ครม. เสนอ ‘ทะเลสาบสงขลา’ เป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’
ครม. เห็นชอบ นำเสนอ 'ทะเลสาบสงขลา' เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาเป็น 'มรดกโลกทางวัฒนธรรม' ให้ทันการประชุม ครั้งที่ 46 ในเดือนกรกฎาคม ประเทศอินเดีย
วันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอ สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริม"ทะเลสาบสงขลา" ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements (เอกสารนำเสนอฯ) เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
รวมทั้งเห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกลงนามในเอกสารนำเสนอฯ ต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส)
และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ นำเสนอเอกสารนำเสนอฯ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
ทส. จะต้องดำเนินการจัดส่งเอกสารนำเสนอฯ ให้ศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 15 เม.ย. 2567 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อให้การรับรองในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 21-31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อให้สามารถจัดส่งเอกสารการนำเสนอเพื่อขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกได้ในปี 2568
Cr. Kanok Shokjaratkul
เนื่องจากสมาชิกจะต้องเสนอชื่อแหล่งมรดกฯ เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกอย่างน้อย 1 ปี ก่อนขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียน ดังนั้นขั้นตอนการพิจารณาจริงจะเกิดขึ้นในปี 2568
แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ของประเทศไทย ปัจจุบัน มี 4 แหล่ง ดังนี้
- เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
- นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร
- แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
- เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง
อยู่ระหว่างกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 2 แหล่ง ดังนี้
- อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
- แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ
Cr. Kanok Shokjaratkul
สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา
อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.ระโนด, อ.สทิงพระ, อ.สิงหนคร, อ.เมืองสงขลา
เป็นทะเลสาบน้ำกร่อยเพียงแห่งเดียวของประเทศ และเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่มีการตั้งถิ่นฐานรอบทะเลสาบ มีความสำคัญทางวัฒนธรรมสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในโลก
เป็นต้นกำเนิดของวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำกร่อย ความเชื่อ ประเพณี การตั้งถิ่นฐานและเมืองต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ทะเลสาบสงขลา
เป็นทะเลสาบแบบลากูน เป็นทะเลสาบน้ำกร่อยตามธรรมชาติ อยู่บริเวณชายฝั่งและเปิดเชื่อมต่อสู่ทะเล เป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่มีความหลากหลายซับซ้อน ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
มีการตั้งถิ่นฐานหลายแห่งบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับระบบนิเวศทะเลสาบการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ส่งผลให้การตั้งถิ่นฐานพัฒนาจนกลายเป็นชุมชนและเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ
และมีสิ่งก่อสร้างจากชุมชนเมืองโบราณที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลา มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองไว้อย่างดี ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก
Cr. Kanok Shokjaratkul
ประกอบด้วย 4 พื้นที่ คือ
- เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง
- เมืองโบราณสทิงพระ
- เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า
- เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง
โดยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ สามารถเข้าหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการนำเสนอ ดังนี้
- เกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นพื้นที่แสดงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
- เกณฑ์ข้อที่ 4 เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีการพัฒนาด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม
- เกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรมหรือการตั้งถิ่นฐานมนุษย์
Cr. Kanok Shokjaratkul
ทั้งนี้ ไม่มีแหล่งมรดกในบัญชีรายชื่อมรดกโลกที่เป็นทะเลสาบแบบลากูน และมีการตั้งถิ่นฐานที่แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญกับอารยธรรมอื่น และเป็นตัวอย่างของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์และหวงแหนมรดกเมืองเก่าสงขลาและชุมชนริมทะเลสาบสงขลา ส่งเสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยว