เจาะลึกผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 77 ประจำปี 2024
เหตุใดหนังอิสระจากอเมริกาเรื่อง Anora ถึงคว้ารางวัลปาล์มทองคำไปครองในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปีนี้, ขณะที่ Emilia Perez หนังเกี่ยวกับเจ้าพ่อค้ายาต้องการวางมือเพื่อไปผ่าตัดแปลงเพศ ได้รางวัลขวัญใจกรรมการ ตามอ่านบทวิเคราะห์จาก ‘กัลปพฤกษ์’
คงต้องนับเป็นปีที่การประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มีความละลานหลากหลาย มีหนังในแนวทางและลีลาต่าง ๆ อย่างมากมายไม่ซ้ำรูปแบบกันเลยเข้าร่วมชิงชัยกันถึง 22 เรื่อง
ซึ่งหลังจากทางเทศกาลได้ระดมฉายหนังในสายประกวดและสายอื่น ๆ อย่างอัดแน่นตั้งแต่เช้าถึงดึกตลอด 11 วันของเทศกาล โดยเริ่มกันตั้งแต่วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2024 ถึงวันสุดท้ายของเทศกาล คือวันที่ 25 พฤษภาคม ก็เป็นวันของการประกาศรางวัลเฉลิมฉลองหนังที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำเรื่องใหม่ ซึ่งก็ได้ทราบผลกันไปแล้วว่ามีเรื่องไหนได้รับรางวัลอะไรกันไปบ้าง
โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปีนี้ก็มีอยู่ทั้งหมด 9 ท่าน ได้แก่
- ผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda จากญี่ปุ่น
- ผู้กำกับ Juan Antonio Bayona จากสเปน
- ผู้กำกับ Nadine Labaki จากเลบานอน
- นักเขียนบท Ebru Ceylan จากตุรกี
- นักแสดง Eva Green จากฝรั่งเศส
- นักแสดง Lily Gladstone จากสหรัฐอเมริกา
- นักแสดง Pierfrancesco Favino จากอิตาลี
- นักแสดง Omar Sy จากฝรั่งเศส
โดยมีผู้กำกับและนักแสดงหญิงอเมริกัน Greta Gerwig ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ
ขอเริ่มที่รางวัลใหญ่ประจำเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ นั่นก็คือรางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ ซึ่งในปีนี้ก็ตกเป็นของหนังอิสระสัญชาติอเมริกันเรื่อง Anora ของผู้กำกับหนุ่ม Sean Baker ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการจากหนังเล่าชีวิตโสเภณีทรานส์ที่ถ่ายทำด้วยกล้องโทรศัพท์ iPhone 5S ทั้งเรื่องชื่อ Tangerine (2015)
จากนั้นเขาก็มีหนังเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์คานส์อย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก The Florida Project (2017) ที่นำแสดงโดย Willem Dafoe ร่วมฉายในสายไม่เป็นทางการ Directors’ Fortnight ต่อด้วย Red Rocket (2021) ที่ได้ Simon Rex อดีต VJ MTV ที่มีข่าวฉาวเคยแสดงหนังโป๊เกย์ มารับบทใกล้ตัวเป็นดาราหนังโป๊ตกอับจนต้องกลับมาตายรังที่บ้านนอก ซึ่งได้เข้าฉายในสายประกวดหลักชิงรางวัลปาล์มทองคำ
สามปีต่อมาเขาก็มีหนังใหม่เรื่อง Anora เข้าชิงชัยอีกครั้ง และสุดท้ายก็คว้ารางวัลปาล์มทองคำได้ดังหวัง ในฐานะหนังที่ได้รับทั้งความนิยมและเสียงชื่นชมมากที่สุดเรื่องหนึ่งในเทศกาล
Anora เป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตสุดวายป่วงภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ของ Ani (นำแสดงโดย Mikey Madison) โสเภณี+นักเต้นระบำเปลื้องผ้าจากย่านบรุคลิน นิวยอร์ก วันหนึ่งคลับของเธอก็มาบอกว่าจะมีกลุ่มลูกค้าหนุ่มกระเป๋าหนักจากรัสเซียมา ใครสามารถพูดภาษารัสเซียได้จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ Ani เดิมทีเธอมาจากอุซเบกิสถานจึงสามารถสื่อสารเป็นภาษารัสเซียได้ แม้จะทำหน้าตายแสร้งเป็นสาวอเมริกันไม่พูดภาษาบรรพบุรุษให้ใครเคยได้ยินเลยก็ตาม!
แต่ด้วยความงามและความถึงพริกถึงขิงในการให้บริการของ Ani ทำให้หนุ่มน้อย Ivan หัวหน้ากลุ่มลูกค้าเศรษฐีรัสเซียแก๊งนี้มีความประทับใจ เรียกใช้บริการให้ Ani ไปปรนเปรอสวาทถึงคฤหาสน์หลังใหญ่ในนิวยอร์ก ถึงขั้นบอกรักและชวน Ani เข้าพิธีแต่งงาน เดินทางไปถึงย่านลาสเวกัสจัดพิธีแบบง่าย ๆ แค่แต่ละฝ่าย say yes กับบาทหลวงรับจ้าง ก็สามารถอ้างเป็นสามีภรรยาตามกฎหมายได้ทันที!
เมื่อเรื่องไปถึงหูบุพการีทั้งสองของ Ivan ที่ยังอยู่ในรัสเซีย พวกเขาก็เคลียร์งานทุกอย่างบินมาต่อว่าต่อขานทั้งความร่านตั้งใจจะปอกลอกของ Ani และความชีกอของ Ivan ที่ไม่รู้จักทำงานทำการเอาแต่ผลาญเงินทอง แล้วยังจะมาเกี่ยวดองกับโสเภณีชั้นต่ำ เปิดช่องให้ Ani ใช้อำนาจทางกฎหมายฮุบสมบัติไปครึ่งหนึ่งได้ จนต้องใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่งจ้าง Ani ให้เซ็นใบหย่าแบบไม่คาพันธะ โมฆะทะเบียนสมรสโดยไม่ใส่ใจเลยว่า Ani กับ Ivan ต่างมีใจให้กันอย่างไร!
ในขณะเดียวกัน Ani ก็จะได้รับความใจใส่จาก Igor บอดี้การ์ดหนุ่มของ Ivan ที่ช่วยเข้ามาสะสาง สร้างความสัมพันธ์ทางใจบ่งบอกเป็นนัย ๆ ว่าคนที่เหมาะสมกับ Ani มากที่สุดคือใคร ให้ความหวังกับหญิงสาวผู้มีราคีว่าครั้งหนึ่งเธอก็เคยมี ‘รักแท้’ แม้จะเลือกประกอบอาชีพที่ทุก ๆ คนต่างเหยียดหยามก็ตาม!
หนังถ่ายทอดความโกลาหลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดความยาว 138 นาที โดยไม่มีจังหวะให้เบื่อ ที่แม้จะใช้รูปแบบของละครแนวตลก farce แต่ทุก ๆ พฤติกรรมของทุก ๆ ตัวละครกลับชวนให้เชื่อว่าทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้จริง ๆ บนโลกร่วมสมัยใบนี้
ที่น่าทึ่งมากเลยก็คือผู้กำกับ-มือเขียนบท Sean Baker หาญกล้าที่จะท้าทายกระแสต่อต้านคนและวัฒนธรรมรัสเซียจากเหตุการณ์สงครามและการเมืองร่วมสมัย จนไม่มีใครอยากจะเข้าไปข้องเกี่ยวกับผู้คนหรือพลเมืองของชาตินี้กันนัก แต่ Sean Baker ก็หักศอกด้วยการบอกให้เห็นเลยว่า เราไม่ควรจะไปตัดสินคุณค่าผู้คนจากเชื้อชาติไม่ว่าจะกรณีใด ๆ
โดยเฉพาะในเรื่อง Anora ที่ตัวละครไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายร้าย ก็ล้วนได้ชื่อว่าเป็นคน ‘รัสเซีย’ ทั้งนั้น หนังจึงมีน้ำเสียงต่อต้านทรรศนะอันเหมารวมด้วยการเหยียดเชื้อชาติ ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่อาจพูดได้ว่าพลเมืองรัสเซียทั้งหมดจะเห็นด้วยกับรัฐบาลรัสเซีย!
เนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องราวชุลมุนวายวุ่นของคู่ผู้ผัวตัวเมียที่เชียร์ให้เราหันมามองคนรัสเซียกันในมุมใหม่จึงชนะใจผู้ชมในเทศกาลคานส์ ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักวิจารณ์ คนดู หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการตัดสิน จนเป็นหนังที่เข้าวินได้รับรางวัลปาล์มทองคำประจำปีนี้ไปได้ในที่สุด!
สำหรับ ‘รางวัลที่หนึ่ง’ เมื่อนับรองจากรางวัล ‘ขึ้นหิ้ง’ อย่างปาล์มทองคำ ก็คือรางวัลที่ชื่อว่า Grand Prix ซึ่งในปีนี้ก็ตกเป็นของหนังอินเดียที่เล่าเรื่องราวของผู้หญิ้งผู้หญิงเหมือนกันชื่อ All We Imagine as Light ของผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ Payal Kapadia แต่จะเล่าถึงชีวิตสองนางพยาบาลจากมุมไบ อินเดีย นาม Prabha และ Anu ที่อาศัยเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน เนื่องจากทำงานที่โรงพยาบาลเดียวกัน
โดยฝ่ายรุ่นพี่ Prabha ถูกจับคลุมถุงชนจนเป็นฝั่งเป็นฝา แต่ฝ่ายสามีดันทิ้งไปหางานทำที่เยอรมนี ในขณะที่ Anu ก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มนาม Shiaz แต่ไม่สามารถหาจุดพลอดรักกันในตัวเมืองอันหนาแน่นไปด้วยผู้คนและต้องทนอดกลั้นความต้องการไว้ จนวันหนึ่ง Prabha ก็ต้องรู้สึกเหมือนมีหนามแหลมมายอกใจเมื่อเธอได้รับพัสดุเป็นหม้อหุงข้าวใบใหญ่รุ่นใหม่ส่งมาจากเยอรมนีโดยที่ไม่มีจดหมายบอกแจ้งแถลงความในเลยสักใบ
สุดท้ายพวกนางก็ตัดสินใจใช้วันหยุดพักผ่อนในการเดินทางกลับไปยังเมืองบ้านเกิดริมชลธี ‘รัตนาคีรี’ ไปอิ่มเอิบกับแสงสีไฟนีออนจากร้านอาหารยามราตรีที่จะปลดปล่อยให้พวกนางได้ห่างเหินจากความทุกข์ในมหานคร!
จุดเด่นของ All We Imagine as Light คือน้ำเสียงการเล่าอันแสนอ่อนโยน ด้วยโทนอันอ่อนหวานในแบบสตรีที่เรามักจะไม่ได้เห็นนักในหนังจากอินเดีย โดยเฉพาะจากผลงานของผู้กำกับหญิง ยิ่งเมื่องานของผู้กำกับสตรีอินเดียในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะโดย Aparna Sen, Mira Nair หรือ Dheepa Meta ก็มักจะเลือกเล่าประเด็นปัญหาสังคมในภาพใหญ่ ไม่เลือกที่จะเจาะไปถึงอารมณ์เบื้องลึกของอิสตรีอินเดียแบบเดียวกับหนังเรื่องนี้
All We Imagine as Light จึงมีความ ‘สดใหม่’ ในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนไปโดยปริยาย
ยิ่งเมื่อได้ลีลาลวดลายในการเล่าที่ผนวกเอาวรรณศิลป์ของงาน ‘ความเรียง’ และ ‘กวีนิพนธ์’ มาผสมปนกับเสียงดนตรีเปียโนสำเนียงแจ๊ส หนังก็ยังให้อารมณ์ของงานศิลปะที่พอจะยังมีความแมสเข้าถึงคนในวงกว้างได้ ไม่ถึงกับล้ำลึกพิสดารจนไม่มีใครเข้าใจ และไม่ถึงกับย่อยง่ายจนไม่ต้องเสียเวลามาครุ่นคิดพิจารณาตาม
มาถึงรางวัลที่สามที่จะกล่าวถึง ซึ่งก็คือรางวัล Jury Prize ‘ขวัญใจคณะกรรมการ’ ซึ่งก็ถือเป็นงานหนังมิวสิคัลเต็มรูปแบบเพียงเรื่องเดียวในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้ ได้แก่หนังฝรั่งเศส-เม็กซิกันเรื่อง Emilia Perez ของผู้กำกับฝรั่งเศส Jacques Audiard ซึ่งเคยคว้ารางวัลปาล์มทองคำมาก่อนแล้วกับเรื่อง Dheepan เมื่อปี ค.ศ. 2015
Emilia Perez เล่าเรื่องราวเปื้อนคาวเลือดและอาชญากรรมในโลกอันดำมืด เมื่อ Manitas del Monte เจ้าพ่อนักค้ายาแห่งเม็กซิโก ได้ว่าจ้าง Rita ทนายความสาวฝีมือดีที่กำลังรู้สึกโลเลกับหน้าที่การงาน ให้ช่วยเขาจัดการปิดบัญชีกิจการทุกอย่าง เพื่อที่ Manitas จะได้ไปกลายร่างแปลงเป็นหญิงสาวนาม Emilia Pérez ถือครองเพศใหม่ที่ตรงกับหัวใจเบื้องลึกของเธอมากที่สุด!
โดยจุดอ่อนที่จะทำให้ Manitas หมดทุกความมั่นใจได้ก็คือศรีภรรยาและลูก ๆ ของเขา Rita จึงต้องงัดเอาทุกวิชาความรู้หาทางดูแลทายาทที่กำลังจะสูญเสียคุณพ่อไปไม่ให้มีอะไรตกหล่น!
ผู้กำกับ Jacques Audiard ท้าทายตนเองอีกครั้ง ด้วยการทำหนังที่หันไปสนใจชีวิตผู้คนในโลกกว้างโดยแทบไม่มีการอ้างอิงถึงตัวละครจากฝรั่งเศสบ้านเกิดของเขาเลยแบบเดียวกับใน Dheepan (2015) และ The Sisters Brothers (2018) ทั้งบริบทแวดล้อม บทสนทนา ภาษาที่ใช้ในบทเพลงล้วนเป็นภาษาสเปนสำเนียงเม็กซิกัน คั่นด้วยภาษาอังกฤษแต่เพียงบางช่วง
ส่วนท่วงทำนองของการเป็นหนังเพลงเรื่องแรกของเขาก็ไม่ได้ชูเอาความวิลิศมาหราอลังการงานสร้างมาเป็นองค์ประกอบอย่างสำคัญ ทุกบทเพลงล้วนกลั่นมาจากอารมณ์ของตัวละคร โผล่มาในช่วงตอนที่เหมาะสมถูกจังหวะ ประกอบลีลาการเต้นที่เน้นความน้อยแต่พอดี จนกลายเป็นหนังเพลงร่วมสมัยที่ดูมีคลาสได้อย่างแตกต่าง จนสมแล้วที่จะได้รับรางวัล Jury Prize ไป
แต่หนังเรื่องนี้ก็มิได้คว้ารางวัลนี้ไปได้แค่รางวัลเดียว ทีมนักแสดงหญิงยกชุด ไม่ว่าจะเป็น Zoe Saldaña ในบททนายความสาว Karla Sofía Gascón ในบทพ่อค้ายาข้ามเพศ Emilia Pérez, Selena Gomez ในบทศรีภรรยา และ Adriana Paz ในบท Epifania ที่พึ่งทางใจคนใหม่ของ Emilia ก็กอดคอกันคว้ารางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลไปด้วย แบบเดียวกับเมื่อครั้งหนังเรื่อง Volver ของผู้กำกับ Pedro Almodóvar ส่งให้นักแสดงหญิงทั้งชุดคว้ารางวัลไปในปี 2006!
แถม Karla Sofía Gascón ยังได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงหญิงข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์รางวัลเทศกาลคานส์ที่สามารถคว้ารางวัลนี้ไปได้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคานส์จะปรับรางวัลการแสดงเป็นการแสดงในบทนำกับบทสมทบเหมือนเทศกาลเบอร์ลินไหม หลังจากเจอกรณีไม่สามารถจัดการแสดงของนักแสดงทรานส์ลงหมวดหมู่ได้ หากจะยังอิงหญิงอิงชายกันแบบนี้!
หนังมีฉากสั้น ๆ ที่ Rita เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาขั้นตอนกระบวนการแปลงเพศจากหญิงเป็นชายด้วย แม้จะไม่ได้มาถ่ายทำกันจริง ๆ เป็นการเซ็ตฉากถ่ายกันในสตูดิโอแทน
พูดถึงรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมแล้ว มาดูฝ่ายนักแสดงชายกันบ้าง ซึ่งรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมประจำปีนี้ก็เป็นของนักแสดงหนุ่มอเมริกัน Jesse Plemons จากหนังเรื่อง Kinds of Kindness ของผู้กำกับกรีก Yorgos Lanthimos โดย Jesse Plemons จะรับบทบาทที่แตกต่างกันถึง 3 บทบาท จากหนังตลก absurd ขนาดสั้น 3 เรื่อง ที่ประกอบกันเป็นหนังยาวชื่อ Kinds of Kindness นี้
บทบาททั้ง 3 ก็มีผู้จัดการบริษัทระดับกลางที่ต้องคอยรับคำสั่งทุกอย่างจากผู้บริหารระดับสูงจนคิดอ่านอะไรไม่เป็น นายตำรวจที่ภรรยาหายตัวไปจากกิจกรรมลงดำน้ำ แต่พอตามตัวกลับมาได้ เธอก็เหมือนจะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป และบทบาทสุดท้ายเขาก็กลายเป็นสมาชิกของกลุ่มลัทธิคุณไสยที่ได้รับมอบหมายให้ตามหาหญิงสาวที่สามารถชุบชีวิตคนตายได้
ซึ่ง Jesse Plemons ก็สามารถถ่ายทอดตัวละครที่ดูจะปัญญาอ่อนและไร้สาระเหล่านี้ ให้มีน้ำหนักของความซึมเศร้าสิ้นหวังที่ยังมีความน่าสนใจได้ แม้ว่าตัวบทเองจะไม่ได้นำพาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละตอนไปสู่ข้อสรุปใดที่พอจะมีความหมายเลยก็ตาม!
นอกเหนือจากรางวัลต่าง ๆ ที่มอบให้กับหนังทั้งเรื่องตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว คณะกรรมการในปีนี้ก็ใจดีมีรางวัลพิเศษ Special Prize ให้กับหนังประกวดจากอิหร่านเรื่อง The Seed of the Sacred Fig ของผู้กำกับ Mohammad Rasoulof ที่ถูกทางการอิหร่านตั้งข้อหาเป็นปฏิปักษ์ในทันทีที่หนังเรื่องนี้ได้รับการประกาศชื่อให้เข้าร่วมประกวดในเทศกาล แต่โชคดีที่เขาเดินทางผ่านแดนหนีออกจากประเทศได้ทัน และหันมาเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในยุโรป จนสุดท้ายก็สามารถเดินทางมาร่วมในเทศกาลคานส์ได้
ผลงานใหม่ของเขาที่ได้เข้าประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำเป็นครั้งแรกหลังจากที่ผู้กำกับมีหนังฉายในสาย Un Certain Regard มาแล้วหลายเรื่อง ก็ได้รับเสียงปรบมือชื่นชมอย่างต่อเนื่องยาวนานในการฉายรอบกาล่าในการประกวดวันสุดท้าย ด้านนักวิจารณ์หลาย ๆ ค่ายก็ยกให้เป็นอีกหนึ่งตัวเต็งที่จะคว้ารางวัลใหญ่ แต่สุดท้ายก็มาจบที่รางวัลพิเศษ Special Prize ที่คล้ายจะเป็นการปลอบใจเล็ก ๆ จากคณะกรรมการ
The Seed of the Sacred Fig เล่าเรื่องราวอิงการเมืองร่วมสมัยที่ออกจะใกล้เคียงสถานการณ์หลาย ๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย Iman เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาสอบสวน เขาจึงชวนครอบครัวอันประกอบไปด้วยภรรยาและลูกสาววัยรุ่นทั้งสองย้ายมาจับจองห้องพักอพาร์ทเมนต์สวัสดิการสุดหรูแห่งใหม่ใจกลางเมือเตหะราน
เคราะห์ร้ายที่ Iman ได้รับตำแหน่งหลังเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ต่อกรณีที่ Mahsa Amini สตรีที่ไม่ยอมสวมฮิญาบถูกตำรวจจับตัวไปจนเป็นที่สงสัยว่าถูกทำร้ายร่างกายจนตาย ส่งผลให้เยาวชนหลายแสนคนทั่วประเทศลุกฮือขึ้นต่อต้านการกระทำอันเกินกว่าเหตุของรัฐ กระทบต่อสวัสดิภาพของครอบครัวผู้พิพากษา Iman เมื่อผู้ประท้วงได้ล่วงรู้ที่อยู่ปัจจุบันของเขา และพร้อมจะเข้าจู่โจมทำร้ายได้ทุกเมื่อ เพราะเชื่อว่า Iman นี่แหละที่ตัดสินให้เหล่าเยาวชนคนมีอุดมการณ์ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นจำนวนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่เพื่อน ๆ ของบุตรสาวทั้งสองของเขา!
เมื่ออันตรายเริ่มใกล้เข้ามา Iman ก็รับอาวุธปืนจากที่ทำงานเก็บไว้ป้องกันตัว เขาซุกปืนบรรจุกระสุนตะกั่วไว้ในเก๊ะข้างเตียงนอน จนวันหนึ่งเขาก็เข่าอ่อนเมื่อพบว่าปืนหายไป และต้องเป็นใครคนหนึ่งในบ้านอาคารชุดหลังนี้แหละที่เป็นคนขโมยไป ประกาศสงครามกับหัวหน้าครอบครัวผู้เป็นช้างเท้าหน้าที่อาศัยอำนาจอันไม่เป็นธรรมในการทำร้ายผู้อื่น!
หนังทวีความขมขื่นได้มากขึ้น เมื่อผู้กำกับนำเอาภาพคลิปเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงจากการประท้วงในสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงมาแทรกไว้ในหนัง ทำให้คนดูต้องนั่งดูด้วยความสลดใจ ในขณะที่เรื่องราวการปะทะปะทั่งกันระหว่างสองอุดมการณ์คู่ขนานของคนต่าง generation ที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์เหล่า ‘นักเรียนเลว’ ในบ้านเรา ก็ตึงเครียดจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ
The Seed of the Sacred Fig จึงสะท้อนภาพความเสียดทานของสังคมร่วมสมัยในประเทศที่วิถีการปกครองยังห่างไกลจากการเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นใหม่มีสายตาในการมองโลกใบนี้ที่แตกต่างไป ในวันที่เทคโนโลยีทำให้พวกเขามีช่องทางในการเข้าถึงในทุกข่าวสาร!
มาถึงด้านการกำกับ รางวัล Best Director สำหรับคนทำหนังที่รังสรรค์งานด้วยการกำกับที่โดดเด่นแพรวพราวมากที่สุดในสายประกวดประจำปีนี้ก็ได้แก่ Miguel Gomes จากโปรตุเกส อีกรายที่ชอบทำหนังนอกประเทศตัวเอง โดยคราวนี้เขาได้ทำหนังสีสลับขาวดำ นำเอาเนื้อหาสั้น ๆ จากหนังสือบันทึกการเดินทางเรื่อง The Gentleman in the Parlour: A Record of a Journey from Rangoon to Haiphong (1930) ของนักเขียนชาวอังกฤษ W. Somerset Maugham มาเล่าใหม่ให้เป็นงาน fiction เชิงทดลองชื่อ Grand Tour
ตัวหนังย้อนยุคไปยังสมัย ค.ศ. 1917 พาผู้ชมร่วมเดินทางไปกับ Edward ข้าราชการหนุ่มจากเครือจักรภพอังกฤษที่เดินทางมายังกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อหนีงานวิวาห์จาก Molly สตรีชาวอังกฤษที่ปัจจุบันได้ครองสิทธิ์ในการเป็นคู่หมั้นของเขา Edward กลัวการเข้าพิธีวิวาห์จนต้องนั่งเรือนั่งรถไฟลุยดงป่าออกเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในเอเชียบรูพา ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ สยาม เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่ Molly เองก็ลงทุนเดินทางตามรอย Edward ในทุกที่ที่เขาไป และมักจะถึงที่หมายคลาดกันกับ Edward เพียงไม่กี่ราตรี แต่คงไม่มีอุปสรรคใดจะมาทำลายกำลังใจของ Molly ได้ เพราะนางมีรอยยิ้มพิมพ์ใจอันเฉิดฉายที่จะมาตอกย้ำว่าหากพระพรหมได้ทรงลิขิตไว้ ไม่วันหนึ่งวันใดเธอก็จะได้พบกับ Edward สมความปรารถนา!
ซึ่งเนื้อหาของหนังก็มีอยู่เพียงเท่านี้จริง ๆ โดยคนดูจะไม่มีโอกาสได้ดิ่งลึกไปสำรวจเหตุผลทางใจภายในของทั้งฝ่าย Edward และ Molly เลยว่ามีเจตนาในการออกตระเวนไปทั่วเอเชียบูรพาอาณาเขตเหล่านี้ด้วยสปิริตใด หนังทั้งเรื่องจึงเหมือนเป็นการพาเที่ยวพาทัวร์สลับขั้วเวลาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
โดยส่วนที่ถ่ายให้เห็นอาคารบ้านเรือนจริงของประเทศต่าง ๆ จะเป็นส่วนสีที่ถ่ายทำกันแบบร่วมสมัย เช่น ส่วนที่ถ่ายในประเทศไทยก็จะเห็นป้ายเทอดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ปรากฏอยู่ทั่วไป ในขณะที่ท้องเรื่องจริง ๆ ควรจะอยู่ในยุคสมัยรัชกาลที่ 6
แต่ส่วนที่เล่าเรื่องราวตัวละครเดินทางเข้ารกเข้าพงในดงไพร ก็จะถ่ายด้วยภาพขาวดำเซ็ตทำฉากขึ้นมาใหม่แบบง่าย ๆ กันในสตูดิโอ ด้วยบรรยากาศเชิงโลเคชันแบบเดียวกันเลยกับที่ผู้กำกับฟิลิปปินส์ Raya Martin เคยใช้ในหนังเรื่อง Independencia (2009)
ไอเดียการทำหนังที่ผลักเอาความถูกต้องสมจริงทุกอย่างไว้ทีหลัง แล้วมุ่งนำเสนอพลังจินตนาการสะท้อนมุมมองความคิดอ่านว่าชาวตะวันตกเคยเห็นเหล่าคนเอเชียตะวันออกเหล่านี้อย่างไร คงทำให้ Miguel Gomes สามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลคานส์ในครั้งนี้ไปได้ โดยหนึ่งในตากล้องที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ก็มีคนไทยคือ คุณสยมภู มุกดีพร้อม เป็นหนึ่งในทีมบันทึกภาพด้วย
สำหรับรางวัลสุดท้ายในสายประกวดอย่างเป็นทางการคือ รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งในปีนี้ก็ตกเป็นของ Coralie Fargeat ผู้เขียนบทและกำกับหนังเรื่อง The Substance ที่ได้ดาราดังอย่าง Demi Moore และ Margaret Qualley มาร่วมรับบทเป็นตัวละครเดียวกันในหนังสยองขวัญ body horror สวยแหวะเรื่องนี้
The Substance เล่าเรื่องราวของ Elizabeth ที่แสดงโดย Demi Moore กับบทบาทใกล้ตัวของอดีตดาราสาวชื่อดังที่เนื้อหนังเริ่มจะไม่เต่งตึงซึ่งงานปัจจุบันของเธอคือการเป็น presenter นำออกกำลังกายในรายการโทรทัศน์ ทว่าสังขารอันโรยราของเธอเริ่มปรากฏชัดขึ้นทุกวัน จนทางโปรดิวเซอร์รายการต้องประกาศหาดาวดวงใหม่ที่จะมาแทนที่ Elizabeth ผู้ชราวัย!
จนวันหนึ่งหลังจากเธอประสบภัยจากอุบัติเหตุรถยนต์จนต้องไปพบหมอ เธอก็ได้รับ handy drive ลึกลับชื่อ The Substance นำเธอไปยังดินแดนแห่งตลาดมืดที่มีการซื้อขายสารสวยอมตะที่จะสามารถผลิตฝาแฝดอีกร่างให้ Elizabeth ได้ในสภาพที่สาวกว่า สวยกว่า และสดกว่า Elizabeth และจะสลับกันมีชีวิตได้ในทุก ๆ เจ็ดวัน Elizabeth ตัดสินใจใช้บริการในทันที กระทั่งมีร่างใหม่งอกออกมาอย่างงามสะพรั่ง แล้วตั้งชื่อให้ตัวเองว่า Sue เดินทางไปสมัครเป็นผู้นำการเต้นออกกำลังกายที่ทางค่ายโทรทัศน์ประกาศหา เพื่อจะมาแทนที่ Elizabeth คนเดิมที่นอนเฝ้าห้องน้ำในคอนโดอยู่อย่างไร้สติ!
บทหนังถ่ายทอดอภินิหารของสารที่ชื่อ The Substance อันนี้ที่อานุภาพอันทรงพลังของมันมาพร้อมเงื่อนไขจำกัดซึ่งต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดอย่างอัดแน่นด้วยรายละเอียด สะท้อนผลลัพธ์ที่ยิ่งกว่าฝันร้าย เมื่อหนึ่งฝ่ายกำลังเบียดเบียนวันเวลาของอีกฝ่าย
เรียกได้ว่าผนวกเนื้อหาในแบบ Sci-Fi ให้เข้ากับพฤติกรรมความลุ่มหลงในสรีระเรือนกายและใบหน้าอันอ่อนเยาว์ในระดับมัวเมาของเหล่าสตรีในแสงไฟเหล่านี้ได้อย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นหนังประกวดที่สนุก ลุ้น และมันมากที่สุดที่ฉายกันในปีนี้แล้ว
ข้ามมาที่การประกวดสายรองได้แก่สาย Un Certain Regard ก็มีหนังซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานของผู้กำกับหน้าใหม่เข้าร่วมชิงชัยจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 18 เรื่อง โดยเรื่องที่ได้รับรางวัลใหญ่ Un Certain Regard Prize ไปก็ได้แก่หนังจากจีนแผ่นดินใหญ่ชื่อ Black Dog ของผู้กำกับ Guan Hu
หนังขายทัศนียภาพสุดลูกหูลูกตาของทะเลทรายทางดินแดนพายัพของจีนในช่วงก่อนการจัดพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี ค.ศ. 2008 โดย Eddie Peng รับบทเป็น Lang ชายหนุ่มทรงผมสกินเฮดที่เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ เขาได้ทำงานเป็นหนึ่งในทีมกำจัดฝูงสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่อย่างแออัดในดินแดนทะเลทราย ก่อนที่แขกบ้านแขกเมืองจากประเทศทั้งหลายจะมางาน
โดยวันหนึ่งเขาได้สานความสัมพันธ์กับสุนัขหลังอานสีดำทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวนัก ในขณะที่งานของเขาเริ่มหนักข้อขึ้นเมื่อไม่ได้มีเฉพาะ ‘หมา’ ให้เขาตามล่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสิงสาราสัตว์มีเขามีเขี้ยว รวมไปถึงงูเงี้ยวให้เขาต้องจัดการ!
หนังโดดเด่นด้วยงานด้านภาพที่สวยแปลกตาไปเสียทุก shot ราวจะเป็น Mad Max: Fury Road ฉบับจีน ณ ดินแดนทะเลทรายที่แทบจะระบุกันไม่ได้เลยว่ามันคือประเทศใด!
ในขณะที่หนังที่ได้รับรางวัลรองลงมาคือ Un Certain Regard Jury Prize ก็เป็นหนังที่เฝ้าติดตามชีวิตของ Souleymane ตัวละครชายแรงงานผู้ลี้ภัยจากประเทศกินี แอฟริกา ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เรื่อง The Story of Souleymane ของผู้กำกับ Boris Lojkine
ซึ่ง Souleymane ก็หารายได้เลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพยอดฮิตในช่วงโควิดล็อกดาวน์ นั่นคือการเป็นไรเดอร์จักรยานรับส่งอาหาร หากแต่เขายังเป็นแรงงานผลัดถิ่นผิดกฎหมายที่ยังไม่มีใบอนุญาต Souleymane จึงต้องพึ่งพาบัญชีจากเพื่อนที่มีบัตร มีปัญหาอะไรก็ต้องวิ่งไปหาเพื่อนเพื่อปลดรหัสล็อกด้วยใบหน้า แถมยังโดนชักดาบค่าจ้างที่หาได้ไปแบบซึ่ง ๆ หน้า
ปัญหาร้อยแปดพันประการทำให้ชีวิตของ Souleymane ไม่เคยง่าย แต่เขาก็ยังยืดหยัดที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเขาคือ ‘คนจริง’ ที่จะไม่ยอมให้ใครมากดหัวไว้ และพร้อมจะสู้ตายกับทุก ๆ ข้อจำกัดขัดขวาง สร้างความน่าเชื่อจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตลี้ภัยในที่สุด
หนังเล่าเหตุการณ์ทุกอย่างอย่างบริสุทธิ์สมจริงแนวทางเดียวกันเลยกับงานของสองพี่น้อง Jean-Pierre กับ Luc Dardenne ยิ่งนักแสดงมือสมัครเล่น Abou Sangare ก็ถ่ายทอดบทบาทออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ใครได้เห็นเขาแทบจะล้มลงไปนั่งร้องไห้ ก็คงจะต้องรู้สึกเห็นใจ กับชายที่ต้องมาเผชิญกับความรู้สึก ‘มืดแปดด้าน’ ในทุกวัน ๆ!
ทุก ๆ ปีที่เทศกาลคานส์จะมีการมอบรางวัล ‘กล้องทองคำ’ หรือ Camera d’Or ให้ผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีผลงานหนังขนาดยาวเป็นเรื่องแรกจากสายต่าง ๆ กันด้วย สำหรับในปีนี้ ผู้กำกับที่ได้รับรางวัล ‘กล้องทองคำ’ ไปได้แก่ Halfdan Ullmann Tøndel จากประเทศนอร์เวย์ ผู้มีผลงานเรื่อง Armand เข้าประกวดในสาย Un Certain Regard
โดย Armand ก็เล่าเรื่องราวคล้าย ๆ บทละคร God of Carnage (2008) ของ Yasmina Reza เมื่อ Armand บุตรชายวัยหกขวบของนักแสดงหญิง Elisabeth (นำแสดงโดย Renate Reinsv จากเรื่อง The Worst Person in the World อันโด่งดัง) ไปก่อเรื่องใช้วาจาข่มขู่ทางเพศกับ Jon เพื่อนนักเรียนวัยเดียวกันว่าจะข่มขืนเขาทางประตูหลัง เมื่อ Jon ไปฟ้องครู ทางโรงเรียนจึงต้องเชิญผู้ปกครองของทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ย โดย Elisabeth เดินทางมาคนเดียวในฐานะ single mom ในขณะที่มารดาและบิดาของฝ่าย Jon มากันครบ
พวกเขารู้จักกันอยู่แล้วแถมยังมีความผูกพันกับโรงเรียนแห่งนี้ สงครามแห่งศักดิ์ศรีของการเป็น ‘มนุษย์พ่อ’ ‘มนุษย์แม่’ จึงขยี้แผลในใจตัวละครทุกรายกลายเป็นหายนะแห่งความสัมพันธ์อันไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย!
ผู้กำกับ Halfdan Ullmann Tøndel ค่อย ๆ เผยเรื่องราวโดยแทบจะใช้ทุกกลเม็ดหนังแนว drama ทะเลาะด่าทอกันโลกแตก ทั้งการแทรกเนื้อหา back story การที่ไม่ยอมให้ผู้ชมได้เห็นหน้า Armand หรือ Jon ที่เป็นตัวละครสำคัญ sub-plot อันยั้วเยี้ยของตัวละครประกอบหลากหลาย
ทิ้งท้ายด้วยการระบำรำฟ้อน และเปียกปอนกันด้วยสายฝนชำระล้าง ซึ่งแม้ว่าจะแลดูหนักมือจนเยอะล้นเกินไปบ้าง แต่ก็พอจะสร้างน้ำหนักให้เรื่องราวได้อยู่ เรียกได้ว่าแค่ได้ดูการแสดงของ Renate Reinsv ปะทะบทบาทกับพ่อแม่อีกฝ่ายก็น่าจะพอสมใจในการรับชมหนังเรื่องนี้กันแล้ว!
