แก่ก่อนออม ไม่มีเงินก่อนตาย : มาตรการออมแบบไหน...ช่วยได้

แก่ก่อนออม ไม่มีเงินก่อนตาย : มาตรการออมแบบไหน...ช่วยได้

แค่ค่าใช้จ่ายรายวันยังไม่พอใช้ แล้วจะมีเงินออมได้อย่างไร มาตรการแบบไหนที่จะทำให้แก่แล้วมีเงินออม หลากหลายความเห็นเรื่อง'การออมเงิน'...

“ทำไมเราไม่ค่อยรู้เรื่องการจ่ายภาษี การเก็บเงิน และมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ” ณฐมน วินนาวรเวช Project  Director และ Facilitator บริษัท ลูกคิด จำกัด ตั้งคำถามในการเสวนาเรื่อง ออกแบบมาตรการอย่างไรให้คนไทย แก่ดีมีออม ของทีดีอาร์ไอ โดยมี ดร.สมชัย จิตสุชน เป็นผู้อำนวยการวิจัยและหัวหน้าทีม  

การออม เป็นปัจจัยสำคัญที่คนทุกรุ่นต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะในช่วงวัยทำงาน ควรจัดสรรสัดส่วนในการออมและจัดการหนี้สิน เรื่องนี้ณฐมน บอกว่า เท่าที่ค้นดูในอินเทอร์เน็ตพบว่า คนส่วนใหญ่มองวิธีหาเงินทางดิจิทัลและการกู้เงิน เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ 

"เราเจอมิจฉาชีพโทรมาเสนอสินเชื่อหรือชักชวนให้กู้เงินเยอะมาก  แต่ไม่เคยมีใครโทรมาบอกว่าตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อทำให้คุณเก็บเงินตอนเกษียณมากขึ้น การออมเงินจะทำเชิงรุกเหมือนกู้เงินได้ไหม  หรือกรณีการออมในสหกรณ์ ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ ทั้งๆ ที่ออมได้ดอกเบี้ยสูง "

เปลี่ยนค่านิยมการออม

การออมเงินต้องมีเครื่องมือที่ทำให้คนทุกช่วงวัยเข้าใจง่ายๆ แต่ละเครื่องมืออาจเหมาะกับช่วงวัยหนึ่ง แต่ไม่เหมาะอีกช่วงวัยหนึ่ง อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองเรื่องนี้ว่า

"เราควรสร้างค่านิยมการวางแผนทางการเงิน การบริหารจัดการหนี้ ให้เหมือนค่านิยมการทิ้งขยะหรือการดื่มเหล้าที่บอกว่า การให้เท่ากับแช่ง ได้ไหม"

แก่ก่อนออม ไม่มีเงินก่อนตาย : มาตรการออมแบบไหน...ช่วยได้

ว่ากันว่าการออมเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ ถ้าคนไทยทั้งประเทศออมไม่เพียงพอ ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ข้อมูลจากรายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2565 พบว่าช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้หนี้ครัวเรือนจาก 84%ของจีดีพี มาอยู่ที่ 94% ซึ่งสูงกว่าระดับเหมาะสม และ 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ต้องผ่อนชำระเฉลี่ยสูงกว่าสี่แสนบาทต่อคน รวมถึง42 % กว่า 4,600 ครัวเรือนที่ขอความช่วยเหลือแก้หนี้ มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท

นอกจากนี้ยังอ้างอิงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในครึ่งปีแรกปี 2566 ของ NSO พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยที่ 29,502 บาท เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ซึ่งสูงกว่า 83% ของรายได้ 

นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจทักษะการเงินของไทย ทั้งด้านความรู้การเงิน ทัศนคติการเงิน และ พฤติกรรมการเงิน แม้ปี 2565 จะพบว่าคนไทยจะมีความรู้ทางการเงินดีขึ้น แต่ยังถือว่าเป็นด้านที่ต่ำสุด โดยเฉพาะความรู้เรื่องการคำนวณดอกเบี้ย และเงินฝากทบต้นต่ำกว่าหัวข้ออื่นๆ 

หากถามหลายคนว่า ได้วางแผนออมเพื่อเกษียณหรือยัง พบว่า กว่า 65% มีการคิดและวางแผนการออมแล้ว แต่ยังไม่เริ่มหรือทำไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ 

