เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Berlin Film Festival 2024
Dahomey ผลงานผู้กำกับหญิงฝรั่งเศส-เซเนกัล Mati Diop ชนะรางวัลหมีทองคำจาก Berlin Film Festival 2024 พร้อมเจาะลึกผลรางวัลต่าง ๆ จาก 'กัลปพฤกษ์' คอลัมนิสต์สายเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ
จัดงานกันไปเสร็จสิ้นแล้ว กับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลิน ครั้งที่ 74 ประจำปี 2024 ระหว่างวันที่ 15-25 กุมภาพันธ์ โดยหลังจากจัดฉายหนังสายประกวดหลักครบถ้วนทั้ง 20 เรื่องจากทั่วทุกมุมโลก คณะกรรมการตัดสินก็ได้ประกาศผลรางวัลกันในค่ำคืนของวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงมหรสพ Berlinale Palast สถานที่จัดงานหลัก ซึ่งผลรางวัลในปีนี้ก็เรียกได้ว่าเข้มข้นโดนใจนักวิจารณ์สายเก็งทั้งหลายอยู่หลายรางวัล จะมีที่เซอร์ไพรส์ให้ได้ประหลาดใจกันบ้างโดยเฉพาะในรางวัลใหญ่ให้พอได้มีสีสัน ซึ่งทุกเรื่องก็ล้วนมีเหตุผลอันควรค่าแก่การได้รับรางวัลอยู่
Credit : John MACDOUGALL / AFP
คณะกรรมการตัดสินรางวัลหมีทองคำและรางวัลอื่น ๆ ในสายประกวดหลักประจำปีนี้ ได้แก่ Brady Corbet ผู้กำกับและนักแสดงชายชาวอเมริกัน Ann Hui ผู้กำกับหญิงจากฮ่องกง Christian Petzold ผู้กำกับหนุ่มเยอรมันเจ้าประจำการประกวดที่เทศกาลเบอร์ลิน Albert Serra ผู้กำกับหนุ่มสุดเซอร์ฯ จากสเปน Jasmine Trinca ผู้กำกับและนักแสดงหญิงจากอิตาลี Oksana Zabuzhko นักเขียนหญิงจากยูเครน โดยมี Lupita Nyong’o นักแสดงหญิงจากเคนยา/เม็กซิโก ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน
เริ่มที่รางวัลแรก เป็นรางวัลสำหรับงานด้านเทคนิคยอดเยี่ยม ซึ่งภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลไปได้แก่ The Devil’s Bath งานสยองขวัญอิงประวัติศาสตร์ จากประเทศออสเตรีย ผลงานการกำกับของ Veronika Franz กับ Severin Fiala โดยได้รับรางวัลในส่วนของการถ่ายภาพยอดเยี่ยม ฝีมือของตากล้องหนุ่ม Martin Gschlacht
หนังเรื่อง The Devil’s Bath เล่าเรื่องราวที่อ้างจากตำนานจริงของหญิงที่ประกอบอาชญากรรมรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน เพียงเพราะความเชื่อที่จะหลุดพ้นจากความผิดบาป ในดินแดนออสเตรียตอนเหนือช่วงปี ค.ศ. 1750 เนื่องจากในสมัยนั้นการฆ่าตัวตายถือเป็นบาปอันมหันต์ ใครที่ชีวิตถึงทางตันด้วยอาการวิตกซึมเศร้าและไม่ต้องการอับเฉาอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป ทางเดียวที่จะหนีพ้นได้ คือก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อผู้ที่ป้องกันตัวเองไม่ได้ แล้วไปสารภาพบาปกับหลวงพ่อซะ พวกเขาก็จะสามารถสละชีวิตหนีจากโลกใบนี้ไปได้ โดยไม่มีมลทินให้ต้องผินลงนรกอีกต่อไป! ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ตัวละครหลัก Agnes สตรีที่เพิ่งแต่งงานอยู่กินกับสามีกับแม่ยาย แต่กลับไม่พบความสุขในชีวิตเลย ใช้ในเรื่องนี้
หนังแสดงภาพธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยแมกไม้ ในบรรยากาศที่ทั้งงดงามและน่าเกรงขามของโลกธรรมชาติอันอุดมไปด้วยความดิบเถื่อนในเวลาเดียวกัน จำลองภาพฝันร้ายภายใต้ความงมงายในคริสต์ศาสนาของผู้คนในยุคสมัยนั้นได้อย่างชวนให้สะเทือนขวัญ ผ่านการแสดงอันเข้มข้นของ Anja Plaschg นักดนตรีทดลองหญิงที่เป็นรู้จักกันในนาม Soap&Skin ในบทนำ
รางวัลต่อมาเป็นรางวัลทางการแสดง ซึ่งเทศกาลเบอร์ลินเป็นเทศกาลใหญ่แห่งแรก ๆ ที่ปรับเปลี่ยนจากการแบ่งประเภทรางวัลโดยเพศสภาพของผู้แสดง เช่น นักแสดงชาย หรือ นักแสดงหญิง มาเป็น การแสดงในบทนำ และการแสดงในบทสมทบ แทน หลังจากพบกรณีนักแสดงข้ามเพศมีโอกาสได้เข้าชิงรางวัลมากขึ้น ๆ
สำหรับรางวัลสำหรับการแสดงในบทนำประจำปีนี้ ก็ได้แก่การแสดงของนักแสดงหนุ่ม Sebastian Stan จากเรื่อง A Different Man กำกับโดย Aaron Schimberg โดยเขารับบทบาทเป็น Edward นักแสดงหนุ่มซึ่งในช่วงแรกจะปรากฏตัวในรูปลักษณ์ที่ใบหน้าบูดเบี้ยวผิดรูปด้วยโรคผิวหนังเรื้อรัง กระทั่งได้รับเฉพาะบทบาทของคนที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่าง ทำให้เขาต้องหาทางรักษาเยียวยาจนสุดท้ายก็ได้รับใบหน้าใหม่ใกล้เคียงผู้ชายทั่วไป ก่อนจะได้ตระหนักว่าใบหน้าใหม่ที่ดูดีนี้อาจมิได้มีความเป็นตัวเขาจริง ๆ ตามที่เคยอยากเป็น เมื่อได้เห็นเพื่อนบ้านสาวสวยมีรสนิยมที่ไปด้วยกันกับสุภาพบุรุษผู้มีหน้าตาเหมือนเขาในอดีต!
หนังเรื่องนี้ขีดเส้นศีลธรรมด้านการยอมรับในความงามอันแตกต่างหลากหลายว่า ไม่ควรมีใบหน้าแบบไหน ‘สวย’ หรือ ‘หล่อ’ กว่าใบหน้าแบบใดในยุคปัจจุบันได้อย่างแสนอ่อนไหว
โดยเฉพาะเมื่อหนังได้นำเสนอตัวละครรายใหม่คือ Oswald ซึ่งได้นักแสดงที่มีใบหน้าต่างจากรูปทรงธรรมดาอย่าง Adam Pearson มารับบทบาทในหนังช่วงครึ่งหลัง สร้างพลังความกระอักกระอ่วนใจเมื่อ Oswald เป็นชายที่ ‘เหนือ’ กว่าเขาในทุกอย่าง สร้างปมด้อยให้ Edward ได้ตระหนักรู้ว่า คุณค่าที่แท้ของเขาก็อยู่ที่ใบหน้าเก่าที่เขาได้ทำลายด้วยน้ำมือตัวเองไปแล้ว ซึ่ง Sebastian Stan ก็ถ่ายทอดความพลวัตของบทบาทตัวละคร Edward ออกมาได้อย่างละเอียดและมีพลังมากจริง ๆ
