โลกของ "กาแฟ" ยุคใหม่ "หุ่นยนต์บาริสต้า" อาจเป็นมือชงแห่งอนาคต

โลกของ "กาแฟ" ยุคใหม่ "หุ่นยนต์บาริสต้า" อาจเป็นมือชงแห่งอนาคต

ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเริ่มเข้าสู่ยุคของการใช้ "หุ่นยนต์" มาทำงานแทนมนุษย์ ที่เห็นได้ชัดก็คือ “หุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟ” และ ”หุ่นยนต์ชงกาแฟ”!

ข้อได้เปรียบของ หุ่นยนต์ชงกาแฟ และ หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ก็คงหนีไม่พ้นแง่มุมในเรื่องของความสะดวกสบายและความรวดเร็วที่ดูเหมือนจะเป็นจุดขายของธุรกิจสมัยใหม่ทั้งโลกไปเสียแล้ว แน่นอนว่า เทคโนโลยีรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ถ้าเกิดหิวขึ้นมาแล้วอยากได้ กาแฟ พร้อมแซนด์วิชในช่วงเวลาอันเร่งรีบ แต่ต้องไปเจอกับคิวหน้าร้านที่ยาวเหยียดเข้า การชงกาแฟและเครื่องดื่มผ่านกลไกทำงานที่คล้ายมนุษย์ จึงก้าวเข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้ แล้วก็กำลังทำให้ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติกลายเป็นงานบริการที่ธรรมดาๆ ไป

การนำ หุ่นยนต์บริการ มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก เริ่มมาแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็นำไปสู่การ “ตั้งคำถาม” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยว่า หุ่นยนต์พวกนี้จะแทนที่แรงงานมนุษย์ได้ทั้งหมดจริงหรือ ร้านกาแฟที่คุ้นเคยกันจะกลายเป็นของเก่าตกยุคไปแล้วหรือ หรือนี่คือการดื่มกาแฟวิถีใหม่ แล้วเทคโนโลยีจะพลิกโฉมพฤติกรรมคนดื่มกาแฟในเวลาอันรวดเร็วแค่ไหนกันเชียว

 

ถ้าผู้เขียนมีอาชีพเป็น บาริสต้า หรือ พนักงานเสิร์ฟ ก็คงอดที่จะตั้งคำถามเช่นนี้ไม่ได้เหมือนกัน  

กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แบมิน (Baemin) แอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหารของเกาหลีใต้ เริ่มนำหุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟมาใช้จัดส่งกาแฟและอาหารว่างให้กับร้านค้าในสนามบินนานาชาติอินชอน ประกอบไปด้วย บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ ร้านไอศกรีมเพื่อคนรักสุขภาพ, ปารีส บาแกตต์ ร้านขนมปังเกาหลีชื่อฝรั่งเศส แต่ดังระดับโลก และดังกิ้น ร้านแฟรนไชส์โดนัทสัญชาติอเมริกา โดยนำร่องทดลองใช้ในจุดที่เป็นเกทรอขึ้นเครื่องผู้โดยสารขาออกของเทอร์มินัลวัน

โลกของ \"กาแฟ\" ยุคใหม่ \"หุ่นยนต์บาริสต้า\" อาจเป็นมือชงแห่งอนาคต หุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟของแอพแบมิน "แอร์ ดิลลี่" ในสนามบินนานาชาติอินชอน / ภาพ : www.woowahan.com

หุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟ นี้มีชื่อว่า “แอร์-ดิลลี่” (Air-dilly) พัฒนาขึ้นโดยบริษัทแอลจี อิเล็คทรอนิกส์ เป็นโรบอทสีขาว มีช่องใส่สินค้า 2 ช่อง บันทุกน้ำหนักสูงสุด 17 กิโลกรัม พิสัยทำงาน 250 เมตร จากร้านไปถึงเกทรอขึ้นเครื่องผู้โดยสารขาออก เริ่มทำงานกันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ถือเป็นหุ่นยนต์จัดส่งอาหารและเครื่องดื่มชุดแรกในสนามบินของเกาหลีใต้

ตรงด้านหลังของเก้าอี้นั่งทุกตัวบริเวณประตูขึ้นเครื่องผู้โดยสารขาออก จะมี “คิวอาร์โค๊ด” ให้สแกนเพื่อสั่งเครื่องดื่มและอาหารตามเมนูที่โชว์อยู่ พร้อมชำระเงินผ่านทางแอปพลิเคชั่นของแบมิน แต่ถ้ายังไม่ได้ติดตั้งแอพก็เข้าไปในเว็บไซต์แบมินซึ่งมีภาษาอังกฤษรองรับอยู่ด้วย เพื่อสั่งออร์เดอร์ จากนั้นก็ชำระเงินโดยใช้บัตรเครดิต

เพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบความสะดวกสบายพร้อมตื่นตาตื่นใจไปกับเทคโนโลยีสุดล้ำ ทางแบมินเคยนำ "หุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟ" เข้าไปจัดส่งอาหารจากร้านอาหารใกล้เคียงไปยังที่พักอาศัยของลูกค้า ตามโรงพยาบาล และสำนักงานออฟฟิศต่างๆ มาก่อนแล้ว

เริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับร้านอาหารที่นำ "หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร" มาใช้ ช่วยแบ่งเบาภาระของพนักงาน เพื่อให้มีเวลาดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่ เรียกว่างานปรุงให้เป็นหน้าที่คน ส่วนงานเสิร์ฟให้เป็นหน้าที่น้องโรบอท แต่ก็มีข้อถกเถียงอยู่เหมือนกันว่า ในหลายๆหน้าที่ของงานบริการ “หุ่นยนต์ทำงานแทนคนไม่ได้” 

หากท่านผู้อ่านเป็นคนชงกาแฟหรือบาริสต้าประจำร้านรวงต่างๆ น่าจะสนใจเรื่องราวต่อไปนี้ เพราะโฟกัสตรงๆ ไปยังหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นมาทำงานแทนคน ซึ่งเรียกกันว่า แขนหุ่นยนต์ หรือ แขนกลโรบอท ที่เมื่อนำไปใช้ในธุรกิจกาแฟ เขียนโปรแกรมสั่งให้ผลิตเครื่องดื่มแทนมนุษย์ ก็มีชื่อว่า "หุ่นยนต์บาริสต้า"(Robotic Barista) ที่ระยะหลังถูกนำไปชงเครื่องดื่มกาแฟบริการลูกค้าตามร้านเล็กๆในสไตล์คีออส (Kiosk)  จนเกิดกลายเป็น "คาเฟ่หุ่นยนต์" ขึ้นมา

หลายๆ แบรนด์กาแฟนำ หุ่นยนต์บาริสต้า ประจำร้านสไตล์คีออส ไปเปิดบริการลูกค้าตามย่านธุรกิจ,ห้างสรรพสินค้า และแหล่งท่องเที่ยว เป้าหมายก็เพื่อเพิ่มจุดขายให้ลูกค้าได้เข้าถึงง่ายขึ้น กับเพื่อยกระดับอัพเกรดแบรนด์ให้ทันสมัยมากขึ้น ส่วนใหญ่จะทำการตลาดในทำนองว่าเป็น “คาเฟ่แห่งอนาคต” หรือ “เสิร์ฟแห่งอนาคต” เพราะใช้บาริสต้าหุ่นยนต์  ไม่ใช้คนเหมือนเดิม ยกเว้นตอนเติมของในร้าน เช่น เมล็ดกาแฟหรือถ้วยใส่เครื่องดื่ม ส่วนแฟลตฟอร์มชำระเงินเป็นไปตามยุคสังคมไร้เงินสด หลักๆ มีด้วยกัน 2 แบบ คือ สแกนรหัสคิวอาร์โค้ด กับบัตรเครดิต-บัครเดบิต

ตัวอย่างมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในสหรัฐ, ยุโรป, เอเชีย, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ดูไบ และฯลฯ ประเทศไทยก็มีนะ ไม่มีตกเทรนด์จริงๆ สำหรับเรื่องกาแฟ เครื่องดื่มยอดนิยมที่ตลาดในประเทศกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เดือนเมษายนที่ผ่านมา "คาเฟ่ อเมซอน" (Café Amazon) เชนร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดของไทย เปิดร้านคีออสขึ้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ มี "หุ่นยนต์บาริสต้า" ถูกเขียนโปรแกรมสั่งให้ทำเครื่องดื่มเหมือนจริงในทุกขั้นตอน ชงกาแฟร้อน-เย็นได้ทุกเมนู แถมทำลาเตอาร์ตลายง่ายๆ ได้ 2 ลายด้วยกันเป็นรูปหัวใจกับรูปใบไม้ ระยะเวลาในการทำเครื่องดื่มขึ้นอยู่กับความยากง่าย เช่น ถ้าเป็นเมนูร้อนตกเฉลี่ยแก้วละ 2 นาที เมนูเย็นเฉลี่ย 3 นาที บางเมนูมีส่วนผสมเยอะหน่อย เช่น ไวท์ช็อคมัคคิอาโต้เย็น ก็มี 4-5 นาทีเหมือนกัน

สำหรับน้องหุ่นยนต์บาริสต้าตัวแรกของร้านกาแฟบ้านเรานี้ รับคำสั่งออร์เดอร์ในระบบทัชสกรีน สามารถเลือกระดับความหวานได้ด้วย ใช้งานได้ 2 ภาษา ไทยกับอังกฤษ แล้วเห็นมีคนรีวิวตามสื่อออนไลน์กันเยอะทีเดียว ประมาณว่า ชงเป๊ะ! เหมือนคน ทุกดีเทล แต่จริงหรือไม่ประการใด ต้องไปลองดูกันเองครับที่เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

อ้อ..เกือบลืมไปครับ "หุ่นยนต์บาริสต้า" ของคาเฟ่ อเมซอน พัฒนาขึ้นโดยบริษัทโออาร์หรือปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพีทีที เรส บริษัทในเครือปตท.เช่นกัน

พูดถึงการผลิตครื่องจักรอัตโนมัติในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกแล้ว มีความเคลื่อนไหวที่คักคักทีเดียว มีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาหลายแขนงหลายรุ่นทีเดียว ตั้งแต่ตู้กดกาแฟแบบออโต้, หุ่นยนต์ชงกาแฟ, หุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟ ไปจนถึงระบบไดรฟ์-ทรู บริษัทที่มีชื่อเสียงต่างก็มีรุ่นโปรโตไทพ์เป็นของตนเอง อย่างกลุ่มเอบีบี (ABB) ของสวิส-สวีเดน และคูก้า (KUKA) ของเยอรมัน

ส่วนที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพกำลังเติบโตขึ้นมาก็มี บริกโก้ (Briggo) ของสหรัฐ, คาเฟ่ เอ็กซ์ (Cafe X) ของสหรัฐ, บาร์นีย์ บาริสต้า (Barney Barista) ของสวิส, เอฟแอนด์พี โรโบติคส์ (F&P Robotics) ของสวิส, คราวน์ ดิจิทัล(Crown Digital) และโรซัม คาเฟ่ (Rozum Café) บริษัทร่วมทุนของเบลารุสกับยูเครน

โลกของ \"กาแฟ\" ยุคใหม่ \"หุ่นยนต์บาริสต้า\" อาจเป็นมือชงแห่งอนาคต อดใจไม่ไหวถึงกับต้องถ่ายรูป...บาริสต้าหุ่นยนต์ของโรซัม คาเฟ่ / ภาพ : www.facebook.com/RozumCafe

บริกโก้ แบรนด์ผลิตหุ่นยนต์ชงกาแฟของสหรัฐ ถูกซื้อกิจการไปโดยเชนกาแฟยักษ์คอสต้า คอฟฟี่ เมื่อปีค.ศ. 2020 แล้วถูกรีแบรนด์ใหม่เป็น "คอสต้า คอฟฟี่ บาริสต้าบ็อท" ตรียมไว้ใช้เป็นหมัดเด็ดในการบุกตลาดกาแฟแดนพญาอินทรี 

จุดเด่นของบาริสต้าบอทตัวนี้อยู่ที่เมนูกาแฟมีความหลากหลายเช่นเดียวกับร้านกาแฟ ใช้เมล็ดกาแฟเกรดพรีเมี่ยมและเกรดพิเศษ แล้วยังมีฟังค์ชั่นเป็นลูกเล่นให้เลือกใช้ตามใจชอบ เช่น ความหนัก-เบาของบอดี้กาแฟ, อุณหภูมิน้ำ, ครีมหรือไม่ครีม และก็เลือกกลิ่นรสได้อีกเช่นกัน

โลกของ \"กาแฟ\" ยุคใหม่ \"หุ่นยนต์บาริสต้า\" อาจเป็นมือชงแห่งอนาคต ระบบทัชสกรีนกับหุ่นยนต์ชงกาแฟของคาเฟ่ เอ็กซ์ ในสหรัฐ / ภาพ : https://www.facebook.com/getcafex

ส่วนคราวน์ ดิจิทัล จากสิงคโปร์ เพิ่งตั้งบริษัทมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้เอง ผลิต "หุ่นยนต์บาริสต้า" ให้กับบริษัทลูก “คราวน์ ค๊อฟฟี่” นำไปเปิดตัวเป็นครั้งแรกของแดนลอดช่องในรูปแบบของร้านคีออส ภายใต้ชื่อ "เอลล่า" (ELLA) มีกำลังผลิตในราว 200 แก้วต่อชั่วโมง ใครไปสิงคโปร์ แวะไปลองสั่งกันได้ครับที่พลาซ่า สิงคปุระ, ราฟเฟิลส์ เพลส และอีกหลายจุด ล่าสุดก็เห็นมีข่าวว่าจะขยับขยายคาเฟ่หุ่นยนต์ไปตามจุดต่างๆ เพิ่มเติม เช่น สถานีรถไฟ, สนามบิน และสำนักงานออฟฟิศ หลังจากที่เมื่อปลายปีก่อนเคยนำเอลล่าไปเปิดตัวมาแล้วที่ประเศญี่ปุ่น

ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ... “จุดเด่น” ในเชิงธุรกิจของ "หุ่นยนต์บาริสต้า" มีอยู่ด้วยกันหลายด้าน เช่น ช่วยลดต้นทุน, ควบคุมสูตรและคุณภาพของเครื่องดื่มได้ดี, ชงกาแฟได้เร็ว, หมดปัญหาคิวยาวเหยียด และตอบสนองพฤติกรรมลูกค้ายุคใหม่ที่นิยมความเร็วและง่าย แต่ก็ใช่จะไม่มี “จุดด้อย” เอาเสียเลย อาทิ แม้ไม่เจ็บไม่ป่วยแต่ต้องแลกด้วยค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์, แม้ควบคุมสูตรกาแฟได้เป๊ะๆ แต่ก็โต้ตอบไม่ได้หากลูกค้าถามขึ้นมา และแม้จะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ก็สนทนาพาทีกับลูกค้าไม่ได้เหมือน "บาริสต้า" ที่มีเลือดเนื้อตัวตน

ที่ยังเป็นจุดตายก็คือ ยังไม่มีหุ่นยนต์ตัวไหนในโลกเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าได้ดีเท่ามนุษย์ เจ้าอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้านี่แหละ คือ “หัวใจ” ของงานภาคบริการเลยทีเดียว

โลกของ \"กาแฟ\" ยุคใหม่ \"หุ่นยนต์บาริสต้า\" อาจเป็นมือชงแห่งอนาคต "เอลล่า" หุ่นยนต์ชงกาแฟของบริษัทคราวน์ ค๊อฟฟี่ ในสิงคโปร์ / ภาพ : www.instagram.com/crowndigital.io

เอาเข้าจริงๆ "หุ่นยนต์ชงกาแฟ" นั้นตอบโจทย์ได้ในบางสถานการณ์เท่านั้น ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เราจึงเห็นคาเฟ่หุ่นยนต์ผุดขึ้นตามย่านการค้าและแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนพลุกพล่าน เป็นโลเคชั่นที่งานบริการต้องรีดประสิทธิภาพออกมาอย่างเต็มที่ รองรับออร์เดอร์ได้คราวละมากๆและปิดจ๊อบในเวลาอันรวดเร็ว เพิ่มเติมด้วยความง่าย และสะดวกสบาย ในการสั่งซื้อและชำระเงิน อย่างที่เรียกกันว่า "ครบจบในอึดใจเดียว"!

แม้จะมีเงินทุนมหาศาล...ทว่าแบรนด์กาแฟระดับโลกหลายร้านก็ยังคงปักหลักยึดมั่นกับรูปแบบร้านกาแฟที่มีมาแต่ดั้งเดิม ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ ก็คือ “สตาร์บัคส์” เชนกาแฟอันดับ 1 ของโลก

โลกของ \"กาแฟ\" ยุคใหม่ \"หุ่นยนต์บาริสต้า\" อาจเป็นมือชงแห่งอนาคต บาริสต้าประจำร้านกาแฟกับรอยยิ้มที่หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้ / ภาพ : Brooke Cagle on Unsplash

หรือคือเสิร์ฟแห่งอนาคต?...ขึ้นอยู่กับมุมมองและบริบททางความคิด 

แต่สำหรับผู้เขียนมั่นใจว่าร้านกาแฟในแบบฉบับแท้จริงที่เดินเข้าไปสั่งเมนูกับ "บาริสต้า" แล้วไปนั่งประจำโต๊ะ พอพนักงานมาเสิร์ฟก็ยิ้มขอบคุณขอบใจกัน จิบกาแฟไปฟังเพลงไปสบายๆ พร้อมสูดกลิ่นกาแฟคั่วหอมชื่นใจ จะไม่วันลมหายตายจากไปไหน ตราบใดที่ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการแค่เครื่องดื่ม แต่ปรารถนาไปถึงศาสตร์และศิลป์ในการชงเครื่องดื่มด้วย