‘ปอยส่างลอง’ หนึ่งปีมีครั้งเดียว 22 มี.ค.-8 เม.ย. นี้ ที่แม่ฮ่องสอน
ชวนไปท่องเที่ยวงาน ‘ปอยส่างลอง’ ประเพณีโบราณที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของชาวไทใหญ่ จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง ด้วยแรงศรัทธาในศาสนาพุทธของคนในชุมชน
‘ปอยส่างลอง’ หรือ 'งานบวชลูกแก้ว' เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน เพื่อบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา
ปรากฏหลักฐานว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่สมัยสร้างแปลนเมืองแม่ฮ่องสอน มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในทุกปี เป็นประเพณีที่สำคัญในพุทธศาสนา และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2482-2488 การจัดงานนี้ได้ถูกยกเลิกไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ได้มีการฟื้นฟูจัดงานขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งยังขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง เชียงราย, เชียงใหม่ ด้วย
'ปอยส่างลอง' คืออะไร
‘ปอยส่างลอง’ ในภาษาไทใหญ่ ‘ปอย’ หมายถึง เหตุการณ์, ‘ส่าง’ หมายถึง สามเณร, ‘ลอง’ หมายถึง พระโพธิสัตว์, เชื้อสายของกษัตริย์'
แล้วยังหมายถึงระดับก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้าย ‘ส่างลอง’ หมายถึง เด็กชายหรือชายหนุ่มก่อนเป็นสามเณร
ตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วกลับลงมาเมืองมนุษย์ มีเทพสี่ตน (เทวดา 2 ตน นางฟ้า 2 ตน) ลงตามมาด้วย เพราะอยากเห็นบ้านเมืองมนุษย์
คิดว่าบ้านเมืองมนุษย์ต้องสนุกสนานมาก เทพทั้งสี่จึงแต่งกายสวยงาม สวมชฎามงกุฎ ฟ้อนรำร่วมกับมนุษย์ เวลามีงานปอยส่างลองจึงให้ส่างลองแต่งกายอย่างสวยงาม นำชฎามาสวมใส่ให้แก่ผู้บวชด้วย
Cr. ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน
'ปอยส่างลอง' หรือ 'งานบวชลูกแก้ว' เป็นพิธีเฉลิมฉลองการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธ ปกติจัดงานสามวัน แต่ผู้มีฐานะดีอาจจัด 5-7วัน นิยมจัดในช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงหน้าแล้ง ชาวบ้านว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมของเด็ก
ก่อนถึงวันประเพณีปอยส่างลองหนึ่งวัน เด็กผู้ชายที่เข้าร่วมงานจะต้องปลงผมและอาบน้ำให้สะอาดที่สุด เจิมด้วยน้ำหอม แต่งกายชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับอย่างอลังการ (อาจไม่ใช่เพชร, พลอย, ทองจริง) มีการแต่งหน้าแต่งตาด้วยสีสันจัดจ้านให้ดูสวยงามมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป
Cr. ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน
วันแรกของปอยส่างลอง หรือ 'วันเอาส่างลอง' เริ่มด้วยขบวนแห่ลูกแก้ว แต่งกายสวยงามเหมือนเทวดา แห่ไปรอบเมืองตามถนนหนทางต่างๆ มีเสียงดนตรีจาก มองเซิง (ฆ้องชุด) ฉาบ และกลองมองเซิง (กลองสองหน้า)
ในอดีตมีการขี่ม้า ต่อมาเปลี่ยนมานั่งเก้าอี้บนรถยนต์แทน ลูกแก้วแต่ละคนจะมีผู้ติดตามเป็นผู้ชาย ใส่ถุงเท้าสีขาวตลอดทั้ง 3 วันที่จัดงาน ห้ามเหยียบพื้น ไปไหนต้องมีคนคอยแบก(ม้าขี่) หรือขี่คอ มีอีกคนกางร่มยอดสูงประดับทองไม่ให้โดนแดดเผา มีคนดูแลเพชรพลอยของมีค่าที่สวมใส่ป้องกันการตกหล่นหรือโดนลักขโมย
เมื่อแห่รอบเมืองเสร็จ ก็แห่ไปเยี่ยมญาติหรือผู้อาวุโสที่บ้าน ไปแสดงความเคารพ รับศีลรับพร ญาติจะใช้ด้ายสีขาวผูกข้อมือให้ลูกแก้วเพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้าย หรือให้ของกำนัลเป็นเงิน เป็นขนม
Cr. ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน
วันที่สอง หรือ วันรับแขก มีขบวนแห่ประกอบด้วยเครื่องสักการะ ธูปเทียน เพื่อถวายพระพุทธ และเครื่องจตุปัจจัย ถวายพระสงฆ์ ในช่วงเย็น หลังจากลูกแก้วทานอาหารเสร็จ จะมีพิธีทำขวัญและสวดคำขวัญ เตรียมตัวเข้ารับการบรรพชาในวันรุ่งขึ้น
วันสุดท้าย หรือ วันบวช นำลูกแก้วไปวัด พอถึงวัด ลูกแก้วกล่าวขออนุญาตบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านอนุญาต ลูกแก้วก็จะกล่าวคำปฏิญาณตน และอาราธนาศีล แล้วเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นสามเณรอย่างสมบูรณ์
Cr. Thailand Festival
รายละเอียดวันเวลาและสถานที่จัดงานในปีนี้ มีดังนี้
- อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
วันที่ 22-25 มีนาคม 2566 ณ วัดแม่สะกึ๊ด
วันที่ 26-31 มีนาคม 2566 ณ วัดนาป่าแปก
วันที่ 3 – 5 เมษายน 2566 ณ วัดปางล้อ
วันที่ 3 – 5 เมษายน 2566 ณ วัดคาหาน
วันที่ 22-24 เมษายน 2566 ณ วัดในสอย
- อำเภอปาย
วันที่ 3 – 5 เมษายน 2566 ณ วัดป่าขาม
วันที่ 5 – 7 เมษายน 2566 ณ วัดแม่นาเติงใน
วันที่ 29 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2566 ณ วัดม่วงสร้อย
- อำเภอแม่สะเรียง
วันที่ 2 – 4 เมษายน 2566 ณ วัดศรีบุญเรือง
วันที่ 7 – 9 เมษายน 2566 ณ วัดสุพรรณรังษี
- อำเภอปางมะผ้า
วันที่ 20-22 มีนาคม 2566 ณ วัดแม่ละนา
วันที่ 25-28 มีนาคม 2566 ณ สำนักสงฆ์ถ้ำพญางู
- อำเภอขุนยวม
วันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2566 ณ วัดต่อแพ
วันที่ 3 – 5 เมษายน 2566 ณ วัดคำใน
- อำเภอแม่ลาน้อย
วันที่ 5 – 8 เมษายน 2566 ณ วัดดอยแก้ว
............................
ข้อมูลเพิ่มเติม : ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 053-612982-3
อ้างอิง : Wikipedia