ส่วนรางวัลการแสดงในบทสมทบยอดเยี่ยมปีนี้ก็ได้นักแสดงหญิงที่อยู่ในวงการมายาวนานอย่าง Emily Watson กับบทแม่ชี Mary ในหนังจากไอร์แลนด์เรื่อง Small Things Like These กำกับโดย Tim Mielants ประกบกับ Cillian Murphy ซึ่งหนังดัดแปลงมาจากนวนิยายเข้าชิงรางวัล Booker Prize ชื่อเดียวกัน (2021) ของ Claire Keegan
เล่าเรื่องราวย้อนไปในปี 1985 ณ เขตปกครองเว็กซ์ฟอร์ด ของไอร์แลนด์ โดย Cillian Murphy รับบทเป็น Bill Furlong พ่อค้าถ่านหินที่ต้องดูแลครอบครัวอันประกอบไปด้วยภรรยาและบุตรธิดาอีก 5 คน เขามีหน้าที่ขนถ่านหินไปให้บริการ ณ ที่ต่าง ๆ รวมถึงโบสถ์คาทอลิกแห่งสำคัญประจำเมือง ทำให้เขาได้ไปพบกับเรื่องลับอันน่าตกใจภายในโบสถ์แห่งนี้ เมื่อแม่ชีอาวุโสอย่าง Sister Mary ซึ่งเล่นโดย Emily Watson จะใช้อำนาจอันเบ็ดเสร็จทางศาสนาลงโทษสตรีที่มีพฤติกรรมนอกรีตผิดจรรยาด้วยการจับขังอย่างอำมหิต กลายเป็นแบบทดสอบจิตใจต่อ Bill Furlong ว่าเขาควรจะช่วยเหลือหญิงสาวเหล่านี้ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของ Mary หรือไม่และอย่างไร
สำหรับรางวัลนี้คณะกรรมการอาจจะตัดสินกันได้ยากหน่อย เพราะจากหนังประกวดทั้ง 18 เรื่องที่ไม่ใช่งานสารคดี ก็ล้วนมีบทสมทบที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า Emily Watson ก็ทำให้ทุกคนจดจำเธอได้ แม้ว่าโดยสัดส่วน screen time แล้ว เธอจะปรากฏตัวบนผืนจอน้อยขนาดไหน ทว่าสุดท้ายก็คว้ารางวัลนี้ไปครองได้จากการตัดสินของคณะกรรมการชุดนี้
มาที่รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็ได้แก่บทภาพยนตร์เรื่อง Dying ซึ่งเขียนบทและกำกับโดย Matthias Glasner ชาวเยอรมัน Dying เป็นหนังมหากาพย์ภาพชีวิตอันอาภัพและย่อยยับของตัวละครร่วมสมัย ณ เมืองใหญ่ในเยอรมนีด้วยความยาว 180 นาที
มีตัวละครหลักคือสมาชิกในครอบครัว Lunies ที่พ่อแม่วัยชราต่างมีปัญหาสุขภาพทั้งโรคความจำเสื่อม เบาหวาน ไต มะเร็ง และการมองเห็น ในขณะที่ Tom ผู้เป็นบุตรชายก็ได้ทำงานเป็นวาทยกรให้วง orchestra และกำลังจะ premiere บทประพันธ์ใหม่ชื่อ ‘Dying’ ของสหายนักประพันธ์ผู้เบื่อโลกนาม Bernard ที่กำลังต้องการจะจบชีวิตตัวเองลงจริง ๆ พร้อม ๆ กับที่หญิงคนรักเก่าของเขาก็อยากให้ Tom กลับมาเป็นพ่อบุญธรรมของบุตร
ส่วน Ellen น้องสาวสุดที่รัก ก็ดันปักใจขอยอมเป็นเมียน้อยทันตแพทย์หนุ่มที่เธอหลงใหล ครอบครัวใหญ่เรือนนี้จึงมีแต่เรื่องวุ่นวายร้อยแปดพันประการ ชวนให้รู้สึกสงสารว่าชะตากรรมของตัวละครทั้งหมดในเรื่อง มันช่างเหมือนละคร sit-com ที่ทุกคนเจอแต่ความซวยอย่างต่อเนื่อง เหมือนถูกกลั่นแกล้งกันจากเบื้องบนเช่นนี้!
ผู้กำกับอีกคนที่สร้างปรากฏการณ์ในปีนี้ ก็คือ Nelson Carlo de Los Santos Arias จาก สาธารณรัฐโดมินิกัน ที่มีผลงานใหม่เรื่อง Pepe เข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลิน เป็นครั้งแรกของประเทศนี้ในปีนี้ ซึ่งในที่สุดเขาก็สามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองได้อย่างไร้ข้อกังขา
Pepe เป็นหนังที่มาในลีลาลูกผสมของงานสารคดีและหนังเล่าเรื่อง ที่อาจจะมองเป็นทั้ง Docufiction และ Docudrama ได้ในเวลาเดียวกัน ทลายเส้นแบ่งกั้นระหว่างงานเล่าเรื่องและสารคดี หรือหนังที่มีรูปแบบคล้ายความเรียง ซึ่งปัจจุบันก็เทียบเคียงจำแนกได้ยากขึ้นทุกวัน ๆ
เนื้อหาของ Pepe เป็นการย้อนเล่าถึงฮิปโปโปเตมัสนาม Pepe ซึ่งเป็นทายาทของคู่ฮิปโปโปเตมัสซึ่ง Pablo Escobar นักค้ายาชื่อดังในอดีตแห่งโคลอมเบีย เคยลักลอบนำเข้าประเทศมาจาก นามิเบีย ทวีปแอฟริกา Pepe จึงมีสัญชาติเป็นละตินอเมริกา ในขณะที่มาตุภูมิดั้งเดิมของมันมาจากดินแดนกาฬทวีป
สิ่งที่บีบหัวใจคือ Pepe กลายเป็นฮิปโปตัวแรกในทวีปอเมริกาที่ถูกฆ่าตาย และตลอดทั้งเรื่องเราจะได้ยินเสียงของ Pepe หลังจากที่มันได้ชีวาวาย เล่าผ่านเสียงพูดทุ้มต่ำหลากหลายภาษา เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ก่อนและตลอดชั่วอายุขัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์สปีชีนี้
หนังมีลีลาเชิงทดลองที่จัดว่าแปลกพิสดารมากมาย มีการใช้สัดส่วนภาพที่หลากหลาย อาศัยทั้งภาพ footage และส่วนที่ถ่ายทำผ่านการแสดงใหม่สลับกันไปจนดูวุ่นวาย และที่แสบร้ายคือมีการใส่ฉากที่เหมือนจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวโดยตรง
ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ท่องเที่ยวป่าซาฟารีในนามิเบีย หรืออยู่ดี ๆ ก็ยอมเสียเวลาไปกับฉากการประกวดสาวงามกลางดงป่า ชนให้ได้คิดไขปริศนาว่ามีนัยยะใด ๆ ข้องเกี่ยวกับเรื่องราวของครอบครัวเจ้า Pepe หรือไม่ ซึ่งก็เป็นการหลงป่าออกนอกทางอันน่าพิสมัย ทำให้หนังไม่มีจุดใดที่จะสามารถคาดเดาได้จนกลายเป็นความน่าเบื่อเลย สมแล้วที่หนังจะได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไป กับหนังที่ไม่สามารถนิยามหรืออธิบายอะไรกันได้เรื่องนี้!
ปิดท้ายกันที่รางวัลสำหรับหนังทั้งเรื่อง ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันสามลำดับด้วยกันคือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ รางวัลหมีเงินขวัญใจคณะกรรมการ หรือ Jury Prize ได้แก่หนังตลกรั่วจากฝรั่งเศสเรื่อง The Empire ของผู้กำกับ Bruno Dumont ซึ่งใครที่คุ้นเคยกับผลงานสุดเคร่งเครียดและหม่นมืดในอดีตของเขามา ก็อาจจะตกอกตกใจกับการเป็นงานแนวตลกใส ๆ ไร้สติในหนังเรื่องนี้
The Empire เล่าเรื่องราวแฟนตาซีที่เกิดขึ้นในเมืองชาวประมงเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เมื่อทารกผู้มีพลังวิเศษได้ถือกำเนิดขึ้น ณ ชุมชนชายทะเลเล็ก ๆ แห่งนี้ เป็นต้นชวนที่ก่อให้เกิดมหาสงครามระหว่างเหล่ากองทัพต่างดาว พร้อมยานอวกาศที่เหินหาวกันอย่างวินาศสันตะโร
ผู้กำกับ Bruno Dumont เหมือนจะพยายามกัดแซะหนัง Sci-Fi ทุนสูงจากฮอลลีวู้ดที่มีโปรดักชันใหญ่โต แต่เนื้อหากลับกลวงโบ๋ เหมือนอย่างใน The Empire ที่แทบจะจับสาระใจความใด ๆ ไม่ได้ นอกเหนือไปจากความตลกเหวอเพี้ยนที่ขำบ้างไม่ขำบ้างตามประสา นักวิจารณ์นานาชาติในรอบสื่อจึงไม่ใคร่จะหือจะอือหรือหัวเราะครื้นเครงตามไปด้วยสักเท่าไหร่ แต่สุดท้ายหนังก็ชนะใจคณะกรรมการจนคว้ารางวัล Jury Prize ไปได้ในที่สุด
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ หรือ รางวัลหมีเงิน Grand Jury Prize ดูจะเป็นที่ถูกอกถูกใจของเหล่านักวิจารณ์กันมากกว่า นั่นคือ A Traveler’s Needs งานตลกชวนฮาจากเกาหลีใต้ของผู้กำกับ Hong Sang-soo ผู้มีผลงานเข้าประกวดที่เทศกาลเบอร์ลินต่อเนื่องกันแบบรัว ๆ เป็นปีที่ห้าแล้ว
A Traveler’s Needs ได้นักแสดงหญิงชาวฝรั่งเศสระดับตำนาน Isabelle Huppert มาร่วมงานด้วยอีกครั้ง หลังจากที่เธอเคยได้ร่วมนำแสดงในหนังของผู้กำกับ Hong Sang-soo มาก่อนแล้วในเรื่อง Claire’s Camera (2017)
กลับมาคราวนี้ Isabelle Huppert รับบทบาทเป็น Iris นักท่องเที่ยวหญิงถังแตกจากฝรั่งเศสในเกาหลีใต้ ที่ได้รับคำแนะนำให้ลองหารายได้พิเศษจากการสอนภาษาฝรั่งเศสแก่คนที่สนใจ แต่ด้วยความที่ Iris ไม่เคยร่ำเรียนหรือมีประสบการณ์ด้านการสอนภาษามาก่อน วิธีการสอนของเธอจึงออกจะพิสดาร เพราะเธอจะใช้เวลาในการสัมภาษณ์ลูกศิษย์ด้วยภาษาอังกฤษอย่างยาวนาน เพื่อควานหาอารมณ์ความรู้สึกที่ลูกศิษย์ประทับใจ จากนั้นจึงแต่งประโยคให้เป็นภาษาฝรั่งเศส อัดลงเทปคาสเซ็ตต์ ให้พวกเขาพูดตาม เพราะความรู้สึกดื่มด่ำในทุก ๆ คำทุก ๆ ประโยคนี่แหละ ที่จะทำให้พวกเขาเรียนรู้ภาษาใหม่นี้ได้อย่างดี!
หนังดำเนินเรื่องด้วยท่วงทำนองแสนสุนทรีย์ สลับฉากการสัมภาษณ์เพื่อเรียนภาษากับการใช้เวลาบรรเลงดนตรี และที่ขาดไม่ได้คือการได้ลิ้มรสสุราท้องถิ่นนาม makgeolli ซึ่งทุกจิบมันช่างมีรสชาติกำซาบซ่าน จนเหมือนชีวิตไม่ได้ต้องการความสุขอื่นใดมากไปกว่านี้อีกแล้ว
A Traveler’s Needs จึงเป็นหนังเล็ก ๆ ง่าย ๆ สะท้อนให้เห็นมุมงามของชีวิตอย่างแยบคาย จนแทบจะไม่มีอะไรเป็น conflict ขัดแย้งให้ต้องแสลงเสียอารมณ์กันเลย!
มาถึงรางวัลใหญ่อย่างรางวัลหมีทองคำประจำเทศกาลเบอร์ลินในปีนี้ ที่ต้องเรียกได้ว่าเป็นม้ามืดที่พลิกโผอยู่พอสมควร เพราะหนังที่ได้รับรางวัลคือ Dahomey ของผู้กำกับหญิงฝรั่งเศส-เซเนกัล Mati Diop ซึ่งไม่ใช่หนังเล่าเรื่องแต่เป็นงานสารคดี สิริความยาวรวมเพียง 67 นาที นับเป็นงานที่เล็กและสั้นที่สุดในสายประกวดประจำปีนี้ แต่หนังก็มีประเด็นที่หนักแน่นกระทบใจจนสามารถคว้ารางวัลใหญ่ไปได้
Dahomey เป็นชื่ออาณาจักรโบราณทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ณ ดินแดนประเทศเบนินปัจจุบัน และเหตุผลสำคัญที่ผู้กำกับ Mati Diop นำมาใช้เป็นชื่อหนังก็คือ สารคดีเรื่องนี้เล่าถึงกรณีการทวงคืนสมบัติทางประวัติศาสตร์จากดินแดน Dahomey ที่ทางการฝรั่งเศสเคยโจมตีและยึดไปเมื่อปี 1890 จำนวนกว่า 7,000 รายการ และในสมัยปัจจุบันได้นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ บรองลี ที่กรุงปารีส
โดยประธานาธิบดีมาครง ได้สัญญาว่าจะคืนสมบัติจำนวน 26 ชิ้นจากอดีตให้แก่ประเทศเบนินในปัจจุบัน และเพิ่งจะมีการส่งมอบกันเมื่อปี 2020 ซึ่งผู้กำกับ Mati Diop ก็ได้ติดตามการขนย้ายผลงานประวัติศาสตร์เหล่านี้คืนถิ่น โดยใช้เสียงเล่าผ่านวิญญาณที่สิงอยู่ในวัตถุเคารพเหล่านี้ ด้วยวิธีการของงานสารคดีสร้างสรรค์ ก่อนจะหันไปรับฟังการถกเถียงอภิปรายถึงความเหมาะสมในการลักขโมยสมบัติประจำชาติเหล่านี้ไปในสมัยการล่าอาณานิคมของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยอโบเมคาวาลี เพื่อตีแผ่ประเด็นการทวงคืนมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรจะนำกลับมาเป็นสินทรัพย์ของเหล่าทายาทตัวจริง!
หนังเล่าถึงสิ่งที่เป็นกระทู้ถกเถียงในสังคมยุคปัจจุบันหลังห้วงคืนวันแห่งการล่าอาณานิคม เมื่อโลกกลม ๆ ได้ก้าวเข้าสู่ห้วงกาลแห่งความโลกาภิวัตน์ เป็นสารคดีอิงประวัติศาสตร์ที่น่าจะกระทบในคณะกรรมการผู้มีเชื้อชาติ-สัญชาติข้ามดินแดนกันอย่างหลากหลาย ทลายเส้นแบ่งแห่งรัฐชาติไปชวนให้รู้สึกว่าเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งนี้ มันช่างมีสปิริตแห่งความเป็นสากลอย่างแท้จริง!