ถ้าจะแก้ปัญหาการออม  เธอให้มุมมองว่า ต้องแก้ตลอดทั้งวงจรชีวิต ต้องมีเครื่องมือที่แก้ให้ตรงจุด ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยปัจจุบันหน่วยงานในแบงค์ชาติพัฒนาเครื่องมือและตัวช่วยต่างๆ ให้ลูกหนี้ เช่น หมอหนี้ บ้างแล้ว

นอกจากนี้ควรผลักดันความรู้ทางการเงิน เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกช่วงชั้น ส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านนายจ้าง  มีการสร้างคนเพื่อฝึกอบรมการเงินในหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงผลักดันการออมเพื่อเกษียณภาคบังคับให้ครบทุกภาคส่วน

  • ออมตั้งแต่เริ่มทำงานดีที่สุด

วินัยการออมควรมีตั้งแต่เด็ก หากเริ่มออมตั้งแต่ทำงานก็ยังไม่สายเกินไป แต่ถ้าออมตอนแก่ คงต้องคิดหนัก
“ตอนนี้มีแอพฯเป๋าตังค์เข้าไปลงทุนในพันธบัตรได้ ส่วนการลงทุนในกองทุนรวมก็เข้าถึงง่าย แต่มีความพร้อมแค่ไหน การเข้ามาลงทุน นอกจากการรับความเสี่ยงได้ ความเสี่ยงการลงทุนแต่ละกองทุนกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตก็ต้องรู้" ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าว

ความรู้ทางการเงิน จึงไม่ใช่แค่การอ่าน ต้องทำความเข้าใจ ฝึกฝนและเรียนรู้  ดร.สมจินต์ ยกตัวอย่างในหนังสือที่เขียนว่า กรณีของจิม ช่างซ่อม และซู ช่างทำผม ทั้งสองคนมีเงินรวมกัน 1,000 ดอลล่าร์ ตั้งใจเกษียณอายุ 50 เศษ แล้วต้องทำอย่างไร 

"จิมบอกว่าไม่มีอะไรยาก เขาเชื่อในความพยายาม เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาขอให้นายจ้างเป็นธุระ หักเงินเดือนของเขา 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อการลงทุน ทั้งๆ ที่สมัยนั้นการลงทุนไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ช่วง360 เดือนไม่มีเดือนไหนที่ทั้งสองไม่ได้ลงทุน"

เงินลงทุนที่งอกเงย จึงต้องมีทั้งวินัยและความอดทนเพื่อเก็บออม  ความสำเร็จทางการลงทุน ดร.สมจินต์ บอกว่า ควรมีทักษะสามประการคือ

1 ความสามารถในการหาเงิน

2 ความสามารถการออมเงิน

3 ความสามารถที่นำเงินออมไปลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

“ทั้งจิมและซู มีความสามารถในการหาเงิน โดยใช้กลไกอัตโนมัติ ทำให้เขาออมและลงทุนได้ สามารถตัดวงจรอันเกิดความเปราะบางอคติทางพฤติกรรม โดยมีเป้าหมายการออม เพื่อใช้ตอนเกษียณ

ยกตัวอย่าง ตั้งแต่อายุ 21 เริ่มลงทุนสองพันบาท มีผลตอบแทน 8 % และเพิ่มเงิน 5 % อย่างต่อเนื่อง ตอนอายุ 60 ผมเชื่อว่าจะมีเงินใช้ 12 ล้านบาท เป็นโมเดลที่ผมอยากแชร์"

ถ้ามองแง่มาตรการการออมแต่ละช่วงวัย จึงต้องมีความชัดแล้ววัดผลได้ ดร.สมจินต์ มองเรื่องนี้ว่า ต้องมีวัฒนธรรมการลงทุนอย่างยั่งยืนของครอบครัว

"การลงทุนจะใช้ความรู้ทางการเงินอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องมีวินัยการลงทุนด้วย"  

แก่ก่อนออม ไม่มีเงินก่อนตาย : มาตรการออมแบบไหน...ช่วยได้

หาทางปลดหนี้ให้พนักงาน

เป็นเรื่องปกติที่พนักงานในองค์กรจะมีหนี้สินบ้าง และผู้บริหารส่วนใหญ่ก็จะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอโนบุโระ เห็นว่าควรหาวิธีช่วยพนักงานปลดหนี้  เพราะส่วนใหญ่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้  

"กลุ่มที่มีหนี้เกินตัว เราก็จัดเวิร์คชอปให้ ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินออกแบบนโยบายต่างๆ เพื่อปรับพฤติกรรมการออม คนที่เข้าโครงการเป็นกลุ่มแรงงานมีรายได้ไม่สูง มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ"

เธอเห็นว่า ความรู้การออมอย่างเดียวไม่พอ คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีวินัยการออม จึงต้องเริ่มตั้งแต่รากของปัญหา 

"คนเป็นหนี้ที่หลุดออกมาไม่ได้ บางคนให้เพื่อนยืมเงินแล้วทิ้งหนี้ไว้ แต่ก็ให้ยืมอีก ไม่รู้ว่าความเชื่ออะไรที่ทำให้ต้องเป็นเดอะแบก เราพยายามแก้ความเชื่อของพนักงานด้วยการทำเวิร์คชอป

เราไม่ได้มีพนักงานเยอะ แค่ 30-40 คนที่เป็นหนี้มีทั้งเอาบัตรเครดิตให้เพื่อนยืม เซ็นบัตรเครดิตทีเดียว 5 ใบเป็นหนี้เกือบล้าน ก็ให้ความรู้การเงิน ให้ตั้งเป้าเก็บเงินหลักแสนภายในหนึ่งปี คนมีหนี้ก็ทยอยจ่าย หาแหล่งเงินกู้ฉุกเฉิน สร้างแรงจูงใจการออม"

  • เปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการออม

มีสถิติชี้ชัดว่า คนไทยจำนวนมากแก่แล้วไม่มีเงินออมเพียงพอกับการยังชีพระดับพื้นฐาน เรื่องนี้ทีมวิจัย ตั้งโจทย์ว่า ถ้าจะแก่ดี มีออม ต้องเก็บเงินแบบไหนให้มีใช้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

วราวิชญ์ โปตระนันทน์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ให้ภาพรวมไว้ว่า มีหลายเหตุผลที่ทำให้ไม่มีเงินออม โดยเฉพาะเรื่อง...

  • รายได้ไม่พอกับการใช้จ่าย
  • การเข้าไม่ถึงช่องทางการออม
  • การขาดทักษะและความรู้เรื่องการเงิน 

แก่ก่อนออม ไม่มีเงินก่อนตาย : มาตรการออมแบบไหน...ช่วยได้

ปัจจัยเหล่านี้ แม้ไม่มีผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งความรู้ ช่องทางการออม แต่พบว่า ปัจจัยเรื่องอคติเชิงพฤติกรรมมีผลต่อพวกเขา โดยทีมวิจัยสรุปว่า

  • อคติโลกแคบ มองผลลัพธ์จากการกระทำระยะสั้น
  • อคติขอใช้จ่ายเพื่อความสุขในวันนี้มากกว่าออมในวันหน้า
  • อคติที่ทำให้ละเลยอัตราทบต้น ออมน้อย กู้เยอะ ละเลยดอกเบี้ยทบต้นที่สามารถทำให้ผลประโยชน์ในตอนท้ายสูง แต่ต้องออมอย่างต่อเนื่อง
  • อคติในปัจจุบัน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปสู่การออมและการลงทุนที่ไม่คุ้นเคย แม้จะได้ผลตอบแทนมากกว่า

ส่วนมาตรการสุดท้ายที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้จ่าย มีดังนี้ 

  • 1. ต้องให้ข้อมูลด้วยข้อความและรูปภาพที่เข้าใจง่ายให้เห็นความสำคัญของการออม และเห็นพลังของอัตราดอกเบี้ยทบต้นจาการออมต่อเนื่องระยะยาว
  • 2 .ตั้งอัตราการออมเริ่มต้น กำหนดให้เพียงพอค่าใช้จ่ายตอนเกษียณ โดยมีวินัยการออมที่ดี 
  • 3. การออมกึ่งบังคับ กำหนดอัตราการออมในระบบ เพื่อทำให้คนเก็บออมเผชิญกับความยุ่งยากในการออกจากโครงการ มาตรการนี้จะแก้อคติโลกแคบสำหรับคนไม่คิดถึงการออมระยะยาว 
  • 4.การออมผ่านการใช้จ่าย คือ หักเงินมาออมทุกครั้งที่ใช้จ่าย อาทิ ใช้จ่ายซื้อสินค้า 95 บาท แต่หักเงิน 100 บาท เศษ 5 บาทโอนเข้าบัญชีออม ซึ่งธนาคารบางแห่งในไทยเริ่มใช้มาตรการนี้ และพบว่าได้ผลโดยเฉพาะกลุ่มอายุไม่มาก