'ส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน' สร้างชุมชนสุขใจ ด้วยพลังบวก
หลายมรสุมชีวิตที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ดัชนีความสุขคนไทยลดลงต่อเนื่อง บวกกับ "โรคซึมเศร้า" กำลังเป็นโรคทางใจที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในสังคม สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนว่า สถานการณ์คนไทยกำลังตกอยู่ในวังวนปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นทุกขณะ
พญ. มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้ทุกที่ และน่าตกใจที่ความคิดนี้เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน ที่กำลังเผชิญ ปัญหาสุขภาพจิต หรือ โรคซึมเศร้า ที่ทำให้เกิดการสูญเสียจากความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการใช้สารเสพติด
พญ. มธุรดา กล่าวว่า คนไทยเข้ารับบริการจิตเวชมากขึ้นเป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 จากเดิม 1.3 ล้านคน ในปี 2558 พบว่า ในจำนวนนี้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ด้วยทัศนติสังคมปัจจุบัน ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตมักถูกสังคมตั้งข้อหาเป็น "ผู้ใช้ความรุนแรง" ด้วยจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญหลายกรณีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
"เราจะพบว่าคนที่คิดว่ามีปัญหาสุขภาพจิตและกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนไข้ใน รพ.ศรีธัญญา หรือ รพ.จิตเวช แต่เขาอยู่ในชุมชน ดังนั้นการทำงานสุขภาพจิตจึงควรขับเคลื่อนในชุมชน"
ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ สุขภาพจิตคนไทย ปี 2566 โดยกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้เข้ารับการประเมิน 1.2 ล้านราย มีปัญหาสุขภาพจิตที่ 29.9% เพิ่มขึ้นจาก 12.8% เมื่อปี 2565 เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต และบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตมีจำกัด ซึ่งด้วยตัวเลขของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งจัดระบบการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกัน ปัญหาสุขภาพจิต เชิงรุกเพื่อให้เท่าทัน จึงเป็นเหตุผลสำคัญของการร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ "การส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น" (Community Mental Health Forum) โครงการที่ สสส. ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลศรีธัญญา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาความร่วมมือ เพื่อขยายผลการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นตลอดช่วงชีวิตและทุกช่วงวัย
ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตชุมชน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงมีการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานส่งเสริมและป้องกัน ปัญหาสุขภาพจิต เพื่อถอดบทเรียนนำไปสู่การผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ รวมถึงการตั้งเป้าหมายมุ่งขยายผลความร่วมมือภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ผ่านเวทีขับเคลื่อนเชิงนโยบายภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น หัวข้อ "เวทีสานพลังเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น" (Community Mental Health Forum)
ภายใต้โครงการดังกล่าว ยังได้มีการพัฒนาอีกหนึ่งเครื่องมือที่เรียกว่า "ดัชนีสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น (Community Mental Health Index)" ที่จะเป็นเครื่องมือวัดสุขภาพใจในชุมชนว่ามี "ดัชนีชี้วัดชุมชนท้องถิ่นสุขภาพจิตดี" มากน้อยเพียงไร
ปองพล ชุษณะโชติ นักจิตวิทยาคลินิกชานาญการพิเศษ กรมส่งเสริม และพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต เผยว่า เครื่องมือดังกล่าวเครื่องมือดังกล่าว เป็นการประยุกต์แนวคิดที่มีรากฐานจากการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงภายในและปัจจัยกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก
อีกหนึ่งเครื่องมือขับเคลื่อนโครงการฯ ยังให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรด้านจิตเวช ซึ่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น แต่อาจยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาในอีกหลายปีข้างหน้าจึงจะผลิตบุคลากรได้เพียงพอ
"ในวันนี้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อาจต้องหาคนจิตอาสาทำงานด้านสุขภาพจิตในระดับชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรที่อยู่ในกรมสุขภาพจิตอย่างเดียว บทบาทของนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.) จึงมีความสำคัญมากขึ้นในการทำงานส่งเสริมสุขภาพจิตระดับชุมชน โดย นสช. จะช่วยสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาปัญหาสุขภาพจิตทุกพื้นที่ ทุกฝ่ายจึงเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะขยายผลพัฒนาแกนนำ นสช. เพิ่มขึ้น"
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี และและรองเลขาธิการฝ่ายยุทธศาสตร์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนา นสช. กล่าวว่า เรามีต้นแบบ นสช. ที่จำเป็นต้องขยายผลในเชิงปริมาณ โดยใช้พื้นที่เดิมเป็นตัวคูณต่อเพื่อขยายผลเชิงพื้นที่รอบ ๆ ในระดับพื้นที่อาจต้องมีการทำงานเชิงบูรณาการพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และโรงพยาบาลที่จะทำให้กลไกเชื่อมโยงกัน
เหมืองใหญ่ ตำบลไม่ซึมเศร้า
อีกหนึ่งโมเดลปั้นสุขภาพใจชาวชุมชนเหมืองใหม่ที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยการรวมพลังขับเคลื่อนภายใต้การนำหลักการ บ.ว.ร (บ้าน/ชุมชน วัด/โรงเรียน) มาขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตคนในชุมชน
"ลิ้นจี่เหมืองใหม่โมเดล" เป็นโมเดลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคลองเหมืองใหม่ ร่วมกันพัฒนาศักยภาพขึ้น ผ่านการสร้างกลไกการมีส่วนร่วม การบูรณาการกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ คืออีกโมเดลต้นแบบที่บุกเบิกงานด้านสุขภาพจิตชุมชน ที่เป็นกรณีศึกษาน่าสนใจ
นิพนธ์ เงินคงพันธ์ ผอ.รพ.สต. บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เล่าว่า เฉกเช่นเดียวกับในหลายพื้นที่ คนสมุทรสงครามมีปัญหาสุขภาพจิตในทุกช่วงวัย วัยรุ่นวัยเรียนมีปัญหาเรื่อง ภาวะซึมเศร้า วัยทำงานพบกับความเคร่งเครียด รวมถึงวัยสูงอายุ พบปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตด้านจิตใจเสื่อมถอย เรียกว่าในจังหวัดสมุทรสงครามสัปดาห์หนึ่ง ๆ จะมีคนคิดฆ่าตัวตาเฉลี่ย 3 ราย และมีคนคิดฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย เดือนละ 1 ราย
ปัญหาสุขภาพจิต เกิดจากหลากหลายเรื่องที่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และจิตใจเอง เมื่อเราสรุปปัญหา 5 ด้านก่อนที่จะเกิดปฏิบัติการพัฒนาแกนนำด้านสุขภาพจิตในพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากความเข้มแข็งของทีมอาสาสมัครสุขภาพจิตในชุมชน ช่วยกันระดมความคิด ค้นหาปัญหา สำรวจสุขภาพจิตของคนในชุมชน 4 กลุ่มวัย ได้แก่ วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ พร้อมจัดกิจกรรมพูดคุยรับฟังปัญหา เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ วางแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่มวัย พร้อมมีการพัฒนาทีมภาคีเครือข่าย นักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.) โดยบทบาทของ นสช. ที่เด่นชัดคือ รับฟังและเสริมสร้างกำลังใจ ส่งต่อข้อมูล และสุดท้ายร่วมเป็นทีมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์
"ลิ้นจี่เหมืองใหม่โมเดล" ยังมีการเสริมกิจกรรมสร้างสุขภาพจิตเชิงบวกหลากหลาย ตามแต่กลุ่มวัยสมาชิกในแต่ละช่วงวัย อาทิ ลานออกกำลังกาย กล่องสุ่มรักษาโรค การจัดกิจกรรมด้านฟังธรรมในกลุ่มผู้สูงอายุ มีการนำการแพทย์แผนไทย ฟื้นฟูสุขภาพจิต อีกทั้งยังมี "Health rider" จิตอาสาเหมืองใหม่ ซึ่งเป็น อสม.ม้าเร็ว วิ่งติดตามเยี่ยมคนไข้ในชุมชน
ล่าสุด "ลิ้นจี่เหมืองใหม่โมเดล" กำลังขยายผลการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพจิตและเฝ้าระวังการพยายามฆ่าตัวตาย ไปสู่ "ชายคลองโมเดล" ร่วมกับเครือข่ายชุมชนใกล้เคียง
"สวรรคโลก" ปั้นสุขภาพจิตด้วยศิลปะบำบัด
สัญญา พานิชยเวช ผู้จัดการ Art Farm Sawankhalok อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย อีกหนึ่งโมเดลสร้างพลังใจสร้างสุขภาพจิตได้ด้วยทุน ที่ชุมชนมี โดยการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เผยว่า จากการที่สวรรคโลก สุโขทัยคือเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมมีมรดกระดับยูเนสโก เพราะฉะนั้นใช้มรดกที่มีในท้องถิ่น หยิบจับอะไรก็ได้มาใช้เป็นทุนในการพื้นที่สร้างกิจกรรมเชิงบวก
"ทำอย่างไรเปลี่ยนทุกวันให้เป็นวันสุขได้" นอกเหนือจากการสร้างบรรยากาศชุมชนด้วยพลังบวก เน้นการใช้คำพูดและกิจกรรมสร้างพลังใจ โมเดลนี้ยังเลือกสร้าง "นิเวศศิลป์" หรือสร้างสภาพแวดล้อมด้วยศิลปะที่จรรโลงในผู้คน ด้วยเชื่อว่าศิลปะเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การปลูกดอกไม้ในใจคน รวมถึง Art therapy ที่ในอนาคตยังมีเป้าหมายขยับสู่การเปลี่ยนเป็นนิเวศวิถีในทุกมิติ
จุดพักใจ ผักไหมแคร์
ณปภัช บวรศักดิ์โสภณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่ามีการอบรมพัฒนาศักยภาพ นสช.จนปัจจุบันมี 60 คนด้วยกัน จุดพักใจผักไหมแคร์ เป็น 1 ใน 15 พื้นที่ต้นแบบด้านการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตในระดับชุมชนท้องถิ่น ทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้เข้าถึงบริการ 100% ผ่านกลไกการทำงาน 4 ประเด็น 1. สร้างพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนพูดคุย สร้างความไว้วางใจ 2. สร้างทีมนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน เพื่อดูแลจิตใจคนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง 3. เชื่อมโยงเครือข่าย สร้างความมั่นคงทางอาชีพ เกิดรายได้สู่ชุมชน และ 4. พัฒนาพื้นที่ในการแบ่งปันความรัก ความอบอุ่น สู่การเป็นตำบลแห่งความสุข