หนังสตรีผู้ไม่ยอมถูกกดขี่ ในเทศกาล Berlin Film Festival 2024
หนังสตรีผู้หาญกล้าลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของระบบจากอิหร่าน เนปาล อิตาลี เยอรมนี ตูนิเซีย ฯลฯ โดดเด่นในเทศกาล Berlin Film Festival 2024
การประกวดชิงรางวัลหมีทองคำในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลิน ครั้งที่ 74 ประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-25 กุมภาพันธ์ มีหนังที่เล่าถึงชีวิตของผู้หญิงที่ไม่ยอมถูกกดขี่โดยระบบหรือประเพณีใด ๆ อยู่มากมาย หลาย ๆ ก็เรื่องสามารถสะท้อนสถานะของสตรีทั้งในยุคสมัยอดีตและปัจจุบันที่ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของบุรุษเพศอีกต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี
เรื่องที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์จนสามารถคว้ารางวัลจากสมาพันธ์นักวิจารณ์นานาชาติ หรือ FIPRESCI Award ไป ได้แก่หนังอิหร่านเรื่อง My Favourite Cake ของผู้กำกับ Maryam Moghaddam และ Behtash Sanaeeha
My Favourite Cake เล่าเรื่องราวของ Mahin หญิงชราวัย 70 ปี ที่ต้องอาศัยอยู่ในเตหะรานเพียงลำพังหลังจากที่สามีของเธอเสียชีวิตไปเมื่อสามสิบปีที่แล้ว และบุตรสาวของเธอก็ได้โยกย้ายไปพำนักอยู่ในยุโรป
Mahin รังเกียจกฎหมายอิหร่านที่บังคับให้สตรีต้องสวมคลุมฮิญาบตลอดเวลาที่อยู่นอกชายคาบ้าน และเธอก็มักจะเข้าไปปกป้องหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อจากการจับกุมโดยทางการเพียงเพราะไม่เคารพกฎ หลังจากได้ช่วยเหลือสตรีที่เกือบจะถูกตำรวจจับขึ้นรถไป เธอก็ได้พบกับชายชราอายุไล่เลี่ยกันนาม Mahin และปรารถนาจะหวนกลับไปยังคืนวันแห่งการใช้ชีวิตคู่อีกครั้ง เธอจึงเชิญชายผู้นี้มาร่วมนั่งดื่มชาและชิมเค้กสูตรพิเศษที่เธออบเองที่บ้าน ท้าทายทุกม่านประเพณีอิหร่านที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าหาผู้ชายก่อน
ตอนที่หนังฉายที่เบอร์ลินก็เกิดเรื่องดราม่าน่าเศร้า เมื่อทางการอิหร่านไม่ต้องการให้หนังเรื่องนี้นำเรื่องไม่ดีของประเทศไปแฉให้ชาวโลกรู้ และได้สั่งห้ามการเดินทางไปยังเทศกาลเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี อย่างน่าเศร้า แม้ว่าเหล่านักแสดงจะยังไปร่วมงานได้
หนังสตรีปลดแอกอีกเรื่อง เป็นหนังเพลงย้อนยุคจากอิตาลีเรื่อง Gloria! กำกับโดยผู้กำกับหญิง Margherita Vicario
หนังพาย้อนเวลาไปถึงปี ค.ศ. 1800 ณ โรงเรียนสอนดนตรีสำหรับสตรีแห่งหนึ่งในอิตาลี Teresa เป็นหญิงรับใช้ผู้ไม่มีฐานะ และไม่สามารถเข้าเรียนดนตรีอย่างที่เธอแอบฝันได้ วันหนึ่งเธอและเพื่อนได้พบเปียโนหลังใหญ่ซ่อนไว้ในห้องเก็บของ เธอจึงแอบเล่นและเรียนรู้การสร้างบทเพลงด้วยตนเอง
เมื่อผู้อำนวยการโบสถ์ที่นักเรียนโรงเรียนแห่งนี้แสดงจะต้องแต่งเพลงใหม่เพื่อต้อนรับพระสันตปาปาองค์ใหม่ แต่ความคิดสร้างสรรค์ดันตีบตัน พยายามอยู่หลายวันก็ไม่สามารถแต่งผลงานดี ๆ ได้ เขาจะยอมเสียเหลี่ยมนำเอาบทประพันธ์ของ Teresa และเพื่อน ๆ ของเธอมาจัดแสดงไหม เพราะฟังดูมันก็มีความไพเราะในแบบสมัยใหม่ที่น่าจะถูกใจองค์โป๊ปอยู่
แม้จะเล่าเรื่องราวย้อนยุคไปไกล แต่หนังก็ไม่ได้มีอะไรเก่าเชยเลย โดยเฉพาะการเรียบเรียงดนตรีที่ไม่ได้มีเฉพาะสำเนียงแบบยุคคลาสสิกเท่านั้น แต่ยังผสมผสานท่วงทำนองอิเล็กทรอนิกส์ร่วมสมัย คล้าย ๆ กับตอนที่ Sofia Coppola ทำเรื่อง Marie Antoinette (2006) Gloria! จึงมีความเป็นหนังเพลงสุดแปลกล้ำ นำเสนออัจฉริยภาพทางดนตรีของเหล่าสตรีที่บางครั้งก็ไม่ได้ด้อยกว่าบุรุษเลย
ส่วนเรื่องที่ดูแล้วหม่นเศร้าและน่าหดหู่มากที่สุด ก็คงต้องเป็น From Hilde, with Love ของผู้กำกับเยอรมัน Andreas Dresen
From Hilde, with Love เป็นหนังย้อนยุคเช่นกันที่เล่าเรื่องราวสู้ชีวิตของ Hilde นักสู้สาวแห่งกองกำลังต่อต้านนาซี Red Orchestra เมื่อปี ค.ศ. 1942 เธอตกหลุมรักกับ Hans สหายร่วมอุดมการณ์ แต่เธอดันถูกกองกำลัง Gestapo จับตัวไปขณะเธอกำลังตั้งครรภ์กับ Hans และต้องคลอดบุตรชายในคุก
Hilde พยายามหาเบาะแสว่า Hans ระหกระเหินไปอยู่ที่ไหน และเฝ้าบอกบุตรชายให้ตามหาพ่อตัวเอง หากเธอไม่สามารถจะรอดพ้นจากชะตากรรมมืดดำในครั้งนี้ไปได้ และต้องหมดสิ้นลมหายใจลง ณ ที่แห่งนี้
หนังใช้เวลา 124 นาที ค่อย ๆ ไล่เล่าประสบการณ์ชีวิตในแต่ละห้วงตอนของ Hilde ซึ่งนำแสดงโดย Liv Lisa Fries อย่างละเอียด ซึ่ง Liv Lisa Fries ก็ถ่ายทอดให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่าง Hilde จะต้องแกร่ง ต้องกร้าน ต้องทนทานต่อความโหดเหี้ยมอำมหิตอย่างหนักหน่วงรุนแรงถึงขนาดไหน และเธอก็ได้ทำในทุก ๆ สิ่งที่เธอพอจะทำได้ เพื่อให้คนที่รักสามารถมีชีวิตอยู่อย่างรอดปลอดภัย
หนังจากตูนิเซียเรื่อง Who Do I Belong To โดยผู้กำกับหญิง Meryam Joobeur นี่ก็เล่าเรื่องราวชีวิตเศร้าของมนุษย์แม่ได้ทรงพลังไม่แพ้กัน
Aïcha คุณแม่วัยกลางคน อาศัยอยู่กับสามี Brahim ณ ฟาร์มแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศตูนิเซีย ทั้งคู่มีบุตรชายอยู่สามคน หัวใจคนเป็นแม่แตกสลายเมื่อบุตรชายคนโตสองนายต้องจากบ้านไปเป็นทหารร่วมรบในสงคราม จนวันหนึ่งบุตรชายคนโตก็กลับบ้านมาพร้อมภรรยาท้องแก่ผู้มีพฤติกรรมแปลกประหลาด Aïcha พยายามต้อนรับลูกสะใภ้รายนี้ ด้วยความดีใจที่ได้บุตรชายกลับคืนเหย้ามา แต่ฝ่ายสามี Brahim กลับรู้สึกไม่ค่อยถูกชะตากับลูกสาวคนใหม่รายนี้นัก
