มาริษา เจียรวนนท์ Bangkok Kunsthalle พันธกิจเพื่อศิลปะร่วมสมัยศิลปินไทย
มาริษา เจียรวนนท์ ชุบชีวิตอาคารเก่าเกี่ยวเนื่องประวัติศาสตร์การศึกษาไทยย่านเยาวราช สู่พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแห่งใหม่ในนาม Bangkok Kunsthalle ร่วมผลักดัน 'ไทย' สู่ศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยใน Southeast Asia
Key Points:
- มาริษา เจียรวนนท์ เกิดที่ประเทศเกาหลีใต้ และได้รับสัญชาติไทยในเวลาต่อมา เป็นนักสะสมผลงานศิลปะผู้มีใจรักในการอุปถัมภ์และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยออกสู่โลกกว้าง รักงานศิลปะตั้งแต่เยาว์วัยจวบจนปัจจุบัน
- ปี 2565 มาริษาเป็น นักสะสมผลงานศิลปะคนแรก ที่ได้รับรางวัล RINASCIMENTO+ จากประเทศอิตาลี
- พ.ศ.2567 ตัดสินใจเปิด Bangkok Kunsthalle (บางกอก คุนสตาเล่อ) พื้นที่แสดงงานศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เป้าหมายผลักดัน 'ไทย' สู่ศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มาริษา เจียรวนนท์ กับบรรยากาศภายใน Bangkok Kunsthalle
สร้างความฮือฮาตั้งแต่ต้นปี 2567 เมื่อมีข่าว มาริษา เจียรวนนท์ สุภาพสตรีสะใภ้ตระกูลอภิมหาเศรษฐีไทยรวยติดอันดับโลก ลงทุนเปิดสถานที่แสดงงานศิลปะ หรือ ‘แกลลอรี’ เป็นของตนเอง ตั้งชื่อว่า Bangkok Kunsthalle (บางกอก คุนสตาเล่อ) จัดงานเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567 มีบุคคลในวงการศิลปะ นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ นักเขียน นักวิชาการ นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ มาร่วมงานคับคั่ง
“เราเป็นคนที่รักศิลปะตั้งแต่อายุน้อย ถ้ามีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องไปดูงานศิลปะ เดินดูพิพิธภัณฑ์ แกลลอรี งานศิลปะร่วมสมัยมีคุณค่ามาก แต่ไม่มีใครพูดถึงศิลปินร่วมสมัยที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เราเป็นนักสะสมงานศิลปะ ตอนนี้อายุมากแล้ว ถ้าเราจะมีโอกาส ก็อยากจะสร้างพื้นที่ให้ศิลปินไทย ศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แสดงงานศิลปะ และศิลปินตะวันตกที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน” มาริษา เจียรวนนท์ ซึ่งปีนี้จะอายุครบ 60 ปี ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ถึงการตัดสินใจซื้ออาคารเก่าแก่ขนาดใหญ่ย่านเยาวราชเพื่อเปิดเป็นแกลลอรีแสดงงานศิลปะ
ธนินท์ เจียรวนนท์ ร่วมให้กำลังใจกับภารกิจใหม่ของลูกสะใภ้
มาริษา เจียรวนนท์, มิเชล โอแดร์, ธนินท์ เจียรวนนท์
มาริษา เจียรวนนท์ เป็นสุภาพสตรีชาวเกาหลีใต้ (ชื่อเกาหลี Kang Soo-hyeong) เกิดที่เกาหลีใต้ เมื่ออายุ 18 ปีได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาต่อปริญญาตรีด้าน Finance and International Business ที่ New York University และพบรักกับ สุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายคนโตของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ และคุณหญิงเทวี
ทำงานได้ 6 เดือนหลังสำเร็จการศึกษา ทั้งสองก็แต่งงานกัน มาริษาเริ่มต้นหน้าที่และความรับผิดชอบใหม่ของการเป็นภริยานักธุรกิจชาวไทยทายาทกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย ติดตามสามีและเจ้าสัวกับคุณหญิงเดินทางไปติดต่อดูงานต่างประเทศ พบผู้นำทางความคิดและนักธุรกิจชั้นนำระดับโลก เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งด้านธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์
หลังมีบุตรชายคนแรก ด้วยความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัวและสุขภาพบุตรชาย มีการย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางหนึ่งของศิลปะร่วมสมัยของเอเชีย ทำให้ความสนใจด้านศิลปะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา, มาริษา เจียรวนนท์, มิเชล โอแดร์
ระหว่างพำนักที่ฮ่องกง มาริษามีโอกาสเปิดแกลลอรีเป็นของตนเอง ความตั้งใจหลักคือการสนับสนุนศิลปินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีพื้นที่แสดงผลงาน ในพื้นที่ที่เอื้อให้งานศิลปะร่วมสมัยงอกงาม
หลังจากมีบุตรคนที่สอง มาริษาจำเป็นต้องยุติการดำเนินงานแกลลอรีเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับลูกๆ และสามี ต่อมาเธอให้กำเนิดบุตรอีก 2 คน จากวันนั้นถึงวันนี้ชีวิตของมาริษาเป็นคุณแม่ของลูกสี่คน เป็นภรรยา เป็นลูกสะใภ้ มีบทบาทที่ต้องให้เวลากับครอบครัวและวงศ์ตระกูล แต่ก็ไม่เคยละทิ้งจิตวิญญาณความชื่นชอบในศิลปะ
มาริษา เจียรวนนท์, Bangkok Kunsthalle (มกราคม 12, 2024)
ในขณะที่ยังไม่สามารถทำอะไรเกี่ยวกับศิลปะที่เป็นโครงการของตนเองได้เต็มที่ ก็มีพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในโลก เช่น Tate Modern ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, M+ Museum (พิพิธภัณฑ์เอ็มพลัส) ที่ฮ่องกง, New Museum ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เชิญมาริษาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อช่วยสรรหาผลงานศิลปะร่วมสมัยจากภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิกเข้าไปแสดงงานในพิพิธภัณฑ์ระดับโลกในโลกตะวันตก เป็นสิ่งที่มาริษาผลักดันในเบื้องหลังเกี่ยวกับ ศิลปะ มาเป็นเวลา 7-8 ปี
มาริษาเป็นนักสะสมงานศิลปะที่มีความคิดเฉียบคม “การสะสมงานศิลปะ บางครั้งเป็นระบบที่เรียกว่าอุปถัมภ์ แต่การอุปถัมภ์ของเรายังคือการต่อยอดในเชิงความคิดระหว่างผู้สนับสนุนหรือผู้อุปถัมภ์กับตัวศิลปินเอง ช่วยกันต่อยอดความคิด ช่วยทำให้ความคิดที่ต่อยอดร่วมกันเกิดแหล่งเงินทุนสำหรับศิลปิน”
ล่าสุดในปี 2565 มาริษาเป็นนักสะสมผลงานศิลปะชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับ Rinascimento+ Award รางวัลที่มีพิธีการมอบ 2 ปี/ครั้งที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี มอบให้บุคคลซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการสนับสนุนทำให้ศิลปะร่วมสมัยต่อยอดได้
Bangkok Kunsthalle เดิมคืออาคารไทยวัฒนาพานิช
ปัจจุบัน หลังย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย ผ่านพ้นช่วงโควิด ลูกๆ เติบโตกันอย่างงดงาม มาริษา เจียรวนนท์ ในวัยที่กำลังจะอายุ 60 ปีในปีนี้ มีโอกาสได้ทำความฝันของตนเอง นั่นก็คือการเปิด บางกอก คุนสตาเล่อ (Bangkok Kunsthalle) พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ด้วยพันธกิจที่จะผลักดันให้ ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บางกอก คุนสตาเล่อ ตั้งอยู่ในอาคารเก่าขนาดใหญ่อายุ 86 ปี บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ภายในย่านเยาวราช ของกรุงเทพฯ อาคารหลังนี้คือที่ตั้งของ ‘บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด’
