‘ร้านหนังสืออิสระ’ การต่อสู้เพียงลำพัง ที่ไร้การเหลียวแล
'ร้านหนังสืออิสระ’ เริ่มล้มหายตายจากลงเรื่อย ๆ อีกทั้ง การจัดงาน ‘สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ’ ก็หายไป จะทำอย่างไร ให้ร้านหนังสืออิสระอยู่ได้ และมีคนสนใจมากขึ้น
สำนักงานเขตพระนคร และ ย่านสร้างสรรค์ จัดงานเสวนา ความอยู่รอดของร้านหนังสืออิสระ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ณ ท่าเรือราชินี (ปากคลองตลาด)
โดยมี เรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการ นักแปล นักเขียน กวี ผู้ผลักดันงาน สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ, ณพัฎน์ จิตตภันท์กัณตา อนุกรรมาธิการ การส่งเสริมต้นทุนทางวัฒนธรรมสู่ความเป็นสากล, สหัสวรรษ ธนสุขสวัส อินฟลูเอนเซอร์ เพจ Just Read ดำเนินรายการโดย นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ
-
ร้านหนังสืออิสระ คือ เสน่ห์ของเมือง
เรืองเดช จันทรคีรี ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการริเริ่มจัดงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ กล่าวว่า เราจำเป็นต้องมีร้านหนังสืออิสระ เพราะร้านหนังสืออิสระ ทำให้เกิดความหลากหลาย เขาขายหนังสือจากใจ จากความคิด
"วิธีการที่จะทำให้ร้านหนังสืออยู่รอด ต้องสร้างระบบขึ้นมาใหม่ ร้านหนังสืออิสระต้องเปลี่ยนจากระบบฝากขาย มาเป็นซื้อขาด เพราะร้านหนังสืออิสระพื้นที่มันเล็กอยู่แล้ว ยิ่งหนังสือผลิตเยอะ ก็ต้องรับทุกเล่ม แบบเลือกไม่ได้
แต่การซื้อขาด ทำให้เลือกได้ ถ้าเราซื้อเอง เราจะโปรโมทมากกว่า ปัญหาของการซื้อขาด คือทุน ต้องสร้างระบบขึ้นมา ที่ไต้หวัน เขาตั้งสหกรณ์ให้ร้านหนังสืออิสระมาลงหุ้น แล้วสหกรณ์เป็นตัวจัดหาให้ร้านหนังอิสระ
ผมไม่ได้เปิดร้านหนังสืออิสระโดยกายภาพ แต่ผมทำเว็บแบบร้านออนไลน์ ผมไม่รับฝากขายเลย ซื้อขาดหมด ไตเติลหนึ่งผมขายได้ 100-150 เล่ม
แต่ช่วงหลังขายไม่ได้เพราะมีบางแพลตฟอร์มส่วนลดเยอะ เรากลายเป็นโชว์รูม ยิ่งแนะนำมากเท่าไร ก็เหมือนทำงานฟรี เขามาดูที่เรา ได้รับคำแนะนำที่เรา แต่ไปซื้อที่อื่น ที่ถูกกว่า"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
หลายประเทศมี สถาบันหนังสือแห่งชาติ ที่รัฐให้การสนับสนุน
สำหรับประเทศไทย เรืองเดชกล่าวว่า การรอความช่วยเหลือจากรัฐเป็นเรื่องยาก ถ้ามันเกิดขึ้นได้ก็คงเกิดขึ้นนานแล้ว
"รวมถึงการตั้ง สถาบันหนังสือแห่งชาติ ด้วย ขณะที่ฝรั่งเศส อินเดีย สถาบันหนังสือแห่งชาติของเขามีอายุ 80 ปีไปแล้ว ของเรายังไม่เกิดเลย
ที่ผมมาวันนี้ อยากพูดเรื่องงานย่านสร้างสรรค์ อยากให้เขตพระนครเป็นตัวสตาร์ทอัพ เพราะเขตพระนครเป็นเขตที่เข้มแข็ง
Cr. Kanok Shokjaratkul
1) มีสถานที่ประวัติศาสตร์เก่าอยู่เยอะมาก ทั้งวัง ทั้งวัด สถานศึกษา เป็นต้นทุนทางโครงสร้างของเมือง
2) แต่ละร้านอยู่ใกล้กัน สามารถเดินถึงกันได้ สามารถจัดทัวร์ได้ง่ายกว่าเขตอื่น ๆ
3) ร้านหนังสืออิสระทั้งหมด 11 ร้าน มีร้านที่แอนทีค 5 ร้าน ที่ย่านวังบูรพา
เขตพระนครจะช่วยสนับสนุนให้มีร้านหนังสือในเขตนี้เพิ่มอีกสัก 5 ร้านได้ไหม ให้คนที่อยากทำร้านหนังสือแต่มีปัญหาเรื่องสถานที่ให้มาเปิดร้านที่เขตพระนคร เพราะที่เขตนี้มีร้านหนังสือ 10 ร้านแล้ว"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
รื้อฟื้น งานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ กลับมาอีกครั้ง ในปีหน้า
จำนวนร้านหนังสือ คือ ดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของเมือง ใครเคยกล่าวไว้ ส่วนการจัดงานหนังสือคือการสร้างความคึกคัก
"ถ้าเราจะจัดงาน สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ ในปีหน้า ปลายเดือนมิถุนายน ต้องจัดหลายจุด มีหอสมุดเมือง ลานคนเมือง
มูลค่าตลาดหนังสือในปัจจุบันลดลง จากเมื่อก่อน 30,000 ล้านต่อปี เหลือ 16,000 ล้านต่อปี งานหนังสือใหญ่ 2 ครั้ง 800 ล้าน ครั้งละ 400 ล้าน ทั้งปีประมาณ 5%
อีก 95% อยู่ที่ร้านหนังสือ ทำไมเราไม่ขยายร้านหนังสือให้มากขึ้น เขาขาย 365 วัน แทนที่จัดงานใหญ่ 2 ครั้งขายได้ 30 วัน ตลาดมันก็จะโต"
-
รัฐบาล คือ ตัวช่วยที่สำคัญ
ณพัฎน์ จิตตภันท์กัณตา อนุกรรมาธิการ การส่งเสริมต้นทุนทางวัฒนธรรมสู่ความเป็นสากล กล่าวว่า หนังสือไทยมีราคาแพง เพราะต้องแบ่งให้ผู้จัดส่งถึง 40-50 % ของราคาปก
"ที่เหลือเป็นต้นทุนที่สำนักพิมพ์ต้องแบกกรับ ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาควบคุม ผู้ประกอบการรายย่อย ก็ตายลงไปเรื่อย ๆ รัฐต้องเข้าไปแก้
งานสัปดาห์หนังสือและงานมหกรรมหนังสือเป็นตัวชี้วัดและเป็นหมุดหมายในการออกหนังสือของนักเขียน ส่งผลทั้งองคาพยพ ทำให้คนอ่านไปซื้อในงานนั้นด้วย
มีทั้งข้อดีข้อเสีย ทำให้คนไม่เข้าร้านหนังสือ และคนซื้อออนไลน์เยอะขึ้นเพราะมีตัวเลือกที่ถูกกว่า
โจทย์ของรัฐคือ ทำให้ราคาหนังสือลดลง สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ทำให้รู้สึกว่าหนังสือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ปัจจุบันคนไม่สามารถซื้อได้ ต้องรอส่วนลดก่อน หรือไปซื้อออนไลน์ก่อน
หลายปีก่อนสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีความพยายามจัดตั้ง สถาบันหนังสือแห่งชาติ แต่มีการพลิกแพลงอะไรบางอย่างออกมาเป็น TK PARK ปัจจุบันคงต้องฝากความหวังไปที่ซอฟต์พาวเวอร์หนังสือ
อีกปัญหาหนึ่งของร้านหนังสืออิสระ คือไม่มีคนเข้า เราต้องทำให้คนไทยอ่านอ่านหนังสือเยอะขึ้น พัฒนาพฤติกรรมการอ่าน
ที่ประเทศฟินแลนด์ มีกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรม พ่วงสองกระทรวงเข้าด้วยกันทำงานพร้อมกัน เพราะเขามองว่าการส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างเดียวไม่ได้ถ้าไม่ผลักดันเรื่องการศึกษา
ที่ฝรั่งเศสมีกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร เพราะเขามองว่าการทำงานวัฒนธรรมไม่ใช่แค่การสงวนรักษาปกป้องสิ่งที่มีอยู่อย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของการสื่อสารออกไปด้วย
ปัจจุบันเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง ถ้าเรามีระบบการศึกษาที่ดี ส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน ก็น่าจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมการอ่านได้"
-
ทำไม เด็กไทย ไม่อ่านหนังสือ
สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ เจ้าของเพจ JUST READ กล่าวว่า สมัยที่เรียนมีชั่วโมงรักการอ่าน บังคับให้อ่าน 5 เล่ม ให้เลือกเอง แต่ทุกคนลักไก่หมด เพราะเป็นการบังคับ และไม่มีเวลา
"ทุกคนจะทำเหมือนกันหมด คือ เข้าห้องสมุดหยิบหนังสือมา 5 เล่ม คัดลอกปกหน้า คัดลอกปกหลัง อ่านสารบัญ โอเค.ครบ สรุป
มันกลายเป็นว่าสิ่งที่เขาครีเอทคือความหวังดี แต่ไม่ได้มองลึก ไม่ได้โฟกัสว่าเด็กจะเอาเวลาที่ไหนมาอ่านหนังสือในเมื่อตารางเรียนเต็มตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น คุณจะให้เด็กอ่านหนังสือได้ไง
ต้องดูความเหมาะสมด้วยว่า ในช่วงเวลาที่เรายังเด็กอยู่ การเรียนรู้และเติบโตมีอีกหลากหลายรูปแบบ การอ่านหนังสือควรเป็นตัวเลือก ไม่ใช่การบังคับ พอบังคับเด็กยิ่งไม่ชอบ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ส่วน ร้านหนังสืออิสระ คนไทยหลายคนยังไม่รู้เลยว่า ร้านหนังสืออิสระคืออะไร บางคนมองแค่ว่าร้านนั้นมีหนังสืออะไรขาย ที่ฉันสามารถอ่านได้
จากการจัดงานพาคนมารู้จักว่า นี่คือย่านร้านหนังสือนะ เขาก็ อ๋อ นี่หรือคือร้านหนังสืออิสระ หลังจากที่ผมพาไป เจ้าของร้านบอกว่า มีคนหน้าเดิมกลับมาซื้อกับเขาอีก
ทั้งที่เขาไม่เคยมาที่นี่มาก่อน พอรู้ว่าเดินทางมาไม่ยาก แค่ MRT สามยอด เดินตรงไปตามซอยก็เจอแล้ว ทำให้เขากลับมาซื้อหนังสือที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นเรื่องดีที่ผมได้ทำ
และคงทำเรื่อย ๆ เพราะมีนักอ่านจำนวนมากที่ไม่รู้จักร้านหนังสือเหล่านี้ ซึ่งน่าจะมีคนแบบผมคือ อยู่กรุงเทพฯมานาน ทำไมไม่เคยรู้จักย่านนี้เลย การพามาเปิดหูเปิดตาเป็นเรื่องที่ดี"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
พฤติกรรมของคนซื้อหนังสือเปลี่ยนไป
สหัสวรรษ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ชัดเจนมากเพราะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว
"ในเพจเราพรีวิวหนังสือเล่มหนึ่ง ประสบความสำเร็จมาก คนรู้จักเยอะมาก แต่คนไม่ซื้อผ่านเรา ไปซื้อผ่านบ้านส้มบ้าง บ้านฟ้าบ้าง มันคือพฤติกรรมผู้บริโภคหลังจากโควิด นิวนอร์มอลของคนคือ การซื้อออนไลน์ เขาต้องการช่องทางที่ง่ายและสะดวกที่สุด
อย่างผมไปร้านหนังสือกับเพื่อน พอเพื่อนดูเสร็จก็ยกมือถือขึ้นมา เข้าไปในบ้านส้ม เลื่อนดู เข้าตระกร้าปุ๊บส่งไปที่บ้าน
Cr. Kanok Shokjaratkul
ไม่กระทบกับงานหนังสือใหญ่ ๆ เพราะคนที่มางานหนังสือใหญ่เลือกแล้วว่าจะมาซื้อหนังสือที่นี่ แต่ก็มีบางคนไปงานแล้วยังหยิบมือถือขึ้นมาเช็คราคาในบ้านส้มก่อน แล้วค่อยตัดสินใจอีกที
ในฐานะ คนอ่าน คนรุ่นใหม่ ผมเป็นอินฟลูเอนเซอร์ คนหนึ่ง สิ่งที่ทำได้หลัก ๆ คือพาคนอ่านไปรู้จักร้านหนังสืออิสระที่ยังไม่มีคนรู้จักหรือรู้จักไม่มากพอ หรือรวมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ไปทำคอนเทนต์โปรโมทประชาสัมพันธ์ในย่านนี้ เพราะคนเหล่านี้มีคนตามเยอะ แต่ละร้านก็มีสไตล์เฉพาะของตัวเอง"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
งานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ คือ ตัวช่วยของร้านหนังสืออิสระ
ที่ผ่านมา มีการจัดงาน สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ปี 2556 (วันที่ 22-29 มิถุนายน) ทั่วประเทศ มีร้านหนังสือเข้าร่วม 16 ร้าน เกิดขึ้นจากการประชุมใหญ่ครั้งแรกของ เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก (คสล.)
งานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระครั้งที่ 2 ปี 2557 (วันที่ 21-29 มิถุนายน) ทั่วประเทศ มีร้านหนังสือเข้าร่วม 41 ร้าน (ตัดคำว่า แห่งชาติ ออกไป เพราะสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ)
งานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ มีการจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงครั้งที่ 7 แล้วก็ขาดหายไป
ร้านหนังสืออิสระ กำลังมีลมหายใจรวยริน และหากไม่มีการจัดงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระขึ้นทุกปี เราก็จะสูญเสียร้านหนังสืออิสระเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ อย่างน่าเสียดาย