นอกเหนือจากหนังรางวัลกล้องทองคำแล้ว การประกวดในหมวดนี้ยังมีการมอบรางวัลพิเศษ Special Distinction ให้กับหนังไต้หวัน-สิงคโปร์ที่นำแสดงโดยนักแสดงชาวไทยเรื่อง Mongrel โดยผู้กำกับ Chiang Wei Liang และ You Qiao Yin อีกด้วย
Mongrel เล่าเรื่องราวของกลุ่มแรงงานชาวไทยและที่เดินทางมาจากประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์อื่น ๆ ที่ลักลอบเข้าไปทำงานในไต้หวัน และต้องเจอกับการกดขี่ เบี้ยวค่าแรง สารพัดสารพัน ในขณะที่งานที่ต้องทำนั้น ก็มีแต่สิ่งที่ต้องกล้ำกลืนฝืนใจ เช่นดูแลร่างกายผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไปเป็นลูกเรือประมง หรือทำงานในโรงฆ่าสัตว์ แต่เมื่อ บิ๊กบอส เริ่มผิดนัดการจ่ายเงินค่าแรง กลุ่มแรงงานเหล่านี้ก็เริ่มตีสีหน้าไม่พอใจ แต่พวกเขาจะทำอย่างไรได้ ในเมื่อไม่มีใครมาทำงานอย่างถูกกฎหมายเลยสักคน
หนังได้นักแสดงไทย วัลลภ รุ่งจำกัด รับบทเป็น ‘มือขวา’ คอยหาวิธีผัดผ่อนไกล่เกลี่ยการจ่ายค่าแรงคนอื่น ๆ ให้นาย โดยที่เขาเองก็ไม่ได้รับค่าจ้างที่ควรได้เหมือนกัน
น่าเสียดายที่หนังมุ่งบรรยากาศอันชวนอึดอัดของภาพชีวิตอันแสนอัตคัดของเหล่าคนงานกลุ่มนี้ มากกว่าที่จะพัฒนาเนื้อหาเรื่องราวผ่านบทให้มีความซับซ้อนแยบยล เมื่อดูจบแล้วจึงรู้สึกว่าหนังมันเบาบางชอบกล จนไม่รู้ว่าสาระประเด็นใหญ่คืออะไร ไม่เช่นนั้นหนังก็น่าจะไปไกลและอาจจะได้รับรางวัลใหญ่กว่านี้
ปิดท้ายกันด้วยรางวัลอย่างไม่เป็นทางการแต่เป็นการสดุดีการแสดงของเจ้า ‘สุนัข’ ที่ดีที่สุดจากสายต่าง ๆ ประจำเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้ นั่นคือรางวัล Palm Dog จัดโดยกลุ่มนักวิจารณ์นานาชาติอิสระ ซึ่งในปีนี้รางวัลก็ตกเป็นของเจ้าสุนัขนาม Kodi ที่รับบทเป็นเจ้า Cosmos ในหนังตลกขึ้นโรงขึ้นศาลเรื่อง Dog on Trial ของนักแสดงหญิงที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ Laetitia Dosch จากฝรั่งเศส
ซึ่งก็ต้องถือเป็นรางวัลที่สมศักดิ์ศรี เพราะหนังจากสาย Un Certain Regard เรื่องนี้ เล่าถึงการรับทำคดีของ Avril ทนายความสาวที่หน้าที่การงานกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยเธอตกลงว่าความให้กับ Dariuch หนุ่มสติแตกเจ้าของสุนัขนาม Cosmos ที่แผลงฤทธิ์ไปกัดมนุษย์เข้าสามราย หนึ่งในนั้นคือ Lorene แฟนเก่าของ Dariuch ที่โดนเจ้า Cosmos กัดที่ใบหน้าจนต้องไปหาศัลยแพทย์ความงามเพื่อทำศัลยกรรมฟื้นฟู
โดยข้อต่อสู้คดีของฝ่าย Dariuch ก็คือ เหยื่อมนุษย์ทั้งสาม ล้วนเป็นฝ่ายเข้ามาท้าทายยั่วยุเจ้า Cosmos ก่อน พอบทหนังต้องย้อนสำรวจความเป็น ‘บุคคล’ ตามกฎหมายของเจ้าสัตว์หน้าขนอย่างสุนัข ว่าเราไม่ควรทึกทักให้มันเป็นเพียงสิ่งของ หากต้องคำนึงถึงเจตจำนงเสรีที่แม้จะไม่มีสมองที่วิวัฒน์พัฒนาเหมือนมนุษย์ทั่วไป เนื้อหามันจึงต้องอาศัยทั้งหลักปรัชญาศาสนา จริยธรรมจิตอาสา และนโยบายสังคมสงเคราะห์ มาพิเคราะห์เจาะประเด็นถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ว่าเราสามารถดำเนินคดีเอาผิดกับสุนัขในกรณีนี้ได้ไหม
ซึ่งเจ้า Kodi ก็สามารถรับบทนำเป็น Cosmos ในหนังตลกสุดวายป่วงเรื่องนี้ได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยแววตาฉลาดเฉลียวที่ชวนให้รู้สึกว่ามันรับรู้อยู่ตลอดเวลาว่า ‘มนุษย์’ กำลังจะ ‘หาเรื่อง’ อะไรมันอยู่!