จากข้าวเก่าค้าง 10 ปี ถึงกากแคดเมียม : สารพิษอันตรายที่ทำให้คนป่วยและตายได้

จากข้าวเก่าค้าง 10 ปี  ถึงกากแคดเมียม : สารพิษอันตรายที่ทำให้คนป่วยและตายได้

3 ปัญหาสารพิษช่วงครึ่งปี 2567 ทั้งเรื่องข้าวเก่าค้างโกดัง 10 ปี ,การขนกากแคดเมียมมาทิ้ง และไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมี ปัญหาทั้งหมดมีทางออกไหม

แม้เรื่องที่กล่าวมาจะถูกเสนอมาบ้างแล้ว ทั้งเรื่องข้าวเก่าค้าง 10 ปีบริโภคได้จริงหรือ,พิษภัยของการขนกากแคดเมียมมาทิ้ง และการจัดการกับกากสารพิษในโรงงานที่มีปัญหาไม่รู้จบทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างรัดกุม

3 กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นอาจารย์อ๊อด -รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ซึ่งมักจะออกมาให้ความเห็นเรื่องสารพิษ เคยอธิบายให้ข้อมูลต่อสาธารณชน

การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสารพิษ จึงมีส่วนทำให้อาจารย์อ๊อด นักวิชาการมีคดีฟ้องร้องในศาลปี 2567 กว่า 30 คดี

 

จากข้าวเก่าค้าง 10 ปี  ถึงกากแคดเมียม : สารพิษอันตรายที่ทำให้คนป่วยและตายได้ ดังนั้นชีวิตประจำวันนอกจากงานด้านวิชาการ ยังต้องเดินขึ้นลงศาลเกือบทุกเดือน ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 เพิ่งเคลียร์คดีความที่มีกับหนุ่ม กรรชัย หลังจากยืดเยื้อมาเกือบ 2 ปีโดยถอนฟ้องทุกคดี

จะด้วยเหตุผลกลใด หรือวิธีการพูดที่อาจหาญ ก็ไม่แปลกหากนักวิชาการคนนี้จะมีคู่อริ ส่วนเรื่องการอธิบายข้อมูลต่อสาธารณชนในหลายๆ เรื่อง ก็มีมุมที่ต้องรับฟัง และล่าสุดกับการจัดการปัญหาสารเคมีในเมืองไทย ซึ่งขอยกกรณีศึกษา 3 เรื่อง

  • 1. การเมืองเรื่องข้าวเก่า 10 ปี

เมื่อมีข่าวต่อเนื่องช่วงหลายเดือนว่า ข้าวเก็บเก่า 10 ปีจากโครงการรับจำนำข้าว จะมีการนำออกมาประมูลขาย ก็มีนักวิชาการมากมายออกมาคัดค้าน กรณีสารพิษปนเปื้อนในข้าวที่เก็บไว้นานมีผลกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากมีปริมาณเกินมาตรฐาน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567  มี 7 บริษัทร่วมประมูลข้าวดังกล่าว ผลปรากฎว่า บริษัทวีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จ.กำแพงเพชร ชนะการประมูล ทั้งๆ ที่มีทุนจดทะเบียน 2 ล้าน แต่สามารถประมูลข้าวเกือบ 300 ล้านบาท ปริมาณ15,000 ตัน ด้วยราคาเสนอซื้อสูงสุด 19,070 บาทต่อตัน โดยเสนอราคากก.ละ 19 บาท 

นอกจากนี้มีข้อสงสัยอีกว่า ทำไมบริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง ผู้ชนะการประมูล ใช้บ้านเลขที่เดียวกับบริษัท โรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์ จำกัด โรงสีข้าวขนาดใหญ่  จึงมีบางอย่างไม่ชอบมาพากล ส่วนข้าวที่ชนะการประมูลครั้งนี้ คาดว่าจะมีการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกา 

ส่วนเส้นทางการเดินทางของข้าว 10 ปีที่มีคนย้ำเตือนว่า มีพิษภัยต่อสุขภาพ จะไปสู่จุดไหน คงต้องตามดู...

"ทั้งๆ ที่มีรายงานการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารที่สุ่มตรวจข้าวทั่วประเทศเก็บตัวอย่างข้าวเก่า 1-3 ปียังพบเชื้อราทั้งเกินมาตรฐาน และต่ำกว่ามาตรฐาน” อาจารย์อ๊อด กล่าว

"ข้าวที่เก็บมา 10 ปีย่อมมีเชื้ออะฟลาทอกซินเกินมาตรฐาน แต่รัฐบาลยืนยันว่า จะส่งไปขายแอฟริกา โดยเอาข้าวส่วนนี้ผสมกับข้าวใหม่ เงินที่ได้มา 270 ล้านบาทคุ้มไหม นอกจากมีเชื้อรา ยังมีสารรมควัน คือ กลุ่มเมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide) และอลูมิเนียมฟอสไฟด์ เพราะรมควันข้าวทั้งโกดัง เพื่อกำจัดมอด แมลง และไล่หนู นี่ยังไม่รวมเชื้อฉี่หนู

ผมบอกไปแล้วว่า มีปริมาณสารเคมีเยอะ ข้าวที่ส่งไป ผมมองว่าได้...ไม่คุ้มเสีย ถ้าตรวจเจอสารพิษ ก็จะทำให้ข้าวไทยทั้งระบบเสียชื่อ ตอนนั้นผมเสนอไปว่า ข้าวเก่าแบบนี้ นำมาหมักทำเหล้าน่าจะดี

เรามีโรงกลั่นสุราขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบคือ มันสำปะหลังและกากอ้อย เพื่อเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาล และเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์"

แนวคิดการนำข้าวค้างเก่า10 ปีมาผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะได้ปริมาณแอลกอฮอล์ 95-98 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีใครขานรับ

“สารพิษที่อยู่ในข้าวก็อยู่ในกาก ก็จะได้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือผลิตนำไปเติมในก๊าสโซฮอล์หรือทำแอลกอฮอล์พวกบรั่นดี วอดก้า แอลกอฮอล์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ฆ่าเชื้อ ก็น่าจะดีกว่า ” อาจารย์อ๊อด กล่าว

จากข้าวเก่าค้าง 10 ปี  ถึงกากแคดเมียม : สารพิษอันตรายที่ทำให้คนป่วยและตายได้

  • ข้าว 10 ปีจะไปถึงมือผู้บริโภคไทยหรือต่างชาติ ? 

อาจารย์อ๊อด ย้อนถึงประเด็นดราม่าที่ผ่านมาว่า ตอนตรวจข้าว 10 ปีพบสารอะฟลาทอกซิลในปริมาณมากกว่า 20 ppb เมื่อรายงานไปก็ให้ยุติการตรวจ 

จากนั้นให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ ปรากฎว่าไม่เจอสารดังกล่าว แต่อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ตอบคำถามนักข่าวไม่เคลียร์เรื่องตัวอย่างข้าว

"ทั้งประเด็นซ่อนเร้น ไม่สนใจความปลอดภัยในการบริโภค และชื่อเสียงข้าวไทยที่มีผลกระทบระยะยาว รวมถึงไม่สนใจเสียงคัดค้านจากนักวิชาการเกือบทั้งประเทศ ไม่ต้องสงสัยว่านี่คือเรื่องการเมือง"

เป็นที่ทราบกันดีว่า นอกจากอะฟลาทอกซินที่เป็นสารก่อมะเร็งตับ ยังมีสารพิษตัวอื่นๆ อีก อาจารย์อ๊อด ย้ำว่า คนไทยมีสิทธิที่จะเลือกบริโภคขาวใหม่ สด หอม 

"นอกจากนี้ข้าวสิบปี เมื่อตรวจสารความหอมก็ไม่เจอ สลายตัวหมดแล้ว ไม่มีความเป็นข้าวหอมมะลิ ทางออกที่เท่ที่สุดคือ เอามากลั่นเป็นแอลกอฮอล์ ถ้าผลิตออกมา ผมจะซื้อวอดก้าจากข้าว 10 ปี" 

จากข้าวเก่าค้าง 10 ปี  ถึงกากแคดเมียม : สารพิษอันตรายที่ทำให้คนป่วยและตายได้

  • 2.ความเข้าใจเรื่องกากแคดเมียม

ปลายเดือนเมษายน 2567 กากแคดเมียมจากต้นทางโรงถลุงสังกะสีที่ผาแดงอินทรี จ.ตาก ถูกขนย้าย 13,000 ตันมาทางภาคตะวันออกเพราะมีโรงงานจีนรับซื้อ แต่บังเอิญชาวบ้านจ.สมุทรสาครเห็นสิ่งผิดปกติและกลัวเข้าใจว่าเป็นสารกัมตภาพรังสี 

อาจารย์อ๊อด บอกว่า การถลุงสังกะสีจะมีแคดเมียมปนอยู่ด้วย แคดเมียมไม่ใช่สารกัมตรังสี แต่เป็นโลหะหนักที่อันตราย ไม่ควรเคลื่อนย้ายออกมา เนื่องจากมีกฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องมีการถมแคดเมียมไว้ใต้ดิน เพื่อให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ

แต่โรงถลุงแร่นี้ต้องการใช้ที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องบ้านจัดสรร จึงขนออกมาและตั้งใจจะหล่อมแคดเมียมส่งขายประเทศจีน 

"สารปนเปื้อนแคดเมียม ถ้าสูดดมนานๆ จะทำให้เกิดโรคอิไตอิไต เมื่อยี่สิบปีที่แล้วเคยมีสารแคดเมียมปนเปื้อนในนาข้าวญี่ปุ่น

เมื่อคนญี่ปุ่นในพื้นที่นั้นกินข้าวต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เป็นโรคกระดูกผุ กระดูกงอ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งมารู้ภายหลัง ชาวบ้านไม่ได้เป็นโรคนี้ในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่ส่งผลระยะยาวทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม"

จากข้าวเก่าค้าง 10 ปี  ถึงกากแคดเมียม : สารพิษอันตรายที่ทำให้คนป่วยและตายได้

  • 3. ไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมี

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2567 เกิดเหตุไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมี 4,000 ตัน ตำบลภาชี อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในมีสารเคมีจำนวนมาก ระหว่างเกิดเหตุมีกลุ่มควันสีดำลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า และมีเสียงระเบิด 

เหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อหน่วยดับเพลิงเดินเข้าไป รองเท้าบู้ทที่สวมใส่เข้าไปเกิดเปื่อย เจ้าหน้าที่จึงเกิดความกลัว 

"ดูประวัติโกดังที่เก็บกากสารเคมีที่นั่นพบว่าเกิดไฟไหม้ทุกปี ทั้งๆที่เป็นโกดังร้าง เพราะมีคนพยายามเผาทิ้งสารเคมีจำพวกกรดกำมะถันที่หมดอายุ และไม่รู้จะนำไปทิ้งที่ไหน  

จากที่ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพมาปรากฎว่า มีถังสารเคมีจำนวนมาก และมีความพยายามจุดไฟเผา แต่ทำไม่ได้ เพราะกรดชนิดนี้ใช้ในอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมปุ๋ย"

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ สารเคมีหมดอายุและไม่มีกระบวนการทำลายทิ้งที่ถูกวิธี อาจารย์อ๊อด บอกว่า บริษัทที่รับจ้างทำลายกากเคมีจากโรงงาน ไม่ได้ใช้กระบวนการทำลาย แต่ใช้วิธีซุกตามแหล่งภูเขา หรือบรรทุกออกมาแล้วปล่อยไว้ข้างถนน 

วิธีการทำลายสารเคมี ต้องมีการฝังกลบ เผา ในอุณหภูมิสูง ต้องลงทุนหลักพันล้านบาท แต่บริษัทรับทำลายกากเคมี ไม่มีสิ่งเหล่านี้ 

ผมมีรุ่นพี่นักเคมีในระยอง ถูกยิงเสียชีวิต เพราะรู้ว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำลายจริง จึงเปลี่ยนบริษัทกำจัดสารพิษ ผมมองว่า ปัญหากากสารเคมี สามารถแก้ได้ด้วยกฎหมาย ถ้ารัฐจะออกใบอนุญาติกำจัดกากสารเคมีให้บริษัทเหล่านี้ พวกเขาต้องมีระบบและเครื่องทำลายกากสารเคมี”

เหล่านี้คือ ส่วนหนึ่งของปัญหาสารเคมีบ้านเราที่รอวันแก้ปัญหา...