15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

ร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month ด้วยลิสต์หนังที่มีประเด็นหรือตัวละคร LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 77 มาให้ดูกัน

กลับมาอีกครั้งกับการรวบรวมหนังที่มีประเด็นหรือตัวละคร LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 77 สายต่าง ๆ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนมิถุนายน ของปี 2024 นี้ ซึ่งก็มีทั้งหนังที่เล่าเรื่องราวตัวละคร LGBTQ+ เป็นหลักจำนวน 15 เรื่อง แถมด้วยหนังที่สอดแทรกเนื้อหา LGBTQ+ เอาไว้ในฉากเล็ก ๆ อีกจำนวน 10 เรื่องด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1.THREE KILOMETRES TO THE END OF THE WORLD

กำกับโดย Emanuel Parvu (โรมาเนีย) สายประกวดหลัก-รางวัล Queer Palm

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

ขอเริ่มด้วยหนังที่ได้รับรางวัล Queer Palm สำหรับหนังที่มีประเด็น LGBTQ+ ยอดเยี่ยมประจำเทศกาลในปีนี้ ได้แก่หนังสายประกวดจากโรมาเนียเรื่อง Three Kilometres to the End of the World ผลงานการกำกับโดย Emanuel Parvu ซึ่งเล่าเรื่องราวของ Adi เด็กหนุ่มบ้านนอก ณ เมืองริมแม่น้ำดานูบที่ห่างไกลและได้กลับมาพักผ่อนที่หมู่บ้านซึ่งนับถือศาสนาคริสต์โรมันออร์ธอด็อกซ์กันอย่างเคร่งครัดในช่วงฤดูร้อน

วันหนึ่งเขาแอบนัดนักท่องเที่ยวหนุ่มละอ่อนจากในเมืองมาพูดคุยกันนอก nightclub โดยมีการจับไม้จับมือ ถือวิสาสะดึงนิ้วมาดูดเสี้ยนให้ เมื่อชาวบ้านวัยรุ่นชายในละแวกใกล้เคียงไปเห็น จึงใช้กำลังรุมเล่นงาน Adi จนเจ็บหนัก เขาทุลักทุเลพาตัวเองกลับบ้าน ทำให้ความลับที่เก็บงำเอาไว้นานต้องถูกเผยกับครอบครัวว่าเขามีจิตใจพิสมัยเพื่อนผู้ชาย

 

แต่แทนที่ครอบครัวของเขาจะสนับสนุนให้ท้าย ทุกคนกลับตั้งคำถามต่อ Adi ข้อใหญ่ ว่าเขาทำตัวชั่วช้าอย่างนั้นได้อย่างไร เดือดร้อนต้องเชิญบาทหลวงมาทำพิธีไล่เสนียดจัญไร ร่ายมนต์ให้ Adi ได้กลับมาเป็น ‘ผู้ชาย’ ที่ไม่หลงใหลไปกับเสน่ห์ของคนเพศเดียวกันอย่างผิดฝาผิดตัวเยี่ยงนี้!

 

หนังเล่ากรณี gay bashing ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงมีเกิดขึ้นในถิ่นชนบทหลาย ๆ แห่งอย่างชวนให้แสลงใจ บ่งบอกว่าสถานการณ์เช่นนี้ยังไม่ใช่เรื่องตกยุคพ้นสมัย หากยังคงเป็นอะไรที่มีดำเนินอยู่!

 

2.EMILIA PÉREZ

กำกับโดย Jacques Audiard (ฝรั่งเศส) สายประกวดหลัก รางวัล Jury Prize

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

หนังสายประกวดที่เควียร์มากที่สุดเรื่องหนึ่งประจำปีนี้ ได้แก่หนังเพลงอาชญากรรม musical crime noir เรื่อง Emilia Pérez ของผู้กำกับฝรั่งเศส Jacques Audiard ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Manitas del Monte เจ้าพ่อนักค้ายาจากเม็กซิโกที่ได้ว่าจ้าง Rita ทนายความสาวให้ช่วยเขาจัดการปิดบัญชีกิจการในตลาดมืดทุก ๆ อย่าง เพื่อที่เขาจะได้กลายร่างแปลงเป็นหญิงสาวนาม Emilia Pérez ถือครองเพศใหม่ที่ตรงกับหัวใจเบื้องลึกของเธอมากที่สุด

 

แม้จะต้องยุติบทบาทในฐานะ ‘สามี’ และ ‘บิดา’ ของ Jessi ผู้เป็นภรรยาและบรรดาลูก ๆ ตัวน้อย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Rita ที่จะทำให้ Emilia เชื่อมั่นว่า ทุกคนจะยังสุขสบายในเวลาที่ไม่มีเขา/เธอ

หนังเพลงเรื่องนี้ก็ไม่ได้นำเสนอกระบวนการเปลี่ยนเพศในช่วงกลางชีวิตของ Manitas/Emilia เพียงเท่านั้น (หนังมีฉากที่ Rita เดินทางมาหาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศในประเทศไทย) หากยังแสดงถึงรสนิยมความชอบพอทางเพศอันชวนให้งงงัน เมื่อ Emilia ในร่างสตรี สุดท้ายก็ไปมีความสัมพันธ์ฉันเลสเบี้ยนกับผู้หญิงคนอื่นอีกคำรบ!

 

3.MARCELLO MIO

กำกับโดย Christophe Honoré (ฝรั่งเศส-อิตาลี) สายประกวดหลัก

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

หนังสุดเควียร์อีกเรื่องในสายประกวดหลัก ก็ยังมี Marcello Mio ของผู้กำกับฝรั่งเศส Christophe Honoré งาน fiction ผสม non-fiction ซ้อนชั้นตัวละครกับตัวตนของบุคคลจริงกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย เมื่อผู้กำกับ Christophe Honoré ชวนให้นักแสดงหญิงเพื่อนรัก Chiara Mastroianni บุตรีของสองดาราระดับดาวค้างฟ้า Marcello Mastroianni (1924-1996) ผู้เป็นบิดาชาวอิตาลี กับสตรีที่ชื่อ Catherine Deneuve ผู้เป็นมารดาชาวฝรั่งเศส มารับบทเป็น Chiara Mastroianni ดาราลูกสาวที่จู่ ๆ ก็ลุกขึ้นมาแต่งตัวข้ามเพศเลียนแบบพ่อตัวเอง

 

เอาชุดสูท เนคไท เสื้อ กางเกงตัวเก่งของบิดามาสวมใส่ จนใคร ๆ เห็นก็ต้องตกใจเมื่อ Chiara Mastroianni ในชุดผู้ชายช่างดูละม้ายคล้ายคลึงกับ Marcello Mastroianni ผู้ล่วงลับเป็นอย่างมาก Catherine Deneuve เข้าฉากมาเห็นก็ยังหลากใจว่านี่คือลูกหรือผัวแล้วตัวฉันเป็นเมียหรือแม่! แปลความอะไรไม่ถูกแล้วว่าต้องทำตัวอย่างไร แถมผู้กำกับยังให้ Benjamin Biolay อดีตคนรักเก่าของ Chiara Mastroinanni มารับบทเป็นสามีคนปัจจุบัน!

 

และที่เควียร์กว่านั้นคือ Marcello ในร่าง Chiara ยังจะไปตกหลุมรักกับทหารเกย์หนุ่มอังกฤษเข้าไปตีสนิทถึงในค่าย คืองงไปหมดว่านี่ใครเพศไหนอะไรอย่างไร กับหนังที่ใช้สูตรคูณไขว้สลับขั้วเพศจนแยกประเภทไม่ถูกเลยว่ามันคือหนังแนวไหน!

 

4.BIRD

กำกับโดย Andrea Arnold (สหราชอาณาจักร) สายประกวดหลัก

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

น่าจะเป็นผลงานที่เควียร์ที่สุดแล้วที่ผู้กำกับหญิง Andrea Arnold จากสหราชอาณาจักรเคยสร้างมา หนังเรื่อง Bird ว่าถึงเรื่องราวชีวิตของ Bailey สาวทอมบอยวัย 12 ปีที่เพิ่งจะเริ่มมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก เธออาศัยอยู่ตามลำพังกับ Bug (Barry Keoghan) บิดาวัยรุ่น กับ Hunter พี่ชายในเขตชุมชนแออัดทางเหนือของเมืองเคนท์ ซึ่งพอ Bailey มีเมนส์ ทั้งพ่อและพี่ก็ไม่รู้วิธีไม่มีความเห็นว่าจะให้คำแนะนำอย่างไร ปล่อยให้เธอใช้ชีวิตในวัยสาวด้วยตัวเอง

 

วันหนึ่ง Bailey ก็ได้พบกับบุรุษลึกลับนาม Bird (Franz Rogowski) ที่ชอบสวมกระโปรงโทงเทงแทนกางเกง เมื่อสองดวงวิญญาณที่จมอยู่กับความเปลี่ยวเหงาวังเวงมาเจอกัน ทั้งคู่จึงพัฒนาความสัมพันธ์ แม้ว่ามันยากจะระบุได้ว่ามิตรภาพแบบนี้มีชื่อว่าอะไร ในขณะที่อภินิหารที่ชายผู้ดูไม่ค่อยเป็นชายอย่าง Bird เก็บงำไว้ จะค่อย ๆ เติมเต็มหัวใจ Bailey ได้อย่างงดงาม

 

หนังผสานความดิบและสมจริงของสถานการณ์ส่วนใหญ่ ให้เข้ากับฉากที่ออกจะ fantasy เหนือจริงในช่วงท้ายในลีลาสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ดูสร้างสรรค์ดี กับภาพชีวิตร่วมสมัยที่กรอบกำหนดทางเพศเริ่มทลายเส้นแบ่งประเภทจนทุกอย่างกลายเป็นความพร่าเลือน!

 

5.LIMONOV-THE BALLAD

กำกับโดย Kirill Serebrennikov (อิตาลี-ฝรั่งเศส-สเปน) สายประกวดหลัก

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

สร้างจากนิยายฝรั่งเศส Limonov (2011) เขียนโดย Emmanuel Carrère เล่าเรื่องราวประวัติชีวิตของ Eduard Limonov (แสดงโดย Ben Whishaw) นักเขียน กวี และนักกิจกรรมการเมืองชาวรัสเซีย ตั้งแต่ตอนเป็นแรงงานในโรงงานที่ยูเครน จนต่อมาก็มีภรรยานาม Elena

 

ทั้งคู่พากันโยกย้ายไปยังกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จน Elena หนีไปมีชายคนใหม่ Limonov เลยย้ายไปทำงาน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะระเห็จไปเป็นทหารร่วมรบในสงครามบอลข่าน โดยเขาได้ถ่ายทอดความคิดและอุดมการณ์ผ่านงานเขียนทั้งนวนิยาย บทความ และกวี ตลอดชีวิตการทำงานในช่วงครึ่งศตวรรษหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา

 

แต่พฤติกรรมที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่า Limonov จะเป็นบุรุษที่มีรสนิยมทางเพศเป็นชายรักหญิงโดยทั่วไป เขากลับมีใจเลื่อมใสและสนับสนุนให้ทุกสังคมส่งเสริมเสรีภาพทางเพศ ถึงขั้นไปขอเดทกับหนุ่มผิวสีไร้บ้านในสหรัฐอเมริกาอยากลองรับบทบาทเป็นภริยาของผู้ชายดูสักครั้ง!

แถมยังประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าสุภาพบุรุษทุก ๆ นายควรได้รับประสบการณ์แบบนี้สักทีในชีวิต อย่างที่เขาเคยได้รับอภิสิทธิ์แห่งการตกเป็นฝ่ายรับของผู้ชาย แม้ว่าเขาเองก็ไม่ได้สุขสมอารมณ์หมายในกิจกรรมครั้งกระนั้นเลยก็ตาม!

 

6.THE APPRENTICE

กำกับโดย Ali Abbasi (แคนาดา-เดนมาร์ก-ไอร์แลนด์) สายประกวดหลัก

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

หนัง biopic เล่าเรื่องราวการก้าวเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970s-1980s ของ Donald Trump ก่อนจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2017-2021 ว่าเขามีเคล็ดลับหรือไม่ลับประการใดก่อนจะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจสุดหินในดินแดนแห่งโอกาสแผ่นผืนนี้

 

ซึ่งผู้กำกับ Ali Abbasi ก็ได้นักแสดงหนุ่มที่เพิ่งคว้ารางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมจากเทศกาลเบอร์ลิน Sebastian Stan มารับบทเป็น Donald Trump ประกบกับตัวละครสำคัญ Roy Cohn ซึ่งแสดงโดย Jeremy Strong เจ้าของตำแหน่งพ่อมดธุรกิจการเงินที่จะมาเป็นที่ปรึกษาคอยแนะนำ Donald Trump ในเวลานั้นว่า เขาจะต้องประพฤติตัวเยี่ยงชาวอนารยะ barbaric อย่างไรในการที่จะ ‘อยู่ได้’ ในแวดวงอันโสมมนี้

 

โดยมุกที่น่าขำมากที่สุดในหนังก็คือ Roy Cohn เป็นคนสอนให้ Donald Trump ทำการ blackmail ผู้มีอิทธิพลที่ทำตัวสัปดนแอบไปมีอะไรกับผู้ชายด้วยกัน ในขณะที่หลังม่านชีวิตส่วนตัวของ Roy Cohn นั้น เขาก็นิยมการปลุกปล้ำโรมรันและมีเพศสัมพันธ์กับหนุ่ม ๆ หุ่นล่ำทำตัวไม่ได้ต่างจากเหยื่อการ blackmail ของเขาเลย!

