'พะยูน' เสี่ยงสูญพันธุ์ ตายรายวัน เพราะ 'โลกร้อน' ทะเลเดือด ไม่มี 'หญ้าทะเล'

'พะยูน' เสี่ยงสูญพันธุ์ ตายรายวัน เพราะ 'โลกร้อน' ทะเลเดือด ไม่มี 'หญ้าทะเล'

ภาวะ 'โลกร้อน' ทำให้ 'หญ้าทะเล' เสื่อมสภาพเหมือนถูกนึ่ง 'พะยูน' ขาดแคลนแหล่งอาหาร ล้มตายรายวัน เสี่ยงสูญพันธุ์ หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างรีบด่วน

ในเดือนตุลาคม 2567 แทบทุกวันจะมีข่าวการตายของ พะยูน ถูกพบเกยตื้นอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ตรัง กระบี่ ภูเก็ต สตูล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่า พบพะยูนตาย 8 ตัวในช่วง 24 วันของเดือนตุลาคม 2567 กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ ภูเก็ต 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว ตรัง 2 ตัว สตูล 3 ตัว จากการชันสูตรพบสาเหตุการตาย 2 ลักษณะ ได้แก่ ร่างกายซูบผอม ขาดสารอาหาร สุขภาพไม่ดี และร่องรอยพันรัดจากเชือก

ในปี 2566 ถึง 2567 พบว่า มีพะยูนตายไปแล้ว 66 ตัว สูงสุดตั้งแต่ปี 2548

ช่วงปี 2548-2561 พบพะยูนตายเฉลี่ย 13 ตัวต่อปี แต่พะยูนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ

ในปี 2562-2565 ภาวะโลกเดือด เกิดวิกฤตหญ้าทะเลลดลง ส่งผลให้พะยูนตายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 20.25 ตัวต่อปี สูงกว่าจำนวนการเกิด ถ้าไม่ให้เกินการเกิด ก็ไม่ควรตายเกิน 17 ตัว

ในปี 2567 มีการสำรวจจำนวน พะยูน พบว่ามีอยู่ 240 ตัว กระจายอยู่หลายจังหวัดชายฝั่งอันดามัน แต่มีแนวโน้มลดลง จากภาวะขาดแคลนแหล่งอาหาร ทำให้พะยูนย้ายถิ่นออกไปหากินนอกพื้นที่คุ้มครอง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือติดเครื่องมือประมง

\'พะยูน\' เสี่ยงสูญพันธุ์ ตายรายวัน เพราะ \'โลกร้อน\' ทะเลเดือด ไม่มี \'หญ้าทะเล\' Cr. Thon Thamrongnawasawat

ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน กล่าวว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีพะยูนตายมากถึง 149 ตัว ขณะที่อัตราการเพิ่มจำนวนของพะยูนทำได้แค่ 5% หรือปีละ 10 ตัว

"ปัจจัยที่ทำให้พะยูนย้ายถิ่นจากพื้นที่เดิม รอบเกาะลิบง และเกาะมุก จ.ตรัง มาจากภาวะหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ตอนนี้หญ้าทะเลรอบเกาะลิบงเหลือไม่ถึง 5% ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ตามชายฝั่งอันดามันเหลือไม่ถึง 20 % ซึ่งมีเพียงพอต่อพะยูนแค่ 100 ตัวเท่านั้น นักวิจัยกำลังหาวิธีฟื้นฟูแหล่งอาหารอยู่ แต่ก็ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัย"

\'พะยูน\' เสี่ยงสูญพันธุ์ ตายรายวัน เพราะ \'โลกร้อน\' ทะเลเดือด ไม่มี \'หญ้าทะเล\'

Cr. Thon Thamrongnawasawat

พะยูน มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล พะยูนกินหญ้าทะเล และช่วยกระจายเมล็ดหญ้าทะเลไปในที่ต่าง ๆ ผ่านการขับถ่าย กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  Thon Thamrongnawasawat ว่า ทีมสำรวจแจ้งมาว่า สถานการณ์หญ้าทะเลไม่ค่อยดี

"มีแววว่าแหล่งพ่อแม่พันธุ์จะหายาก หญ้าใหม่ไม่มาแล้วพะยูนจะทำยังไง ? แค่นี้ก็ตายกันเยอะแล้ว ทางเลือกท้าย ๆ คือรักษาแหล่งพันธุ์ที่เหลือไว้ให้ดีที่สุด

\'พะยูน\' เสี่ยงสูญพันธุ์ ตายรายวัน เพราะ \'โลกร้อน\' ทะเลเดือด ไม่มี \'หญ้าทะเล\'

Cr. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เผอิญคณะประมงเปิดสถานีใหม่ที่กระบี่ ที่นั่นยังมีแหล่งหญ้าสมบูรณ์เหลืออยู่ในเขตเลี้ยงปลิงทะเล ผมจึงจะทำคอกขยายพื้นที่รักษาพ่อแม่พันธุ์ไว้ เพื่อที่จะได้นำเมล็ดมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขยายพันธุ์ เตรียมการไว้ฟื้นฟูในพื้นที่ที่เป็นไปได้ เราคงต้องพยายามให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ 

น้ำร้อนทำลายสถิติ 34.8 องศา ปะการังน้ำตื้นในอ่าวไทยฟอกขาวเกิน 90% ตายเกิน 90%

หญ้าทะเลในตรัง กระบี่ สตูล ตราด เกิดวิกฤตจากโลกร้อนอย่างรุนแรง เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วหลายหมื่นไร่

\'พะยูน\' เสี่ยงสูญพันธุ์ ตายรายวัน เพราะ \'โลกร้อน\' ทะเลเดือด ไม่มี \'หญ้าทะเล\'

Cr. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

หญ้าทะเลที่หายไป ทำให้พะยูนไม่มีอาหาร ตายเยอะสุดเป็นประวัติการณ์ 22 เดือน 71 ตัว คาดว่าปัจจุบันเหลือพะยูนในอันดามันไม่ถึง 120 ตัว ลดลงเกือบครึ่งในระยะเวลาเพียง 5 ปี

นักชีววิทยาทางทะเลพบความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและรุนแรงทั่วโลก

การรับมือและปรับตัว จำเป็นอย่างเร่งด่วน แต่เรายังขาดความรู้อีกเยอะมาก ขณะที่เวลาเหลือน้อยลงทุกที 

ความพินาศสุดขีดจะเกิดขึ้น ทั้งหมดเริ่มที่โลกร้อน / หญ้าทะเลตาย

\'พะยูน\' เสี่ยงสูญพันธุ์ ตายรายวัน เพราะ \'โลกร้อน\' ทะเลเดือด ไม่มี \'หญ้าทะเล\'

Cr. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

มันมีหลายสาเหตุที่โลกร้อนฆ่าหญ้าทะเลจนพะยูนไม่มีอะไรกิน

น้ำร้อนจัด ดินระอุ เหง้าหญ้านิ่มจนเหมือนโดนนึ่ง

น้ำแห้งผิดปรกติ หญ้าตากแดดแรงจัด ใบไหม้เกรียม

ฝนตกหนัก rain bomb บนแผ่นดิน น้ำแดงไหลลงทะเล ตะกอนทับถม

คลื่นลมแปรปรวน พัดตะกอนเข้าแหล่งหญ้า บางทีกลายเป็นลอนทราย

ปะการังฟอกขาว แนวปะทะคลื่นพังทลาย ทรายถูกคลื่นพัดเข้ามาในแหล่งหญ้าทะเล

เพราะหญ้าเหลือน้อยเกินไป สัตว์ทะเลเข้ามารุมกินพวกที่ยังรอดอยู่

ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง ทำให้สมดุลระบบนิเวศหายไป บางครั้งอาจมีการแพร่ระบาดของหอยหรือสาหร่าย ทำให้หญ้าอ่อนแอ ต้นเล็กตาย

\'พะยูน\' เสี่ยงสูญพันธุ์ ตายรายวัน เพราะ \'โลกร้อน\' ทะเลเดือด ไม่มี \'หญ้าทะเล\'

Cr. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เมื่อดงหญ้าทะเลกว้างใหญ่หนาแน่น เหลือเพียงแค่หย่อมหญ้า โลกร้อนยังกระหน่ำซ้ำเติม อนาคตที่หญ้าทะเลจะฟื้นคืนเหมือนเดิมแทบเป็นไปไม่ได้ในเวลา 5-6 ปี (หรือกว่านั้น)

ทางออกคือรักษาบางแหล่งที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด รักษาแหล่งพ่อแม่พันธุ์ด้วยเทคนิคต่าง ๆ อาจเป็นแค่หย่อมเล็กหย่อมน้อยก็ต้องพยายาม

หาแนวทางฟื้นฟูเท่าที่เป็นไปได้ในแหล่งเหล่านั้น พัฒนาเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในหญ้าหลายชนิด เก็บรักษาต้นกล้าหญ้าในพื้นที่อื่นที่ควบคุมปัจจัยได้ เช่น บ่อ

\'พะยูน\' เสี่ยงสูญพันธุ์ ตายรายวัน เพราะ \'โลกร้อน\' ทะเลเดือด ไม่มี \'หญ้าทะเล\'

Cr. Thon Thamrongnawasawat

เราช่วยพะยูนทุกตัวไม่ได้ แต่ผมยังเชื่อว่าเราช่วยบางตัวในบางที่ได้

ความหวังยังมี แม้จะเหลือเพียงหย่อมเล็กท่ามกลางพื้นอันว่างเปล่าที่ครั้งหนึ่งเคยปกคลุมด้วยหญ้าแน่นทึบ

น้อยนิดแต่ยังไม่สูญสลาย นั่นแหละคือความหมายของ ความหวัง

ปี 2565 มีพะยูนในอันดามัน 242 ตัว ปี 66-67 ตาย 70 ตัว นี่แหละคือทะเลเดือด"

................................

อ้างอิง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์