หนังแสดงภาพความรักบนความทุกข์เศร้าและห่วงใยของผู้เป็นมารดาได้อย่างน่าเห็นใจ แต่ก็น่าเสียดายที่หนังตัดสลับเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างไม่ใคร่กระจ่างสักเท่าไหร่ หลาย ๆ จุดจึงอาจจะชวนสับสนได้ว่ากำลังเล่าถึงตัวละครรายไหนและประเด็นใดอยู่
มาที่หนังเขย่าขวัญแนววันทวงหนี้แค้นเรื่อง Sons ของ Gustav Möller จากเดนมาร์ก
เรื่องนี้ก็เล่าเรื่องราวของคุณแม่พัสดีหญิง Eva ที่วันดีคืนดี หนุ่มกุ๊ยที่เคยมีคดีในอดีตกับครอบครัวเธอได้โผล่มาในเรือนจำที่เธอดูแลอยู่ Eva รู้ทันทีว่าเขาคือใคร และใช้ตำแหน่งของการเป็นพัสดีหาวิธี ‘เอาคืน’ พ่อหนุ่มคนนี้ให้สาสม แต่เธอก็ต้องชั่งใจว่าจะเย้ยกฎหมาย ยอมกลายเป็นศาลเตี้ยเสียเองดีไหม เพราะหากเธอพลาดอะไรไป ไฟแค้นทั้งหมดก็จะหันกลับมามอดไหม้ตัวเธอเอง
เนื้อหาของหนังดูจดจ่อและออกจะตั้งใจเค้นเล่าจนดูฝืนและพยายามไปสักนิด แม้ว่านักแสดงหญิง Sidse Babett Knudsen จะแสดงสภาพจิตใจของ Eva ในแต่ละช่วงได้เป็นอย่างดี เสียแต่ทั้งหมดที่หนังเล่ามันดันไปเข้าอีหรอบเดียวกันเลยกับหนังเรื่อง The Son (แถมชื่อยังคล้ายกัน) ของพี่น้อง Jean-Pierre และ Luc Dardenne พอได้เห็นได้ดูเรื่องราวเดียวกันจากเรื่องนี้ไปแล้ว Sons ของ Gustav Möller จึงดูจืดลงไปถนัดตา
หนังเรื่องแรกจากประเทศเนปาลในประวัติศาสตร์การประกวดที่เทศกาลเบอร์ลินเรื่อง Shambala ของผู้กำกับ Min Bahadur Bham ก็เล่าเรื่องราวที่เหมือนจะเป็นนิทาน ‘นางกากีจากเทือกเขาหิมาลัย’ เพราะที่นั่นมีขนบธรรมเนียมแบไม่ธรรมดา เมื่อสตรีแต่งงานกับสมาชิกฝ่ายชายในบ้านใด เธอจะต้องเป็นภรรยาของพี่น้องฝ่ายชายทั้งหมด
Pema ก็เช่นกัน เธอแต่งงานกับพี่ชายของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง และต้องดำรงตำแหน่งเป็นภรรยาของ บุรุษสามใบเถา ไม่เว้นแม้แต่น้องชายตัวกะเปี๊ยกที่เสียงยังไม่แตกเลยด้วยซ้ำ แม้เธอจะไม่ถือสาและยอมรับสภาวะนี้แต่โดยดี Pema ก็ยังมิอาจมีชีวิตอย่างเป็นสุขได้ เมื่อสามีหลวงคนโตของเธอเดินทางออกจากหมู่บ้านไปค้าขายและไม่กลับมาอีกเลย และคุณครูหนุ่มของน้องเขยคนเล็กได้เข้ามาแวะเวียนดูแล ในขณะที่พี่ชายคนกลางกำลังบวชเป็นพระ เด็กน้อยในครรภ์อุระของเธอจึงตกเป็นขี้ปากของชาวบ้าน ว่าเธอคงแอบไปมีความสัมพันธ์กับครูหนุ่มรายนั้นแน่ ๆ