 

7.THE SHAMELESS

กำกับโดย Konstantin Bojanov (สวิตเซอร์แลนด์-บัลแกเรีย-ฝรั่งเศส-ไต้หวัน-อินเดีย) สาย Un Certain Regard

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

หนังความรักต้องห้ามระหว่างสองสาวเลสเบี้ยนจากอินเดีย แต่กำกับโดยผู้กำกับบัลแกเรีย Konstantin Bojanov เล่าเรื่องราวของ Renuka หญิงมุสลิมนอกศาสนาที่หากินด้วยอาชีพ ‘โสเภณี’

 

คืนหนึ่งเมื่อเธอมีความจำเป็นต้องใช้มีดสังหารนายตำรวจชายคนหนึ่งจนตาย Renuka จึงต้องหายตัวหลบหนีไป ณ ย่านโคมแดงแหล่งโสเภณีทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเหตุให้ Renuka ได้พบรักกับ Devika สาวน้อยวัยใสที่มารดาและคุณยายบังคับให้เธอกลายเป็นนาง ‘เทวทาสี’ มีหน้าที่เป็นนางบำเรอรับใช้ทวยเทพ ทั้งยังบังคับให้เธอเสพสมกับเศรษฐีที่ยินดีแลกซื้อพรหมจารีไม่ต่างจากการค้าประเวณี

 

ทั้ง Renuka และ Devika จึงขอพิสูจน์รักแท้ด้วยการพากันหนี แต่มันคงไม่ง่ายโดยเฉพาะเมื่อ Renuka ยังมีคดีดำเป็นชนักติดหลังอยู่!

 

ดูจากเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องราวของโสเภณีและกลุ่มคนที่อยู่นอกชนชั้นวรรณะฐานันดรของคู่ตัวละครที่เควียร์ได้ถึงขนาดนี้ คงไม่มีผู้กำกับอินเดียรายไหนหาญกล้าจะหยิบมาเล่าให้ฟัง ซึ่งผู้กำกับหนัง ‘คนนอก’ อย่าง Konstantin Bojanov ก็ใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้ ในการขยี้ประเด็นได้อย่างหนักหน่วงและสมจริง พร้อมการแสดงอันชวนขนลุกของนักแสดงหญิง Anasuya Sengupta ในบท Renuka จนสามารถคว้ารางวัลทางการแสดงในสาย Un Certain Regard ไปครองได้ในที่สุด

 

8.WHEN THE LIGHT BREAKS

กำกับโดย Rúnar Rúnarsson (ไอซ์แลนด์-เนเธอร์แลนด์-โครเอเชีย-ฝรั่งเศส) สาย Un Certain Regard

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

เนื้อหาหลัก ๆ ของ When the Light Breaks ของผู้กำกับ Rúnar Rúnarsson จากไอซ์แลนด์ อาจจะเล่าถึงการสูญเสียคนรักของคู่รักชาย-หญิงที่ดูเป็นสิ่งธรรมดาทั่วไป

 

Una เป็นนักศึกษาสาวจากวิทยาลัยศิลปะ เพิ่งจะสูญเสียแฟนหนุ่มของเธอจากอุบัติเหตุ โดนสะเก็ดแรงระเบิดจากในอุโมงค์ทำให้รถยนต์ที่เขาขับเสียหาย ตายคาพวงมาลัยอย่างที่ไม่มีใครเคยนึกฝันมาก่อน โศกนาฏกรรมครั้งนี้กัดกร่อนหัวใจ Una จนเธอไม่สามารถจะรับมือไหว ต้องใช้เวลาในการทำใจ แม้ว่าสภาพชีวิตร่วมสมัยจะทำให้เธอเข้าใจในเรื่องสัจธรรมแห่งการเกิดแก่เจ็บตายได้ดีกว่าคนในยุคสมัยก่อนเพียงไหนก็ตาม

 

แต่เมื่อ Una ถูกเพื่อนหญิงอีกคนถามถึงความสัมพันธ์ Una ก็ตอบว่าความจริงแล้วนั้นเธอเป็นกลุ่มคน pansexual คือสามารถคบหากับ ‘มนุษย์’ เพศไหนก็ได้ เพียงแต่บังเอิญว่า ‘ความรักครั้งสุดท้าย’ ที่เธอเพิ่งจะสูญเสียไปเป็น ‘ผู้ชาย’ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเธอเป็นหญิง ‘รักต่างเพศ’ แต่เพียงอย่างเดียว!

 

9.MY SUNSHINE

กำกับโดย Hiroshi Okuyama (ญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส) สาย Un Certain Regard

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

ส่วนเนื้อหาหลักของหนังญี่ปุ่นเรื่อง My Sunshine ของผู้กำกับ Hiroshi Okuyama ก็เล่าเรื่องราวของวัยรุ่นวัยรักวัยใสระหว่างตัวละครเด็กหญิงและเด็กชายเป็นหลักใหญ่เช่นกัน

 

Takuya หนุ่มน้อยนักเรียนมัธยมต้นวัยกำลังซน กำลังค้นหาตัวตนและความชอบ เลยตอบรับไปลองเล่นกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งกับทีมโรงเรียน แวะเวียนไปไม่กี่วันเขาก็หันหลังให้กีฬาชนิดนี้ แล้วดันไปมีความรู้สึกรักครั้งแรกกับ Sakura นักเรียนหญิงอีกคนที่กำลังฝึกซ้อมกีฬา ‘สเก็ตลีลา’ กับคุณครูหนุ่ม Arakawa อยู่

 

เห็นแบบนั้นแล้ว Takuya ก็รู้สึกอยากถูกประกบคู่ลีลาศวาดลวดลายสเก็ตลีลากับ Sakura ดูสักครั้ง เขาจึงไปแสดงความตั้งใจกับครู Akarakawa จนสมหวัง ได้รับการแต่งตั้งเป็นคู่เต้นคู่ซ้อมกับ Sakura หาเวลามาซุ่มซ้อมเพื่อร่วมการแข่งขันเข้าชิงรางวัล!

 

แต่สถานการณ์เริ่มพลิกผันเมื่อ Sakura พบว่า Arakawa หาได้เป็น ‘ครูหนุ่ม’ ในแบบที่เธอฝัน หากเขาเป็นชายเกย์ที่ชอบและอาศัยอยู่กินกับผู้ชายด้วยกัน ทำให้ Sakura ไม่คิดหันกลับมาเล่นกีฬาชนิดนี้อีกต่อไป!

 

หนังเล่าเรื่องราวได้อบอุ่นละเมียดละไมจริงใจในทุกความเจ็บปวด โดยเฉพาะความรวดร้าวที่สร้างรอยแผลให้เหล่าเยาวชนไร้ประสบการณ์ได้อย่างมหาศาลโดยเฉพาะเมื่อมันเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยผ่านพบมาก่อน!

 

10.VIET AND NAM

กำกับโดย Minh Quý Truong (เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-สิงคโปร์-ฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์-อิตาลี-เยอรมนี-สหรัฐอเมริกา) สาย Un Certain Regard

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

หนังเวียดนาม Viet and Nam ของผู้กำกับ Minh Quý Truong ที่ดูจะโหมประกาศประชาสัมพันธ์ตนเองว่าเป็นหนังเกี่ยวกับคู่รักเกย์ชนชั้นแรงงานอย่างชัดเจนตั้งแต่เรื่องย่อและโปสเตอร์ แต่จริง ๆ แล้วหนังตั้งใจนำเสนอภาพชีวิตของเหล่าคนรุ่นใหม่ ในยุคสมัยปี 2001 ว่าพวกเขามีบาดแผลจากการเป็นลูกหลานของชาวเวียดนามในอดีตกันอย่างไร โดยเฉพาะการได้เติบโตมาเป็นบุตรของทหารที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนามเมื่อหลายทศวรรษก่อน

 

ตัวละครหลักจริง ๆ ของหนังจึงควรจะเป็นฝั่ง Nam เกย์หนุ่มแรงงานชาวเหมืองถ่านหินที่กำลังอินเลิฟกับ Viet เพื่อนแรงงานหนุ่มเหมืองถ่านหินด้วยกัน พวกเขามักจะหลบไปร่วมรักกันในหลุมถ้ำถ่านหินลับสายตาผู้คน แต่ฝ่าย Nam ทนการใช้ชีวิตในประเทศนี้ไม่ได้อีกต่อไป เขาตัดสินใจอพยพไปยังประเทศใหม่ แต่ก่อนจะจากไปเขาและครอบครัวต้องช่วยกันตามหาศพบิดาที่สละชีวิตร่วมรบในสงครามเวียดนามให้พบเสียก่อน

 

อย่างไรก็ดีทั้งตัวละครคู่เกย์และการเร่ตระเวนหาร่างบิดากลับเป็นเนื้อหาที่ผู้กำกับหาได้สนใจพัฒนามากไปกว่าการนำเสนอบรรยากาศและลีลาเฉพาะตัวในการทำหนังที่อาศัยพลังสุนทรีย์แห่งการเป็นงานกวีนิพนธ์มาถ่ายทอดความคิดและตัวตนของผู้กำกับ จนยากจะที่หยิบจับความหมายจากรายละเอียดทั้งหมดของเรื่องราว!

