หยุดสงครามโรคยุคที่ 3 ด้วย 'พลังชุมชนท้องถิ่นไทย'
รวมพลังภาคีเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดรหัสความสำเร็จ "ชุมชนเข้มแข็ง" อีกหนึ่งเบื้องหลังขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงสังคมและเศรษฐกิจรากหญ้า สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน
นับตั้งแต่ก้าวแรกภายใต้ชื่อ "เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย" ในปี 2554 จนวันนี้ ต้องยอมรับว่า "เวทีสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน" ซึ่งจัดขึ้นในปีนี้เป็นปีที่ 13 แล้ว โดยมีภาคีเครือข่าย 5,725 คน จากเครือข่าย 530 แห่งทั่วประเทศไทย ได้มาร่วมกัน "สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน" ปี 2567 กับวาระ "ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ"
ท้องถิ่นเป็นภูมิปัญญาในกระบวนการแก้ปัญหา
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในวันนี้ที่กำลังเผชิญและต้องรวมเดินหน้าฝ่าฟัน นั่นคือปัญหาสำคัญระดับโลกอย่าง "แก่และจน" โดยกล่าวว่า ประเทศไทยเรากำลังก้าวสู่สังคมที่มีประชากร "แก่จน" อันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีนั้นสำคัญมาก เพราะสุขภาพคือความมั่งคั่งอันยิ่งใหญ่
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวเสริมว่า ในประเทศทั่วโลกมีตัวเลขชี้ชัดว่าเศรษฐกิจชุมชนรากฐานสังคมจะเจริญนั้นเรื่องสุขภาพสำคัญที่สุด โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นมีศักยภาพสูงและเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงสังคมและเศรษฐกิจรากหญ้า จึงเป็นเสมือนการระเบิดจากภายใน สร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน ซึ่งการขับเคลื่อนงานสุขภาวะที่ สสส. ดำเนินการ ได้เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า "ชุมชนท้องถิ่นท้องที่เข้มแข็ง" สามารถทำให้สมาชิกในชุมชนลดอัตราการป่วยหรือเสียชีวิตด้วยปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพหรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ลดลงได้จริง
ราชการเป็นทัพนำ ท้องถิ่นคือทัพหนุน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การที่เรากำลังรบในสมรภูมิสุขภาพที่ผ่านมาแล้วถึงสามยุค ชุมชนท้องถิ่นจำเป็นต้องรวมพลังในการร่วมแก้ปัญหา ด้วยบทบาท "ราชการเป็นทัพนำ ท้องถิ่นคือทัพหนุน"
"วันนี้อายุค่าเฉลี่ยคนไทย 70 ปี และหญิง 78 ปี มีอายุค่าเฉลี่ยลำดับ 47 ของโลก ซึ่งสามารถป้องกันจัดการโรคได้ เช่น ลดอุบัติเหตุทางถนน ส่วนเรื่องปัจจัยเสี่ยง เหล้าบุหรี่ เป็นภารกิจที่ชุมชนต้องร่วมแก้ไข"
สำหรับวัตถุประสงค์การจัดงานปีนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันชุมชนและสานพลังสร้างความตระหนักรู้ ขยายแนวทิศต่างๆ ผ่านการชี้นำ จุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ ด้วยมีชุมชนเป็นฐาน ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสู่การขับเคลื่อนเป้าหมาย 1. สานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และภาคีสร้างเสริมสุขภาพ 2. สร้างความตระหนักรู้ต่อสถานการณ์สำคัญ อันนำไปสู่การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นและประเทศ 3. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปฏิบัติการสุขภาวะชุมชน สู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส. 4. ขยายผลแนวคิด แนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการบูรณาการ
อีกไฮไลต์สำคัญในงานคือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นทั่วไทย ที่ได้มาร่วมระดมกำลังความคิด แชร์ประสบการณ์ ด้วยใจที่มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
เชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ร่วมเปิดเผยถึงเส้นทางความสำเร็จในการก้าวสู่เป็นต้นแบบชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งว่า เมืองจะยั่งยืนผู้คนต้องมีการศึกษา เชียงรายจึงส่งเสริมท้องถิ่นด้วยความรู้ เพราะความรู้ สามารถสร้างงานที่ดี สู่สังคมที่ดีในระยะยาว จึงวางเป้าหมายสู่ "เชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต" เกิดจากความเข้มแข็งด้วย "พลังภาคีเครือข่าย" ในพื้นที่ ทำให้เทศบาลเชียงรายสามารถเดินหน้าต่อได้ตลอดเวลา ใช้กลยุทธ์การสร้างหุ้นส่วนที่ร่วมสานพลังขับเคลื่อน มีการเปลี่ยนปัญหาผู้สูงอายุให้เป็นโอกาส โดยนำมาจุดแข็งความเป็นปราชญ์ชาวบ้าน มาสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่
สสส. เสน่ห์ของเขาคือการทำงานที่คิดจากล่างขึ้นบน
เนื่องจากเคยมีประสบการทำงานขับเคลื่อนในพื้นที่มาโดยตลอด ดร.นุชากร มาศฉมาดล รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เอ่ยว่า แรกเริ่มไม่ได้เชื่อในพลังการทำงานกับ สสส.
"ร้อยเอ็ดไม่ได้มีต้นทุนเหมือนจังหวัดอื่นที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ร้อยเอ็ดจึงให้ความสำคัญการพัฒนาคนในพื้นที่ ซึ่งผลจากการเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับ สสส. ที่ผ่านมา สามารถเดินหน้าแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้มากมาย"
สสส. ให้เราคิดเอง ทำเอง และสร้างเอง
ประทุม ไทรแช่มจันทร์ ประธานชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ สาทร กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ชุมชนเราเป็นชุมชนอัตลักษณ์เก่า มีการบุกรุก เป็นชุมชนแออัด การสัญจรไปมาลำบาก ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งที่ผ่านมาเราทำมาเยอะแต่ไม่ได้ผล สสส. ชวนทำงานในประเด็นเรื่องต่าง ๆ เรียนรู้กระบวนการทำงาน ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักการทำงานร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภายนอก นอกจากนี้การทำงานกับภาคีเพื่อนบ้าน ทั้งสามชุมชน ยังทำงานร่วมมือแลกเปลี่ยนกันและกัน จึงยิ่งเสริมประสิทธิภาพการขับเคลื่อน
"เราพยายามบอกกับเขาว่า ความชราภาพเป็นธรรมชาติมนุษย์ แต่จะชราภาพให้ดีมีคุณภาพอย่างไร เราจึงเน้นกิจกรรม การออกกำลังกาย ส่วนกลุ่มเปราะบางผู้ป่วยติดเตียงพิการที่ออกกำลังกายไม่ได้ เราก็จัดผู้สูงอายุไปเยี่ยม อาทิตย์ละครั้ง 20-30 นาที กลายเป็นน้ำหยดหนึ่งที่ชโลมใจผู้ป่วยและผู้สูงอายุด้วยกันเอง ด้านเยาวชนในเมืองในชุมชนเราคือพื้นที่สีแดง ปัญหายาเสพติดค่อนข้างรุนแรงจนไม่มีใครเอาอยู่ เราจึงพยายามสร้างกลไก มีการออกโทษยาเสพติดแต่ละชนิดในชุมชนและเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ชุมชนจึงปล่อยเวทีให้เยาวชนสร้างคิดกิจกรรมที่จะทำด้วยตัวเอง เป็นต้น"
ประภัสสร ผลวงษ์ ผู้อํานวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี อําเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงจุดแข็งของสุพรรณบุรีที่ทำให้ประสบความสำเร็จว่า ส่วนหนึ่งเราใช้อัตลักษณ์ของพื้นที่สร้างสุขและสุขภาวะในชุมชน โดยกระบวนการ สสส. พาเราเดินหน้าไปตาม แนวคิดที่ว่า ถ้าเราไม่เริ่มอะไรด้วยตัวเองเราจะต่อไม่ได้ จะคิดไม่ถูก
แม้อุปสรรคการขับเคลื่อนการทำงานช่วงแรกจะมีบ้างหากด้วยกลไกของภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่เปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ ทำให้สามารถก้าวสู่ชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งในการดำเนินการ
"ตอนแรกไม่เข้าใจว่าเชื่อมโยงยังไง แต่เราได้เห็นนวัตกรรมจากการได้ไปเรียนรู้หลายพื้นที่ ทำให้เริ่มมองเห็นว่าการขับเคลื่อนกระบวนการแต่ละเรื่องและการทำงานอย่างไร"
ประภัสสร กล่าวต่อไปว่า จุดเด่นการทำงานกับ สสส. ยังส่งเสริมให้ชุมชนมองเห็นความสำคัญในเรื่องการสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหา รู้จัก เรียนไปด้วยกัน ทำความเข้าใจกัน สร้างการมีส่วนร่วม และนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในบุคคลและพื้นที่
