมทางกายนอกบ้าน เกิดเป็น 360 ชมรม ใน 45 ชุมชน รวมถึงพัฒนาพื้นที่สาธารณะ "สวน 15 นาที" 3. ปัญหาโรคทางเดินหายใจ ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการสานพลังขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ โดยดูแลชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ด้านสุขภาพ ส่งผลให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 กล่าวในพิธีเปิดงานเสวนาวิชาการและนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย (PA Forum) EP.1 - Active Environment for All ว่า จากข้อมูลคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (อายุ 30-70 ปี) ปี 2565 โดยสหประชาชาติ พบมากถึง 74% โดยสาเหตุหลักๆ มาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ทาง สสส. จึงเร่งสานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงการเกิดโรค NCDs เน้นลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และยังให้ความสำคัญกับการสร้าง ความเท่าเทียม ให้คนทุกกลุ่มมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 

\'สวน 15 นาที\' พื้นที่สร้างสุขคนกรุง ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

อะไรคือสวน 15 นาที

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม. มีการพัฒนาสวน ภายใต้นโยบาย สวน 15 นาที ไปแล้วกว่า 50 แห่ง และกำลังมีแผนการพัฒนาต่อยอดเพิ่มอีก 147 แห่ง รวมเป็นพื้นที่สวน กทม. ทั้งหมด 800 ไร่

"มันคือความใกล้บ้าน ความจริงแล้ว กทม. มีสวนดีๆ เยอะ อย่างสวนเบญจกิติ สวนลุมฯ แต่หากคนที่ไม่ได้อยู่ในละแวกนี้ ต้องขับรถเดินทางมาตอนเช้าเพื่อใช้บริการ ต้องเผชิญกับรถติด อาจไม่ตอบโจทย์คนเมือง แต่หากเรามีสวนใกล้บ้านที่เขาแค่เดินไปได้ภายใน 800 เมตร ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้พื้นที่กับครอบครัวและสัตว์เลี้ยง"

พรพรหม กล่าวเสริมว่า บางสวนเรายังปรับให้เป็นสวนกินได้ เป็นพื้นที่เกษตรในเมือง ปลูกผักบริโภค ซึ่งเจ้าหน้าที่เขต กทม.จะเข้ามาสนับสนุน แต่ในที่สุดประชาชนต้องมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของสวน สิ่งที่เขาจะได้นอกจากสวนใกล้บ้านก็คือ ความสามัคคี ความสัมพันธ์ในชุมชน และยังช่วยลดมลพิษด้วย

\'สวน 15 นาที\' พื้นที่สร้างสุขคนกรุง ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

ว่าด้วยเรื่อง "พื้นที่" เพื่อการขยับ

สำหรับ "สวน 15 นาที" เกิดขึ้นจากแนวคิด Pocket Park หรือสวนเล็กๆ ขนาดกะทัดรัด ตามตรอก ซอกซอย ไม่จำกัดขนาด พื้นที่ และรูปแบบ แต่สำคัญคือ ตอบโจทย์เพิ่มความสุขจากการได้มีพื้นที่กิจกรรมร่วมกันของแต่ละชุมชน โดย Pocket Park แต่ละแห่งจะมีคอนเซปต์ที่แต่ละเขตจะออกแบบมาตามบริบทของชุมชน เช่น สวนกินได้ สวนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สวนป่าเล็กๆ ที่มีไม้ยืนต้น ถ้ามีลานกีฬาเพิ่มก็ยิ่งดี แต่ควรเป็นสวนป่าที่ปรับปรุงตัวเองได้ ดูแลตัวเองได้ ถนนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนกรีต 

"เรามีลานกีฬาพันกว่าแห่ง ก็สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวเข้าไปได้ ที่สำคัญพื้นที่สุขภาวะ ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่รัฐเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สุขภาวะตลอด 24 ชั่วโมง หลายคนอาจใช้พื้นที่ลานจอดรถหลังเลิกงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สีเขียวเท่านั้น เพราะสิ่งที่ประชาชนอยากได้คือ พื้นที่ที่ประชาชนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน จัดสรรการออกแบบพื้นที่ออกจากบ้านมาทำกิจกรรมได้"

\'สวน 15 นาที\' พื้นที่สร้างสุขคนกรุง ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

สวนใคร ใครก็ (รัก) ดูแล

ที่ผ่านมางานสวนขนาดใหญ่จะเป็นของสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานสวนสาธารณะ แต่นโยบาย สวน 15 นาที คือการกระจายให้มีสวนจำนวนเยอะๆ ซึ่งอีกมิติที่ลืมไม่ได้คือ การดูแลรักษาและไม่เสื่อมโทรม เพื่อไม่ต้องพึ่งเจ้าหน้าที่เขตอย่างเดียว งานนี้ประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วม 

พรพรหม ยอมรับว่า สสส. มีส่วนในการช่วยให้นโยบาย "สวน 15 นาที" เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากในเรื่องคอนเซปต์หรือแนวคิดแล้ว สสส. ยังช่วยในเรื่องกระบวนการ ตั้งแต่การส่งเสริมอบรมเจ้าหน้าที่ กทม. ให้มีความรู้ทักษะการออกแบบสวน ทำอย่างไรให้มีความรู้ในการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และการดูแลรักษาสวนเมื่อสวนสร้างเสร็จแล้ว ซึ่ง สสส. เข้ามาช่วยในการทำหลักสูตรเหล่านี้ด้วยผ่านทางทีแพค

"การจะทำให้มีสวนจำนวนมากหลายร้อยแห่ง แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมคงดูแลไม่ทั่วถึงทั้งหมด เราจึงต้องอาศัยเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต 15 เขต ซึ่งมีหน้าที่เรื่องการบำรุงรักษาอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเขาอาจไม่มีองค์ความรู้เรื่องการออกแบบสวนต่างๆ ทักษะที่ สสส. ให้คือ การเข้ามาเพิ่มในส่วนนี้ และเราไม่ได้อยากทำสวนให้สวยแต่ไม่มีใครใช้ ทำอย่างไรให้มีกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ดังนั้น สสส. ช่วยเราในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ การร่วมกันพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการ กทม. คือนโยบายสวน 15 นาที ที่เราอยากส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสวน ทั้งสวนใหญ่ที่มีอยู่แล้ว และสวนหย่อม (Pocket Park) ให้ได้มากที่สุด"

\'สวน 15 นาที\' พื้นที่สร้างสุขคนกรุง ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

สวน พื้นที่สุขภาวะ และวิถีสุขภาวะ

เมื่อขยายความเรื่องสวน มาเป็น "พื้นที่สุขภาวะ" สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดพื้นที่สุขภาวะคือ จะทำอย่างไรให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อยากมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ต้องมีพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขารู้สึกอยากออกกำลังกาย รวมถึงควรมีกลไกที่ทำให้คนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ผลักดันให้เกิดนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทาง 3 Actives คือ 1. Active People 2. Active Society 3. Active Environment ในขณะนี้สามารถสร้างเมืองที่มีความเหมาะสมกับทุกคน เป็นต้นแบบพื้นที่สุขภาวะที่เอื้อให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายในทุกระดับกว่า 30 แห่ง ความท้าทายเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะสู่ความยั่งยืน 1. บูรณาการนโยบายผังเมืองและคมนาคม 2. ปรับปรุงความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ 3. พัฒนาพื้นที่เดินเท้าและพื้นที่ปั่นจักรยานอย่างครอบคลุม เป็นความท้าทายซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.ภก. พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในเสวนาความสัมพันธ์ของพื้นที่สุขภาวะและวิถีสุขภาวะของคนทุกคน ว่า เวลาเรามองเรื่องพื้นที่สุขภาวะ คือการมองกิจกรรมทางกายเพื่อทำให้ร่างกายมีกิจกรรม สิ่งที่ตามมาคือ การศึกษาว่าสภาพแวดล้อมที่ดีคืออะไร มีความพร้อมและมีความปลอดภัยหรือไม่ นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทำให้ชุมชนเข้ามาร่วมกันมีกิจกรรมทางกายได้ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้งานวิชาการจัดการ

\'สวน 15 นาที\' พื้นที่สร้างสุขคนกรุง ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงไปทำให้พื้นที่กองทุนสุขภาพตำบลมีแผนเพิ่มจากเรื่องกิจกรรมทางกาย โดยการเขียนโครงการมาขอได้ในสถานประกอบการ ในโรงเรียน เพิ่ม active play, active learning รวมถึงนำร่องในระดับจังหวัดที่ภูเก็ต 

ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวในเวทีเสวนาเดียวกันว่า สิ่งที่เราดำเนินการคือ การพยายามใช้ความรู้ด้านการออกแบบให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เรารู้มากที่สุด โดยเน้นการออกแบบมีส่วนร่วม ซึ่งโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้พื้นที่สุขภาวะตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้งาน

"หลายพื้นที่ต้นแบบด้านการมีส่วนร่วม เช่น คลองจั่น มีการสร้างกลไกการดูแลพื้นที่ โดยให้สำนักราชเลขาธิการที่เป็นเจ้าภาพตั้งชุมชนเข้าไปเป็นคณะทำงานในพื้นที่ ซึ่งประสบความสำเร็จมากในการจัดกิจกรรมออกกำลังทางกายและการจัดสวนที่มุ่งเน้นบริบทชุมชน หรืออีกพื้นที่ในชุมชนบ้านครัว ที่สามารถพัฒนายกระดับเป็นย่านที่ยังมีชุมชนเป็นเจ้าของ"

ผศ.ดร.ภก. พงศ์เทพ เห็นด้วยกับเรื่องนี้ว่า การทำงานพื้นที่กิจกรรมทางกายจำเป็นต้องมีภาคีที่ร่วมมือ เนื่องจากชุมชนไม่มีกำลัง แม้ สสส.จะให้การสนับสนุนแต่ได้เพียงระดับหนึ่ง จำเป็นต้องมีหน่วยงาน องค์กร เช่น กระทรวงต่างๆ หรือองค์กรเอกชน มาเป็นผู้สนับสนุนด้านทุน เป็นต้น

ผุดนวัตกรรม คู่มือ "WalkShop"

อีกหนึ่งกระบวนการที่จะกระตุ้นการมีกิจกรรมทางกายกลุ่มหนุ่ม-สาวออฟฟิศ ทาง สสส. และภาคี ยังร่วมพัฒนานวัตกรรมคู่มือการจัดกิจกรรม "WalkShop : เครื่องมือส่งเสริมการจัด Healthy Active Meeting"

นิรมล ราศรี รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า WalkShop เป็นคู่มือการจัดการ "เดินประชุม" ในรูปแบบอินโฟกราฟิก 29 หน้า ที่ปฏิบัติตามได้ง่าย นอกจากช่วยเพิ่มเวลาในการมีกิจกรรมทางกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ยังช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร โดยคู่มือ WalkShop มุ่งเป้าปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เอื้อให้วัยทำงานมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง