เปิดฉากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 77 ประจำปี 2024
ช่วงเปิดม่านเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2024 มีทั้งหนังฝรั่งเศส จีน ยูเครน ไอซ์แลนด์ อาร์เจนตินา แคนาดา มาฉายให้ได้ชมกัน แต่ละเรื่องมีความน่าสนใจตรงไหน ตามไปอ่านกันได้
เบิกม่านกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับงานพิธีเปิดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 77 เมื่อค่ำคืนวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งก็จะจัดฉายหนังนานาชาติรวมจำนวนกว่า 200 เรื่อง ณ โรงฉายหลักคือ Palais des Festivals และโรงฉายต่าง ๆ ทั่วเมืองคานส์ ไปจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 ซึ่งเป็นวันประกาศผลรางวัล
เทศกาลในปีนี้เปิดตัวกันอย่างคึกคักด้วยหนังฝรั่งเศสนอกสายประกวดเรื่อง The Second Act ของผู้กำกับ Quentin Dupieux ที่ได้ดาราดังอย่าง Louis Garrel (David), Raphaël Quenard (Willy), Vincent Lindon (Guillaume) และ Léa Seydoux (Florence) มาร่วมแสดงอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เปิดฉากการเดินพรมแดงได้อย่างอลังการ ด้วยงานแนวตลกจิกกัดวงการสร้างทำหนังเรื่องนี้
โดย Louis Garrel และ Raphaël Quenard รับบทบาทเป็นเพื่อนสองคู่หู David กับ Willy เมื่อฝ่าย David มีหญิงสาวสวยนาม Florence มาตามจีบ แล้วบีบบังคับให้เขามาพบกันที่ร้านอาหาร Le deuxième acte หรือ The Second Act โดยฝ่ายหญิงได้พาบิดา Guillaume มาดูตัวว่าที่ลูกเขยด้วย แต่ David กลับไม่รู้สึกถูกใจสาวสวยคนนี้เอาเลย ก็เลยยุให้เพื่อนรัก Willy มาจีบ Florence แทน
ฝ่าย Guillaume ซึ่งมีอาชีพเป็นนักแสดงก็เพิ่งจะได้รับการแจ้งข่าวดีว่าเขาจะได้เล่นหนังเรื่องใหม่ของผู้กำกับใหญ่ชาวอเมริกันอย่าง Paul Thomas Anderson ก็ดีใจจนเนื้อเต้นเขม่นทุก ๆ คนในหนัง ซึ่งก็กำลังรับบทเป็นนักแสดงที่กำลังซ้อมบทอยู่เช่นกัน The Second Act จริง ๆ แล้วจึงเป็นหนังซ้อนหนัง ถ่ายทอดเบื้องหลังการสร้างทำหนัง เมื่อนักแสดงต้องตั้งใจในการจดจำไลน์ไดอะล็อก
ความสนุกของหนังคงอยู่ที่ฉาก long take อันยาวนานระหว่างคู่ David กับ Willy และคู่ Guillaume กับ Florence ที่ต่างเดินผ่านทุ่งกันหลายสิบนาที โต้ตอบ dialogue กันโดยไม่มีการตัดเลยแม้สักหนึ่ง cut! ซึ่งเนื้อหาก็จิกกัดทั้งปรากฏการณ์ woke ต่อต้านการเหยียดเพศและรูปร่าง การอ้างอิงถึงกระแส #MeToo ที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์แทบจะแตะเนื้อต้องตัวกันไม่ได้ ไปจนถึงการแขวะกัดผลงานของผู้กำกับอเมริกันเบอร์ใหญ่ ๆ ทั้ง James Cameron, Quentin Tarantino และ Paul Thomas Anderson ด้วยมุกสุดแสบคันจนแทบกลั้นหัวเราะไม่ได้
โดยทั้งหมดนี้ผ่านการกำกับโดยผู้กำกับ AI ที่นักแสดงทุกคนจะต้องแสดงตรงตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ใช้ programme ในการแก้ไขในสัดส่วนที่น้อยที่สุด! ตลอดทั้งเรื่องจึงมีแต่มุกหลุด ๆ รั่ว ๆ ยั่วเย้าประชดประชันกระบวนการทำหนังในสมัยปัจจุบันกันจนถูกจริตเหล่าคนดูผู้รักหนังทั้งหลาย ตั้งคำถามถึงประเด็นต่าง ๆ อย่างคมคาย แม้ว่าหนังเองก็ไม่ได้ใส่ใจจะหาคำตอบใด ๆ ให้ ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินเป็นปลายเปิดไว้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรประดิษฐกรรม AI ก็ไม่เคยแยแสสนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของมนุษย์หน้าไหนกันอยู่แล้ว!
หนังนอกสายประกวด หรือ Special Screening ที่ฉายกันวันแรก ๆ ก็ยังมีหนังเบื้องหลังการทำหนังเรื่อง An Unfinished Film ของผู้กำกับจีน Lou Ye ซึ่งถือเป็นงาน semi-fiction เล่าเรื่องราวประสบการณ์ของผู้กำกับ Lou Ye เองที่อยากจะรื้อฟื้นฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Spring Fever (2009) ที่เคยถูกตัดออกไป เกี่ยวกับความรักอันบริสุทธิ์ใสระหว่างสองหนุ่มกระทงชาวจีนในแบบ boys’ love
โดยหลังจากที่ผู้กำกับนามสมมติว่า Xiaorui (ซึ่งจริง ๆ ก็คือ alter-ego ของผู้กำกับ Lou Ye) เองนั่นแหละ ได้กู้ข้อมูลไฟล์ footage หนังจากฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์เก่าอายุ 10 กว่าปีจนสามารถสำรองข้อมูลออกมา เขาก็อยากจะสานฝันด้วยการชวนให้นักแสดงและทีมงานที่เคยล่มหัวจมท้ายกัน หวนกลับมาย้อนระลึกถึงวัยวันแห่งความเป็นหนุ่ม กลับมาประชุมเตรียมจะถ่ายทำหนังเรื่องนี้ใหม่ในโรงแรมใกล้เมืองอู่ฮั่น
เคราะห์หามยามร้ายที่ปีนั้นคือปี ค.ศ. 2020 พอดี ยังไม่ทันที่พวกเขาจะได้ถ่ายทำอะไร ผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานก็ต้องกักตัวอยู่ในห้องพักอย่างเดียวดายในโรงแรมแห่งนั้นจะแทบไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน ในขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งเลวร้ายลงไป ทำให้โอกาสที่ได้ดูหนังเรื่องนี้กันใหม่ต้องพังพาบลงในพริบตา
ผู้กำกับ Lou Ye นับว่าสามารถนำเรื่องราวฝันร้ายในการเผชิญโรคระบาดที่เราเพิ่งผ่านพ้นกันมาหมาด ๆ มาเล่าในลีลาตลก farce ได้อย่างดูดีมีรสนิยมยิ่ง แม้หนังจะล้อเลียนชะตากรรมของผู้กำกับและทีมงานเหล่านี้อย่างหนักหน่วงเพียงไร แต่คนดูก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรจาบจ้วงหยาบคาย แถมยังพาเรากลับไปย้อนดูวันเวลาเหล่านั้นกันใหม่ในฐานะของผู้มีประสบการณ์ได้อย่างอ่อนหวาน จนกลายเป็นงานขันขื่นที่ดูแล้วกลับรู้สึกชื่นมื่นไปด้วยในเวลาเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์
แต่กับงานสารคดีอีกเรื่องที่ฉายในสาย Special Screening เช่นเดียวกัน คือเรื่อง The Invasion ของผู้กำกับยูเครน Sergei Loznitsa ที่ใช้เวลาถึง 145 นาทีในการนำเสนอภาพชะตากรรมของผู้คนชาวยูเครนในช่วงสองปีแรกของการถูกรัสเซียรุกรานว่าพวกเขาต้องผ่านพ้นอะไรบ้าง
หนังออกจะแตกต่างจากสารคดีเล่าภาพชีวิตหลังการถูกโจมตีของชาวยูเครนที่เราเคยเห็นกันจากสารคดีเรื่องอื่น ๆ เนื่องจากผู้กำกับ Sergei Loznitsa ไม่ได้มุ่งเน้นการนำเสนอภาพความรุนแรงจากการถูกโจมตี แต่ได้ตั้งใจแสดงภาพชีวิตของชาวยูเครนที่ยังต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะในยามสงครามหรือในยามสงบ
ภาพที่ปรากฎจึงแสดงให้เห็นชีวิตประจำวันของผู้คน นักเรียนก็ยังต้องไปโรงเรียน ครูก็ยังต้องเตรียมการสอน แม้ว่าจะต้องคอยระวังภยันตรายอยู่ตลอดเวลา แม่ครัวก็ยังต้องปรุงอาหารเลี้ยงครูและนักเรียน หนุ่มสาวที่ตกลงปลงใจแต่งงานอยู่กินกัน ก็ต้องเข้าพิธีหมั้นพิธีวิวาห์หาได้หวั่นเกรงข้าศึกที่กำลังรุกรานไม่ พ่อค้าแม่ขายก็ต้องจัดวางสินค้าให้คนได้มาจับจ่าย
แต่ที่ชวนให้สะเทือนใจมากที่สุดก็เห็นจะเป็นฉากการร่ำไห้แสดงความอาลัยในงานพิธีศพของเหล่าทหารหนุ่มที่ต้องสังเวยชีวิตเพื่อปกป้องมาตุภูมิ กับการซูมให้เห็นใบหน้าของญาติสนิทมิตรสหายที่จะต้องมาเศร้าโศกเสียใจไปกับความสูญเสียที่ไม่ควรเกิด ซึ่งก็น่านับถือที่ไม่มีใครระเบิดอารมณ์ด้วยความฟูมฟาย หากแสดงอารมณ์ด้วยใบหน้าหยิ่งทะนง stoic ซึ่งเห็นแล้วก็จิกกัดไปถึงความรู้สึกข้างใน กับงานสารคดีที่ถ่ายทอดภาพความจริงออกมาได้อย่างบาดลึกเหลือเกินเรื่องนี้
ข้ามมาที่หนังประกวดสายรองอย่าง Un Certain Regard ซึ่งปีนี้งานเปิดสายก็เป็นหนังจากประเทศไอซ์แลนด์เรื่อง When the Light Breaks ของผู้กำกับ Runar Runarsson ซึ่งก็เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความสูญเสียเช่นกัน
หนังจับเรื่องราวไปที่ Una หญิงสาวผมสั้นมาดทอมบอยซึ่งจริง ๆ แล้วเธอมีรสนิยมในแบบ pansexual สามารถรักกับมนุษย์ได้ทุก ๆ กรอบเพศ แฟนคนล่าสุดของเธอคือนักศึกษาหนุ่มจากวิทยาลัยศิลปะการแสดงแห่งเดียวกับเธอ ซึ่งหลังจากคบหากันไม่นาน จนฝ่ายชายตั้งใจว่าจะยุติความสัมพันธ์กับหญิงคนเก่ามาคบหากับ Una แฟนหนุ่มคนนี้ก็ดันมาประสบอุบัติเหตุโดนแรงระเบิดจากในอุโมงค์ทำให้รถยนต์ที่เขาขับเสียหาย ตายคาพวงมาลัยอย่างที่ไม่มีใครเคยนึกฝันมาก่อน
โศกนาฏกรรมครั้งนี้กัดกร่อนหัวใจ Una จนเธอไม่สามารถจะรับมือไหว ต้องใช้เวลาในการทำใจ แม้ว่าสภาพชีวิตร่วมสมัยจะทำให้เธอเข้าใจในเรื่องสัจธรรมแห่งการเกิดแก่เจ็บตายได้ดีกว่าคนในยุคสมัยก่อนเพียงไหนก็ตาม
หนังนำเสนอภาพความเป็นมนุษย์ในยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างมีมิติที่เป็นธรรมชาติ ประกาศธาตุแท้ภายในว่าแม้โลกและเทคโนโลยีจะเดินหน้าไปได้ไกลเพียงไหน มนุษย์ไม่ว่าจะหน้าไหนก็คงไม่สามารถก้าวผ่าน ‘ความทุกข์’ ไปได้พ้น
ส่วนหนังประกวดเรื่องแรกในสาย Critics’ Week ประจำปีนี้ ก็เป็นหนังจากอาร์เจนตินาของผู้กำกับ Federico Luis เรื่อง Simon of Mountain ซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละแนวกับ Simon of the Desert (1965) งานชิ้นดังของผู้กำกับ Luis Buñuel ที่มาแบบ surrealist เหนือจริง แต่เรื่องนี้คือจะอิงจากตำรับหนังแนวสมจริง neo-realism ดื่มด่ำไปกับภาพความเป็นจริงที่ไม่เพ้อเจ้อเสียมากกว่า
Simon เขาก็เป็นกระทาชายในอาร์เจนตินาวัย 21 ปีที่มีอาการไม่สมบูรณ์ทางสมอง ต้องค่อย ๆ คิดค่อย ๆ ประมวลสถานการณ์รอบตัวอยู่ตลอดเวลา เขาหารายได้จากการเป็นผู้ช่วยคนขนย้ายข้าวของ กระทั่งเขาได้มาลองใช้ชีวิตกับกลุ่มหนุ่มสาวที่มีอาการเดียวกัน ชีวิตของ Simon ก็พลิกผันหันเหไปสู่ความวุ่นวายที่เขาชักจะไม่สามารถควบคุมได้ขึ้นเรื่อย ๆ
แรก ๆ หนังก็ยังน่าสนใจดี มีรายละเอียดชีวิตที่น่าติดตาม แต่เมื่อเลยหลักความยาว 30 นาทีผ่านไป เนื้อหากลับไม่ได้รับการพัฒนาสักเท่าไหร่ เรื่องราวชีวิตของนาย Simon สุดท้ายจึงไม่ได้ได้รับการขยับขยายอะไรมากนักเมื่อเทียบกับความยาวถึง 98 นาที!
ปิดท้ายด้วยหนังสุดประหลาดพิสดารในสาย Directors’ Fortnight เรื่อง Universal Language ของผู้กำกับ Matthew Rankin ซึ่งจริง ๆ แล้วโดยสัญชาติหนังต้องนับว่ามาจากประเทศแคนาดา เนื้อเรื่องและสถานการณ์เกิดขึ้นในเมืองวินนิเพก
ทว่าตัวละครทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั้งในและนอกสถานศึกษากลับพูดกันเป็นภาษาฟาร์ซีของชาวอิหร่าน! ที่ดูแล้วเกินจะคิดอ่านเหลือเกินว่าชุมชนอิหร่านเหล่านี้ พวกเขาอพยพหนีมาจากบ้านเกิดมาหรืออย่างไร วัฒนธรรมความเป็นอยู่อะไรต่าง ๆ จึงมีความตะวันออกกลางอย่างที่เราเคยเห็นกันจากประเทศนี้
ในขณะที่ฉากหลังล้วนเกิดในประเทศเมืองหนาวที่ปกคลุมด้วยหิมะ กลายเป็นภาวะพหุวัฒนธรรมที่ผู้กำกับคงจงใจให้เกิดความ absurd ในลักษณะประดิดประดอย ในโลกที่วัฒนธรรมประจำชาติต่าง ๆ ค่อย ๆ หลอมกลืนไปกับความเป็นอื่น จนเจาะจงได้ยากลงทุกทีว่านี่คือหนังจากประเทศอะไรกันนะ?