ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น?

ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางไปโรงเรียนของเด็กไทย คงหนีไม่พ้น "ความเสี่ยง" ต่ออุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงนำมาสู่ความร่วมมือในการสร้าง "ต้นแบบ" รถรับส่งนักเรียนที่มีความปลอดภัย ภายใต้แนวทางการจัดทำ "ศูนย์เรียนรู้" เพื่อยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน

พูดคุยถึงประเด็นร้อนรับ วันเด็ก ที่เพิ่งผ่านพ้น เป็นผลอันเนื่องมาจากการนำเสนอข้อมูลผลสำรวจจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดเผยถึงสถานการณ์ประชากรไทยและผลสำรวจความเห็นประชากรไทยต่อนโยบายประชากรในประเด็น "สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ" ซึ่งพบว่า อาจกำลังมีแนวโน้มเข้าสู่ความวิกฤติ

ด้วยอัตราเพิ่มของประชากรไทยช่วงนี้ กำลังอยู่ในสถานการณ์ติดลบหรือถดถอย เพราะเรากำลังมีจำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว

นอกจากนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา ยังเป็นปีแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีประชากรเกิดไม่ถึง 500,000 คน โดยประชากรเด็กแรกเกิดเพียง 461,421 คน ขณะที่อัตราการตายกลับสูงกว่าคือ 571,646 คน 

สถานการณ์ดังกล่าว หลายคนอาจมองไม่เห็นความเดือดร้อนในวันนี้ ทว่าความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว กำลังสะท้อนถึง "วิกฤติ" ใน "อนาคต" ของประเทศชาติอีก 20 กว่าปีข้างหน้าว่า เราจะสามารถเดินหน้าพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างไรให้ไม่สะดุด ในเมื่อเรากำลังขาดบุคลากรวัยทำงานหรือวัยหนุ่มสาว ที่เป็นทั้งพลังสำคัญและเป็นเรี่ยวแรงในการพัฒนาประเทศอย่างเพียงพอ

หยุดเหตุบนถนน ลดสูญเสีย 

ทางออกสำคัญในยุคที่สังคมไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเฉกเช่นเวลานี้ ไม่เพียงความพยายามที่จะเพิ่มอัตรา "ประชากรเด็ก" ให้มีจำนวนมากขึ้น แต่เวลาเดียวกัน เราอาจยังต้องมุ่งเน้น การลดความสูญเสีย ชีวิตของลูกหลานของเราเป็นที่ตั้ง ควบคู่กับการให้ความสำคัญการดูแลฟูมฟักและบ่มเพาะ เพื่อให้เติบโตเป็นพลเเมืองที่มีคุณภาพด้วยสุขภาวะ

ทว่าที่ผ่านมา หากย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียต่อชีวิตเด็กและเยาวชน ที่จากไปด้วย อุบัติเหตุบนท้องถนน เรากลับพบสถิติตัวเลขไม่สวยงามนัก เนื่องจากมีเด็กวัยก่อน 15 ปี ต้องจากไปด้วยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเฉลี่ยถึงปีละ 700 คน และยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง 

สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.พระนครศรีอยุธยา เผยถึงข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ปี 2565-2566 ซึ่งพบรถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยปีละ 30 ครั้ง ยิ่งเฉพาะช่วง ม.ค.- มี.ค. ปี 2567 กลับมีเหตุรถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุสูงถึง 15 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 153 คน เป็นอัตราความรุนแรงมากกว่าปี 2566 ในทุกด้าน

ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น?

