การชิงเผาภาครัฐ ที่ระบบรัฐเองก็ยังไม่ยอมรับ
แนวทาง "ชิงเผา" เพื่อลดผลกระทบใหญ่จากไฟป่า รักษาโรคแมลงต้นไม้ จัดการสมดุลนิเวศป่าผลัดใบ ฯลฯ หน่วยงานภาครัฐใช้กันมานานแล้ว แต่ก็ยังมีความย้อนแย้งกับนโยบายหลักคือแนวทาง "ห้ามเผา"
ในทุกฤดูฝุ่นควันมักมีข้อวิวาทะว่าด้วยการ ‘ชิงเผา’ เสมอๆ เพราะการชิงเผาเท่ากับต้องใช้ไฟเผา และอย่างไรก็ต้องเกิดมลพิษตามมา มันเป็นข้อถกเถียงทั้งด้านวิชาการ และด้านการจัดการปัญหา เพราะอีกทางหนึ่งมองว่าการชิงเผาเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาให้มลพิษฝุ่นไฟน้อยลง แม้ตัวของมันเองก่อให้เกิดมลพิษอยู่บ้างก็ตาม
หน่วยงานของรัฐทั้งในกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ มีวิธีการจัดการเชื้อเพลิงในป่าด้วยวิธีชิงเผามานานแล้ว ศัพท์ทางการเรียกว่า “บริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่า” เพื่อประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ลดผลกระทบใหญ่จากไฟป่า รักษาโรคแมลงต้นไม้ จัดการสมดุลนิเวศป่าผลัดใบที่ควรจะมีไฟเข้าบ้าง ฯลฯ แต่เรื่องที่ว่ากลับไม่มีการรายงานผลออกสู่ภายนอก ทั้งๆ ที่ปฏิบัติอยู่เป็นปกติเป็นการภายใน
มันก็แปลกทีเดียว เพราะแม้จะมีอยู่จริงแต่กลับไม่ถูกเอ่ยถึงในรายงานแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันไฟของรัฐใดๆ เสมือนว่าไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น
สาเหตุก็เพราะแนวทางหลักในการแก้ปัญหาฝุ่นไฟป่าของรัฐคือแนวทางการห้ามเผา หรือ Zero Burning !!
- นโยบาย 'ห้ามเผา' เป็นมาตรการหลัก แต่ยังมีการชิงเผา?
ในหลายปีมานี้ แต่ละจังหวัดได้มีการประกาศห้ามเผาและห้ามเผาเด็ดขาด อันเป็นมาตรการหลัก แถมด้วยการนับจำนวนจุดความร้อนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม มาเป็นดัชนีให้คุณให้โทษเปรียบเทียบแข่งกัน
การชิงเผาในป่าของรัฐจึงกลายเป็นสิ่งที่ห้ามพูด ห้ามเปิดเผยออก เพราะขัดกับมาตรการห้ามเด็ดขาด แถมหน่วยราชการด้วยกันหน่วยอื่นยังรังเกียจ เพราะมันจะเพิ่มจุดความร้อน hotspot ให้กับจังหวัดเสียเปล่าๆ
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในหลายพื้นที่ก็คือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องรีบชิงเผาในป่าของรัฐก่อนประกาศห้ามเผาเด็ดขาดของจังหวัดนั้นๆ นัยว่า เพื่อป้องกันไม่ให้คนภายนอกลอบมาเผา หากไล่ดับไม่ได้ ผลเสียหายอาจจะมากกว่าการเผาเสียเอง แถมไม่เหนื่อยตามไล่ดับ
วิธีคิดที่ว่าทำให้ เกิดการเผาในป่าของรัฐจำนวนมากโดยมือของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมันก็นำมาสู่ระบบแปลกประหลาด หลอกกันเอง หลอกผู้รับรายงาน และหลอกสังคม !
เพราะไฟที่เกิดแม้จะเป็นการเผาของรัฐเอง กลับถูกรายงานเป็นจุดความร้อนต้องห้าม และไม่ถูกรายงานว่าเป็นไฟของรัฐ ถูกเรียกเหมารวมๆ ว่า “ไฟป่า” อันเป็นไฟต้องถูกกำจัดให้ได้
การดำเนินการเรื่องนี้ไม่มีมาตรฐานตายตัว บางจังหวัดการเผาของฝ่ายป่าไม้ ถูกปกปิด ไม่รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้บัญชาการใหญ่ตามกฎหมายให้อำนาจพิเศษระหว่างภัยพิบัติด้วยซ้ำไป
- จากระบบห้ามเผาเด็ดขาด ปรับสู่ระบบชิงเผาแบบเปิดเผย
ปกติการบริหารเชื้อเพลิงชิงเผาในป่าเป็นเรื่องราวลี้ลับต่อคนภายนอก ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมา ด้วยข้ออ้างว่า สังคมไม่ยอมรับ ! เกรงว่าจะถูกต่อต้านเพราะทำให้เกิดมลพิษ !
ความย้อนแย้งก็เกิดขึ้น เพราะในขณะที่หน่วยงานของรัฐไม่เปิดเผยปฏิบัติการออกสู่ภายนอก ก็ยังคงมีนโยบายภายในของหน่วยงานให้บริหารเชื้อเพลิงชิงเผา บางปีมีโควตากำหนดมาให้ว่าป่านั้นๆ จะชิงเผากี่ไร่
และด้วยเหตุที่มันเป็นปฏิบัติการลับไม่บอกกล่าวผู้ใด การทำงานของแต่ละผู้ปฏิบัติ แต่ละป่า จึงไม่มีมาตรฐานเดียวกัน บางหน่วยเคร่งครัดตามหลักวิชาการ มีการทำแนวกันไฟ ควบคุมดูแลจนจบ เลือกทำให้ขนาดขอบเขตที่ควบคุมได้ และเลือกพื้นที่จำเป็นจริงๆ
ขณะที่ยังมีบางหน่วย ใช้ไฟแบบเหวี่ยงแหเกิดไฟไหม้ลามต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืนนานหลายวัน กินพื้นที่มากมายหลายหมื่นไร่ และเกิดผลกระทบมลพิษฝุ่นควันต่อประชาชนใกล้เคียง สถิติการเผากลางคืนของไทยจึงมากกว่าเพื่อนบ้านเพราะต้องลักลอบทั้งไฟรัฐไฟราษฎร์
มันเป็นความย้อนแย้งที่น่าพิศวงเหลือเชื่อของระบบราชการไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา !!
การเผาของรัฐเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ในวิกฤติมลพิษฝุ่นควันของประเทศไทยมาหลายปี จนกระทั่งเริ่มมีความพยายามเปลี่ยนแปลงให้เกิดระบบการชิงเผาที่เปิดเผย มาแทนแนวทางการห้ามเผาเด็ดขาด
- 4 ปีที่ยังไม่คืบ ของแนวคิดใหม่: บริหารไฟแทนห้ามเผา
แนวคิดการบริหารจัดการไฟ Fire Management แทนที่แนวความคิดห้ามเผาเด็ดขาด Zero Burning เกิดขึ้นมาในช่วงที่มาตรการห้ามเผาเด็ดขาดแบบไม่ลดหย่อน ก่อความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ประโยชน์จากไฟและไม่มีทางออกอื่น เช่น การเผาเพื่อเตรียมแปลงเกษตรที่สูงไร่หมุนเวียนที่ต้องใช้ไฟเตรียมแปลงในช่วงที่มีการห้ามเผาพอดี เสียงเรียกร้องดังกล่าวทำให้เกิดมีแนวทางอะลุ่มอล่วย เปิดให้มีการใช้ไฟได้แต่ต้องขออนุญาตเสียก่อน
เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2564 ในสมัยนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีการใช้แอปพลิเคชัน FireD เป็นเครื่องมือขออนุญาตใช้ไฟ ทั้งของภาคเกษตรและภาคป่าของรัฐ การริเริ่มดังกล่าวในระยะแรกยังเป็นการทดลองใช้เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปีเดียวกันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมกับหลายหน่วยงานพัฒนาแอพพลิเคชั่น Burn Check ขึ้นมาใช้ลักษณะเดียวกัน
อย่างไรก็ตามในภาพรวมแล้ว ระบบบริหารเชื้อเพลิงชิงเผาและอนุญาตให้เผายังไม่ถูกใช้งานจริงจากหน่วยงานของรัฐ เพราะนโยบายหลักยังให้ยึดดัชนีจำนวนจุดความร้อนและให้ใช้ประกาศห้ามเผาเด็ดขาดเป็นแนวทางหลัก
แม้กระทั่งจังหวัดเชียงใหม่ที่ริเริ่มใช้เป็นจังหวัดแรก เมื่อเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดนโยบายก็เปลี่ยนไม่สนับสนุนให้ใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว ทำให้ยอดผู้ใช้ลดลง ไม่มีความใส่ใจในระบบการใช้งานจริง เช่น มีผู้กรอกลงทะเบียนเบียนเพื่อขออนุญาตเผา แต่เมื่อเผาเสร็จกลับไม่รายงานผลแจ้งในระบบ หรือระบบแนะนำให้เผาย่อยแปลงขนาดไม่ใหญ่ และไม่ควรเผาข้ามคืน แต่ในทางปฏิบัติไม่มีคนใส่ใจเงื่อนไขที่ว่านัก
ไม่เพียงเท่านั้น การชิงเผาของรัฐที่ได้รับอนุญาตไปบางรายไม่เข้มงวดในวิธีการ ลามข้ามคืน หรือกระทั่งเลือกแปลงที่อยากจะเผาเอาตามใจชอบ ไม่ได้เป็นแปลงที่มีเหตุจำเป็นต้องเผาจริงๆ เช่น มีเชื้อเพลิงอันตรายมากหากลุกลาม ทำให้การชิงเผายังไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากสังคมมากนัก
- ปี 2567 การชิงเผาภายใต้ KPI เดิม
ในปีพ.ศ. 2567 นี้ การบริหารเชื้อเพลิงชิงเผาในช่วงต้นฤดูมีน้อยลงกว่าปีที่ผ่านๆ มา สถิติจุดความร้อนของภาคเหนือโดยรวมลดลงทุกจังหวัด เหตุจากหลายปัจจัยทั้งด้านสภาพอากาศที่ยังชื้น ใบไม้ยังไม่ทิ้งใบ และด้านความเอาจริงเอาจังมากขึ้นของฝ่ายนโยบายที่เพิ่งเปลี่ยนรัฐบาลใหม่
ทุกๆ ปี ไฟชิงเผาภาคเหนือจะเริ่มเกิดในช่วงปลายเดือนมกราคม แต่ปีนี้ มีน้อย พบประปรายและดับจบภายในคืนเดียว (กรณีเผาข้ามคืน)
หลายจังหวัดประกาศวันห้ามเผาเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงว่าห้วงเวลาก่อนการห้ามเด็ดขาดสามารถเผาได้แต่ต้องขออนุญาต โดยน่าสนใจว่ามีบางพื้นที่แม้ประกาศอนุญาตให้ประชาชนเผาบริหารเชื้อเพลิงแต่ต้องกระทำหลังดาวเทียมโคจรผ่านเสียก่อน เช่น อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน วางแผนแบ่งพื้นที่สามารถทยอยเผาได้รายตำบล ขอให้เผาได้ระหว่างเวลา 14.30-18.00 น.
นั่นหมายถึงว่า หน่วยงานรัฐแม้จะยอมรับในแนวทางบริหารเชื้อเพลิงชิงเผา แต่ก็ยังห่วง KPI จุดความร้อนอยู่ !!
ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ที่ริเริ่มการชิงเผามาก่อน และใช้ระบบแอพ FireD เป็นสำคัญ ในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางมาตรการมาเป็นลำดับจากเดิมแบ่งพื้นที่เป็น 7 กลุ่มป่า กำหนดว่าจะใช้การบริหารเชื้อเพลิงโดยสามารถทำได้โดยจะใช้จุดความร้อนสีเขียว เป็นเครื่องหมายของไฟที่เกิดภายใต้การบริหารและขออนุญาตถูกต้อง
ปรากฏว่าในทางปฏิบัติของการจัดการเชื้อเพลิงในป่าบางแปลงเจ้าหน้าที่ก็ยังเกรงใจดัชนีชี้วัดจุดความร้อนที่ยังมีความสำคัญต่อผู้บริหาร จึงเริ่มการชิงเผาหลังบ่าย 14.00 น. ทำให้ไฟไม่ดับจบภายในตอนเย็น ต้องส่งคนไปดับและกันแนวจนถึงราว 21.00 น. ค่อยเสร็จสิ้น
ความลักลั่นในแนวทางใหม่กับแนวทางเก่า ตกลงจะยังห้ามไฟเด็ดขาดเพราะใช้จำนวนจุดความร้อนเป็น KPI สำคัญ หรือ อนุญาตให้บริหารไฟได้เพราะมีประกาศเป็นนโยบายเช่นกันให้ใช้แอปพลิเคชันขออนุญาต แต่หากอนุญาตจำนวนจุดความร้อนก็จะต้องเพิ่มขึ้นและทำให้ผู้บริหารไม่พึงพอใจตามมา
การเผชิญมลพิษฝุ่นควันไฟในปี 2567 ยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องแนวทาง/มาตรการให้กับผู้ปฏิบัติต้องมึนงงอยู่...ในเรื่องนี้
...................................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