ชมภาพวาดฝีพระหัตถ์ พระอัจฉริยภาพวิทยาศาสตร์ ในงาน “มหกรรมวิทย์ฯ 65”
ร่วมเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทย และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมชมภาพวาดฝีพระหัตถ์ ในงาน “มหกรรมวิทย์ฯ 65”
เราโชคดีที่ได้เกิดในประเทศไทยที่มี พระมหากษัตริย์ และ พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ และทรงนำความรู้ด้านศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และศาสตร์ศิลปะมาใช้ในการพัฒนาประเทศ
เป็นต้นแบบสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังได้นำเอา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของปี เพื่อให้เยาวชน นักเรียน และผู้สนใจที่เข้าชมงานมีความเข้าใจ สร้างแรงบันดาลใจและความสนุกสนาน เพลิดเพลินไปพร้อมๆ กับการเพิ่มพูนความรู้รอบตัว
ภายในงานยังมีการจัดแสดง นิทรรศการเทิดพระเกียรติ (Royal Pavilion) จัดแสดงพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของบูรพกษัตริย์ไทย, พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีคุณูประการต่องานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษาของประเทศไทย
เด็กๆ เรียนรู้พระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทย
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงค้นคว้าเกี่ยวกับการรักษาโรงมะเร็งเพื่อประชาชน
ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ และ องค์สิริศิลปิน” ทรงได้รับการยกย่องจากประชาคมโลกในฐานะ นักวิทยาศาสตร์ ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศไทยและนานาชาติ ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานอย่างหนักในการวางรากฐานด้าน การรักษามะเร็งสำหรับคนไทย และทรงปกป้องประชาชนให้ห่างจากภัยมะเร็งในทุกวิถีทาง
ทรงค้นพบพระองค์เองว่ามีอีกสิ่งหนึ่งที่ทรงรักและทรงมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ทรงงานนั้นคือ “งานศิลปะ” โดยทรงเป็น เจ้าฟ้าพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ไทย ที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นิทรรศการสิริศิลปิน
กระทรวงวัฒนธรรมได้ทูลเกล้าถวายพระสมัญญา สิริศิลปิน มีความหมายว่า "ศิลปินผู้ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะงดงามหลายแขนง อันเป็นศรีมิ่งขวัญและเป็นมงคลยิ่ง"
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ งานศิลปะ เพื่อนำไปต่อยอดหารายได้สมทบทุนมูลนิธิในพระดำริ จนเป็นที่ประจักษ์และจารึกอยู่ในดวงใจของไทยทุกคน
ภายในงานจัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์อันสวยงามให้ประชาชนเข้าชมอย่างใกล้ชิด ทรงสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้โดยทรงใช้สัญลักษณ์ คือ “เสือ” หมายถึง ความสัมพันธ์และความผูกพันอย่างลึกซึ้งในความเป็นผู้นำของอาณาจักร คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช (รัชกาลที่ 4) “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ทรงวางรากฐานที่จะนำวิทยาการใหม่ๆ ของตะวันตก ตลอดจนความรู้ทางวิทยาศาสตร์แผนใหม่ และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารประเทศ
ทรงตั้งพระทัยติดตามศึกษาหาความรู้ และทรงพระปรีชาในศาสตร์หลายแขนง เพื่อนำพาสยามสู่อารยประเทศ โดยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศได้แก่ ทรงคำนวณสุริยุปราคา ไว้ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ
ทั้งยังทรงทราบได้อย่างแตกฉานว่า เส้นศูนย์ของสุริยุปราคาจะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ ตำบลหว้ากอ โดยที่พระองค์ทรงคำนวณขึ้นมาด้วยพระองค์เอง
ดังนั้นทางประชาคมดาราศาสตร์สากล จึงได้เรียกสุริยุปราคาครั้งนั้นว่า King of Siam’s Eclipse หรือ อุปราคาของพระเจ้ากรุงสยาม อันเป็นการเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์อย่างสูงสุด
องค์ความรู้วิทยาศาสตร์จากชาติตะวันตก
นอกจากนี้ "รัชกาลที่ 4" ยังทรงเป็นผู้ริเริ่มความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มากมายในสยามยุคนั้น อาทิ
- นำเข้ากล้องถ่ายรูปตัวแรก ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิทยาการถ่ายภาพในประเทศไทย
- ทรงตั้งเวลามาตรฐานของสยามตามระบบการนับเวลาสากล
- ทรงนำเข้าเครื่องพิมพ์และก่อตั้งโรงพิมพ์ เพื่อจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา
- การปฏิรูปเงินตรา จากเงินพดด้วงเป็นเหรียญลักษณะกลมแบน
- ทรงตั้งโรงกษาปณ์สิทธิการ ภายในพระบรมมหาราชวัง
"รัชกาลที่ 9" ทรงให้แนวทางจัดทำโครงการในพระราชดำริเพื่อประชาชนมากมาย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ทรงใช้วิทยาศาสตร์บันดาลความสมบูรณ์
เพราะทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการ ดูแลดินให้อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข ปรับปรุงทรัพยากรดินให้เป็นในแนวทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยทั่วหน้า
ด้วยเหตุนี้ คนไทยและนานาประเทศจึงเทิดพระเกียรติพระองค์ในฐานะจอมปราญ์แห่งดิน สำหรับโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับดิน อาทิ โครงการแกล้งดิน โครงการหญ้าแฝก โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว จังหวัดนครนายก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพและทรงโปรดปรานด้านการถ่ายภาพอย่างมาก ดังที่จะเห็นภาพพระองค์ห้อยกล้องไว้ที่พระศออยู่เสมอ โดยสามารถจำแนกรูปถ่ายมากมายได้เป็น 2 ประเภท คือ ภาพถ่ายแนวจิตศิลป์ และ ภาพแสดงพระปณิธานในการพัฒนาประเทศ
นิทรรศการเทิดพระเกียรติภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
นิทรรศการเทิดพระเกียรติ และการจัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์จัดแสดงใน งานมหกรรมวิทย์ฯ’ 65 ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงาน ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ Facebook: NSTFair Thailand
กล้องถ่ายภาพที่พระศอ เป็นภาพที่คนไทยคุ้นเคย
นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และ พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงหาแนวทางป้องกันประชาชนจากโรงมะเร็งร้าย
ชมห้องมืดล้างฟีล์ม
โครงการหญ้าแฝกในพระราชดำริ