ครม. เห็นชอบ เสนอ 'ชุดไทย-มวยไทย' ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมโลก
'กระทรวงวัฒนธรรม' เผย ครม. เห็นชอบเสนอ 'ชุดไทย-มวยไทย' ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ต่อ 'ยูเนสโก'
วันที่ 26 มีนาคม 2567 เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 13/2567 ว่า ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงวัฒนธรรม ในการเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย 2 รายการ คือ ชุดไทย - มวยไทย
"โดยให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอเอกสารข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่งให้ทางสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ของประเทศไทย (Thai National Commission for UNESCO) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งเอกสารให้ยูเนสโก ให้ทันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567
เพื่อเข้าสู่ลำดับการพิจารณาต่อจากรายการ ต้มยำกุ้ง และ เคบาย่า (มรดกร่วม 5 ประเทศ ไทย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) ที่ยูเนสโก บรรจุเข้าวาระที่ประชุมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ครั้งที่ 19 ระหว่าง 2–7 ธันวาคม 67 ณ สาธารณรัฐปารากวัย
และต่อด้วยรายการ ผ้าขาวม้า ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมาแล้ว
ความสำคัญและสาระของมรดกฯ ทั้ง 2 รายการ มีดังนี้ รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume)
ชุดไทย เป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน พบหลักฐานมีการนุ่ง และการห่ม มากว่า 1400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลัง ได้รับรู้และสืบทอด
ในปีพุทธศักราช 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ ส่วนของสุภาพบุรุษ มี 3 แบบ
คนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมและยังเป็นกระบวนการผลิตของช่างฝีมือไทยทั้งในเรื่องของการทอผ้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และงานช่างตัดเย็บ ตลอดจนการปักประดับลวดลายบนผืนผ้าอีกด้วย
ส่วน มวยไทย (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปรากฏหลักฐานใน จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม ซึ่งบันทึกโดย ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère)
มวยไทย เป็นวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์ และภัยจากสงคราม
การฝึกฝนวิชามวยไทย มีตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันตนเองและปกป้องประเทศ
เอกลักษณ์โดดเด่นของมวยไทย คือ การใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการป้องกันตัว ซึ่งครูบาอาจารย์ได้คิดค้นกลวิธีการฝึกจากการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ การสังเกตธรรมชาติ และวรรณคดี รวมถึงวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค ประยุกต์เป็นท่าทางมวยต่าง ๆ และยังมีพิธีกรรมของการมอบตัวเป็นศิษย์
การขึ้นครู และ การครอบครู การแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ เห็นได้จากการรำไหว้ครูมวยไทยก่อนการชกทุกครั้ง
ปัจจุบัน มวยไทย เป็นกีฬาประจำชาติ เป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนมวยไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มวยไทยจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน"
โกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งรายการ ชุดไทย และ มวยไทย เป็นการนำเสนอยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนในประเภท บัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)
"ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก 5 เกณฑ์ ประกอบด้วย
1) รายการที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003
2) รายการที่นำเสนอนี้ส่งเสริมความประจักษ์และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำไปสู่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก แสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ
3) มาตรการสงวนรักษาที่เสนอมานั้น ผ่านการพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีการป้องกันและส่งเสริม และมีการกำหนดมาตรการสงวนรักษาวัฒนธรรม
4) รายการที่นำเสนอนี้เกิดจากชุมชน กลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
5) เป็นรายการที่ปรากฏและดำรงอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีสมาชิกที่นำเสนอ โดยบรรจุอยู่แล้วในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของรัฐภาคีสมาชิกตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญา มาตรา 11 และ 12"
ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดองค์รู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้งระดับจังหวัด ระดับชาติ และมนุษยชาติ ได้ในเว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th หัวข้อ องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาฯ ICH และ เฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @วัฒนธรรม