ปรากฏการณ์จันทรุปราคาคืนลอยกระทง 2565 นทท.-ปชช.ชาวบุรีรัมย์แห่ชมคึกคัก!

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาคืนลอยกระทง 2565 นทท.-ปชช.ชาวบุรีรัมย์แห่ชมคึกคัก!

นักท่องเที่ยว - ประชาชนชาวบุรีรัมย์ แห่ชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนลอยกระทง 2565 บริเวณริมคลองละลมโบราณคึกคัก

เมื่อคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวและประชาชนชาวบุรีรัมย์ แห่ชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันลอยกระทง 2565 ที่ริมคลองละลมโบราณคึกคัก ทั้งนี้คณะชมรมดาราศาสตร์ รร.บุรีรัมย์พิทยาคม และรร.พระครูพิทยาคม ได้มีการนำกล้องโทรทัศน์ หรือกล้องดูดาว มาให้บริการส่องชม "จันทรุปราคา" แบบใกล้ๆ ซึ่งหลายคนตื่นเต้นดีใจที่ได้เห็นต่างนำมือถือมาบันทึกภาพเป็นที่ระลึก

 

 

นักท่องเที่ยว ประชาชน และนักเรียน นักศึกษา ที่มาลอยกระทงและเที่ยวในงานบริเวณคลองละลมโบราณลูกที่ 1 - 4 ต่างพากันไปเฝ้ารอชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันลอยกระทง 2565 ที่บริเวณคลองละลมโบราณลูกที่ 1 กันอย่างคึกคัก

 

ขณะที่ทาง ชมรมดาราศาสตร์โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ได้ร่วมกับโรงเรียนพระครูพิทยาคม นำกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องดูดาวที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มาติดตั้งให้ผู้ที่สนใจได้ดูผ่านกล้องแทนการดูด้วยตาเปล่า เพราะหากดูผ่านกล้องจะมองเห็นจันทรุปราคาได้ชัดเจนมากกว่า ซึ่งหากใครพลาดชมในวันดังกล่าวก็จะต้องรอไปอีกถึง 3 ปี

 

โดยลำดับการเกิดปรากฏการณ์ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ นั้น คือ 16.09 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน จากนั้น 17.16 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ต่อจากนั้นเวลา 17.59 น. ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดลึกที่สุด ต่อมา 18.41 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง และ 19.47 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน

 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาคืนลอยกระทง 2565 นทท.-ปชช.ชาวบุรีรัมย์แห่ชมคึกคัก!

 

 

นางนภัสชญา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ รร.บุรีรัมย์พิทยาคม เผยว่า หลังทราบว่าจะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันลอยกระทง 2565 ทางชมรมดาราศาสตร์ของรร.บุรีรัมย์พิทยาคม และ รร.พระครูพิทยา ได้นำกล้องโทรทรรศน์ไปบริการติดตั้งไว้ที่ริมคลองละลมโบราณ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ส่องดูจันทรุปราคาอย่างชัดเจน ก็ได้รับความสนใจจากประชาชน นักท่องเที่ยว และนักเรียนนักศึกษาที่มาเข้าคิวรอชมจำนวนมาก

 

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง หรือช่วงขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อยๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก

 

ข่าวโดย สุรชัย พิรักษา จ.บุรีรัมย์