รวมพลังจัดเวที 'ประชาชนสู้โลกเดือด' สร้างภูมิคุ้มกันและลดภาวะโลกร้อน
โลกร้อน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่แค่เรื่องของ "คาร์บอนไดออกไซด์" แต่โยงกับความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมที่แฝงซ่อนอยู่ นำมาสู่การรวมพลังจัดเวที "ประชาชนสู้โลกเดือด" เพื่อถกประเด็นหาแนวทางแก้วิกฤติภาวะโลกร้อนในทุกมิติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และภาคีสนับสนุนอีกว่า 22 องค์กร ร่วมจัดเวที "ประชาชนสู้โลกเดือด" หรือ COP ภาคประชาชน เพื่อนำเสนอเสียงของประชาชนด้านต่างๆ ในการเผชิญภาวะโลกเดือด บทเรียนการจัดการของชุมชนและประชาชนในการปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกันและ ลดภาวะโลกร้อน รวมถึงการฟื้นฟูปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเสนอนโยบายต่อสหประชาชาติและรัฐบาลไทยปรับทิศทางนโยบายให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรมขึ้น เพื่อไม่ให้เรื่องของ "คาร์บอน" และโลกร้อนเป็นนโยบายเพื่อการส่งเสริมแต่มิติภาคเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากโลกร้อนยังเกี่ยวโยงกับเรื่องความไม่เป็นธรรมความเหลื่อมล้ำทางด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
รู้จัก COP
สำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดให้มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประจำทุกปี โดยมีผู้แทนจากรัฐภาคีทั่วโลก ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งไทยในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ ได้เข้าร่วมประชุมอย่างเคร่งครัดมาตลอดทุกปี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม 2566 ณ Expo City เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
COP เกิดจากคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ที่เป็นการรวมตัวกันของเหล่านักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ตั้งแต่ปี 2531 ได้เตือนว่าโลกจะเผชิญวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรง สาเหตุจากการทำลายระบบนิเวศ การเผาผลาญพลังงานด้วย เชื้อเพลิงฟอสซิล การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากกว่าที่ธรรมชาติจะรับไหว แม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2535 และประชุมภาคีประเทศสมาชิก หรือ COP มาต่อเนื่อง แต่โลกยังร้อนขึ้นจนเข้าสู่ภาวะโลกเดือด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงปัญหา โลกร้อน ส่งผลกระทบต่อเนื่อง มีผลกระทบต่อชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ความเสี่ยงต่อความผันผวนทางอากาศ เราเสี่ยงเผชิญมาสิบปียี่สิบปี มีความร่วมมือทางนานาชาติมากมาย และล่าสุดที่จะมีประชุม COP ซึ่งสะท้อนได้ว่าเราต้องการความร่วมมืออีกพอสมควร หรือใช้เทคโนโลยี แต่การสู้กับธรรมชาติไม่ง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือหลายส่วน ได้มีความพยายาม ลดก๊าซเรือนกระจก โดยภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนแม้จะมีแรงกดดันทางเศรษฐกิจ แต่ภาคประชาสังคมควรมีส่วนร่วมสะท้อนปัญหา และแก้ปัญหาให้เกิดขึ้นจริง และรัฐจะต้องสร้างนโยบายการพัฒนาที่มีส่วนร่วมหลายภาคส่วน โดยเฉพาะคนในระดับชุมชน ท้องถิ่น คนเปราะบาง คนจนเมือง เกษตรกรรายย่อย กลุ่มชาติพันธุ์ไปจนถึงเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งล้วนเป็นพลังที่ออกมาต่อสู้ร่วมกันในเรื่องนี้
"สสส. มีนโยบายสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะ และมีส่วนการขับเคลื่อนเรื่องลดโลกร้อน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สสส. ให้ความสำคัญต่อเนื่อง และทำงานร่วมกันกับภาครัฐ ภาคสังคมและเอกชน โดยทางสสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งเสริมขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะสังคมอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้ยุทธศาสตร์ไตรพลัง 1) พลังปัญญา 2) พลังสังคม และ 3) พลังนโยบาย เริ่มที่การสร้างความเข้มแข็งคนฐานรากจัดการทรัพยากรร่วม สร้างนวัตกรรมต้นแบบ และพัฒนาขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งจะสามารถสร้างจุดเปลี่ยนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ทำไมต้องมี COP ประชาชน ?
ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ผู้ประสานหลักงาน COP28 ภาคประชาชน กล่าวว่า ปัญหา โลกร้อน ไม่ได้ห่างไกลจากเรื่องปัญหาสังคมเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งอื่น ล้วนแต่มีรากร่วมกัน หากในเวทีต่างๆ พยายามพูดถึงการหาทางออกในเรื่องนี้ แต่โดยส่วนมากมักจะวนเวียนอยู่กับบทบาทของหน่วยงานราชการ และเพื่อตอบโจทย์ในแง่เศรษฐกิจที่ว่าจะไปรอดอย่างไรใน ภาวะโลกร้อน ทำให้บทสรุปออกมาเป็นการขับเคลื่อน "สังคมคาร์บอนต่ำ" แต่ในมุมของประชาชน สิ่งที่หายไปคือ ความสำคัญของการปกป้องระบบนิเวศ ความหลากหลายชีวภาพ รวมถึงชีวิตผู้คนที่ต้องรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศหรือโลกร้อน
มายา "คาร์บอนเครดิต"
แลรี่ ลอห์มาน นักวิชาการ The Cornerhouse UK กล่าวบรรยายในหัวข้อ Carbon Capitalism กับกับดัก และวังวนที่ซ้ำเติมภาวะโลกเดือด ว่า ความต้องการใช้ เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่โลกร้อนยังคงเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประชาชนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเผาและใช้เชื้อเพลิงเพื่อภาคอุตสาหกรรมระดับโลก ที่เป็นสาเหตุของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ปัจจุบันโลกเริ่มรู้ว่าการปลูกต้นไม้ไม่สามารถชดเชยคาร์บอน เพราะเป็นคาร์บอนคนละประเภทกัน อีกทั้งยังหากวิเคราะห์ข้อตกลงเกี่ยวเรื่องคาร์บอนเครดิตที่ผ่านมา พบว่าข้อตกลงเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลต่อการลดหรือเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะวิธีเดียวที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้คือการหยุดใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ในทางกลับกันทางตลาดคาร์บอนเครดิตกำลังสร้างความเสียหายให้กับประชาชน ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ได้รับผลกระทบ และกำลังพยายามแก้ปัญหาโลกร้อน เช่น ชาวปอนก้าในรัฐโอคลาโฮมาที่ต่อสู้กับคาร์บอนมานับร้อยปี เนื่องจากได้สร้างมลพิษสิ่งแวดล้อมให้กับเมือง มีการขุดน้ำมันในอดีต และอีกหลายชุมชนทั่วโลกที่พยายามหาทางเลือกในการปรับเปลี่ยน พัฒนาเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังได้รับผลกระทบการแทรกแซงจากองค์กรภาคอุตสาหกรรมชั้นนำ
คนตัวเล็ก ทำไม "กระทบ" มากที่สุด
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ (ประเทศไทย) กล่าวถึงวลีที่ว่า No Climate Justice Without Human Right หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพภูมิอากาศโดยปราศจากสิทธิมนุษยชน สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงสิทธิการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็คือเรื่องสิทธิมนุษยชน การมองแต่เพียงมูลค่าทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถแก้ปัญหาลดโลกร้อนได้ โดยในแง่สิทธิมนุษยชนความไม่ยุติธรรมคือ คนที่ปล่อยก๊าซน้อยที่สุด กำลังกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะคนที่เปราะบางในสังคม ชนกลุ่มน้อย คนจน หรือเด็กเยาวชนล้วนต้องรับผลกระทบทั้งนั้น
"ดังนั้น เห็นควรว่าในการประชุมหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันในระดับที่แตกต่างกัน การหารือผ่านเวที Paris Agreement มีการพูดถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในระดับที่ต่างกัน ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่ร่ำรวยควรมีความรับผิดชอบมากกว่าเพราะเป็นผู้ใช้ทรัพยากรสร้างความร่ำรวยให้กับประเทศ และได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแลกเปลี่ยนกับการสร้างเศรษฐกิจตนเอง"
ลดโลกร้อนแบบทุนนิยม
ธารา กล่าวถึงความท้าทายระดับโลกในเวลานี้ว่า ถ้าเราไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัญหาก็จะไม่ลดลง แต่ปัญหาคือพูดถึงการปล่อยถ่านหินเท่านั้น ในเวที COP ที่ผ่านมา ซึ่งในการเจรจาไม่มีข้อสรุปทางการการเมือง ว่าจะหยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเมื่อไหร่เสียที ความน่ากังวลอีกอย่างคือเราถูกเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องนี้ มาโดยตลอด
"ส่วนหนึ่งเพราะผู้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมหรือผู้สนับสนุน มักเป็นประเทศหรือองค์กรผู้ผลิตน้ำมัน หรือมีประโยชน์ในเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้มีความพยายามนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาหลายแบบ ส่วนการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำก็ยังถูกต้องข้อสงสัยว่าเป็นเขื่อนที่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ รวมถึงการขุดแร่ เพื่อเป็นส่วนประกอบผลิตแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสำหรับ รถไฟฟ้า ในอนาคตอาจกลายเป็นการทำเหมืองแร่เพิ่มขึ้นและนำไปสู่ปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ ที่สำคัญคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุดคือภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเล็กๆ เหล่านี้กลับไม่มีส่วนร่วมในการเข้าร่วมการประชุม COP โอกาสอย่างมากคือการเข้าไปแค่สังเกตการณ์"
ว่าด้วยเรื่อง Loss and Damage
อีกประเด็นที่ควรจับตาคือ กองทุนการสูญเสียและความเสียหายจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีการเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยหรือพัฒนา ให้การสนับสนุนด้านการเงินในการนำไปขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนให้กับประเทศยากจน เนื่องจากเป็นผู้ทรัพยากรของโลกจำนวนมากและปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา ซึ่ง "ธารา" เรียกร้องว่าประเทศผู้พัฒนาแล้ว ควรเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศเล็กหรือด้อยพัฒนาที่ได้รับผลกระทบที่มิใช่การให้กู้ยืม แต่เป็นการให้เปล่า เนื่องจากหลายประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อปรับปรุงตามมาตรการการแก้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศเหล่านี้
วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการ Climate Watch Thailand เสริมว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำยมสายเก่าและคลองน้ำไหล เพื่อปรับปรุง 23 ลำคลองในลุ่มน้ำยมน่าน และโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ มองว่ายังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนให้กลุ่มทุนยังเป็นผู้ขายเทคโนโลยีต่างๆ ที่เชื่อว่าเป็นการช่วยลดโลกร้อนแก่ชาวนา เพื่อใช้ในการผลิตข้าวที่เชื่อว่าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการเกษตรกรชาวนา 21 จังหวัด ทั่วไทยต้องขอเงินกู้เพื่อใช้เทคโนโลยีนี้
สัญญาไม่เป็นสัญญา
ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระที่ปรึกษาสภาคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการและผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามข้อตกลงปารีส ที่ในความเป็นจริง ปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซมากกว่าเดิม 1.5 ขณะที่ประธานเจ้าภาพจัดการประชุม COP เองคือซีอีโอบริษัทน้ำมัน ADNOC ที่ไม่เคยยืนยันว่าจะหยุดเลิกผลิตน้ำมัน หากกลับมีข่าวว่ากำลังขยายการลงทุนปิโตรเลียม 150,000 ล้านเหรียญ จึงไม่แปลกหากคนที่เข้าประชุมมากที่สุดคือประเทศน้ำมัน เพราะที่ประชุม COP เต็มไปด้วยล็อบบี้ยิสต์ ความตื่นรู้ภาคประชาชน จะเป็นพลังสำคัญที่สร้างความเท่าทันในสิทธิของการมีส่วนร่วม และเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่สร้างโลกให้ลด "ความเดือด" ได้จริงอย่างยั่งยืน