"พิพิธภัณฑ์ครุฑ" เปิดทุกความเชื่อเรื่องครุฑ ต้นแบบความดีเป็นที่ประจักษ์
“พิพิธภัณฑ์ครุฑ” รวมทุกเรื่องความเชื่อ-ตำนานครุฑ ชมครุฑรูปลักษณ์ต่างกันกว่า 150 องค์จากช่างฝีมือทั่วประเทศ ครุฑเกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์อย่างไร เปิดที่มาครุฑยุดนาค ทำไมครุฑไม่ถูกกับนาค พร้อม QR Code จองรอบเข้าชม-รถตู้รับส่ง
ครุฑ หรือ พญาครุฑ มีเรื่องเล่าขานหลายตำนานส่งผ่านต่อกันมาด้วยอิทธิพลของศาสนา เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเชื่อว่า “ครุฑ” เป็นสัตว์กึ่งโอปปาติกะ และเป็นเทพพระพาหนะทรงของพระนารายณ์ มหาเทพผู้สร้างทุกสรรพสิ่งบนโลก
พุทธศาสนาเชื่อว่า “ครุฑ” คือเทพครึ่งนก มีฤทธิ์มาก ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ มีถิ่นที่อยู่อาศัยในป่าหิมพานต์บริเวณวิมานฉิมพลีเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งบนยอดเขาเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่สถิตของพระอินทร์
ตำนานกล่าวถึงอิทธิฤทธิ์พญาครุฑ ว่าเป็นเมตตามหานิยม เป็นสิทธิอำนาจอันเฉียบขาด เป็นสื่อนำความเจริญรุ่งเรือง ปกป้องคุ้มครอง สามารถลบล้างอาถรรพ์และคุณไสยทั้งปวง ภูติผีปีศาจเกรงกลัวไม่กล้าเข้าใกล้
คนเฒ่าคนแก่บางบ้าน เวลาต้องเข้าไปนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงมักนำเหรียญห้าบาทรุ่นเก่าที่ด้านหนึ่งมีรูป ครุฑ ใส่ถุงผ้าวางไว้เหนือหัวนอนเตียงโรงพยาบาล
พิพิธภัณฑ์ครุฑ
สำหรับผู้สนใจเรื่องราวและตำนานเกี่ยวครุฑ บัดนี้ พิพิธภัณฑ์ครุฑ แห่งแรกและแห่งเดียวในอาเซียน พร้อมเปิดให้เข้าชมเต็มรูปแบบแล้วตั้งแต่วันนี้ โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2565
ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑ์ครุฑ ก่อสร้างและดำเนินงานโดย “ธนาคารทหารไทยธนชาต” ก่อตั้งขึ้นจากการที่ "ธนาคารธนชาต" ได้รวมกิจการกับ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2554
ธนาคารนครหลวงไทย เป็นธนาคารที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 80 ปี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระราชทาน “เครื่องหมายตราตั้ง” ครุฑพ่าห์ ติดตั้ง ณ อาคารสำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2484 ซึ่งเป็นปีแรกที่ธนาคารเปิดดำเนินงาน
ครุฑพ่าห์ หรือ พระครุฑพ่าห์ หมายถึง “ครุฑซึ่งเป็นพาหนะ” มีลักษณะเป็นองค์ครุฑกางปีก สัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากการรับลัทธิเทวราชาของอินเดีย ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ลงมาปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข โดยมีพญาครุฑเทพพระพาหนะผู้ซื่อสัตย์คอยติดตามไปทุกหนแห่ง เราจึงพบเห็นตราสัญลักษณ์พระครุฑพ่าห์อยู่ในทุกที่ที่องค์กษัตริย์เสด็จไป
ครุฑจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญู ความซื่อสัตย์และความดีงาม
เชิญพระครุฑพ่าห์มาประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์ครุฑ
พระมหากษัตริย์พระราชทาน “พระครุฑพ่าห์” ให้ธนาคารนครหลวงไทยในเวลานั้นเพื่อเป็นเครื่องแสดง ความน่าเชื่อถือทางการเงิน ตามคุณสมบัติกิจการนั้นมีฐานะการเงินดี ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ประกอบกิจการโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หลังการรวมกิจการ จึงมีการเชิญเครื่องหมายตราตั้ง พระครุฑพ่าห์ ลงจากอาคาร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ตอนหนึ่งตาม มาตรา 11 ความว่า
“เมื่อปรากฏว่าบุคคลหรือห้างร้านบริษัทที่ได้รับพระราชทานตราตั้งเลิกประกอบกิจการ โอนกิจการดังกล่าวให้ผู้อื่นดำเนินการ ให้ส่งคืนตราตั้งแก่สำนักพระราชวัง”
ธนาคารธนชาต ได้ตระหนักถึงคุณค่าและเล็งเห็นความสำคัญขององค์ “ครุฑพระราชทาน” ที่มีความผูกพันและความศรัทธาของคนไทย รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ของไทย
หลังอัญเชิญองค์ครุฑลงจากสำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆ จึงนำไปประดิษฐานยังศูนย์ฝึกอบรมธนาคารธนชาต ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ และก่อตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์ครุฑ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” เนื่องในวโรกาสครบรอบ 84 พรรษา ในปีนั้น
นอกจากนี้ ยังเป็นความประจวบเหมาะอย่างไม่คาดคิด ที่แปลนอาคารศูนย์ฝึกอบรมมีปีก 2 ข้าง คล้ายพญาครุฑกำลังกางปีก
ต่อมาในปี 2564 ธนาคารทหารไทย (TMB) ได้รวมกิจการกับ ธนาคารธนชาต เป็นธนาคารแห่งใหม่ชื่อ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) และยังคงสานต่อคุณค่า พิพิธภัณฑ์ครุฑ ตามเจตนารมณ์ที่จะสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป
โดยปรับปรุงบูรณะ พิพิธภัณฑ์ครุฑ เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 และมีพิธีเปิดเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2565
ห้องจัดแสดงรูปสลักพระครุฑพ่าห์
พิพิธภัณฑ์ครุฑ
เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในประเทศไทยและในอาเซียนที่รวบรวม รูปสลักครุฑ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะองค์จากทุกภาคของไทย โดยเชิญครุฑที่ประดิษฐาน ณ อาคารธนาคารนครหลวงไทย สำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆ มากกว่า 150 องค์ มาไว้ด้วยกัน
โดดเด่นด้วยองค์ครุฑไม้แกะสลักอย่างวิจิตรในยุคแรกของธนาคารไทย สะท้อนถึงความประณีตของช่างฝีมือ รวมทั้งวัสดุร่วมสมัยอย่างไฟเบอร์กลาสในเวลาต่อมา
พร้อมถ่ายทอดตำนานเรื่องราวต่างๆ ของ ครุฑ ตั้งแต่จุดกำเนิดในดินแดนหิมพานต์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างพญาครุฑกับพญานาค และเรื่องราวความเป็นมาในการเป็นเทพพระพาหนะของพระนารายณ์
เพื่อส่งเสริมให้ “พิพิธภัณฑ์ครุฑ” เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวพญาครุฑ ประวัติศาสตร์ และต่อยอดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างยั่งยืน ผ่าน 6 โซนนิทรรศการ นำเสนอผ่านงานจิตรกรรม ประติมากรรม งานแอนิเมชันและงานมัลติมีเดียอย่างน่าติดตามชมภายในตัวอาคารขนาด 2 ชั้น
พระครูวิศิษฏ์พิทยาคม ทำพิธีในวันเปิดพิพิธภัณฑ์ครุฑ
พญาครุฑ สูง 4 เมตร
จุดน่าสนใจแรกที่ไม่ควรพลาดชมคือองค์ ครุฑพ่าห์ ซึ่งประดิษฐานอย่างสง่างามหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ องค์ครุฑมีความสูงถึง 4 เมตร เคยเป็นตราครุฑที่ด้านหน้ายอดตึก นครหลวงไทย สำนักงานใหญ่ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ได้รับพระพระราชทานจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นเสมือนดังเทพผู้พิทักษ์รักษามาอย่างยาวนาน
หลังจากเชิญลงจากยอดตึก ก็ได้อัญเชิญมาประดิษฐานยังหน้าพิพิธภัณฑ์ครุฑ และเป็นองค์ที่ พระครูวิศิษฏ์พิทยาคม (วราห์ ปุญญวโร) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง เป็นประธานนำผู้บริหาร ttb ทำพิธีสักการะเมื่อวันเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ 9 สิงหาคม 2565
การแสดงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ครุฑหน้าฉากภาพวาดป่าหิมพานต์ โถงต้อนรับ
AR กับสัตว์หิมพานต์
เมื่อเข้ามาในตัวพิพิธภัณฑ์ครุฑ พื้นที่แรกคือ โถงต้อนรับ จุดเริ่มต้นของนิทรรศการโซนแรกกับภาพวาดป่าหิมพานต์บนฉากโค้งขนาดใหญ่
บนพื้นห้องโถงมี QR Code จำนวน 3 จุด เมื่อใช้กล้องสมาร์ทโฟนส่องคิวอาร์โค้ดบนพื้นห้องแล้วยกขึ้นส่องไปยังฉาก จะปรากฏภาพเคลื่อนไหวของสัตว์หิมพานต์ในหน้าจอสมาร์ทโฟนที่สัมพันธ์กับเรื่องราวที่คิวอาร์โค้ดบันทึกไว้ สามารถเข้าไปยืนถ่ายรูปที่หน้าฉากกับสัตว์หิมพานต์ที่ปรากฏได้อย่างสนุกสนาน
คิวอาร์โค้ดทั้ง 3 จุด ได้แก่ QR Code นาคแปลงกาย บรรดาลูกนาคพากันแปลงกายเป็น “ขนม้า” เข้าไปแซมบนตัวม้าอุจไฉศรพ (ม้าเทียมราชรถพระอาทิตย์) จากขนสีขาวกลายเป็นสีดำ ทำให้นางวินตา (แม่พญาครุฑ) แพ้พนันทายสีขนม้า ตกเป็นทาสนางกัทรุ (แม่พญานาค) เป็นเวลา 500 ปี ต้นเหตุความบาดหมางระหว่างครุฑและนาค ทั้งๆ ที่ครุฑและนาคเป็นพี่น้องต่างมารดา โดยมีบิดาคนเดียวกันคือพระกัศยปมุนี
QR Code ศึกชิงน้ำอมฤต มาจากเรื่องราวที่ครุฑต้องไปนำน้ำอมฤตจากพระอินทร์มาให้นาค แลกกับอิสรภาพของนางวินตาผู้เป็นแม่ เกิดการประลองฤทธิ์กับพระอินทร์จนขนอันงดงามหลุดร่วง เป็นที่มาของนาม “สุบรรณ” อีกชื่อหนึ่งของครุฑที่พระอินทร์ประทานให้
QR Code ครุฑยุดนาค เพื่อหลบครุฑที่คอยจับกินเป็นอาหาร นาคซึ่งอาศัยอยู่ในมหานทีสีทันดรจึงพากันเลื้อยลงไปหลบยังสะดือทะเล แต่ครุฑช่างมีฤทธิ์มาก แค่กระพือปีกเหนือแผ่นน้ำ ทะเลก็แหวกออก ครุฑก็ยังจับนาคกินได้เหมือนเดิม บรรดานาคจึงคิดกลวิธีพากันกลืนกินก้อนหินลงท้องเพื่อถ่วงน้ำหนัก ทำให้ครุฑไม่สามารถจับนาคกินได้ ครั้นพบนาคในคราหลัง ครุฑแก้กลด้วยการโฉบจับนาคทางหาง ให้หัวนาคห้อยลง แล้วเขย่าให้ก้อนหินหล่นออก ท่วงท่าการจับนาคลักษณะนี้เป็นที่มาของชื่อท่า “ครุฑยุดนาค”
ในพื้นที่ “โถงต้อนรับ” ยังมี ห้องฉายวิดีทัศน์ เล่าการกำเนิดครุฑหลายตำนานโดย ครูมืด ประสาท ทองอร่าม ครูโขนและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งเฉลยที่มาของการไม่ถูกกันของครุฑและนาค
ห้องจัดแสดงโซน 2 : ครุฑพิมาน
เปิดป่าหิมพานต์
หลังจากรู้จักครุฑเบื้องต้นจากหนังสั้นในห้องวิดีทัศน์แล้ว “พิพิธภัณฑ์ครุฑ” พานักสำรวจเดินทางเข้าสู่ป่าหิมพานต์ในห้องจัดแสดงพื้นที่ที่สอง ชื่อ ครุฑพิมาน ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของตัวอาคาร
พื้นที่นี้เปิดให้เรียนรู้ความเชื่อและการกำเนิดจักรวาลทั้งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ทั้งยังใช้เป็นระบบการวางผังทางสถาปัตยกรรมของวัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทย
ออกแบบพื้นที่เป็นป่าหิมพานต์ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาพระสุเมรุตามคติจักรวาล เป็นถิ่นที่อยู่ของ “สัตว์กึ่งเทพ” หลากหลายรูปแบบซึ่งเกี่ยวข้องกับคติทางศาสนาทั้งสิ้น คุณจะได้รู้จักลักษณะของสัตว์หิมพานต์มากกว่า 30 ชื่อรวมทั้งหุ่นจำลอง รวมทั้งเปลือกไข่ที่แตกออกเป็นพญาครุฑ
ห้องจัดแสดงโซน 3 : นครนาคราช
ดำดิ่งโลกบาดาล
จากนั้นเป็นการสำรวจถิ่นที่อยู่ “พญานาค” กับพื้นที่ที่สาม นครนาคราช ปกติเหล่าพญานาคเวียนว่ายอยู่บริเวณใจกลางสระอโนดาด แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ก็พากันว่ายทวนน้ำมาทางทิศเหนือของป่าหิมพานต์ เพื่อวางไข่ ณ อาณาจักรใต้บาดาลที่อยู่ลึกลงไปหลายหมื่นโยชน์ในเกษียรสมุทร
ครุฑที่โกรธเคืองนาคเรื่องมารดา จึงคอยหาโอกาสโฉบลงจิกพญานาคเหนือท้องสมุทรแห่งนี้ ก่อนหอบหิ้วไปจิกท้องกิน “มันเปลว” ยังป่างิ้วแดนหิมพานต์ ในพื้นที่ส่วนนี้จึงมีภาพวาดท่วงท่า “ครุฑยุดนาค” ปรากฏอยู่ด้วย
พญานาคได้รับการยกย่องว่าเป็น เทพเจ้าแห่งสายน้ำและมีหน้าที่เฝ้าทรัพย์สมบัติ จึงมีความเชื่อกันว่า ผู้บูชาพญานาคจะนำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง
ห้องจัดแสดงโซน 4 : อมตะเจ้าเวหา
ครุฑ ต้นแบบความดีเป็นที่ประจักษ์
พญาครุฑ เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจ คุณธรรม ความกตัญญูกตเวทิตา และความเสียสละอันยิ่งใหญ่ จากเหตุการณ์ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการเพื่อชิงน้ำอมฤตมาให้พญานาค เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปลดปล่อยมารดาให้เป็นอิสรภาพ
ข้อพิสูจน์ที่บ่งบอกลักษณะนิสัยดังกล่าวของพญาครุฑ คือแม้พระนารายณ์เสด็จขึ้นจากเกษียรสมุทรเพื่อห้ามปรามพญาครุฑชิงน้ำอมฤต แต่พญาครุฑก็ยังยืนยันเจตนาที่จะช่วยเหลือมารดาอย่างถึงที่สุด แม้ต้องสละชีวิตตนก็ตาม
พระนารายณ์สรรเสริญพญาครุฑบนความกตัญญูต่อมารดา และความอดทนอดกลั้นสุดกำลังที่ไม่ลิ้มรสน้ำอมฤตแม้ความเป็นอมตะอยู่ตรงหน้า จึงประทานความเป็นอมตะให้พญาครุฑและกล่าวขอต่อพญาครุฑว่า
“ขอให้ท่านเป็นพาหนะของข้า ร่วมแบกรับภารกิจยิ่งใหญ่ ขอให้ท่านสถิตอยู่ที่ยอดเสาธงของข้า เพื่อท่านจะได้อยู่สูงกว่าข้า”
เหตุการณ์อันแสดงคุณธรรมที่ชัดเจนเกี่ยวกับครุฑประการนี้ ได้รับการนำเสนอผ่านแอนิเมชันในห้องจัดแสดงพื้นที่ที่สี่ อมตะเจ้าเวหา ซึ่งผนังรอบห้องนี้ประดิษฐานองค์ครุฑอัญเชิญมาจากธนาคารนครหลวงไทยสาขาต่างๆ ซึ่งหล่อด้วยไฟเบอร์กลาสทั้งหมด
ห้องจัดแสดงโซน 5 : สุบรรณแห่งองค์ราชัน
ครุฑกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ตามความเชื่อเทวราชาซึ่งรับมาจากอินเดีย กษัตริย์ไทยทุกพระองค์เปรียบเป็นอวตารของพระนารายณ์ ครุฑซึ่งเป็นเทพพระพาหนะพระนารายณ์ ถือเป็นสัญลักษณ์แทนองค์กษัตริย์ด้วย จึงนำมาใช้เป็นตราแผ่นดิน เรียก “ตราครุฑพ่าห์” เริ่มใช้นับตั้งแต่สมัยอยุธยาจวบจนรัตนโกสินทร์
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ครุฑเป็นเครื่องหมายประดับบนธง เรียก “ธงมหาราช” ซึ่งจะเชิญขึ้น ณ สถานที่ที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ “ตราอาร์ม” แทนตราแผ่นดินระยะหนึ่ง แต่ต่อมาทรงดำริว่า ตราอาร์มมีความเป็นตะวันตกมากเกินไป จึงทรงพระกรุณาเปลี่ยนมาใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์อีกครั้ง และมีพระประสงค์ให้ใช้พระครุฑพ่าห์เป็นตราแผ่นดินสืบมาจนปัจจุบัน
เรื่องราวนี้ได้รับการถ่ายทอดในรูปแบบหนังสั้นที่พื้นที่จัดแสดงที่ห้า สุบรรณแห่งองค์ราชัน พร้อมองค์พระครุฑพ่าห์ขนาดใหญ่แกะสลักจากไม้ที่ได้ชื่อว่ายังคงความสมบูรณ์ของงานสลักไว้ได้มากที่สุดในพิพิธภัณฑ์ครุฑ อัญเชิญมาจากธนาคารนครหลวงไทย สำนักงานใหญ่ สาขาหาดใหญ่
ครุฑพ่าห์องค์แรกจากสำนักงานใหญ่แห่งแรก
ครุฑพ่าห์องค์แรกของธนาคารนครหลวงไทย
ปิดท้ายด้วยส่วนจัดแสดงที่ 6 กับ ห้องจัดแสดงครุฑ พื้นที่นี้จัดแสดงองค์ครุฑไว้มากที่สุดทั้งที่แกะสลักจากไม้และหล่อด้วยวัสดุไฟเบอร์กลาส
ครุฑแต่ละองค์มีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น สีกาย สีและลักษณะผ้านุ่ง เครื่องสวมประดับศีรษะ โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนสุดท้ายเป็นการรวมองค์ครุฑที่แกะสลักด้วยไม้และมีความเก่าแก่ที่สุด ส่วนใหญ่จึงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
ที่ไม่ควรพลาดชมคือ ครุฑพ่าห์องค์แรก ที่ธนาคารนครหลวงไทยได้รับพระราชทานให้ประดิษฐาน ณ สาขาราชดำเนิน ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่แห่งแรกของธนาคารนครหลวงไทย ตั้งอยู่อาคารเลขที่ 5 ถนนราชดำเนินกลาง องค์ครุฑแกะสลักจากไม้สัก กายครุฑมีสีแดง แต่สูญเสียแขนทั้งสองข้างและส่วนของขาข้างหนึ่งที่หักไปตามเวลา
นอกจากนี้ยังมีองค์ครุฑที่โดดเด่นคือมี ปีกเป็นสีดำ ที่เกิดจากเขม่าควันการคั่วเกาลัดลอยขึ้นไปเกาะจับ นี่คือองค์ครุฑจากสาขาเยาวราชนั่นเอง
รวมทั้งองค์ครุฑที่มาจากสาขาประเวศ ถือเป็นครุฑองค์เดียวในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่มีผู้ชมซึ่งเรียนนาฏศิลป์เล่าให้ฟังว่าลักษณะท่าทางแบบนี้คือท่าตั้งวงรำที่ถูกต้อง คือมีการ พับนิ้วโป้ง
ด้วยความที่การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ครุฑ จะจัดแสดงองค์ครุฑในลักษณะเดิม ครุฑหลายองค์จึงไม่มีส่วนของแขนและขาที่ชำรุดไปแล้ว และยังมีครุฑอีกหลายองค์ที่ชำรุดจนไม่สามารถนำมาติดตั้งเพื่อจัดแสดงได้
แต่ยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี
: ภาพ :
ศุภกฤต คุ้มกัน
พิพิธภัณฑ์ครุฑ
วลัญช์ สุภากร
ครุฑพับนิ้วโป้ง (องค์ซ้าย)
วัน-เวลาทำการ
- พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต เปิดให้เข้าชมทุกวันศุกร์และวันเสาร์ วันละ 3 รอบ เวลา 10.00 น. 13.00 น. และ 15.00 น. พร้อมผู้นำชม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ผู้ประสงค์เข้าชมพิพิธภัณฑ์ครุฑ ต้องจองคิวเข้าชมออนไลน์ คลิก
- จำกัดผู้เข้าชมรอบละ 25 ท่าน
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จัดรถตู้บริการรับส่งจากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีเคหะสมุทรปราการ ถึงพิพิธภัณฑ์ครุฑ แจ้งความประสงค์ล่วงหน้าผ่าน QR Code
คิวอาร์ โค้ด จองรอบเข้าชมพิพิธภัณฑ์ครุฑและรถตู้รับส่ง
สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ครุฑ
- อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 9A จังหวัดสมุทรปราการ (ใกล้บางปู กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต)
- สอบถามโทร.09 8882 3900 ได้ตั้งแต่วันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 09.00-16.00 น.