หนังเล่าชะตาชีวิตที่ต้องฟันฝ่าวิบากกรรมอย่างเข้มแข็งของ Pema ด้วยทัศนียภาพของหมู่บ้านบนเทือกเขาของเนปาลอันสวยงามสะดุดตา ละลานไปด้วยสีสันพื้นถิ่น หรือ local colour อันจริงใจ ไม่พยายามประดิษฐ์ขาย จนกลายเป็นงาน epic พื้นถิ่นที่งดงามอลังการมากที่สุดแล้วในเทศกาล
ในขณะที่เรื่อง Langue étrangère [Foreign Language] ของผู้กำกับ Claire Burger จากฝรั่งเศสก็ข้ามไปเล่าเรื่องราวร่วมสมัยในยุโรป และกล่าวถึงโลกที่สมาชิกหลักมีแต่เพศหญิง จนตัวละครฝ่ายชายแทบไม่มีบทบาทสำคัญ
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของ Fanny สาวฝรั่งเศสวัย 17 ปี ที่เดินทางไปแลกเปลี่ยนด้านภาษากับครอบครัวของ Lena ในเยอรมนี เพื่อฝึกภาษาเยอรมัน ก่อนที่ทั้งคู่จะพากันเดินทางกลับไปยังฝรั่งเศสเพื่อให้ Lena ได้ฝึกภาษาที่นั่นด้วย โดยทั้งคู่ไม่ได้เป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันแบบธรรมดา เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นเลสเบี้ยนและรู้สึกถูกคอจนคบหากันเป็นคู่รัก
แต่เมื่อ Lena เริ่มสนใจกิจกรรมเรียกร้องทางการเมือง และเอาตัวเองเข้าไปสุ่มเสี่ยงกับปฏิบัติการร่วมกับพรรคพวก การคบหากันระหว่างเธอกับ Fanny จึงเริ่มมีประเด็นพิพาทสั่นคลอน กัดกร่อนความสัมพันธ์จนกลายเป็นเรื่องบาดหมางคลางแคลงใจกันในที่สุด
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในโลกร่วมสมัยได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยบทหนังมีการวิภาษพิมพ์นิยมหรือ stereotype ของผู้คนในแต่ละประเทศได้อย่างเจ็บแสบ และที่สำคัญคือมันคือหนังที่สะท้อนโลกของผู้หญิงที่ไม่ต้องการผู้ชาย ว่าพวกเธอก็สามารถอยู่ร่วมกันเองได้ในสังคมแบบสตรีล้วน
ปิดท้ายด้วยหนังของผู้กำกับมอริเทเนีย Abderrahmane Sissako เรื่อง Black Tea ที่เล่าเรื่องราวของ Aya หญิงสาวจากประเทศไอวอรีโคสต์ ที่ท้าทายม่านประเพณีด้วยการประกาศว่า “ไม่เต็มใจค่ะ” กลางพิธีวิวาห์ต่อหน้าเจ้าบ่าวของเธอ
หลังจากนั้นเธอก็หนีไปยังประเทศจีน เพื่อสานฝันของตนเองในการเรียนรู้ศาสตร์แห่งการ ‘ชงชา’ และได้มาพบกับ Cai ชายเจ้าของร้านชาจีนโบราณ ผู้มีความหลังครั้งเก่ากับดินแดนแอฟริกาที่เธอจากมา เขาได้ถ่ายทอดศิลปะและวิชาแห่งการชงชาให้ Aya พัฒนาเป็นความสัมพันธ์ล้ำลึกท่ามกลางกระแสการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวที่ยังคงมีอยู่ในคนรุ่นเก่าของสังคมจีน!
หนังเรื่องนี้แม้จะมีเนื้อหาที่อินเตอร์แบบข้ามชาติข้ามภาษา แต่วิธีการถ่ายทอดเนื้อหาของมันก็อาจจะมีความโลกสวยจนดูแปร่ง ๆ แปลก ๆ เสียงตอบรับจึงค่อนข้าง ‘แตก’ ฝ่าย มีทั้งคนชื่นชมในความร่วมสมัย แต่ส่วนใหญ่จะมองว่าหนังเชยและตรงไปตรงมาเกินไป ในน้ำเสียงแบบเทศนาโวหารของมัน