ไทยวัฒนาพานิช คืออาณาจักรผู้พิมพ์แบบเรียนให้เด็กไทยทุกระดับชั้นตั้งแต่สมัย ‘สยาม’ ยังมีหน่วยงานชื่อ ‘กรมโฆษณาการ’ พิมพ์ตำราคู่ใจเด็กไทย อาทิ ปทานุกรมฉบับนักเรียน, ดิกชันนารี สอ เสถบุตร, ให้กำเนิดนิตยสารในตำนาน อาทิ ชัยพฤกษ์ ชัยพฤกษ์การ์ตูน
ช่วงพิธีกล่าวเปิด Bangkok Kunsthalle (บางกอก คุนสตาเล่อ)
“คุนสตาเล่อ เป็นภาษาเยอรมัน หมายถึง room for art ต่างจากมิวเซียมที่มีของเก็บสะสมและมีคอลเลคชั่นถาวร ต่างจากแกลลอรีที่เปิดมาเพื่อจัดแสดงและขายงานศิลปะ” มาริษา เริ่มตอบข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดจึงเลือกใช้คำว่า ‘คุนสตาเล่อ’ แทนคำว่า ‘แกลลอรี’ ที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย และอธิบายเพิ่มเติมว่า
“คุนสตาเล่อส่วนมากไม่มีคอลเลคชั่นถาวร แนวคิดคือเป็นห้องเปล่าๆ ไว้แสดงงานศิลปะ เป็นที่ที่เปิดกว้างให้ใครก็ได้นำงานมาแสดงแล้ววนออกไป แนวคิดนี้เกิดขึ้นในเยอรมนี ออสเตรีย สวีเดน ค่อนข้างมาก
แต่ในยุโรปตะวันตกที่มาทางฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ยังไม่ค่อยมี เพราะในประเทศเหล่านี้มีพื้นฐานศิลปะมาช้านาน ศิลปะของเขาเป็นของสูง
แต่ฝั่งเยอรมนี ออสเตรีย สวีเดน เขาจะมีโครงการศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเปิดกว้างให้เป็นพื้นที่ที่มีอิสรภาพ เสรีภาพ คนเข้ามาจัดแสดงให้มุมมองใหม่ๆ
เรานำคอนเซปต์นี้มาจัดในกรุงเทพฯ อยากให้บางกอกคุนสตาเล่อเป็นศูนย์กลาง เข้าถึงได้ง่าย ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะมา เพื่อสร้างเวทีใหม่ให้กับวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย”
มาริษา เจียรวนนท์ กับ Mark Bradford ศิลปินชาวอเมริกันซึ่งกล่าวชื่นชมพื้นที่
คอนเซปต์ของ ‘คุนสตาเล่อ’ ยังสอดรับกับคุณค่าของอาคาร ไทยวัฒนาพานิช นอกจากเป็นอาคารค่อนข้างใหญ่ ยังมีประวัติศาสตร์ที่พูดถึงวงการ การศึกษาไทย เพราะเป็นสำนักพิมพ์เก่า ในเชิงสัญลักษณ์ทำให้มาริษา ‘ตกหลุมรัก’ อาคารหลังนี้ทันที
“แม้เป็นอาคารที่โดนทิ้งร้างไว้ 30 ปี ดูเหมือนหมดมูลค่าไป แต่ในความเป็นจริงเป็นที่ที่เราสามารถสร้างความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้จากสภาพและคาแรคเตอร์ของอาคาร จึงเลือกนำคอนเซปต์คุนสตาเล่อมาเติมเต็มกับพื้นที่ที่นี่”
‘คุนสตาเล่อ’ ยังเป็นคำที่ชาวต่างประเทศรู้จักแพร่หลาย เช่น คุนสตาเล่อมิวนิกในเยอรมนี คุนสตาเล่อเฮลซิงกิในฟินแลนด์ บัดนี้ บางกอก คุนสตาเล่อ จึงเปรียบเสมือน ‘กรุงเทพฯ ประเทศไทย’ ได้ป้กหมุดบนแผนที่ห้องแสดงงานศิลปะโลกด้วยแล้ว
นิทรรศการแรกของ Bangkok Kunsthalle
ที่ บางกอก คุนสตาเล่อ ตลอดทั้งปีจะมีการจัดกิจกรรมที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ ประกอบด้วย งานสนทนากับศิลปิน งานเสวนา เวิร์คช็อป การจัดฉายภาพยนตร์ และกิจกรรมการอ่านหนังสือร่วมกัน เพื่อเป็นช่องทางในการพูดคุย ตีความผลงานและวิธีการทำงานของศิลปิน รวมถึงสร้างบทสนทนาทางศิลปวัฒนธรรมที่แต่ละคนมีร่วมกันในรูปแบบต่างๆ
ไม่ใช่ศิลปะอย่างเดียว แต่รวมถึงวัฒนธรรมต่างๆ รวมอยู่ในพื้นที่นี้ทั้งหมด กระทั่งสถาปัตยกรรมของอาคารก็เป็นเสน่ห์ทางศิลปะที่มีเอกลักษณ์
หมายเหตุ :
- Nine Plus Five Works ของ มิเชล โอแดร์ (Michel Auder) นิทรรศการครั้งแรกของ Bangkok Kunsthalle (บางกอก คุนสตาเล่อ) จัดแสดงระหว่างวันที่ 12 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2567
- บางกอก คุนสตาเล่อ เลขที่ 599 ถนนไมตรีจิตต์ แขวงป้อมปราบ กรุงเทพฯ เปิดตั้งแต่เวลา 12.00 - 20.00 น.
ภาพ : กอบภัค พรหมเรขา