สสส. เข้ามาช่วยพัฒนาด้านการสร้างภาวะผู้นำ
หาดใหญ่มีพื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตร มีประชากรหนึ่งแสนห้าหมื่นคน แต่กลับมีประชากรแฝงอีกเท่าตัว
เยาวลักษณ์ บุญตามชู นักวิชาการสาธารณสุขเทศบาลนครหาดใหญ่ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่าว่า การมีประชากรรวมสามแสนคนจึงเป็นหัวเมืองที่แออัดพอสมควร ด้วยความเป็นเมืองใหญ่ในภาคใต้ ทำให้เป็นเมืองศูนย์กลาง ทั้งสังคมด้านการศึกษา โรงพยาบาล และลักษณะพิเศษ คือเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมนอกจากนี้ ผลจากการขยายตัวเมืองอย่างรวดเร็วทำให้หาดใหญ่เจอปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
นครหาดใหญ่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเป็นการประสานงานทุกภาคส่วน สร้างผู้นำที่แฝงตัวเป็นเครือข่ายในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือสร้างความสำเร็จคือการใช้กลไกความร่วมมือ ใช้ระบบข้อมูล TCNAP และ RECAP ที่เรียนรู้จาก สสส. เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนนำไปสู่กิจกรรมต่าง ๆ มากมาย
"การทำข้อมูลทำให้เราเห็นมุมมองที่เราได้เห็นจริงที่ถ้าเราไม่ได้ลงไปในพื้นที่คงไม่ได้สัมผัสเลย ที่ผ่านมาหาดใหญ่มีการสัมภาษณ์จัดทำข้อมูลทุกปีเก็บข้อมูลได้ทุกชุมชน แต่ข้อมูลไม่เคยอยู่ในชุมชน เพราะสสส. ทำให้ทุกคนพลิกบทบาท ด้วยการเปลี่ยนจากผู้ให้สัมภาษณ์ เป็นเจ้าของข้อมูลและรับทราบข้อมูลแท้จริง ทำให้ชุมชนเรียนรู้และท้องถิ่นก็รับรู้ ทุกครั้งการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเราได้เรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน"
ผลจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ยังทำให้คัดเลือกชุมชนเข้มแข็ง มีบริบทแตกต่างกัน มาร่วมพัฒนากิจกรรมมากมาย
"สิ่งที่เราเห็นแตกต่างในพื้นที่ชุมชนของเราก็คือ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชนให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ถ้าในอดีตก็จะเป็นคนเดิม ๆ แต่เมื่อมีการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ ระหว่างนั้นเราได้พบผู้นำทางธรรมชาติ และผู้นำรุ่นใหม่อีกมากมาย"
ปัจจุบันหาดใหญ่มีอีกภารกิจสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนคือ การเดินหน้าแนวคิด "สูงวัย แต่ไม่ชรา" การส่งเสริมให้เป็นผู้สูงอายุทรงพลัง มีการรวมกลุ่มสร้างสังคม สร้างสังคมเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
"วันนี้หาดใหญ่เข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ แล้ว เรามีผู้สูงอายุร้อยละ 19 ถ้าไม่ดูแลก็จะทำให้พัฒนาไปไม่ได้ แม้แต่ในเมืองก็ไม่ได้มีชุมชนเจริญอย่างเดียว หากยังมีชุมชนขาดโอกาสที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน" เยาวลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย