ชวนเที่ยว ‘พระนคร’ ฟังเรื่องเล่าลี้ลับ ตำนานหลอน ต้อนรับวัน 'ฮาโลวีน' ปี 67
การเดินทางท่องเที่ยว ย้อนรอยประวัติศาสตร์พระนคร ไปกับเรื่องเล่าลี้ลับและตำนานหลอน ที่อยู่คู่กับสถานที่นั้น ๆ มาเป็นเวลานาน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม ทริป เล่าเรื่องหลอน พระนคร ตำนานผี เส้นทางท่องเที่ยว กับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ที่มีความเป็นมาในอดีตน่าสนใจ
ชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ททท.กรุงเทพมหานครปีนี้มีธีมว่า ศรัทธา มหานคร
"มีวัตถุประสงค์ คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี มีสถานที่หลายแห่งที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ มีหลายเรื่องน่าสนใจ เรื่องลี้ลับก็เช่นกัน
เช่น ป้อมพระสุเมรุ วัดสังเวช วัดบวรนิเวศวิหาร ประตูผี วัดโสมนัส ตลาดนางเลิ้ง เรื่องราวเหล่านี้ผูกโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ของสถานที่สำคัญ ๆ ในกรุงเทพมหานครหลายแห่ง เป็นที่มาของทริป เล่าเรื่องหลอน พระนคร ตำนานผี เพื่อให้สอดคล้องกับเทศกาล ฮัลโลวีน"
ภาพ : ธีรมา วิเสโส
-
ป้อมพระสุเมรุ
ป้อมพระสุเมรุ หรือ สวนสันติชัยปราการ มีเรื่องเล่าว่า เป็นสถานที่ที่เด็กนักเรียนวัดสังเวชไม่กล้าขึ้นไป เพราะมีคนเล่าว่า เคยเห็นผี
"ป้อมพระสุเมรุ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 สร้างป้อม 14 ป้อมและกำแพงล้อมรอบพระนคร เพื่อป้องกันเมือง"
Cr. Kanok Shokjaratkul
ชาญศักดิ์ พันธุ์ทองดี มัคคุเทศก์ เล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟัง
"พื้นที่ติดริมน้ำ สร้างกำแพงไม่ได้ต้องขยับเข้ามาให้มีพื้นที่ระหว่างกำแพงกับแม่น้ำ บริเวณที่เรายืนอยู่นี้เรียกว่า ชานพระนคร
ในสมัยรัชกาลที่ 2 เกิดโรคระบาด อหิวาตกโรค หรือ โรคห่า ที่คนโบราณพูดว่า ตายห่า หมายถึงตายเป็นจำนวนมาก สมัยนั้นเรามีประชากรหลักแสน แต่มีคนตายถึงสามหมื่น ถ้าระดับเจ้าฟ้าขึ้นไปก็เผาในเมือง ที่ทุ่งพระสุเมรุ (สนามหลวง) ที่เหลือขนศพออกนอกพระนคร
Cr. Kanok Shokjaratkul
ด้านทิศเหนือ นำศพไปไว้ที่ วัดสระเกศ กับ วัดสามจีน ด้านทิศใต้ ไปไว้ที่ วัดเชิงเลน (วัดบพิตรภิมุข) เผาศพกันไม่ทัน บางส่วนถีบลงน้ำ ลอยไปถึงวัดสามจีน รัชกาลที่ 4 เห็นแล้วสังเวชใจ เลยให้ชื่อว่าวัดสังเวช"
พวกเราฟังมัคคุเทศก์เล่าแล้วก็เดินผ่านสะพานที่พ่อค้าชาวจีนชื่อ ยี่กอฮง นายอากรบ่อนเบี้ย ได้สร้างไว้ ในตอนนั้นเขาเห็นว่ามีศพจำนวนมาก (ปัจจุบันชื่อว่าสะพาน ฮงอุทิศ) พอลงมาถึงตีนสะพาน ฝั่งซ้ายจะมีประตูเล็ก ๆ และช่องปูนเรียงกัน นั่นคือที่เก็บและที่เผาศพในอดีต
Cr. Kanok Shokjaratkul
"เวลาเผาจะมีแท่งปูนสองแท่งวางห่างกันแล้วเอาไม้มาวาง เอาศพวางด้านบน เอาไม้ปิดบนศพ แล้วเผา ขี้เถ้าจะหล่นลงมาระหว่างแท่งปูนทั้งสอง เรียกว่า เชิงตะกอน เวลาเผาศพไม่ทันก็ก่อกำแพงทำเป็นช่องแล้วเอาศพดันเข้าไปเก็บไว้ เรียกว่า ซองศพ
ด้านทิศตะวันออก นำไปไว้ที่ วัดสระเกศ ศพมีจำนวนมาก สัปเหร่อมีน้อย เผาไม่ทัน พอศพเน่าก็รูดหนังออก เอากระดูกไปเผา แร้งก็มากินซากศพ ถ้าอยู่ไกล ๆ มองมา จะเห็นเป็นเมฆดำ ๆ ลอยอยู่เหนือวัด นั่นคือ ฝูงแร้ง"
Cr. Kanok Shokjaratkul
ไม่น่าเชื่อว่า โรคห่า อยู่กับเรานานมาก ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 5
"รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งโรงพยาบาลเฉพาะกิจขึ้นเรื่อย ๆ จาก 10-100 โรง จนสร้างไม่ไหว โปรดให้สร้างโรงพยาบาลแห่งแรกขึ้นมา คือ โรงพยาบาลศิริราช ก็ยังไม่เพียงพอ มีการขุด คลองเปรมประชา ผันน้ำจากนนทบุรีมาที่ โรงประปาแม้นศรี โรคห่าก็ค่อย ๆ ลดลง"
เมื่อเรามองจากวัดสังเวชไปฝั่งตรงข้าม จะเป็นวังของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปัจจุบันเหลือเพียงซุ้มประตูวัง
มีคำร่ำลือว่า วังนี้มีความเฮี้ยนมาก พื้นที่นี้แต่เดิมเจ้าที่แรงทำให้ไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดกล้าเข้ามาประทับ ทำให้เป็นวังร้างและถูกรื้อเพื่อใช้เป็นบ้านเรือนของประชาชน ด้านหน้ามีตั้งศาลบูชาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
วัดบวรนิเวศวิหาร
เป็นวัดที่รัชกาลที่ 3 สร้าง แล้วรัชกาลที่ 4 มาจำพรรษาที่นี่ และเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
"สมัยรัชกาลที่ 6 มีการรวมวัดสองวัดเข้าด้วยกัน คือ วัดรังษีสุทธาวาส กับ วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างอุโบสถหลังใหม่ มีพระประธาน 2 องค์ คือ หลวงพ่อโต มาจากเพชรบุรี เป็นพระประธานเดิม และพระพุทธชินสีห์ ที่อยู่ด้านหน้า
ความเฮี้ยนของวัดนี้อยู่ที่ประตูหน้าอุโบสถ ประตูเซี่ยวกาง ในสมัยถังไท่จง มีพญามังกรมาเข้าฝันถังไท่จงว่าอย่าฆ่าฉันเลย ทหารคนหนึ่งเป็นเทวดาของเง็กเซียนฮ่องเต้บนสวรรค์บอกให้มาฆ่าเพราะพญามังกรให้น้ำปริมาณมาก ก็ถูกฆ่า
ตำหนักแดง Cr. Kanok Shokjaratkul
พญามังกรก็มาเข้าฝันถังไท่จงว่าผิดสัจจะที่ฆ่าเรา ถังไท่จงกลัวจนต้องให้ทหารมาเฝ้า ต่อมาทหารป่วย เลยเขียนรูปทหารไว้ที่ประตู กลายเป็น ทวารบาล
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชายชาวจีนที่ติดฝิ่นคนหนึ่งมาตายตรงนี้ เผอิญมีคนมาขออะไรไม่รู้ แล้วได้ตามนั้น เลยเอาขี้ฝิ่นมาป้ายปากทวารบาลเป็นการตอบแทน จากนั้นก็มีคนมาขออะไรมากมายจนถึงปัจจุบัน
ใกล้ ๆ กันเป็น ตำหนักแดง มีเรื่องเล่าว่าพระที่วัดนี้มักจะเห็นผู้หญิงกับเด็กมานั่งเล่นที่หน้ากุฏิอยู่บ่อย ๆ ถ้ามีพระใหม่มาบวช ก็จะเห็นผู้หญิงใส่ชุดไทยปีนลงมา"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
ประตูผี
หลายคนไม่รู้ว่า ประตูผี อยู่ตรงไหน ให้สังเกตง่าย ๆ จากแยกสำราญราษฎร์ ตรงมาทางถนนบำรุงเมือง จะมีสะพาน สมมตอมรมารค ข้ามคลองโอ่งอ่าง นั่นล่ะ ประตูผี
ละแวกนี้ตึกแถวสองข้างจะเป็นตึกแบบฝรั่งโคโลเนียล มีทางเดินยื่นออกมา คนเดินลอดได้ คนโบราณจะพูดว่า ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน เพราะสมัยก่อนไม่มีฟุตบาท คนก็ลงไปเดินบนถนนแทน
Cr. Kanok Shokjaratkul
เดินตรงมาอีกหน่อย ก็พบกับ ชุมชนตรอกเซียงไฮ้ แหล่งอาศัยของช่างฝีมือทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ชาวจีนเซียงไฮ้
"สมัยอากง ที่นี่คือแหล่งทำเฟอร์นิเจอร์โต๊ะตู้เตียงไม้แท้ ทำยากมากต้องเขียนแบบก่อนใช้เวลาทำเป็นเดือน ทำให้อาชีพนี้ล้มหายตายจากไป อากงผมแหวกแนวมาทำ โลง แล้วก็สืบทอดกันมาจนมาถึงผมรุ่นที่ 3 แล้ว
โลงมี 3 แบบ ไทย จีน ฝรั่ง ไทย 3-5-7 วันเผา ฝรั่งเข้าโบสถ์ จีนฝังตามสุสาน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
โจ้-ฐกฤตธรณ์ พิพัฒน์คฌากุล เจ้าของร้าน ประธาน หีบศพ เล่าถึงที่มาของตัวเองให้ฟัง
"โลงจีน ต้องเป็นไม้สักเพราะปลวกไม่กิน เพื่อให้สรีระคงไว้มากที่สุด มี 2 ประเภท ไม้สักเหมือนกัน แบบแผ่น ราคา 30,000-50,000 บาท กับแบบซุง เข้าลิ่มโบราณไม่ใช้ตะปูตอก ระดับเจ้าสัว ราคา 300,0000-400,000 บาท คนไหหลำโลงสีเหลือง คนจีนแต้จิ๋วโลงสีดำ"
Cr. Kanok Shokjaratkul
หลายคนมีความสงสัย ก็เลยถามว่า 1) ถ้าโลงไม้ลั่น จะมีคนตายจริงไหม ตอบว่า ไม่จริง ไม้มาจากโรงไม้มันสด พอเอามาวางเจออากาศแห้งก็หดตัวแตกลั่นเป็นธรรมดา 2) ถ้าจะซื้อโลง ห้ามต่อ เพราะถ้าต่อราคาจะมีคนตายต่อกัน ตอบว่า อันนี้แล้วแต่ความเชื่อส่วนบุคคล แต่ส่วนตัวผมคิดว่าต่อได้เหมือนสินค้าทั่วไป 3) ทำอาชีพเกี่ยวกับโลงต้องมีของดี ใช่ไหม ตอบว่า ไม่มี เพราะเป็นคนไม่ชอบห้อยสร้อยคอ เวลาทำงานจะบอกลูกน้องเสมอว่าให้ คิดดี ทำดี แค่นี้ก็พอแล้ว
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
โลงผีหมี่เกี๊ยว
พวกเราเดินทะลุตรอกเซียงไฮ้ เลี้ยวไปทางขวาจนสุดซอย พบกับร้านขายบะหมี่เกี๊ยวชื่อแปลก
"ตอนแรกเราคิดว่าจะขายอะไรดี ที่ตั้งร้านเรา ซอยเรา เป็นซอยตรอกโลงผี เราขายบะหมี่ ก็เลยทำโลงจิ๋ว ใส่เครื่องปรุง ใส่ตะเกียบ ส่วนภาพฝาผนัง อ.โต๊ด โกสุมพิสัย นักวาดการ์ตูนเล่มละบาทมาวาดไว้ให้ เมนูแนะนำคือบะหมี่หมูแดงย่างเตาถ่าน มีเกี๊ยวกุ้ง เกี๊ยวหมู เปิดเที่ยงถึงสามทุ่มครึ่ง" หนุ่ม ปรเมศ เจ้าของร้านเล่าที่มาของร้านให้ฟัง
Cr. Kanok Shokjaratkul
พวกเราเดินต่อเข้าไปใน วัดสระเกศ แล้วหยุดตรงพื้นที่เดิมในอดีตที่เป็นสระน้ำ ที่รัชกาลที่ 1 มาประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี แล้วเสด็จขึ้นครองราช ก็เปลี่ยนชื่อ วัดสะแก เป็นวันสระเกศ แปลว่า ชำระพระเกศา
ปัจจุบันสระถูกถม แล้วสร้างเป็น ศาลาการเปรียญ ข้างในมีหุ่นขี้ผึ้งของอดีตเจ้าอาวาสสมเด็จเกี่ยว ตั้งอยู่
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์
ใครที่ได้ฟังเรื่องเล่าช่วงที่พระนครต้องประสบกับโรคห่าแล้วอยากรู้ว่า แร้งวัดสระเกศ เป็นยังไง ทางวัดได้ทำเหตุการณ์จำลองไว้ให้เราดูแล้ว มีทั้งภาพแร้งกินศพ และชาวบ้านที่มายืนมุงดู
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
วัดแค นางเลิ้ง
มาต่อกันที่ วัดแค นางเลิ้ง หรือ วัดสุนทรธรรมทาน ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวข้องกับดารานักแสดงชื่อดังของประเทศไทยคือ มิตร ชัยบัญชา หากได้ดูภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักพากย์ จะจำได้ว่า เหตุการณ์ในงานศพ ได้ถ่ายทำในสถานที่จริง คือที่วัดแห่งนี้
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราเดินไปดูที่เก็บอัฐิของ มิตร ชัยบัญชา พร้อมฟังมัคคุเทศก์เล่าว่า มิตร ชัยบัญชา เป็นทหารอากาศมาก่อนที่จะมาเป็นดาราโด่งดังในปีพ.ศ. 2501 ในช่วงเวลา 13 ปี เล่นหนังมา 277 เรื่อง
"มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตเพราะทำงานหนัก ไม่ค่อยได้พักผ่อน เมื่อไปถ่ายหนังเรื่องอินทรีทอง เขาปีนบันได้สูง 200 เมตรห้อยจากเฮลิคอปเตอร์ แล้วตกลงมา
เวลาสองทุ่ม ศพมาถึงที่วัดนี้ แฟนคลับมากันมากมายจนแน่นขนัดไม่มีพื้นที่ว่าง บางคนไม่เชื่อว่าเขาได้ตายไปแล้วจริง ๆ ทางวัดจึงต้องยกศพขึ้นมาให้ดู ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ มิตร ชัยบัญชา อยู่ที่ จ. พิษณุโลก"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
โรงหนังเฉลิมธานี
เดิมเรียกว่า โรงหนังนางเลิ้ง เกิดขึ้นจากการสร้างตลาด ในสมัยรัชกาลที่ 6
"เป็นโรงหนังสไตล์ BOX มีสองชั้น ตรงกลางเป็นที่ฉาย ตั๋วหนังชั้นบน 10 บาท ชั้นล่าง 5 บาท ก่อนฉายหนังจะมีแตรวงบรรเลง ด้านหน้าโรงหนังมี ข้าวโพดคั่ว อ้อยควั่น ขาย
Cr. Kanok Shokjaratkul
สมัยรัชกาลที่ 7 เปลี่ยนชื่อเป็น โรงหนังเฉลิมธานี ปิดไปเมื่อปี 2531 เป็นสถานที่ถ่ายทำหนังหลายเรื่อง เช่น Good Morning Vietnam โรบิน วิลเลี่ยม-จินตหรา สุขพัฒน์, 2499 อันธพาลครองเมือง, ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง-มอส ปฏิภาณ"
ฐิติชัย อัฎฏะวัชระ จาก C Connect.in.th เล่าให้ฟัง เนื่องจากเขาอาศัยอยู่ในแถบนี้
Cr. Kanok Shokjaratkul
จากนั้นเราก็เดินผ่านตลาดนางเลิ้ง มัคคุเทศก์ เล่าว่า ตลาดนางเลิ้ง เคยเกิดไฟไหม้ ในช่วงสงกรานต์ มีป้าคนหนึ่งมาซื้อหมู แต่อาเจ็กเจ้าประจำไม่มา เลยต้องไปซื้ออีกเจ้า แต่หมูมีไม่พอ ต้องมาเอาวันพรุ่งนี้
วันรุ่งขึ้น ป้าก็ไปตลาดใหม่ ตลาดว่างไม่มีคน เห็นอาเจ็กยืนขายอยู่ก็เข้าไปไปต่อว่า ทำไมเมื่อวานไม่มาขายไหนบอกว่าจะไม่หยุดช่วงสงกรานต์ไง อาเจ็กไม่ว่าอะไร ป้าก็เดินไปเอาหมูอีกเจ้าที่สั่งไว้ ปรากฎว่า ร้านนั้นหยุด แล้วก็มีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งเดินสวนมา ป้าจำได้ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งในนั้นตายไปแล้ว ก็รีบดึงหลานชายวิ่งหนีออกมาจากตลาดขึ้นรถสามล้อกลับบ้านไปเลย
Cr. Kanok Shokjaratkul
ไปเล่าให้หลานฟังว่าโดนผีหลอก มารู้ทีหลังว่าอาเจ็กล้มหัวฟาดพื้นตายไปแล้ว ที่ตลาดว่างเพราะทุกคนไปงานศพอาเจ็กกันหมด ป้าก็มานึกได้ว่าวันที่ไปเป็นวันเนาพรุ่งนี้เป็นวันสงกรานต์ คนไทยมีความเชื่อว่าวันเนาเป็นวันปล่อยผี กลายเป็นเรื่องเล่าที่เล่าต่อ ๆ กันมา
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
วัดโสมนัสราชวรวิหาร
เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 สร้างอุทิศให้กับ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เมื่อปีพ.ศ. 2396 ที่ตั้งท้อง แล้วเป็นฝีที่ท้อง ท้องได้ 7 เดือน คลอดพระโอรส มีชีวิตอยู่ 7 ชั่วโมงแล้วเสียชีวิต พระองค์เจ้าโสมนัสเสียใจมากไม่นานก็เสียชีวิตตามไป พระองค์เจ้าโสมนัส เป็นผู้หญิงคนเดียวที่มีวัดของตัวเองถึง 2 วัด คือ วัดโสมนัสและวัดราชนัดดา ที่ รัชกาลที่ 3 สร้างให้"
ฐิติชัย ผู้มีบ้านอยู่แถวนี้เล่าเสริมว่า วัดโสมนัส หรือ วัดโสม มีเรื่องเล่าว่ามีเปรต
"ผมเองก็ประสบมา 4-5 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงออกพรรษา เวลาโพล้เพล้ ไม่มีหมาหอน แต่จะได้ยินเสียง (ทำเสียงให้ฟัง) ฮื้อ.... ตอนเด็ก ๆ ผมก็ไม่เข้าใจ ไปถามยาย ยายบอก เงียบเลย ไปนอนเลย
Cr. Kanok Shokjaratkul
พอโตมาก็ได้ยินเสียงนี้อีกหลายครั้ง มีผู้หญิงคนหนึ่งไปเดินตามหาสามีที่ไปกินเหล้า หาเท่าไรก็ไม่เจอ เดินไปหยุดต้นมะพร้าว แล้วเงยขึ้น จากนั้นก็ตัวแข็งหงายท้องลงไปนอนเลย แล้วก็ลุกขึ้นมา วิ่งหนีร้องว่า กูโดนแล้ว ๆ จากนั้นก็ถูกหวย แล้วก็มาทำบุญ
เมื่อปีก่อนผมก็ยังได้ยินเสียง ฮื้อ... อยู่เลย คนเข้าใจว่าตอนกลางคืน แต่จริง ๆ ตอนกลางวันก็มีนะ แล้วก็มีเสียงคนเดินสวนสนาม ผมบวชที่วัดนี้ ตอนนั่งสมาธิ อยู่ ๆ หน้าต่างปิด แล้วได้ยินเสียง ฮื้อ... พอเราออกจากสมาธิ ลืมตา เห็นว่าหน้าต่างยังเปิดอยู่ แล้วเมื่อกี้ใครปิด นี่คือประสบการณ์ผม คนแถวนี้น่าจะเจอเยอะ"