 

11.THE SECOND ACT

กำกับโดย Quentin Dupieux (ฝรั่งเศส) สาย Out of Competition หนังเปิดเทศกาล

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

หนังฝรั่งเศสเปิดม่านเทศกาลในปีนี้ เป็นหนังตลกที่มีดาราดังมาร่วมกันเดินพรมแดงถึงสี่ราย คือ Louis Garrel, Raphaël Quenard, Vincent Lindon และ Léa Seydoux ทั้งหมดต่างจับคู่กันมารับบทเป็นนักแสดงที่กำลังแสร้งซ้อมต่อบทหนัง

 

โดย Louis Garrel เป็น David หนุ่มไบเซ็กชวลที่ถูกสาว Florence ซึ่งเล่นโดย Léa Seydoux ตามจีบ บีบบังคับให้เขาต้องเรียกคู่หูเพศบุรุษนาม Willy ที่เล่นโดย Raphaël Quenard มาเป็นคนคอยขัดดอกบอกรักสาว Florence แทน ในขณะที่ Florence ก็ควงแขนบิดานาม Guillaume แสดงโดย Vincent Lindon มาคอยสอดส่องแฟนหนุ่มคนใหม่ จนสถานการณ์กลายเป็นความบรรลัยเมื่อ Guillaume ดูจะไม่สามารถพูดจาเข้าหูผู้ใดในร้านอาหารแห่งนั้นเลย!

 

แต่ก่อนจะมาถึงฉากเฉลยเรื่องราวในร้านอาหาร หนังก็ให้เวลากับสองฉาก long take อันยาวนานระหว่างคู่ David กับ Willy และคู่ Guillaume กับ Florence ที่ต่างเดินผ่านทุ่งกันหลายสิบนาที โต้ตอบสนทนากันโดยไม่มีการตัดเลยแม้สักหนึ่งคัท!

 

ซึ่งเนื้อหาก็จิกกัดทั้งปรากฏการณ์ woke ต่อต้านการเหยียดเพศทรานส์และรูปร่าง การอ้างอิงถึงกระแส #MeToo ที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันแทบจะแตะเนื้อต้องตัวกันไม่ได้ ก่อนจะค่อย ๆ คลี่คลายว่านักแสดงแต่ละรายมีรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร ชูให้เรื่อง sexual identity เป็นประเด็นใหญ่ที่ถ้าไม่พูดถึงก็คงจะกลายเป็นงานตกยุคตกสมัยไปในทันที!

 

12.MISERICORDIA

กำกับโดย Alain Guiraudie (ฝรั่งเศส-สเปน-โปรตุเกส) สาย Cannes Première

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

ผลงานใหม่ของผู้กำกับ Alain Guiraudie ที่เคยนำหนังโป๊เกย์เรื่อง Stranger by the Lake มาบุกฉายในสาย Un Certain Regard ที่คานส์มาแล้วเมื่อปี 2013 มาครั้งนี้เขาเล่าเรื่องราวคล้าย ๆ กับหนังเรื่อง Teorema (1968) ของ Pier Paolo Pasolini

 

เมื่อ Jérémie หนุ่มหน้าละอ่อน เดินทางย้อนกลับมาร่วมงานศพยังบ้านเกิดในชนบทเมืองอาร์เดชทางตอนใต้ หลังทราบว่า Jean-Pierre เจ้านายเก่าได้ล้มตาย ทิ้งให้ Martine ผู้เป็นภรรยาเป็นหม้าย และบุตรชายวัยผู้ใหญ่ Vincent ต้องกำพร้าพ่อ

 

Martine ขอร้องแกมบังคับให้ Jérémie พักค้างคืนที่บ้านจะได้ไม่ต้องฝืนสังขารขับรถกลับในตอนกลางคืน Jérémie ไม่ขัดขืนและยอมขอค้าง แต่ยิ่งทั้งคู่พูดคุยสางอดีตกัน Martine ก็ยิ่งมั่นใจว่าหนุ่มหล่อ Jérémie จะต้องเคยมีความสัมพันธ์ฉันคนรักกับอดีตสามีของเธอแน่ ๆ!

 

แต่เสน่ห์ของ Jérémie ไม่เพียงแต่มัดใจของ Martine เท่านั้น เพราะ Vincent ก็ดูจะมีความรู้สึกผูกพันกับ Jérémie เหมือนกัน แม้แต่บาทหลวงจากโบสถ์ในละแวกนั้นก็ยังหันมาสนใจในความน่ารักของ Jérémie ด้วยอีกคน หนังตลกออกแนวสัปดี้สัปดนที่ชวนให้คิดถึงงานของคนทำหนังอย่าง Bertrand Blier กันเลยทีเดียว!

 

13.TO LIVE, TO DIE, TO LIVE AGAIN

กำกับโดย Gaël Morel (ฝรั่งเศส) สาย Cannes Première

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

หนังฝรั่งเศสอีกเรื่องจากสาย Cannes Première ที่ตั้งใจเล่าถึงตัวละครเกย์และไบเซ็กชวลอย่างไม่มีมิดเม้ม ย้อนเข็มนาฬิกาไปยังช่วงยุค 1990s ที่โรค AIDS จากเชื้อ HIV ยังคงระบาดหนักในหมู่เกย์

 

Cyril เป็นช่างภาพศิลปะชื่อดัง เขาเป็นเกย์ และสงสัยว่าตนเองกำลังมีเชื้อ HIV วันหนึ่งเมื่อ Sammy หนุ่มผิวสีย้ายเข้ามาอาศัยตรงข้ามอพาร์ทเมนต์ของ Cyril พร้อมด้วย Emma ภรรยาและ Nathan บุตรชายวัยแบเบาะ Cyril เห็นว่า Sammy และ Nathan เหมาะจะเป็นนายแบบให้เขาในงานชิ้นต่อไป จึงชักชวนให้มาร่วมงาน

 

Sammy ตอบรับในฐานะเพื่อนบ้านที่ดี ก่อนที่ทั้งคู่จะเปิดเผยความในใจว่าต่างก็เสน่หาในเนื้อตัวผู้ชายด้วยกัน พยายามจะร่วมรักกันจน Cyril เป็นฝ่ายดันอก Sammy ออก เพื่อบอกว่าเขาอาจจะมีเชื้อ HIV อยู่ในตัว!

 

หนังสะท้อนกลับไปถึงห้วงเวลาที่โรค AIDS ยังเป็นสิ่งน่ากลัว ไม่มียารักษาให้หาย และเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความรักใคร่ของชายเกย์แม้จะมีถุงยางอนามัย โดยอาศัยประสบการณ์บางส่วนจากผู้กำกับเองมาถ่ายทอดเป็นบทของหนัง ‘รักสามเศร้า-เราสามคน’ เรื่องนี้

 

14.THE BELLE FROM GAZA

กำกับโดย Yolande Zauberman (ฝรั่งเศส) สาย Special Screening

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

ก่อนหน้านี้ผู้กำกับหญิงฝรั่งเศส Yolande Zauberman เคยทำสารคดีเรื่อง M (2018) เกี่ยวกับการกระทำชำเราในกลุ่มชุมชนเคร่งศาสนายูดาห์ในอิสราเอล จากนั้นเธอได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสาวทรานส์จากปาเลสไตน์ที่เดินเท้าจากดินแดนฉนวนกาซ่า มายังถนนฮัทนูฟา ณ เมืองเทลอาวิฟ ในอิสราเอล เพื่อค้าประเวณี

 

ผู้กำกับ Yolande Zauberman จึงตัดสินใจเดินทางไปยังถนนแห่งคาวโลกีย์แห่งนี้ เพื่อออกตามหาสตรีข้ามเพศจากฉนวนกาซ่าหรือ The Belle of Gaza ที่น่าจะทำมาหากินอยู่บนถนนฮัทนูฟาแห่งนี้ โดยสัมภาษณ์โสเภณีสาวทรานส์นับสิบรายว่าพอจะมีเบาะแสของ The Belle of Gaza นางนี้ไหม

 

แต่เรื่องราวที่ได้ฟังจากปากของสาวทรานส์แต่ละรายกลับชวนให้ต้องสะดุ้งสะเทือนใจ เพราะพวกเธอแต่ละคนต้องฝ่าผจญกับอะไร ๆ มามากมาย ไม่ว่าจะแรงกดทับจากศาสนา ครอบครัว หรือความกลัวจากสงคราม!

 

โดยในระหว่างช่วงของการตอบคำถาม สาวทรานส์นางหนึ่งก็ได้เล่าว่าเธอต้องเก็บหอมรอมริบอย่างหนักขนาดไหนเพื่อที่จะได้ไปผ่าตัดแปลงเพศที่ประเทศไทย!

 

15.BLOCK PASS

กำกับโดย Antoine Chevrollier (ฝรั่งเศส) สาย Critics’ Week

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

ปิดท้ายด้วยหนังจากสาย Critics’ Week สัญชาติฝรั่งเศสเรื่อง Block Pass ของผู้กำกับ Antoine Chevrollier เล่าเรื่องราวของ Willy และ Jojo เป็นสองหนุ่มเพื่อนซี้ที่เติบโตมาด้วยกัน ทั้งคู่รักการประชันความเร็วด้วยการบิดคันเร่งมอเตอร์ไซค์คู่ใจที่ต้องไวจนสามารถวิ่งตัดผ่านถนนใหญ่โดยไม่โดนรถชนได้ ให้พร้อมเข้าชิงชัยในการแข่งขันที่กำลังจะใกล้เข้ามา

 

แต่คืนหนึ่ง Willy ก็ได้เห็นกับตาว่า Jojo มีรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร เมื่อเขากำลังเข้าด้ายเข้าเข็มกับหนึ่งในพี่ใหญ่ในแก๊ง กลายเป็นภาพแสลงตาที่ Willy จะไม่มีวันเข้าใจเลยว่า ทำไม Jojo จึงไม่สารภาพเรื่องนี้ให้เขาได้รับรู้ก่อน

 

โดยคนที่จะเดือดร้อนมากที่สุดถ้าได้รู้ความลับก็คือพ่อของ Jojo เอง ยิ่งเมื่อมีเหตุการณ์คลิปลับของ Jojo หลุดว่อนเน็ตมาเป็นตัวเร่ง เขาจึงยิ่งวิตกหวั่นเกรงว่าบิดาจะมาเห็นไหม กลายเป็นความกลุ้มอกกลุ้มใจที่ไม่สามารถจะใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขได้อีกเลย

 

จากเรื่องราวที่อาจจะฟังดูเฉย ๆ แต่เมื่อได้การแสดงและการสร้างตัวละครที่สดใหม่และไม่เชย มันเลยกลายเป็นหนังที่ยังน่าดูได้ ต่อให้ธีมหลักของมันอาจจะดูซ้ำซากขนาดไหนก็ตาม!

 

15+10 หนัง LGBTQ+ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024

 

 

นอกเหนือจากหนังทั้ง 15 เรื่องนี้แล้ว เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนี้ก็ยังมีหนังที่เล่าถึงตัวละคร LGBTQ+ เป็นส่วนสมทบอยู่อีกหลายเรื่อง เช่น ใน CAUGHT BY THE TIDES ของ Jia Zhang-ke, MOTEL DESTINO ของ Karim Aïnouz และ KINDS OF KINDNESS ของ Yorgos Lanthimos ก็มีฉากที่ตัวละครชายอาวุโสพยายามโอ้โลมปฏิโลมกับคนหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าอย่างมีเลศนัย

 

เรื่อง THE GIRL WITH THE NEEDLE ของ Magnus von Horn และ PARTHENOPE ของ Paolo Sorrentino ก็มีฉากคล้าย ๆ กันแต่เป็นตัวละครฝ่ายสตรี

 

เรื่อง ARMAND ของผู้กำกับ Halfdan Ullmann Tøndel ที่แม้เราจะไม่ได้เห็นตัวละครบุตรชายของผู้ปกครองที่ต้องมาตกลงปรองดองกันที่โรงเรียนทั้งสองฝ่าย แต่บุตรชายฝ่ายหนึ่งก็ใช้วาจาข่มขู่ว่าจะข่มขืนเพื่อนชายทางประตูหลังหากไม่เชื่อฟังทั้ง ๆ ที่เขามีอายุเพียงแค่ 6 ปี ที่เป็นต้นชนวนของเรื่องราวทั้งหมด!

 

เรื่อง THE SUBSTANCE ของ Coralie Fargeat ก็ให้นักเต้นเกย์หุ่นล่ำเป็นตัวแทนของชายรักสวยรักงามดูแลรูปร่าง เรื่อง MONGREL ของ Chiang Wei Liang และ You Qiao Yin ก็มีฉากที่ ‘อุ้ม’ ตัวละครแรงงานชาวไทย ต้องใช้มือช่วยระบายความใคร่ให้กับผู้ป่วยทางสมองเพศชายที่เขาต้องคอยดูแล

 

สารคดี ERNEST COLE, LOST AND FOUND ของ Raoul Peck ที่นำเสนอแฟ้มภาพของตากล้องแอฟริกาใต้ชื่อดัง Ernest Cole ซึ่งเพิ่งค้นพบเมื่อปี 2017 ในเซฟของธนาคารในสวีเดน เผยให้เห็นภาพชีวิตคนผิวสีทั้งที่แอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็มีเนื้อหาว่าถึงการแสดงตัวตนของชายเกย์ที่จูบกันในที่สาธารณะ

 

ในขณะที่หนังจีนเรื่อง AN UNFINISHED FILM ของ Lou Ye ที่เล่าเรื่องราวการรื้อฟื้นนำภาพ footage หนังเก่า ๆ ที่เขาเคยถ่ายไว้ในฮาร์ดดิสก์โบราณเอามาสานต่อขอเอาใหม่กับทีมถ่ายหนังในช่วงโควิด ก็มีฉาก boys’ love แนว ‘เพื่อนสนิท’ ที่ Lou Ye ตัดสินใจตัดออกไปจากเรื่อง Spring Fever (2009) ซึ่งก็ช่างนำเสนอออกมาได้อย่างน่ารักน่าชัง!