ปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนที่ไม่เคยตาย จัดการอย่างไร...ให้สิ้นซาก
ยิ่ง'ปลาหมอคางดำ' เพิ่มปริมาณมากเท่าไร ก็ยิ่งสร้างปัญหาให้ระบบนิเวศและสัตว์น้ำชนิดอื่น สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายร้อยล้าน จึงมีข้อเสนอการจัดการ
หลังจากมีการนำ"ปลาหมอคางดำ" (Blackchin tilapia) สัตว์น้ำที่สามารถปรับตัวได้เร็ว อยู่ได้ทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด เข้ามาในเมืองไทยกว่า10 ปีและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาชนิดอื่นสูญพันธุ์
ปลาหมอคางดำ จึงเป็นเสมือนเอเลี่ยนที่ไม่เคยตาย จะเลี้ยงสภาพน้ำไม่ว่าบ่อดินหรือบ่ออะไรก็ตาม มันสามารถดำรงอยู่ได้ จึงสร้างปัญหาให้เกษตรกรไม่รู้จบ จนมีคนบอกว่า มันไม่เคยตาย แพร่กระจายในแหล่งน้ำหลายพื้นที่ สร้างผลเสียให้ระบบนิเวศ กลายเป็นอันตรายที่ต้องกำจัด
หายนะจากปลาหมอคางดำ
วินิจ ตันสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ร่วมเสวนาเรื่อง “หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ: การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” กล่าวว่า ปลาหมอคางดำระบาดรุนแรงที่สุดคือประเทศไทย เพราะสภาพอากาศพร้อมมาก จึงขยายพันธุ์ได้เต็มที่
เนื่องจากพฤติกรรมของปลา เมื่อปล่อยลงบ่อน้ำไปแล้ว มันจะบริโภคสัตว์น้ำที่มีราคาของเราไปด้วย ซึ่งชาวบ้านที่เลี้ยงกุ้งบอกว่า มันรุมกินกุ้งขาวทั้งหมดเลย
ทั้งนี้ ข้อมูลของกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดในปี 2561 คาดการณ์ว่า มีปลาหมอคางดำ 30 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 350 ล้านบาท และปัจจุบันแค่ชุมชนแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม เพียงชุมชนเดียว มีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี
“รัฐต้องจัดสรรงบประมาณมาจัดการ เมื่อสร้างปัญหาก็ต้องแก้ ไม่ใช่ให้ประชาชนแก้ปัญหาออกไปจับปลา ซึ่งมันไม่คุ้ม รัฐบาลต้องเยียวยา ความเสียหาย
ตามมาตรฐานทั่วโลกคือ ใครสร้างปัญหา คนนั้นจ่าย เรื่องนี้ถูกปล่อยปละละเลยมานาน ทั้งที่คุยมาทุก 3 ปี เมื่อรู้ข้อมูลควรจะกำจัดให้มากที่สุด และจำกัดพื้นที่ไม่ให้ระบาดมากกว่านี้”
ในฐานะชาวประมงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า วันนี้เขาไม่มีปลาให้เลือกกิน เพราะในพื้นที่ไม่มีปลาอื่นอยู่เลย
"ปลากระบอก ปลาพื้นถิ่นถูกปลาหมอคางดำกินหมด ในฐานะชาวประมงต้องการได้วิธีทำลาย จับ หรือจัดการอย่างไรไม่ให้มันระบาดต่อ ไม่ใช่บอกให้ประชาชนจับกิน ปลามันไม่มีเนื้อ และกระดูกแข็งติดคอ
ความเสียหายนั้นประเมินได้ยาก อย่างผู้เพาะเลี้ยง ตอนนี้เพาะไม่ได้ ปล่อยปลากะพงลงไป แต่ปลาหมอมันมากกว่าก็ถูกกินหมด ดังนั้นคนที่คิดว่าได้รับความเสียหาย ให้โทรร้องเรียนได้ที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค สายด่วน 1502 "
การจัดการปลาหมอคางดำ
แม้การจัดการปลาหมอคางดำให้สิ้นซากไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องมีแนวทาง วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และอดีตคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับชาติ (NBC) กล่าวว่า ประชาชนต่างล้วนเชื่อสิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารให้ข้อมูลว่าปลา 2,000 ตัวตายทั้งหมดและถูกฝังกลบไว้ที่ฟาร์มยี่สารแล้ว แต่มีหลักฐานอื่นที่ชี้ชัดว่า การระบาดของปลาหมอคางดำอยู่ที่ฟาร์มนั้นอยู่แล้ว
โดยการระบาดเริ่มต้นที่คลองดอนจั่น คลองหลวง คลองเจ๊ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอก ในเขตตำบลยี่สาร และตำบลแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม
"เราได้ข้อมูลมาว่า ปลาไม่ได้ตายเหมือนที่เป็นข่าว ฟาร์มที่เลี้ยงเป็นบ่อดิน และเพาะพันธุ์ต่อมาอีกหลายรุ่น โดยเอาไข่ไปฟักทุก 7 วัน ปลาหมอคางดำอยู่ในฟาร์มยี่สารมาโดยตลอด แม้ระบบน้ำในฟาร์มจะเป็นระบบปิด แต่ก็มีการสูบน้ำทิ้งออกนอกฟาร์ม ทำให้ปลาหลุดไปในคลองธรรมชาติ” วิฑูรย์ เล่า และย้ำว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ใช่ทางออก ต้องหาผู้รับผิดชอบ
“เราต้องปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องการรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567 เป็นประกาศที่อันตราย
และร้ายแรงกว่าการระบาดในครั้งนี้ เพราะไม่กำหนดให้มีการรับผิดชอบใดๆ เลย ซึ่งจะทำให้กลไกที่วางเอาไว้มีปัญหา รวมถึงการฟ้องคดี ซึ่งไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ แต่สังคมไทยได้เรียนรู้ว่าการปล่อยให้บริษัทเอกชนมีอำนาจผูกขาด ทำให้กลไกของรัฐบังคับใช้กฎหมายได้อย่างไร”
แนวทางแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ
ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ หลายฝ่ายเห็นว่า ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน อัคคพล เสนาณรงค์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ยกตัวอย่างแผนรองรับเมื่อเกิดการหลุดรอด หรือมีกองทุนแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยเก็บจากเอกชนที่ทำงานวิจัย
"สิ่งสำคัญที่สุดคือ รัฐต้องมีสัญญา เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีว่า หากเกิดความเสียหายต้องมีคนรับผิดชอบ และสุดท้ายต้องพึ่งศาลในการชี้ถูกชี้ผิด
ผมเชื่อว่า เกษตรกรต้องรุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวเอง ผมหวังว่าถ้าบริษัทที่ทำผิดถูกฟ้องจริงๆ ต้องชี้แจงต่อสาธารณชนสู่ศาล สร้างความโปร่งใส หากเอกชนมีหลักฐาน โชว์ภาพได้เลย ไม่ใช่แค่เอกสาร”
นอกจากนี้ อัคคพล ยังยกตัวอย่างจากบทเรียนการระบาดของผักตบชวา ปีนี้ใช้งบประมาณในการกำจัดประมาณ 5,000 ล้านบาท และต้องใช้งบมากขึ้นทุกปี ยิ่งกำจัดก็ยิ่งขยายไปทั่วประเทศ
"กรณีปลาหมอคางดำก็เช่นกัน จะเกิด cobra effect ยิ่งให้เงิน มันจะยิ่งเพิ่ม คนให้เงินจะให้เงินไปเรื่อยๆ จากที่ไม่มีในภาคอีสานและภาคเหนือ ต่อไปนี้จะมีมากขึ้น เพราะขนาดผักตบลอยน้ำยังกำจัดไม่ได้เลย นี่ปลาอยู่ในน้ำ จะกำจัดได้อย่างไร"
ด้านสุรชัย ตรงงาม กรรมการและเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ตั้งข้อสังเกตว่า อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมทุกอย่างย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ เราจะทำให้มีผู้รับผิดชอบโดยไม่ลอยนวลพ้นผิดได้อย่างไร
“ทำอย่างไรให้มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ทำความจริงให้ปรากฏ และให้กฎหมายถูกบังคับใช้ ไม่เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ใช้สิทธิฟ้องร้องต่อรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ”
......................
เวทีสัมมนาจัดโดย : มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร