เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’

กว่าจะมาเป็นนวนิยาย ‘ซีไรต์’ประจำปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ พร้อมแล้วที่จะเล่าความเป็นมาของ ‘กี่บาด’ ให้ฟัง

คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์, สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดงาน พบนักเขียนซีไรต์ ประจำปี 2567 ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ผู้เขียนนวนิยาย กี่บาด

ดำเนินรายการ โดย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจรรศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา, นรีภพ จิระโพธิรัตน์, คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2567 วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน

ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด เป็นคนจันทบุรี เรียนจบมัธยมปลายก็มาศึกษาต่อที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันทำงานเป็นทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก ที่ จ.เลย

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • มาเป็นนักเขียนได้อย่างไร มีผลงานเขียนประเภทใดบ้าง

"มีผลงานค่อนข้างหลากหลาย เริ่มเขียนในช่วงโควิด ปีค.ศ. 2020 ฝึกฝนมาตั้งแต่ตอนนั้น ปี 2021 เรื่อง รุกขฆาตกร ได้รางวัลชนะเลิศประเภทเรื่องสั้นสำหรับเยาวชนจากโครงการประกวดเรื่องสั้นในแนววิทยาศาสตร์ ปี 2022

เรื่อง ข่วงผีฟ้า กับโครงการลาวคำหอม Master Class ปี 2021 เรื่อง สักสี ได้รางวัลชมเชยพานแว่นฟ้า เรื่อง ศุภลักษณ์ ได้รางวัลชนะเลิศโครงการประกวดเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ เรื่อง กี่บาด ได้รางวัลชนะเลิศ Writer Seed ครั้งที่ 4 มีผลงานที่ชนะรางวัลกนกพงศ์สงสมพันธุ์ครั้งที่ 8 เรื่อง เมื่อไรโซฟาจะหายเหม็น เรื่อง พระธาตุล้ม ได้รางวัลรองชนะเลิศพานแว่นฟ้า แล้วก็มีเรื่องสั้นอีกหลายเรื่องตามสื่อต่าง ๆ ทำงานเขียนมา 4 ปี"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ไม่ได้เป็นคนเหนือ ทำไมสนใจเรื่องภาคเหนือ

"ปีพ.ศ. 2554 น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานคร ชีวิตตอนนั้นยากลำบากมากต้องไปต่อคิวซื้อน้ำร้านสะดวกซื้อตอนตี 2-3 ได้แค่ 1-2 ขวด ก็เลยจะหาที่อยู่อื่น เพื่อนชวนไปอยู่เชียงใหม่ 1 เดือน ไปสำรวจเชียงใหม่ไปวัดพระสิงห์ไปพิพิธภัณฑ์ไปดูประวัติความเป็นมาของที่ต่าง ๆ ในเชียงใหม่ ก็อินกับวัฒนธรรมล้านนา สนใจภาษาและวัฒนธรรมมาตั้งแต่ตอนนั้น"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ตั้งชื่อเรื่องว่า กี่บาด ต้องการสื่อความหมายอะไร

"กี่บาด มันมาตั้งแต่ต้น เป็นไอเดียแรกที่เกิดนิยายเรื่องนี้ นั่งฟังสารคดีอยู่แล้วเขาถามแม่อุ้ยว่า กี่บาด ตอนนั้นกินข้าวเที่ยงอยู่ เราก็หันหน้าขึ้นมาดูจอเลย แม่อุ้ยกำลังนั่งกี่อยู่ มันมีหลายความหมาย ทั้งกี่บาดที่เราไม่ได้เห็นตัวสะกด นั่นคือถามมูลค่าว่าเท่าไร มันสื่อสารว่าสิ่งที่คนทำงานศิลปะพยายามทำ เขาดิ้นรนเพื่อมูลค่าหรือคุณค่า นี่เป็น ความหมายแรก

ความหมายที่สอง แม่อุ้ยที่นั่งทอผ้าอยู่ทุกวัน เขาจะมีบาดแผลในชีวิตยังไงบ้าง ถึงกลายมาเป็นลายรูปแบบอย่างนั้น ใช้สีอย่างนั้น ใช้ลวดลายอย่างนั้น นั่งหลังขดหลังแข็ง 3-6 เดือน เขามีความเจ็บปวดในชีวิตอะไรบ้าง ความหมายที่สาม พื้นที่กี่ที่เขาต้องมาอยู่ทำงานศิลปะเป็นเวลานาน อาจจะทั้งชีวิตของเขาเลย เขาเคยเจ็บปวดบ้างไหมในการมานั่งกี่ตรงนี้ นี่คือชื่อหนังสือแล้วก็ working on จากคอนเซปต์ทั้งสาม"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน

"สารภาพว่าตอนเตรียมงานเรื่องนี้เขียนเป็นเรื่องสั้นก่อน ตัวเองเป็นนักฝึกเขียน มีจุดมุ่งหมายเขียนเรื่องสั้นให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ว่าเรื่องนี้พอสืบค้นไปเรื่อย ๆ มันมีความละเอียดมีความซับซ้อนมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ตัวละครก็เริ่มผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ มีเรื่องที่เขาอยากจะเล่า มีสำเนียงที่เขาอยากจะบอก เรื่องมันเลยยาวมากกว่ากรอบของเรื่องสั้น ก็เลยพัฒนาเป็นเรื่องยาว

ใช้เวลาสืบค้นข้อมูล 1 เดือน ใช้เวลาเขียน 1 เดือน เพื่อให้กรอบวันหมดเขตส่งประกวด Writer Seed ช่วงนั้นกาตารางการทำคลินิกออก สูญเสียรายได้ค่อนข้างเยอะ เพื่อมาเขียนนิยาย เป็น 1 เดือนที่มหัศจรรย์ เหมือนเรื่องราวของเขาสิงเราให้เขียนด้วย passion แรงกล้า เขียนจนลืมนอน เขียนจนลืมกินข้าว เขียนจนไปอาเจียน ในบทยาก ๆ แล้วกลับมาเขียนต่อ

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’

Cr. Kanok Shokjaratkul

พยายามเล่าความเป็นแม่แจ่มให้ได้มากที่สุด ด้วยสำเนียงของคนแม่แจ่ม เล่าเรื่องเรียบง่ายแบบชาวบ้านเสียงบางเสียงก็ใส่ไม้จัตวา ไม้ตรีเข้าไป เพื่อให้สื่อถึงสำเนียงของคนแม่แจ่ม เพราะว่าภาษา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เราอยากให้เรื่องนี้มีความเป็นแม่แจ่มมากที่สุด

ลายผ้า ก็เอามาจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ทั้ง 16 ลาย มาตั้งชื่อบท 16 บทป็นจำนวนที่เหมาะสมในการเขียนเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’

Cr. Kanok Shokjaratkul

มีการวางโครงเรื่องคร่าว ๆ ว่ามีตัวละครประมาณนี้ ๆ เล่าเรื่องไปพร้อมกับตัวละคร แล้วดูตีมลายผ้าช่วงนั้น สารภาพว่า บางเหตุการณ์ในเรื่องก็เซอร์ไพรส์ผู้เขียนเหมือนกันว่า ทำไมตัวละครเขาถึงตัดสินใจอย่างนี้ เขียน ๆ ไปก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าตัวละครมีประสบการณ์นี้มีมุมนี้ด้วย 

ดำเนินไปพร้อมกับตัวละคร แล้วไป expore ค้นพบพร้อมกันในแต่ละบท เหตุการณ์บางอย่างก็ อูหู เธอเคยผ่านเหตุการณ์ชีวิตอย่างนี้มาใช่ไหม ก็เห็นใจตัวละคร พยายามใช้ภาษาถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวละครนั้นออกมาให้ดีที่สุด"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • วิธีการเก็บข้อมูล ทำอย่างไร

"ในการเรียนทันตแพทย์ จะมีวิชา Literature review การอ่านงานวิจัยต่าง ๆ เราจะดู ประเมินคุณภาพของข้อมูล ดูความน่าเชื่อถือ แหล่งที่มา ก็ใช้ทักษะนั้นในการสืบหาข้อมูล ทำให้สืบหาข้อมูลได้เร็ว มีประสิทธิภาพ แล้วได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นำไปใช้ได้จริง ๆ

กี่บาด ก็ใช้เทคนิคนั้น ค้นว่า แม่แจ่ม มีงานวิจัยอะไรเด่นบ้าง งานวิจัยเกี่ยวกับผ้าซิ่นตีนจกมีตรงไหนบ้าง มีกี่งานที่พูดถึงแม่แจ่ม มีกี่งานที่ลงไปสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล แล้วข้อมูลมีความน่าเชื่อถือขนาดไหน เป็นใคร มีชีวิตยังไง เราก็ใช้วัตถุดิบเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นนิยายเรื่อง กี่บาด

โชคดีมากที่ตอนไปออกชุมชน ได้ไปอยู่ลำปาง แม่พริก รพ.มีหลักสูตรเกี่ยวกับการทำงานชุมชนที่ดีมาก ได้เข้าถึงชุมชน"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ตั้งใจเขียนส่ง ซีไรต์ เลยไหม

"ตอนแรกที่เขียน กี่บาด จะส่ง Writer Seed ก่อน ไม่ได้มองซีไรต์เลย พยายามทำให้สมบูรณ์ที่สุด ถ้าเขียนนิยายเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว เราก็ไปสายเรื่องสั้นเต็มตัว

ผลออกมาได้รางวัลรองชนะเลิศ อ.ชมัยภร บางคมบาง มีโน้ตมาให้ทุกคนอยู่แล้ว อ.บอกว่าเขียนดีมาก มีคนบอกว่า ถ้า อ.ชมัยภร approved ขนาดนี้ลองส่งซีไรต์ไหม เราก็ส่งไปให้สำนักพิมพ์คมบาง ตั้งเป้าหมายทำให้ดีที่สุดไปเลย เราอยากส่ง กี่บาด ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่เราทำได้"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

กว่าชื่น บางคมบาง บรรณาธิการ สำนักพิมพ์คมบาง กล่าวว่า ไม่เคยส่งซีไรต์มาก่อนเลย ครั้งนี้ส่งซีไรต์ 2 เล่ม คือ กี่บาด (ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด) กับ แมลงอายุสั้น ที่เราไม่รู้จัก (กล้า สมุทวณิช) แล้วก็ได้เข้ารอบ Shortlist ทั้งสองเล่ม

"เป็นครั้งแรกที่ส่งรางวัลใหญ่ โดยตัวงาน กี่บาด มันอ่านสนุก แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกคือนักเขียนโหดมาก ทำไมโหดขนาดนี้ ร้องไห้ตั้งแต่หน้าแรกเลย ตอนแม่หม่อนทำท่าทีเย็นชาต่อแม่อุ้ยนาค บรรยายว่า หยิบอดีตมาจ้วงแทงใส่กัน คนอะไรคิดประโยคอย่างนี้ได้ รู้สึกว่าเขามีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถพูดสั้น ๆ แต่ตีความได้เยอะมาก นี่คือเสน่ห์ในการบรรยายของเขา

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

เรื่อง กี่บาด อ่านสนุก แล้วก็ทำร้ายจิตใจคนอ่าน ขอฉันพักร้องไห้ก่อนนะ เธอทำกับฉันอย่างนี้ได้ยังไง ในฐานะคนอ่าน มันทำให้เรื่องดำเนินต่อไปแบบ โอโห คาดเดาไม่ได้

บางทีตัวนี้เราคิดว่าต้องอย่างนี้สิ อ้าว ทำไมล่ะ เขาทำได้ นักเขียนมีความมั่นใจในการฟัน ก็คือฟัน จะตัดก็คือตัด แล้วก็มีหลาย ๆ ฉากที่มีความละเอียด เช่น ตอนเอาไม้กวาดฟาดแม่อุ้ยนาค ทำไมแม่เฮือนแก้วทำอย่างนี้"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ทำไมเลือกช่วงเวลาที่มีสงครามโลก

"พอคิดว่าจะเล่าเรื่องผ้าซิ่นตีนจก คำถามต่อมาคือ when ประเด็นการเปลี่ยนผ่านศิลปะไปสู่ทุนนิยม ก็ต้องเล่า แต่มันถูกเล่าเยอะแล้ว เราเลยหาช่วงเวลาที่แม่แจ่มเป็นแม่แจ่มจริง ๆ ยังไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเยอะ ๆ แต่ช่วงเวลานั้นสงครามโลกก็พ่วงมาด้วยเพราะมันอยู่ใกล้กัน

แล้วลักษณะสงครามโลกที่ภาคเหนือไม่เหมือนภาคอื่น ที่เราไปสืบค้นข้อมูลจริง ๆ ทหารญี่ปุ่นเจ็บมาก็พาไปรักษา ทหารญี่ปุ่นอดอยากมาก็แบ่งข้าวแบ่งน้ำให้ เขาอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเหมือนพื้นที่อื่น เมื่อสงครามสิ้นสุดแล้ว ทหารญี่ปุ่นยังไม่อยากกลับ ก็มาเป็นคนงานที่บ้านก่อนไหม ใจดี น่ารัก อ่อนโยน เมตตา บารมี ตรงนี้น่าสนใจก็เลยเอามาเล่าเป็นภาพสงครามโลกครั้งที่สองที่แตกต่างจากที่อื่น

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

ตอนเขียนเรื่องนี้ 1 เดือน แต่ขั้นตอนบรรณาธิการ 5 เดือน หนักหน่วงมาก เล่าเรื่องสงครามโลก การตรวจสอบว่ายุคสมัยนั้นมีหรือไม่มีอะไร แก้ไขเป็นสิ่งแรก อย่างว่านหางจระเข้ เราหาคำเมืองไม่ได้เลย ปรากฎว่ามันเป็นเอเลี่ยนสปีชี่ที่มาทีหลัง ก็ต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

เรื่องของการใช้ ครับ ค่ะ เพิ่งประกาศใช้ได้ไม่กี่ปี ก็ต้องดูว่าใครใช้ได้ใครใช้ไม่ได้ ที่แก้เยอะที่สุดคือเรื่องของภาษา ถึงกับว่าทดลองอ่านเป็นคนเมืองจริง แล้วก็อ่านเป็นคนกลางจริง เพื่อให้มันสมดุลที่สุด

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

คนกลางบอกว่า ถ้าพูดเหนือไปกว่านี้จะไม่เข้าใจแล้วนะ ส่วนคนเมืองก็จะบอกว่า อันนี้มันยังเมืองไม่พอนะ เราออกเป็นเมืองอิดิชั่นสำหรับคนเมืองและไลท์อิดิชั่นสำหรับคนกลางเป็นภาษากลางอย่างเดียวไหม เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น เราก็หาจุดตรงกลางที่คนส่วนใหญ่อ่านได้แล้วไม่ทิ้งสำเนียงเสียงของแม่แจ่มไป ถ้ามีโอกาสพิมพ์ครั้งต่อไปเราก็จะปรับให้มันนวลขึ้นเรื่อย ๆ งดงามได้มากกว่านี้ เข้าใจได้มากกว่านี้"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ตอนที่กรรมการอ่านคำประกาศรางวัลซีไรต์ เป็นอย่างไร

"ตอนแรกรู้สึกตกใจก่อน วันเสาร์อาทิตย์ก่อนวันประกาศซ้อมเสียใจมาแล้ว แล้วเย็นวันนั้นก็รับงานไว้ด้วยจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน แล้วลองเปิดฟังว่าเขาจะประกาศชื่อใคร จะได้ไปแสดงความยินดีถูก พอท่านประธานกรรมการหันไปหาอ.ตรีศิลป์ ลังเลว่าจะพูดชื่ออะไรดี แล้วก็พูดออกมาว่า กี่บาด

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’

Cr. Kanok Shokjaratkul

หัวใจเต้นจนนาฬิกาวัดสุขภาพบอกว่าออกกำลังกายหนักไปหรือเปล่าเพราะว่ามันเต้นแรงจริงๆ 148-150 โดยที่นั่งอยู่เฉย ๆ ตอนนั้นก็ตกใจมาก แล้วทุกอย่างก็ถาโถม โทรศัพท์สายไหม้ ไลน์ เฟซบุ๊ก เด้งทุกอย่าง

ขอพักก่อน ขอฟังประกาศ เดี๋ยวเขาเปลี่ยนชื่อหรือเปล่า ก็ปิดทุกอย่าง ฟังประกาศให้ชัดเจน ฟังกรรมการทุกท่านพูดถึงงานของเรา ในฐานะคนเขียนก็รู้สึกดีใจแทนเรื่องราวเรื่องหนึ่งที่มีชีวิต ดีใจแทน กี่บาด ที่มาถึงตรงนี้ได้ รู้สึกขอบคุณนะ กี่บาด ขอบคุณที่เธอไปถึงจุดที่เธออยากเป็นแล้ว

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • มีหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจ ทำให้อยากเขียนบ้างไหม 

"ถ้าเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลกับเรื่องนี้มาก ๆ คือ เจ้าจันท์ผมหอม ของ มาลา คำจันทร์ ซีไรต์ปี 34 อ่านเรื่องนี้จบ ดูการเล่าเรื่องวัฒนธรรม ดูการใช้ภาษาถิ่น เคยเจอครูมาลาที่ค่ายลายลักษณ์วรรณศิลป์ อยู่กลุ่มเรื่องสั้นด้วยกัน

ถ้าถามว่า ใช้เทคนิคการเขียนจากใคร Elizabeth Gilbert หนังสือที่อ่านคือ Big Magic พลังยิ่งใหญ่ของคนธรรมดา เขาสอนว่าให้มองเรื่องราวเป็นชีวิตคนคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนมาหาเรา เธอเขียนเรื่องฉันให้หน่อย เธอเหมาะสมที่จะเขียนเรื่องของฉัน เขามาเล่าให้ฟังแล้วเราเป็นแค่ภาชนะเฉย ๆ ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเขาให้ปรากฎขึ้นในโลกใบนี้ให้ได้"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ในเรื่อง กี่บาด ประทับใจฉากไหนที่สุด

"ฉากที่กลับไปอ่านแล้วรู้สึกว่า นี่ใครเขียน เขาเขียนเรื่องราวได้สวยงามมาก ตอนที่แม่หม่อนไปเห็นหงส์นุ่งผ้าซิ่นไปรำเป็นนางสัตตบรรณแทนจันติ๊บ

ตอนนั้นหงส์สวมจิตวิญญาณของผ้าซิ่นแม่แจ่มแล้วสวมการแสดงออกทางเพศของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด แม้ว่าจะเจอเหตุการณ์ร้าวใจจากคนรักของตัวเอง ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาได้ค่อนข้างเห็นภาพ รู้สึกไปกับแม่หม่อนที่เห็นหงส์กำลังรำอยู่ตอนนั้น"

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ฉากตอนจบ คิดอย่างไร

"สารภาพว่าตอนเขียนตอนจบไม่ได้คิดอย่างนั้น ด้วยการโฟลว์ของเรื่องราว ด้วยเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ คิดว่าเธอจะกลับมาทำอย่างนี้จริง ๆ ใช่ไหม เราถามตัวละครคนที่กระทำอยู่นานมาก เธอไม่กลับบ้านเหรอ เธอกลับมามีเหตุผลอะไร ก็เลยเคารพการตัดสินใจของตัวละคร

ก็เลยเป็นอย่างนั้น ตัวผู้เขียนเองก็อยากให้มัน Happy Ending กว่านี้เหมือนกัน อยากให้คู่นั้นอยู่กันไปจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร แต่ว่าด้วยการตัดสินใจของตัวละครแวดล้อม ตอนเขียนก็น้ำตาตก น้ำตาไหลจริง ๆ "

เปิดใจนักเขียน ‘ซีไรต์’ปี 67 ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ กับ ‘กี่บาด’ Cr. Kanok Shokjaratkul