‘ซอฟต์เพาเวอร์ไทย’ ในงานศิลปะ ต้องเริ่มจากสิ่งนี้...
การเสวนาพูดคุย ท่ามกลางบรรยากาศสบาย ๆ เกี่ยวกับ ‘ซอฟต์เพาเวอร์ไทย’ จากผู้ทำงานศิลปะและภาพยนตร์ส่งออกไปยังต่างประเทศตัวจริง
เทศกาลรวมพลคนศิลปะกรุงเทพฯ หรือ Colorful Bangkok Expo 2024 เป็นไฮไลต์สุดท้ายของ Colorful Bangkok 2023 ที่รวบรวมศิลปะหลายแขนง โดยกรุงเทพมหานคร เปิดลานคนเมืองเป็นพื้นที่สร้างสรรค์
จัดเต็มทั้งการแสดง หนังกลางแปลง คอนเสิร์ต การเสวนา การออกบูทของศิลปินและนักสร้างสรรค์ และ Mapping ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
วันที่ 19 มกราคม 2567 ความน่าสนใจอยู่ที่การพูดคุยของคนเบื้องหลังในวงการศิลปะระดับประเทศ ในงานเสวนาที่ชื่อว่า Talk ซอฟต์เพาเวอร์ไทย เอายังไงดี
โดย บรรจง ปิสัญธนะกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ชัตเตอร์ฯ พี่มากฯ ร่างทรง, ณภัทร พรหมพฤกษ์ ผู้ผลิต CE Toy แพลตฟอร์มทอยระดับโลก, วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการ happening หนึ่งในผู้จัด Bangkok Illustration Fair
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ภาครัฐต้องสร้างระบบมาช่วยเหลือ
บรรจง ปิสัญธนะกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีนโยบายชัดเจนและทำกันจริงจังมาก
"ภาครัฐไทยพูดกันแต่เรื่องนโยบาย มันยังไม่เกิดขึ้นสักที ผมว่าถ้ามาต่อยอดสิ่งที่ทำไปแล้ว มันก็ง่ายมากเลยนะ
มีคนว่ารัฐบาลชอบเกาะกระแส แต่ผมอยากบอกว่าช่วยมาเกาะหนังไทยหน่อย เช่น ตอนที่ ร่างทรง ดังแล้ว มีงานเปิดตัวที่เกาหลี มีคนทำคลิปตามรอย แต่ไม่เห็นมีใครมาเกาะเลย ทั้งที่หนังมันมาแล้ว หรือซีรีส์วายที่โด่งดังทำให้เครื่องดื่มนมชมพูขายดีมาก
Cr. Kanok Shokjaratkul
ไทยไม่มีรากฐานมั่นคง ผมทำเรื่อง ร่างทรง ได้เรียนรู้จากเกาหลีเยอะมาก คนดูหนังบ้านเขาไม่มีใครดูเรื่องที่ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะกฎหมายเข้มงวดมาก ภาครัฐต้องควบคุม พอทำงานสร้างสรรค์ขึ้นมา เราก็จะได้ประโยชน์
ช่วงโควิดทำให้โรงหนังทุกประเทศล่มเกือบหมด แต่ว่าประเทศที่ยังสำเร็จและเกิดได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความอยากสนับสนุนงานคนในชาติ และความรู้สึกภาคภูมิใจ แล้วช่วยกันผลักดันงานของประเทศตัวเอง
ช่วงนั้น โรงหนังปิด เราทำหนังเรื่องร่างทรงเสร็จ ก็คิดกันว่าจะขายลงสตรีมมิ่งไหม หรือจะรอโรงหนังเปิดดี สุดท้ายเราแบ่งเป็นตอน ๆ ลงสตรีมมิ่ง ก็มีคนดูจากสตรีมมิ่งเยอะมาก
Cr. Kanok Shokjaratkul
ถ้ารัฐบาลดูแลเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ แล้วทำเลยก็เกิดเลย สามารถต่อยอดไปได้เยอะแยะมาก
ตอนนี้ศิลปินที่ทำงาน ส่วนใหญ่ออกเงินไปก่อน เรื่อง ร่างทรง เราไม่ได้ทุนจากรัฐ แต่ได้จากสตูดิโอเกาหลีอยากให้ผมกำกับ ผมก็อยากให้ GDH มีส่วนร่วมด้วย เลยร่วมทุนกัน
เรื่องมาจากเขา เขาอยากเห็นเรื่องนี้ในแบ็คกราวนด์ที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ตอนแรกเขียนเป็นเรื่องร่างทรงเกาหลี แต่เขามีความรู้สึกว่าถ้าเกิดในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
Cr. Kanok Shokjaratkul
ในแง่การตลาด เรื่องแฝดกับเรื่องชัตเตอร์ฯ เกาหลีค่อนข้างรู้จักเยอะ เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ เรื่องร่างทรงเราตั้งชื่อทับไปเลย ของเกาหลีก็ใช้คำว่าร่างทรง แต่ใช้ตัว Z เกาหลีอ่านเป็น ร่างจง
การทำงานของภาครัฐไทย มาแล้วก็หาย มาแล้วก็หาย สิ่งที่เราไม่มีคือ ความหวัง ไม่เหมือนเกาหลีที่ต่อเนื่องสุด ๆ
วงการหนังไทยไม่มีสิ่งนี้ ถ้าเรายังชอบมันอยู่ คนเสพต้องช่วยกันเป็นหน้าม้า พลังมันช่วยได้จริง ๆ นะครับ ทุกวันนี้มันขาดแคลนมาก คนทำงานทำอะไรไม่ได้นอกจากพิสูจน์ด้วยงาน แต่ว่าเสียงของคนที่สนับสนุน ถ้าคุณชอบมันจริง ๆ ก็พูดมันออกมา"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ภาครัฐช่วยได้ถ้าลงมือทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง
วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการ happening กล่าวว่า มีคนพูดเรื่องซอฟต์เพาเวอร์เกาหลีเยอะแล้ว ขอพูดถึงประเทศอื่นบ้าง
"ที่ไต้หวัน ภาครัฐช่วยเยอะมาก จัดให้มีสถานที่ Creative Park เกิดขึ้นมากมาย โกดังเก่า ๆ โรงงานเก่า ๆ เอามาจัดงานให้คนมาเที่ยวชม มีดนตรี มีศิลปะ
แต่ละครั้งก็จัดเต็มมาก จัดกันทั้งเมือง ทำให้มีบรรยากาศของการสร้างสรรค์ องค์กรศิลปะต่าง ๆ ก็มาร่วมงานมาแสดงตัว แล้วบอกว่าทำอะไรบ้าง
Cr. Kanok Shokjaratkul
ที่ญี่ปุ่น ก็มีพื้นที่แสดงงานศิลปะเยอะมาก ๆ แล้วมีหลาย ๆ องค์กรเอาศิลปะมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ในเมืองไทยมีศิลปินเก่ง ๆ เยอะมาก บางคนโกอินเตอร์จนโด่งดัง แต่ขาดการสนับสนุน
สิ่งที่ภาครัฐต้องทำ คือ เป็นเจ้าภาพที่ดี สร้างระบบที่ส่งเสริม โดยปราศจากเรื่องของการเมืองหรือการหาเสียง ทำให้เป็นโครงสร้างที่ยั่งยืน
Cr. Kanok Shokjaratkul
แต่การคาดหวังภาครัฐ 100 เปอร์เซนต์มันเยอะไป ภาคเอกชน ถ้าจับมือกันเป็นสมาคมเป็นกลุ่มก้อน มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน เวลาออกเสียงจะทำให้เรามีน้ำหนัก น่าจะยั่งยืนกว่าคาดหวังจากภาครัฐ
สิ่งที่เราควรทำ มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น อะไรที่เป็นกระแส มาแล้วต้องรีบเกาะ แต่เกาะแบบมีชั้นเชิง ส่วนระยะยาว เป็นเรื่องโครงสร้าง เช่น การสนับสนุนงานศิลปะ หรือซื้อหนังสือแล้วลดหย่อนภาษีอันนี้ก็ช่วยได้
อย่างการจัดงานคัลเลอร์ฟูลครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ดี คนที่มาเที่ยวงานถือป็นจุดเริ่มต้น ที่มีพื้นที่ศิลปะมาอยู่ที่ลานคนเมือง เป็นประวัติศาสตร์ที่เราจะก้าวไปด้วยกัน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ภาครัฐต้องปรับระบบการทำงานให้ได้ผลจริงจัง รวดเร็ว
ณภัทร พรหมพฤกษ์ ผู้ผลิต CE Toy แพลตฟอร์มทอยระดับโลก กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการรวมพลังจัดระบบที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกัน ทำให้ไปได้เร็วมากยิ่งขึ้น
"ซอฟต์เพาเวอร์ คือ สิ่งที่เราอยากเผยแพร่ความเป็นไทย มันมีสองมุม หนึ่ง.คือสิ่งที่เราชอบทำ เราอยากทำสิ่งที่เราอยากทำ อยากส่งเสริมความเป็นไทยโน่นนี่นั่น
สอง.เราทำงานบริษัท เราจะคิดถึงสิ่งที่คนต้องการซื้อ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจะขาย นวดไทย มวยไทย เราต้องเอามาปรุงให้มันกลมกล่อม
การทำงานของเกาหลี เขาจะมีกระบวนการ เอาทีมงานทุกแผนกมาคุยกันตั้งแต่วันแรก ไม่ต่ำกว่า 60-70 รวมถึงแม่บ้านด้วย เช่น เพื่อนนางเอกเป็นนักเขียนการ์ตูน แล้วเอาไปล้อบนจอ
Cr. Kanok Shokjaratkul
แล้วเอาการ์ตูนที่ล้อนั่นแหละมาทำเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ มีการโฆษณาแฝงพวกอาหาร สถานที่ เยอะแยะมากมาย เช่น ติดต่อบริษัทคู่ค้าเป้าหมายไว้ก่อนแล้วว่าพอหนังออกฉาย จะมีโปรโมชั่นร่วม ซื้อสินค้าแล้วจะได้ของที่ระลึกจากหนัง แต่ประเทศไทยเพิ่งจะมาคิดมาทำเฉพาะช่วงหนังจะฉาย
ประเทศไทยมีจุดอ่อน 3 เรื่อง หนึ่ง. Creative IP ประเทศเราไม่มีสถาบันไหนสอนเลย ของไทย มีอาจารย์ท่านหนึ่งยื่นจดอนุสิทธิบัตร 3 ปีแล้วยังไม่ได้ อนุสิทธิบัตรมีอายุ 10 ปี แล้ว 3 ปีที่ผ่านมาก็ไม่สามารถเอาไปใช้ได้ เพราะอยู่ในกระบวนการไม่สามารถเผยแพร่ได้
ในไทย กระบวนการต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในสิ่งที่ควรจะเป็น ของญี่ปุ่นในระดับอุดมศึกษา ไม่มีสถาบันไหนสอน Creative IP มันไม่จำเป็น เพราะเขาสอนตั้งแต่เด็กประถม พอถึงอุดมศึกษา เขาเลยเน้นเป็นสเปเชียลลิสต์ ซึ่งพอจบไปทำงานในองค์กรต่าง ๆ ทุกคนจะเข้าใจทั้งเรื่องสายวิชาชีพเฉพาะและเรื่องพื้นฐานด้าน IP ไปพร้อม ๆ กัน ประกอบกับทุกหน่วยงานเให้ความสำคัญเรื่อง IP อยู่แล้วมันจึงไปได้ง่าย
สอง. ecosystem เราต้องหาวิธีทำระบบนิเวศให้เกิดประโยชน์มหาศาล เช่น โต้งเป็นผู้กำกับ มีหน้าที่กำกับ ก็กำกับให้ดี แล้วก็มีคนมาโปรโมท มาต่อยอดให้เป็นสินค้า มันต้องเป็นคนในคลัสเตอร์อื่น ๆ
Cr. Kanok Shokjaratkul
แต่บ้านเราไม่มีการเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราไม่รู้จักกันเลย มันกลายเป็นว่าเราทำงานหัวเดียวกระเทียมลีบ
แต่ของเกาหลีเขาสร้างเมืองใหม่เลย ย้ายพวกธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาอยู่รวมกันทั้งหมด จะได้ประสานงานง่าย
สาม. ความร่วมมือ ประเทศไทยไม่หันหน้าเข้าหากัน หน่วยงาน องค์กร การวัดผลงาน KPI ถ้าทำเรื่องเดียวกันแล้วทำไปพร้อม ๆ กัน มันจะเจ๋งมาก
แต่นี่เราก็ต่างคนต่างทำ ถ้าเราสามารถทำเรื่อง ecosystem ให้ชัด ทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน มาจับมือแล้วทำงานให้เป็นระบบ เช่น คุณจะทำอะไรมาคุยกันเลย เดี๋ยวผมช่วยทำโน่นนี่
Cr. Kanok Shokjaratkul
มันจะเหมือนเกาหลี สร้างงานครั้งเดียวแล้วเกิดประโยชน์มหาศาล นี่คือสิ่งที่ผมมองเห็น ถ้าเอาไปทำ จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากทีเดียว
ในปี 2010 สมาคมคาแรคเตอร์ท้องถิ่นของญี่ปุ่น เริ่มทำโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมา ปีเดียวนั้นผมได้เชิญ 14 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนในบ้านเรามาจับมือเป็นเครือข่ายฯ
แต่การทำงานระบบภาครัฐของไทย ไม่สามารถทำให้แต่ละงานออกมาได้อย่างที่เราคาดหวัง หนำซ้ำโปรเจ็กท์นั้นทำได้ปีกว่า ๆ พอรัฐบาลใหม่มา เขาก็โละสิ่งที่กำลังเข้าที่เข้าทางทิ้ง
ขณะที่ญี่ปุ่น ดำเนินงานเรื่อยมา ปี 2010 เขาเริ่มจัดงานกลางปี ทั้งประเทศญี่ปุ่นมีคาแรคเตอร์ท้องถิ่นมาร่วมงาน 34 ตัว
Cr. Kanok Shokjaratkul
เหตุผลของการมีคาแรคเตอร์ท้องถิ่น คือ ถ้าเอาคาแรคเตอร์ดัง ๆ มาใช้ ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เขา แต่ถ้าเป็นคาแรคเตอร์ท้องถิ่น คนที่เอาไปทำ ถ้าอยู่ในเมืองนั้น ๆ จะได้รับการยกเว้นค่าลิขสิทธิ์
ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นมีคาแรคเตอร์แปลกประหลาด ๆ ถึง 3,800 กว่าตัว สร้างรายได้เข้าประเทศปีหนึ่งเป็นแสนๆ ล้าน
ปี 2021 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA สนใจจะทำเรื่อง Creative IP ที่เกิดประโยชน์กับท้องถิ่น ทำให้เกิดเป็นโครงการ Chang : Visual Character Arts ทำให้เกิดคาแรกเตอร์ท้องถิ่นขึ้นหลายตัวแล้วในขณะนี้ อย่าง ปาปาทูทู่ ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ
ขณะนี้สิ่งที่ต้องทำไวที่สุด คือ ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร ควรเข้ามาให้ตรงประเด็น แล้วเอามาเผยแพร่ ส่วนคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็จัดให้มาทำงานร่วมกัน ถ้าเราทำถูกต้องเราจะไปได้ไกลกว่านี้"