ปิดเทอมสร้างสรรค์ โคราชเบิกบาน เปิดพื้นที่เรียนรู้-เล่นบันดาลใจ
เมื่อการเล่นเป็นอีกหนึ่ง "ทุนชีวิต" ที่จะช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ ปิดเทอมสร้างสรรค์นี้ ชวนคนโคราช เปิดพื้นที่เรียนรู้-เล่นบันดาลใจ ร่วมสร้างความสุข การเรียนรู้ เสริมทักษะชีวิตด้านต่างๆ ให้หนูๆ
หากเด็กและเยาวชนทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจ จะส่งผลให้เกิดทั้งความสุขและการเรียนรู้ รวมถึงทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีโอกาสเล่นอย่างสร้างสรรค์และอิสระ จึงเป็นอีกพันธกิจสำคัญที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พยายามผลักดันสร้างแรงบันดาลใจแก่ภาคีเครือข่ายให้หันมามองเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้และพื้นที่เล่นให้กับลูกหลานทั่วประเทศไทย
ปิดเทอมฯ เดิ่นยิ้มปีสอง
เทศกาลโคราชเดิ่นยิ้มเบิกบาน ปีนี้ได้ถูกยกระดับเป็นงานเทศกาลสำคัญในช่วงปิดเทอมสำหรับเด็กๆ ระดับจังหวัดเป็นปีที่สองแล้ว ซึ่งมีเครือข่ายพลังเด็กเยาวชนยังยิ้มสร้างเสริมสุขภาวะ เครือข่ายสภาเด็กเยาวชนนครราชสีมา ภาคีเครือข่ายการเรียนรู้โคราช ร่วมจัดเทศกาลเดิ่นยิ้มเบิกบาน และจัดทำแผนที่ฐานข้อมูลทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมา ที่เปิดพื้นที่เล่น พื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่เรียนรู้ตลอดเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน 2567
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เล่าถึงงานนี้ว่า จริงๆ สสส. ไม่ได้สนับสนุนมาก เพราะ โคราช เขามีความเข้มแข็งอยู่แล้วทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่นที่เข้มแข็ง เราช่วยเสริมทุกคนมาร่วมกันคิดและออกแบบปฏิทินงานร่วมกันเพื่อให้มีกิจกรรมต่อเนื่อง ก็จะทำให้เมืองมีความคึกคักขึ้นมา มีการเปิดตัวเทศกาล ปิดเทอมสร้างสรรค์ พร้อมกันคือ นครราชสีมา และอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็น 2 ใน 4 จังหวัดนำร่องเมืองแห่งการเรียนรู้ เด็กๆ จะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2567
"สสส. ได้เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com รวบรวมข้อมูลกิจกรรมจากหน่วยงานทั่วประเทศ ทั้งกิจกรรมเสริมทักษะ จิตอาสา ฝึกงาน และเสริมรายได้ ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ / พื้นที่เรียนรู้ทั่วประเทศ สะดวกต่อการค้นหาของเด็กและเยาวชน หน่วยงานที่สนใจสามารถนำกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้ตลอดทั้งปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปีนี้ที่โคราชยังสามารถชวนภาคีที่จะมาร่วมทำกิจกรรมให้เด็กๆ ได้มากกว่า 60 พื้นที่ และมีเป้าหมายขยายเป็น 100 พื้นที่ ซึ่งจะทำให้ตลอดช่วงปิดเทอมปีนี้ เด็กๆ โคราชมีกิจกรรมได้ทำมากมาย" ณัฐยา กล่าว
กิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานว่า จังหวัดนครราชสีมาให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กและเยาวชนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ชัยวัฒน์ ชื่นกุศล จึงได้มอบหมายให้ตนเองมาร่วมกิจกรรมในวันนี้
กิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มอีกว่า ได้เห็นกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ ได้เห็นความตั้งใจของเด็กที่เขาอยากสื่อสารหรือแสดงออก กิจกรรมที่เขาคิดทำ ในรูปแบบของกลุ่มจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ไปต่อยอดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชน โคราช มีอาชีพมีรายได้ในอนาคตเช่นเดียวกัน ในอนาคตทางจังหวัดมีนโยบายอยากกระจายและผลักดันให้เกิดกิจกรรมนี้ไปทั่วทุกตำบลในโคราช ซึ่งปัจจุบันมีถึง 334 ตำบล ให้เด็กได้มีพื้นที่เล่นหรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งทาง พมจ.จังหวัด โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมีแผนในการขับเคลื่อนให้ครบทุกตำบลละหนึ่งแห่งต่อไป
แข็งแรงได้ เพราะเป้าหมายเดียวกัน
อรวรรณ ลาสูนย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้โคราชยิ้ม มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) กล่าวว่า คณะทำงาน 4 ภาคส่วน คือ 1.) ภาครัฐ 2.) เอกชน 3.) สถาบันการศึกษา และ 4.) ภาคประชาสังคม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็ก เยาวชนได้สร้างประสบการณ์จริง และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ปีนี้เราเชื่อมการทำงานกับภาคีเครือข่ายในนครราชสีมาถึง 15 หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ และ สสส. มอบโอกาสให้เราได้สร้างสรรค์ ทำให้รู้สึกว่างานยั่งยืนแข็งแรงมากขึ้น
อรวรรณ กล่าวเพิ่มอีกว่า ส่วนหัวใจการทำงานสำคัญที่เป็นจุดแข็งให้โคราชเดิ่นยิ้มเติบโตอย่างแข็งแรงยิ่งขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สองคือ ทุกคนพยายามขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทั้งเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน รู้สึกว่าเขามองเรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องเดียวกันมากขึ้น สิ่งนี้สะท้อนว่า การเล่น สามารถบันดาลใจทุกคนได้ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เรารู้สึกว่าการทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น เชื่อว่าจะเห็นอะไรเปลี่ยนแปลง ปีนี้มีความพิเศษคือเรายังมาเปิด Line Official ให้เขาได้เห็นข้อมูลข่าวสารได้เข้าถึงอย่างรวดเร็วมากขึ้น สำหรับปีหน้าอยากขยายเครือข่ายมากขึ้น อยากเจาะระดับอำเภอ หรือตำบล เนื่องจากบางพื้นที่ห่างไกลควรต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์อยู่ใกล้ๆ บ้าน
ทุกตำบลก็ทำได้
ณัฐยา บอกเล่าถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับการขับเคลื่อนภารกิจภายใต้ ปิดเทอมสร้างสรรค์ว่า เราได้บทเรียนหลายอย่าง เมื่อก่อนเคยมีความคิดว่าเราต้องทำทุกอย่างให้พร้อมแล้วคนในพื้นที่ก็หยิบไปใช้ แต่จริงๆ พอลองทำด้วยแนวคิดที่เปิดโอกาสให้ภาคีเขาลองคิดลองสร้างสรรค์เองว่าอยากทำอะไร กลับได้เห็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งทุกคนได้ในเรื่องความภูมิใจและเชื่อว่าน่าจะไปได้ไกลกว่า หน้าที่ สสส. เป็นเพียงการหนุนให้เหล่านักจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กได้ลงมือทำ เราจัดพื้นที่ให้ ซึ่งตอนนี้ปิดเทอมสร้างสรรค์มีการขับเคลื่อนแล้ว 20 กว่าจังหวัด และมีบางจังหวัดที่เขาอยากพัฒนาต่อเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ควบคู่กับการเป็นสังคมเรียนรู้ตลอดชีวิต
แนวทางการเดินหน้าก้าวต่อไปของ "ปิดเทอมสร้างสรรค์" ในพื้นที่ระดับภูมิภาค จึงมองไปถึงการให้ทุกท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดงานนี้ด้วยตัวเอง
"เราอยากให้ท้องถิ่นลุกมาเป็นเจ้าภาพในทุกหมู่บ้าน ตำบล ซึ่งในท้องถิ่นมีนักนันทนาการอยู่แล้ว หากมีการระดมความร่วมมือในพื้นที่ จัดสรรกิจกรรมง่ายๆ" ณัฐยา กล่าว