"เพียงแค่ระยะเวลา 3 เดือน พบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีมากกว่าปีที่ผ่านมาในทุกด้าน โดยที่เหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียล้วนมีสาเหตุที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือว่าผู้ขับรถ สภาพรถที่ไม่ปลอดภัย และขาดการจัดการที่จะเป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนถึงปัญหาสําคัญในเชิงโครงสร้างและขาดการจัดการอย่างเร่งด่วน" รมช.ศึกษาธิการ เอ่ย

อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กไทยต้องเดินทางออกจากบ้านไปโรงเรียนในแทบทุกเมื่อเชื่อวัน จึงย่อมไม่พ้น "ความเสี่ยง" ต่ออุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง 

จากเหตุการณ์โศกนาฎกรรม หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างเนือง ๆ เกี่ยวกับรถรับส่งนักเรียน ทำให้หลายภาคีจึงมีความเห็นร่วมกันในการสร้าง "ต้นแบบ" รถรับส่งนักเรียน ที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ภายใต้แนวทางการจัดทำ "ศูนย์เรียนรู้" โดยทางกระทรวงศึกษาธิการจับมือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงาน เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน กับการนำร่องโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยต้นแบบแห่งแรก ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นั่นคือที่ "โรงเรียนอยุธยาราชวิทยาลัย" 

ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น?

ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย 

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า อยุธยาราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจําจังหวัดของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ วันนี้จะเป็นต้นแบบหรือเป็นศูนย์เรียนรู้ของภาคกลาง ได้มีแนวทางในการปฏิบัติการเสริมสร้างความปลอดภัยของอีกหลาย ๆ โรงเรียนในเรื่องของความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน

สำหรับโมเดลที่เกิดขึ้นยังสามารถส่งผ่านถ่ายไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอําเภอต่าง ๆ หรือโรงเรียนอื่น ๆ ในภาคกลางต่อไป

ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น?

แม้การจัดระเบียบรถรับส่งนักเรียนจะเป็นมาตรการที่เพิ่มความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ดียังมีความกังวลเรื่องความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ เพราะปัจจุบันยังมีต้นทุนการดำเนินการสูง ในกรณีที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือในผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย อาจทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถจ่ายค่าเดินทางได้

"โรงเรียนอื่นอาจไม่มีความพร้อมเท่ากับอยุธยาราชวิทยาลัย แต่การปรับปรุงกฎระเบียบเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องเป็นการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อหามาตรการเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยแก่ลูกหลาน"

ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น?

รมช.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นต่อว่า ทางออกเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนหามาตรการหรือการส่งเสริมด้านต่าง ๆ ที่ทดแทนได้ เช่น อาจมีมาตรการที่ให้กรมขนส่งทางบก ชดเชยเงินตรงนี้ทดแทน

"ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะนําข้อมูลและนำสิ่งที่เกิดประโยชน์จากโครงการนี้ไปเป็นแนวทางไปสร้างมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับรถรับส่งนักเรียนต่อไป"

สานมิชชันเดินหน้าปั้น 20 ศูนย์ทั่วประเทศ

ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. เอ่ยว่า สสส. สานพลังสภาผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 33 จังหวัด ภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค ได้พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม เพื่อสร้างระบบความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กนักเรียนด้วย รถโรงเรียน โดยมีเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนศูนย์เรียนรู้ รถรับส่งนักเรียน ปลอดภัย 20 แห่งทั่วประเทศ

ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น?

"อีกเป้าหมายสำคัญของโครงการฯ ก็เพื่อที่จะทราบข้อมูลเพื่อนำมาเป็นพื้นฐานในการจัดระเบียบ เพื่อให้ทราบข้อมูลของผู้ขับขี่ หรือการประเมินว่าแนวทางนี้สามารถที่จะช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้จริงแค่ไหน หรือการประเมินผลเปรียบเทียบกับโรงเรียนที่ไม่ได้ทําระบบเลย เรื่องนี้เป็นความท้าทาย เพราะการจัดการเรื่องระบบรับส่งนักเรียนจะต้องเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ซึ่งต้องปรับปรุงให้อยู่ภายใต้มาตรฐานของกรมขนส่งทางบก แล้วก็โรงเรียนที่ยอมรับได้ด้วย"

วางต้นแบบด้วย 5 เกณฑ์ กรอบ 9 ด้าน

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้ขับเคลื่อนและทำเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยร่วมกับ 6 ภูมิภาค ใน 148 โรงเรียน และมีโรงเรียนที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นศูนย์เรียนรู้ 20 โรงเรียน โดยมีเป้าหมายสำคัญที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของเด็กนักเรียน สำหรับโรงเรียนที่จะพัฒนาไปเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ ต้องมีคุณสมบัติ 5 เกณฑ์ คือ 1. มีพื้นที่เรียนรู้ทางกายภาพ มีรถรับส่งนักเรียน มีพื้นที่จุดจอด 2. มีองค์ความรู้ในเรื่องการจัดการรถรับส่งนักเรียน 3. มีบุคลากรจัดการที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ 4. มีรูปแบบการจัดการศูนย์เรียนรู้ 5. มีแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

อะลุ่มอล่วยรถรับส่งนอกระบบ

ก่องกาญจน์ กล่าวเสริมว่า การตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการนี้มีหลายเหตุผล ในบางโรงเรียนที่เราไปทํางานด้วยอย่างเช่นในต่างจังหวัด มีปัญหาจริงที่ว่าพอเขาไม่เข้าร่วม ถ้าโรงเรียนมีกฎออกมาแล้ว เขาก็จะเข้ามารับนักเรียนไม่ได้ ทำให้เขาไม่สามารถมีรายได้ตรงนี้ ซึ่งโรงเรียนในต่างจังหวัดจะมีรูปแบบที่เรียกว่าระบบเอื้อเฟื้อนั่นคือ จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองหรือว่าคุณปู่คุณย่าที่อาสาเข้ามารับส่งนักเรียนเป็นลูกหลาน รวมถึงน้อง ๆ ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงรวมตัวกัน ซึ่งมันเป็นระบบที่เรียกว่าการถ้อยทีถ้อยอาศัย แบบนี้จะไม่มาอยู่ในระบบ

"เราจึงหวังว่าอยากให้ทางโรงเรียนเรียกคนที่เข้ามารับส่งนักเรียนเข้ามาหารือพูดคุยกับโรงเรียน โดยโรงเรียนมีระบบจัดการแบ่งเป็นประเภทก็ยังดี เพราะว่าถ้าตามมาตรฐานของขนส่งเองรถโรงเรียนมีมาตรฐานความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่เรามองว่ามันยังมีมาตรฐานที่รับได้ที่ทางขนส่งเองยินยอม แล้วทางโรงเรียนก็มองว่ามันปลอดภัยเพียงพอ เรามาทำข้อตกลงมีการพูดคุยเจรจา เพื่อให้มีมาตรฐานและมีเกณฑ์ที่จะทําร่วมกันที่ยืดหยุ่นกับทุกฝ่าย อย่างน้อยที่สุดคือ ต้องปลอดภัยสําหรับนักเรียน ไม่ใช้ความเร็วสูงเกินไป ต้องสมัครใจว่าไม่เมาแล้วมาขับรถ หรือว่าคนขับรถต้องต้องมีสมรรถนะพอที่จะขับ เด็กทุกคนฝากชีวิตไว้กับคนขับได้"

ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น?

นอกจากการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานแล้ว ผู้ปกครองเองก็จะมีความสบายใจที่มีพาหนะรับส่งลูกถึงบ้าน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเถลไถลไปที่ไหน ขณะที่โรงเรียนเองก็ทราบด้วยว่าเด็กที่อยู่ในความดูแลนั้นเดินทางอย่างปลอดภัยสามารถเช็กหรือตรวจสอบได้ เป็นความสบายใจของทุกฝ่าย

"มันได้ความปลอดภัยจริงๆ ของเด็ก ทั้งเรื่องการเดินทางแล้วก็ความปลอดภัยที่รู้ว่าลูกของเราปลอดภัยที่จะอยู่โรงเรียนแล้วก็กลับบ้านได้โดยสวัสดิภาพ"

น่าจะเป็นอีกหนึ่งของขวัญวันเด็กที่เป็นรูปธรรมในปีนี้ เพราะคงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่า "การมีชีวิตที่ปลอดภัย" ลดปัจจัยเสี่ยง หรือ "ลดโอกาส" ต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งการดูแลปกป้องลูกหลานของเราในวันนี้ เพื่ออนาคตของประเทศชาติในวันหน้า

ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น? ฤๅวันเด็กปีนี้ เด็ก ๆ จะมีชีวิตที่ปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น?