อยากเป็น ‘นักเขียน’ มีผลงานออนไลน์+รูปเล่ม ต้องทำอย่างไร?
‘นักเขียน’ อิสระ ในโลกยุคดิจิทัล ทำฝันนี้ให้เป็นจริงได้เร็วยิ่งขึ้น จะเริ่มต้นอย่างไร นักเขียน 'The Shepherd' และสำนักพิมพ์ 'ARNBOOK' มีคำตอบ
นักเขียน เป็นอาชีพในฝันของหลาย ๆ คน ในยุคก่อน คนที่จะเป็นนักเขียนได้ ต้องมีใจรัก มีพรสวรรค์ และพรแสวง ต้องพยายามอย่างหนัก เพราะมีองค์ประกอบมากมายที่จะทำให้ไม่สำเร็จ
ปัจจุบันเป็นโลกยุคดิจิทัล ให้โอกาสทำความฝันที่จะเป็นนักเขียน มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพียงแค่ว่า ขอให้เขียน เขียนต่อไป เท่านั้น
"ขั้นตอนแรกของการเป็นนักเขียน คือ เราต้องเขียนให้จบก่อน เขียนจบ คือ การเป็นนักเขียนแล้ว 90%"
The Shepherd หรือ ณิชชาภัทร แซ่คิ้ว นักเขียนนิยายรักชื่อดัง กล่าวในงานเสวนา 'ปลดล็อกฝันนักเขียน เส้นทางสู่หนังสือของคุณ นักเขียนอิสระ ก็มีหนังสือเป็นของตัวเองได้' ในงาน THACCA SPALSH Soft Power Forum เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 และพูดถึงขั้นตอนการเป็นนักเขียนให้ฟังว่า
The Shepherd (Cr. Kanok Shokjaratkul)
"เมื่อเราเขียนจบแล้ว ขั้นตอนต่อมา ไปหาบก. เสริมงานเราให้สมบูรณ์ขึ้น ถ้าไม่มีทุนจ้างบก. ก็ให้เพื่อนนักอ่านช่วยอ่าน แล้ววิจารณ์ว่างานเราขาดตรงไหน แล้วก็แก้ไข เพิ่มเติม ตัดออก ให้เรียบร้อย แล้วอ่านทวนหนึ่งครั้ง
ขั้นตอนต่อมา พิสูจน์อักษร เพราะคำผิดทำให้เสียอรรถรสการอ่าน พิสูจน์อักษรแล้วก็แก้ไข แล้วอ่านทวนอีกครั้ง
ขั้นตอนต่อมา การจัดหน้า วิธีจัดหน้า ถ้าไม่จ้างเขา ก็ทำเอง ดูในยูทูบมีสอนเยอะแยะ ทั้งจัดหน้าสำหรับอีบุ๊ค แล้วก็รูปเล่ม จัดเสร็จแล้ว อ่านทวนอีกรอบหนึ่ง ดูว่าไม่ได้ลบซีนไหนทิ้งไป ส่วนปก นิยายรักเรื่องแรกของเรา เราจ้างวาด 350 บาท
ขั้นตอนต่อไป หาโรงพิมพ์ที่ไว้ใจได้ ไม่ทำไฟล์หลุด ส่งไปพิมพ์ แล้วขอรูปเล่มตัวอย่างมาตรวจครั้งหนึ่งก่อนจะออกมาเป็นรูปเล่ม เพื่อให้สมบูรณ์ที่สุด
ขั้นตอนต่อมา หาช่องทางการจำหน่าย เราส่งให้ ARNBOOK เขาเป็นผู้ทำต่อ"
Cr.The Shepherd
-
เขียนอย่างไรให้ถูกใจนักอ่าน
The Shepherd กล่าวว่า ต้องเขียนให้สนุก ทุก ๆ หนึ่งพันคำ นิยายเรื่องหนึ่งประมาณแสนคำ ทุกหนึ่งพันคำ ต้องสนุก
"แน่นอนว่าจริตความสนุกของแต่ละคนไม่เท่ากัน สิ่งที่วัดได้คือ เริ่มจากตัวเอง ในหนึ่งพันคำ สนุกจนอยากเปิดหน้าต่อไป อยากรู้ต่อไปไหม ถ้าอ่านแล้ว ไม่สนุกเลย เฉยมาก ให้หยุด แล้วสร้างขึ้นใหม่
จะรู้ได้ยังไงว่าหนึ่งพันคำสนุกแล้ว ไปลงรายตอนในเว็บไซด์ ให้ทุกตอนมีอะไรรออยู่ข้างหน้า ให้คนอยากรู้ เปิดเรื่องมาต้องน่าสนใจ ปลุกความอยากรู้ คู่นี้จะไปยังไงต่อ มีปริศนาอะไรซ่อนอยู่ ใครฆ่าคนนี้
และต้นฉบับที่ดีต้องเฉลยครบ ไม่ใช่ นักเขียนรู้อยู่คนเดียว เปิดปมอะไรต้องปิดปมนั้นให้เรียบร้อย ก็จะเป็นนิยายที่สมบูรณ์ขึ้น"
The Shepherd (Cr. Kanok Shokjaratkul)
-
แฟนคลับ คือ บุคคลสำคัญสำหรับนักเขียน
The Shepherd เล่าว่า เมื่อก่อนเป็นนักอ่านเงา เขียนดีแค่ไหนก็ไม่เคยไปบอกนักเขียน แค่บอกเพื่อนว่าเรื่องนี้สนุก ไปอ่าน พอมาเป็นนักเขียนก็ได้รู้ คำพูดที่ว่า “เล่มนี้สนุกนะ” มันเป็นแรงผลักดันให้ไปต่อได้
"ตอนนี้เราเขียนมา 9 เรื่องแล้ว จากตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะเป็นนักเขียนอาชีพใด ๆ เขียนแค่สนุก ๆ เราไม่ได้มีสกิลด้านการเขียน สำนวนก็ปกติธรรมดามาก ไม่ได้เรียนด้านนี้มาด้วย แต่ตอนนี้โลกเปิดมากขึ้น สำนวนไม่ได้จำกัดอยู่แค่แบบเดิม
เราเขียนแบบไหนก็ได้ ที่เราถนัด ไม่จำเป็นต้องเหมือนสำนวนของใคร เราเขียนบรรยายแบบบุคคลที่หนึ่งมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ขณะที่สำนักพิมพ์มักจะบรรยายแบบบุคคลที่สาม
พอเรากล้าที่จะทำ อยากสร้างโลกใหม่ของเราขึ้นมา ก็แค่ทำ ทำไป แล้วก็ลงรายตอน ปรากฎว่ามีคนซัพพอร์ต อยากรู้เรื่อง ทำให้เราอยู่ต่อ ดำเนินมาจนถึง 9 เล่มได้ จากเขียนเล่น ๆ แค่เล่มเดียวเท่านั้นเอง
สิ่งสำคัญคือ 1) ต้องตอบทุกคอมเมนต์ บางทีเราก็ได้ไอเดียจากการพูดคุยกับเขา อย่าให้เขารู้สึกว่าเขาพูดคนเดียว เพราะเขาจะพูดแค่ครั้งเดียว แล้วไม่พูดอีกแล้ว แต่ถ้าเราเป็นเพื่อนเขา คุยกับเขา โต้ตอบกับเขา เขาก็อยากคุยกับเราต่อ
2) เราต้องสร้างโซเชียลของเราขึ้นมา แล้วแชร์ว่าลงตอนนี้แล้วนะ หรือจัดกิจกรรมให้คนอ่านมีส่วนร่วมกับนิยายเรามากขึ้น คุยเกี่ยวกับนิยาย ตัวละคร
โซเชียลของเรา คือฐานนักอ่านที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่กับเรา อย่าปล่อยเพจให้ร้าง เราต้องแอคทีฟตลอดเวลา
3) อย่าหยุดสร้างผลงาน ถึงจะเขียนดีแค่ไหน ความทรงจำคนอ่านทุกวันจะเลือนหายไปเรื่อย ๆ เราต้องสร้างเรื่องอื่นขึ้นมา ของเราสร้างเป็นจักรวาลกลุ่มเพื่อน เพราะคนอ่านเรียกร้องเข้ามาว่า อยากรู้จักตัวละครนี้เพิ่ม เป็นเพื่อนของพระเอก เราก็เขียนให้
เพราะฉะนั้นอย่าหยุด พอเราสร้างเรื่องที่สองก็มีคนอ่านมากขึ้นกว่าเรื่องแรก แม้จะไม่ได้อย่างที่หวัง เราก็สร้างเรื่องที่สามขึ้นมา อย่ายอมแพ้ ถ้าเราอยากเป็นนักเขียน ไปต่อ อย่าหยุด ต้องก้าวต่อไปเรื่อย ๆ จน ไม่ไหวแล้วจริง ๆ ก็พักก่อน
การเขียนของเรา เรื่องที่หนึ่งขายได้เท่านี้ เรื่องที่สองขายได้มากขึ้น เรื่องที่สามมากขึ้น ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ พอไปถึงจุดสูงสุดมันก็แผ่วลงมา มีนักอ่านที่ออกไป เพราะเรื่องนี้เป็นแนวที่เขาไม่ชอบ อย่าเสียใจ เพราะความสนุกเป็นเรื่องของจริต บางทีเขาอาจไม่ชอบพระเอกเด็ก หรือแนวเรื่องแบบนี้ ไม่เป็นไร เรื่องนี้ไม่ใข่แนวเขา
เราก็ทำเรื่องหน้า เขาอาจกลับมาในเรื่องหน้า อย่าคิดมาก การเป็นนักเขียน ต้องมีใจที่เข้มแข็ง”
วรงค์ชนก เทียมทินกฤต (Cr. Kanok Shokjaratkul)
-
การพิมพ์หนังสือเป็นรูปเล่ม
ไม่ว่ายุคไหน นักเขียนเวลาติดต่อโรงพิมพ์ จะขอเรทราคา ขอจำนวนพิมพ์ ถ้าเป็นนักเขียนใหม่ มักไม่รู้ว่าควรจะพิมพ์เท่าไร จะชั่งใจอยู่สองทางเลือกคือ 1) พิมพ์น้อยดีกว่า กลัวขายไม่หมด 2) พิมพ์เยอะ ต้นทุนจะได้ถูกลง
วรงค์ชนก เทียมทินกฤต จาก ARNBOOK กล่าวว่า เราเป็นแพลตฟอร์ม ที่จำหน่ายหนังสือให้กับนักเขียนอิสระ และตีพิมพ์ด้วย
"เมื่อนักเขียนอิสระเอาต้นฉบับมาให้ เราจะเช็คไฟล์ก่อนส่งพิมพ์ว่า จัดหน้ามาถูกต้องไหม ขนาดได้ไหม มีตัดตกตรงขอบไหม เช็คเรื่องสี ชิดซ้ายชิดขวา ถ้าผ่าน ถึงจะส่งเข้าโรงพิมพ์ ถ้าไม่ผ่าน ก็ตีกลับนักเขียนไปแก้มา
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราเป็นระบบพรีออเดอร์ ที่นักเขียนไม่ต้องออกค่าพิมพ์ก่อน เราจะหัก 35% จากยอดขาย สำหรับลูกค้าที่พรีออเดอร์ผ่านระบบของเรา พอพิมพ์เสร็จ เราจะแพ็คจัดส่ง ดูแลนักอ่านให้ด้วย
นักเขียนแต่ละคนจะมีแนวการเขียนของตัวเอง อย่ามัวไปเขียนตามตลาด หรือเขียนแนวที่ไม่ใช่เรา ผลงานที่ออกมาจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ใช่จิตวิญญาณเรา
มีเคสหนึ่ง ส่งอีเมลต้นฉบับมา แล้วตรงหัว CC ทุกสำนักพิมพ์ในประเทศไทยเลย อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ควรเลือกสำนักพิมพ์ที่ตรงกับผลงานของเรา และแนวทางที่ไปกันได้ ถ้ามันไปอยู่ถูกที่ ถูกบก. การพิจารณาผ่านก็ง่ายขึ้น"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
ต้นฉบับที่ดี เป็นอย่างไร
วรงค์ชนก กล่าวว่า ต้องมีพล็อตโดยละเอียด ไม่ใช่พล็อตคร่าว ๆ และเนื้อเรื่องฉบับเต็ม
"พล็อตจะทำให้บก.พิจารณาง่ายขึ้นว่า เรื่องนี้มันใช่แนวที่เรามองหาหรือเปล่า ถ้ามันใช่ เราถึงจะไปอ่านเรื่องเต็ม แล้วเรื่องเต็ม ก็ต้องดูว่า บทแรกดึงคนอยู่ไหม เพราะว่าบางเรื่องพล็อตน่าสนใจ แต่พออ่านเรื่องเต็ม ไม่ตอบโจทย์ เอิงเอยไปไหนไม่รู้ ยังไม่เข้าปม ไม่อะไรทั้งนั้น จะมีโอกาสไม่ผ่าน
แล้วต้นฉบับที่ส่งมา ควรจะพิสูจน์อักษรให้เรียบร้อย อ่านทวนให้เรียบร้อยเหมือนจะออกหนังสือจริง ๆ แต่ถ้ามีจุดผิดพลาดเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร เรามีขั้นตอนบก.อยู่แล้ว ถ้าผ่าน ก็จะเข้ากระบวนการบก.สำนักพิมพ์
จากประสบการณ์ ที่เจอบ่อยมาก ทวิตของนักเขียนที่เสียกำลังใจที่ขายไม่ได้ ใด ๆ ก็ตาม อย่าเพิ่งคิดว่าเราไม่เก่ง มันอาจจะยังไม่เจอนักอ่านที่ใช่ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเอาผลงานเราไปอยู่ในที่ที่ใช่
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตอนนี้มีแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นรายตอน อีบุ๊ค เยอะแยะมากมาย กลุ่มคนอ่านในแต่ละเว็บก็ไม่เหมือนกัน เรื่องบางเรื่องเว็บนี้ไม่มีคนอ่านเลย แต่ถ้าเอาไปลงอีกเว็บไปเจอคนอ่านที่ใช่ ที่นั่นก็เป็นที่ของคุณ แล้วก็ต้องขยันโปรโมทนิดหนึ่ง
อย่างบางทีมาลงขายกับ ARNBOOK เราจะมีโปรโมทให้ คนที่เห็นจะเป็นลูกค้าใหม่ ยังไม่รู้จักนักเขียนคนนี้ ที่สำคัญ คุณควรโปรโมทคนที่ตามคุณอยู่ด้วย เพราะจะทำให้เช็คฟีดแบคได้ ประเมินได้ว่าตีพิมพ์เองจะมากหรือน้อยแค่ไหน แต่อย่าเสี่ยงเกินไป พิมพ์ในปริมาณที่พอสมควรก่อนดีกว่า ถ้าฟีดแบคมันดีจริงค่อยพิมพ์เพิ่ม
มีโรงพิมพ์เคยมาบอกว่า นักเขียนบางคนต้องไปขายอีบุ๊คให้ได้ตังค์ประมาณหนึ่งแล้วถึงจะมาพิมพ์หนังสือเล่ม แล้วก็มาเฟลตรงหนังสือเล่มเพราะกะปริมาณไม่ถูก จมกับสต็อกที่พิมพ์มา
แต่ถ้าพิมพ์กับ ARNBOOK พรีออเดอร์ คนกดซื้อมากี่เล่ม เราพิมพ์ตามจำนวน ปรินท์ออนดีมานด์ นักเขียนไม่ต้องมานั่งแบกสต็อคเอง ต่อให้สั่งเล่มเดียว เราก็พิมพ์
Cr. Kanok Shokjaratkul
ส่วนนักเขียนที่เคยพิมพ์เองมาแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะขายยังไง ทำการตลาดไม่เป็น ก็ส่งมาเข้าคลัง ARNBOOK ได้ เรามีระบบฝากขายด้วย
ทุกครั้งที่เราจะมีระบบพรีออเดอร์เราจะคุยกับนักเขียนแต่ละคนว่า อยากขายจุดเด่นจุดไหน มีตรงไหนอยากเล่า อยากให้การตลาดออกมาแบบไหน นิยายแต่ละเรื่อง หรือหนังสือแต่ละเล่ม มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จะมาทำการตลาดเป็นแพทเทิร์นแบบหว่านทุกเล่มไม่ได้
ต้องรู้ว่าในแต่ละเรื่องที่เราเปิดขาย จุดขายคืออะไร ควรไปขายกับใคร ถ้าเป็นเทคนิคยิงแอดเพื่อโปรโมทเราก็ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมาย คนแบบไหนที่จะได้เห็นแบบนั้น พอเราส่งหนังสือไปสู่คนอ่านที่ใช่ ก็จะขายได้เอง
Cr. Kanok Shokjaratkul
ปกติในการพิมพ์งาน เรามีสองทาง 1) นักเขียนส่งมาที่เรา 2) เราไปตามหาตามเว็บออนไลน์ต่าง ๆ ที่เป็นรายตอน ถ้าเราอ่านแล้วสนใจ เราจะติดต่อไป พอเข้ากระบวนการที่ได้ต้นฉบับมาแล้วเราจะเลือกบก.ที่เข้ากับสไตล์ของเรื่องนั้น
ถ้าหนังสือมีปม บก.ก็ต้องเช็คกว่าปิดปมทุกปมหมดหรือยัง แล้วดูเรื่องพิสูจน์อักษร การใช้คำต่าง ๆ ถ้าคำหยาบเยอะไปก็มาคุยกันว่า ต้องมีไหม ถ้าไม่จำเป็นตัดออกไหม เราให้เกียรติงานเขียนทุกขั้นตอน บก.ต้องคุยกับนักเขียนให้ยอมรับตรงกันก่อน
เราอยู่ในวงการหนังสือมาเกือบ 20 ปีแล้ว เมื่อก่อนกว่าจะได้ตีพิมพ์ สำนักพิมพ์เป็นผู้ตัดสิน บางทีผลงานเราไม่ได้แย่ แต่คนตัดสินเป็นแค่บก.หนึ่งคน
แต่โลกยุคดิจิทัล สามารถเอางานที่เขียนเผยแพร่ออนไลน์ได้เลย แล้วได้เจอกับเสียงส่วนใหญ่ เราเคยเจอเล่มที่ไม่ผ่านสำนักพิมพ์มาสิบกว่าครั้ง แต่พอออนไลน์ยอดวิวเป็นล้านก็มี แสดงว่าเรื่องของคุณดีนะ
เวลาคุณได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ออนไลน์ให้คิดว่า เขาอาจเกิดมาอีกสังคมหนึ่ง มายด์เซ็ทหนึ่ง มองโลกคนละแบบ ไม่ได้หมายความว่าผลงานของคุณไม่ดี ถ้าเป็นคอมเมนต์ที่เอาไปต่อยอดงานได้ก็รับไว้ แต่ถ้าเป็นคำพูดทำร้ายจิตใจ ก็ช่างมัน
ตอนนี้อุตสาหกรรมในไทยเริ่มเปลี่ยนขั้วไปทำนิยายแปลซะเยอะ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนักเขียนไทยให้เผยแพร่งานออกไปอีกเรื่อย ๆ ให้ขายได้ ยืนหยัดอยู่ได้ ในวงการหนังสือไทย"