ไปชมพระอาทิตย์ขึ้นผ่าน ‘ยอยักษ์’ หลงรักน้อง ‘ควายน้ำ’ ที่ พัทลุง
'พัทลุง' เป็นเมืองรองที่ต้องไปเที่ยวชมสักครั้ง กับความสวยงามของ ‘ยอยักษ์’ ยามเช้าคู่กับพระอาทิตย์ขึ้น แล้วไปตามหาน้อง ‘ควายน้ำ’ ความแปลกหนึ่งเดียวในประเทศไทย
'พัทลุง' เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย มีศิลปวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ เมื่อมาถึงแล้วเสมือนเวลาถูกหยุดเอาไว้ ปล่อยความเนิบช้าเข้ามาสัมผัสกับจิตใจ ช่วยเติมพลังให้กับชีวิต
กลางเดือนกุมภาพันธ์ เดือนที่มีวันแห่งความรัก แต่เราเลือกไปสบตาดื่มด่ำมอบความรักให้กับธรรมชาติ สัตว์ป่า และหมู่มวลนกน้ำนานาพันธุ์กว่า 150 ชนิดที่จังหวัดพัทลุง
การเดินทางเริ่มต้นขึ้นด้วยเครื่องบิน จุดหมายปลายทางคือสนามบินตรัง เนื่องจาก พัทลุงไม่มีสนามบิน จากนั้นต่อรถตู้ไปยังจังหวัดพัทลุง เข้าสู่ที่พัก นำสัมภาระไปเช็คอิน จากนั้นก็ไปท่องเที่ยวกันเลย
สะพานเอกชัย จากพัทลุงไปสงขลา Cr. Kanok Shokjaratkul
- สะพานเอกชัย ที่ยาวที่สุด
จุดเด่นที่สุดตอนนี้ หรือไฮไลต์ที่ต้องมาชม คือ สะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หรือ สะพานเอกชัย
ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวงของทะเลสาบสงขลา เดิมชื่อว่า ถนนสายบ้านไสกลิ้ง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง – บ้านหัวป่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
แบ่งเป็น 3 ช่วง 1) จากบ้านไสกลิ้ง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ระยะทาง 5.9 กิโลเมตร ช่วงที่ 2) ทางยกระดับผ่านป่าพรุ และทางน้ำหลาก ระยะทาง 5.45 กิโลเมตร ช่วงที่ 3) ถึงบ้านหัวป่า อ.ระโนด จ.สงขลา 6.197 กิโลเมตร
น้อง 'ควายน้ำ' กำลังว่ายน้ำ Cr. Kanok Shokjaratkul
รถที่เรานั่งวิ่งข้ามสะพานจากทาง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ไปสู่ อ.ระโนด จ.สงขลา สองข้างทางมองไปได้กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา บรรยากาศดีมาก ตลอดเส้นทางมีป้ายแนะนำนกน้ำชนิดต่าง ๆ
ด้านล่างมองเห็นพืชน้ำมองดูเหมือนหญ้าสีเขียวเป็นหย่อม ๆ มีเรือชาวบ้านกำลังออกหาปลา แต่แล้วหางตาก็เหลือบเห็น ฝูงควายน้ำดำทะมึนว่ายน้ำกันมาเป็นสายยาว ๆ ตีคู่เข้าหาสะพานที่รถกำลังวิ่งผ่านพอดี
ชมน้อง 'ควายน้ำ' แบบใกล้ ๆ Cr. Kanok Shokjaratkul
- ‘ควายน้ำ’ น้องสบายดีไหม
บนสะพานเอกชัย มีจุดจอดรถให้ชมวิวอยู่หลายจุด เรารีบบอกคนขับว่า ช่วยจอดรถให้หน่อย จะขอถ่ายรูปน้องควายน้ำ คนขับจึงไปจอดให้ตรงจุดที่น้องควายน้ำมาแวะพักกินหญ้าเป็นประจำให้แทน
เมื่อมองดูน้อง 'ควายน้ำ' ชัด ๆ ท่าทางมีความสุขดี หุ่นเพียว ไม่มีไขมัน กินหญ้ากันไม่ยอมหยุด ฝูงนี้มีอยู่ราว 20 ตัว จริง ๆ แล้ว น้อง 'ควายน้ำ' ก็คือควายธรรมดาปกติ เป็นควายเลี้ยงของชาวบ้านแถวนี้
น้อง 'ควายน้ำ' มีความสุขดี Cr. Kanok Shokjaratkul
แต่มีความพิเศษสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่เหมือนควายที่อื่น เพราะรู้จักปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าฤดูกาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ยามหน้าแล้ง ระดับน้ำในทะเลน้อยลดต่ำลง สันดอนดินโผล่ขึ้นมา ก็ไปกินหญ้าอยู่บนนั้น แต่ถ้าเป็นหน้าน้ำ ระดับน้ำขึ้นสูง ทุ่งหญ้าแหล่งอาหารบนดินจมอยู่ใต้น้ำ ก็ดำน้ำลงไปกิน
น้อง 'ควายน้ำ' Cr. Kanok Shokjaratkul
ล่าสุด น้อง 'ควายน้ำ' หรือ 'ควายปลัก' แห่ง ทะเลน้อย ได้รับการประกาศจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ว่า ระบบการเลี้ยงควายปลักทะเลน้อยเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 อ่านรายละเอียดได้ที่ ควายปลักทะเลน้อย
ทะเลน้อย Cr. Kanok Shokjaratkul
- แสงแรกของวันที่ 'ปากประ'
หากว่าได้มาพักผ่อนที่จ.พัทลุง ควรมาพักที่ 'คลองปากประ' หรือ บ้านปากประ มีที่พักติดริมน้ำให้เลือกมากมาย ให้มองวิวชมดาวยามค่ำคืน
และไม่ควรลืมนัดหมายเรือให้มารับตอนตี 5 เพื่อออกทะเลน้อยไปชมยอยักษ์ท่ามกลางพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า
ยอยักษ์ คลองปากประ Cr. Kanok Shokjaratkul
'คลองปากประ' ตั้งอยู่ที่ บ้านปากประ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นคลองที่มีแม่น้ำหลายสายมาบรรจบกัน เป็นแหล่งอาหารและที่ชุมนุมของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด
ชาวบ้านจะสร้างเครื่องมือประมง ‘ยอยักษ์’ ขึ้นมาจับปลา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวประมงน้ำจืดแห่งนี้
ยอยักษ์ คลองปากประ Cr. Kanok Shokjaratkul
เรือเราออกไปตอนฟ้ามืด ตี 5:45 น. ความมืดเริ่มจางหาย แสงเช้าเริ่มปรากฎตัว พระอาทิตย์ค่อย ๆ ย่องออกมา แผ่แสงขยายไปทั่วท้องน้ำ
ชาวบ้านต่างออกมายกยอยักษ์ขึ้นไว้ แล้วใช้กระชอนด้ามยาวตักปลาขึ้นมา จากนั้นก็ปล่อยยอยักษ์ลงไปในน้ำอีกครั้ง แล้วสลับไปยกยอยักษ์อีกด้านหนึ่ง
ยอยักษ์ คลองปากประ Cr. Kanok Shokjaratkul
ความสวยงามของวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ในความเงียบสงบยามเช้า ไม่มีเสียงใด ๆ รบกวนโสตประสาท สายลมพัดผ่าน เราอยู่ท่ามกลางเวิ้งน้ำและเวิ้งฟ้า พระอาทิตย์ส่องแสงกระทบผิวน้ำเป็นประกายระยิบระยับ
มุ่งหน้าสู่ทะเลน้อย Cr. Kanok Shokjaratkul
- 'ทะเลน้อย' สวรรค์ของนักดูนก
ทะเลน้อย หรือ อุทยานนกน้ำทะเลน้อย เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมตลอดกาลของจ.พัทลุง
มีพื้นที่ติดกับ ‘พรุควนขี้เสี้ยน’ (ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย) ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็น (Ramsar Site) แห่งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2541
น้อง 'ควายน้ำ' หรือ 'ควายปลัก' แห่งทะเลน้อย Cr. Kanok Shokjaratkul
แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) คือ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ได้รับการแต่งตั้งอนุสัญญาแรมซาร์ เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล
กำหนดกรอบทำงานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่ออนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำ ปัจจุบันมีภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 168 ประเทศ
ถ้าอยากมาดู 'ทะเลน้อย' ช่วงที่สวยงามที่สุดต้องมาปลายเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่บัวหลากหลาายชนิดในทะเลน้อยกำลังออกดอกบานสะพรั่งเป็นสีชมพูไปทั่วท้องน้ำ
....................
สอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ https://www.nia.or.th โทร. 02 017 5555, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นครศรีธรรมราช โทร. 075-346-515-6