ตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู 5 แหล่ง ผู้บริโภคเสี่ยงภาวะภูมิแพ้

ตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู 5 แหล่ง ผู้บริโภคเสี่ยงภาวะภูมิแพ้

Thai-PAN สุ่มตัวอย่าง 30 ตัวอย่าง 22 จังหวัด ตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู 5 แหล่ง นักวิชาการออกมาเตือนว่า หากบริโภคเสี่ยงภาวะดื้อยาและภูมิแพ้

นอกจากสารเร่งเนื้อแดง(สารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์)ในเนื้อหมู ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และไม่อาจตรวจสอบได้ หากบริโภคเยอะๆจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เกิดภาวะวิงเวียนและปวดศีรษะ และยังมีอาการอื่นๆ อีก

ล่าสุดยังมีเรื่องยาปฏิชีวนะ Florfenicol สารตกค้างในเนื้อหมู ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สุ่มตรวจ 30 ตัวอย่าง 22 จังหวัด พบสารตกค้างในเนื้อหมู 4 แหล่ง ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ Florfenicol ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในคน แต่อนุญาตให้ใช้ในสัตว์

16.7 % พบว่ามีสารดังกล่าวตกค้าง ซึ่งเป็นสารที่กฎหมายไม่อนุญาตให้มีการตกค้างตามประกาศฉบับที่ 303 ของกระทรวงสาธารณสุข ถือได้ว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่เหมาะสมเป็นอาหารตามประกาศของกรมปศุสัตว์ ปี 2559 

ตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู 5 แหล่ง ผู้บริโภคเสี่ยงภาวะภูมิแพ้

5 แหล่งสารปนเปื้อนในเนื้อหมู

การตรวจเนื้อหมู เมื่อวันที่ 15-25 เมษายน 2567 ทั้งแหล่งตลาด โมเดิร์นเทรด และฟาร์มช็อป พบว่า มียาปฏิชีวนะตกค้าง 5 แหล่งจำหน่าย ได้แก่ 

  • 1.ร้านค้าห้องแถว สาขากาดเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 
  • 2.ตลาดนครปฐม จ.นครปฐม 
  • 3.Lotus’s ศาลายา จ.นครปฐม 
  • 4.ตลาดริมทางรถไฟ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 
  • 5.Farmesh จ.นครศรีธรรมราช 

ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มีข้อเรียกร้องว่า

1.เนื้อหมูทั้ง 5 ตัวอย่างที่ผิดมาตรฐาน และผิดกฎหมาย ต้องมีการดำเนินการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องตรวจสอบย้อนกลับและแถลงต่อสาธารณชน

2. ผู้จำหน่ายเนื้อหมูขนาดใหญ่ทั้ง 5 แหล่งที่ตรวจพบยาปฏิชีวนะเกินมาตรฐานในเนื้อหมู ต้องแถลงต่อสาธารณชนถึงผลดังกล่าว

3. หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ ต้องสร้างความเข้าใจและความรู้ต่อสังคมเรื่องยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ โดยชี้ให้เห็นประเภทของยา ข้อดี ข้อเสีย

นอกจากนี้ควรดำเนินการดังกล่าวเพื่อบรรลุเป้าแผน MR ในระดับชาติ ฉบับที่ 2  ซึ่งพูดถึงการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2564 ให้ได้

4. ควรมีมาตรการเฝ้าระวัง กลไกการแจ้งเตือนภัยอย่างเร่งด่วน โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม

ผลกระทบต่อผู้บริโภค 

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) กล่าวว่า  หากไม่ระมัดระวังในการใช้ยาปฏิชีวนะ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค ก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา และส่งผลต่อระบบนิเวศน์

“เราพบฟลอเฟนิคอล (Florfenicol) ยาปฏิชีวนะที่ตกค้างในเนื้อหมูหากบริโภคจะมีผลกระทบ 2 อย่าง คือ ทำให้เกิดภาวะดื้อยาและแพ้ยา แม้ไม่ต้องมีปริมาณสูงก็เกิดภาวะดังกล่าวได้ หากใช้ยาปฏิชีวนะโดยขาดความรู้ เชื้อแบคทีเรียจะมีภูมิต้านมากกว่าเดิม และดื้อยา โดยเฉพาะเชื้อไวรัสที่มีการปรับตัวเร็ว แม้จะพบ Florfenicol ตัวเดียว ไม่พบยาปฏิชีวนะตัวอื่น ไม่ได้แปลว่าไม่ได้ใช้ " ปัญหาการดื้อยา เป็นอีกวาระที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ แม้โรคระบาดหรือเชื้อเหล่านี้จะมองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง ในอดีตก็เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว

ตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู 5 แหล่ง ผู้บริโภคเสี่ยงภาวะภูมิแพ้

ภาครัฐควรตรวจสอบ

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อพบว่ามียาปฏิชีวนะในเนื้อหมูเกินมาตรฐาน จึงอยากเรียกร้อง ให้มีระบบแจ้งเตือนภัยเร่งด่วน (Rapid Alert)เพื่อให้คนในสังคมรับรู้ข้อมูล 

“หน่วยงานภาครัฐควรให้เครือข่ายผู้บริโภคตัวจริงมีส่วนร่วมเรื่องนี้  ผู้ประกอบการต้องมีระบบแจ้งตรงต่อภาครัฐ เมื่อพบผู้ผลิตที่ทำเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้อาหารมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค“
ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายเผยแพร่ เสนอว่า ควรมีการสนับสนุนให้ influencer ที่มีอิทธิพลต่อคนในสังคมนอกจากรีวิวเรื่องรสชาติ ราคา ควรสอบถามถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัยด้วย

“ขณะที่เนื้อสัตว์ที่ระบุว่าปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์ปกติ 2-3 เท่า  ส่วนเนื้อสัตว์ในตลาดทั่วไป ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มา แม้จะเป็นโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้าก็ระบุเพียง น้ำหนัก ราคา และวันหมดอายุ” 

ตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู 5 แหล่ง ผู้บริโภคเสี่ยงภาวะภูมิแพ้

ข้อเรียกร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

1. ผู้บริโภค ต้องมีส่วนในการเรียกร้องที่จะไม่รับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบแหล่งที่มี 
2. ผู้ประกอบการ ซึ่งตลาดอาหารนั้นมีขนาดที่ใหญ่มากเกือบ 5 แสนล้านบาท แบรนด์อาหารดังๆ ควรสร้างมาตรฐานเรื่องอาหารปลอดภัยไร้การปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ “ไม่รับซื้อเนื้อสัตว์ที่มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ” 
3.ผู้จัดหาและให้บริการเนื้อสัตว์ ทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสดที่มีศักยภาพสูง ควรมีแนวปฏิบัติเพื่อการตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหารปลอดภัย มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ และกำกับให้ซัพพลายเออร์ต้องแสดงหลักฐานว่าสินค้าปลอดการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เพื่อยุติการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมในฟาร์ม
4.ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ร้านค้าและแจ้งผลการเฝ้าระวังให้ประชาชนทราบ ผ่านระบบฐานข้อมูลที่เข้าถึงง่าย รวมทั้งเปิดรับข้อมูลจากผู้ใช้งานที่ต้องการแจ้งเบาะแสเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมในฟาร์ม