เล่นน้ำยาว ๆ หลัง “สงกรานต์” "วันไหล" คืออะไร ที่ไหนจัดงานบ้าง?

เล่นน้ำยาว ๆ หลัง “สงกรานต์” "วันไหล" คืออะไร ที่ไหนจัดงานบ้าง?

ทำความรู้จัก “วันไหล” ประเพณีท้องถิ่นของชาวภาคตะวันออกและภาคกลางบางจังหวัด ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ไม่ได้มีดีแค่เล่นน้ำต่อจาก “วันสงกรานต์” เท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมทางศาสนาเข้าเกี่ยวด้วย พร้อมเช็คปีนี้ที่ไหนจัดงาน “ประเพณีวันไหล” บ้าง?

ใกล้เข้าสู่เทศกาล “สงกรานต์” วันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยกันแล้ว ซึ่งจุดเด่นสำคัญของเทศกาลนี้ ที่เป็นจุดสนใจของคนทั่วโลก คือการเล่นน้ำให้ชุ่มฉ่ำต้านลมร้อน ระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. แต่หลายจังหวัดยังคงมีการเล่นน้ำยาวต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 20 กว่า ๆ โดยใช้ชื่อว่า “วันไหล” ซึ่งอันที่จริงแล้ววันนี้ไม่ได้มีแค่เล่นน้ำเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอีกด้วย

 

  • ที่มาวันไหลสงกรานต์ 

วันไหล” หรือ “ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล” ถือเป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวเล คนไทยในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคกลางบางพื้นที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน ซึ่งมักจะจัดงานฉลองปีใหม่ขึ้นในช่วงหลังวันสงกรานต์ปกติ เป็นระยะเวลา 5-6 วัน 

ชาวบ้านจะก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา ให้ครบ 84,000 กอง เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ในศาสนาพุทธ​โดยแต่ละกองจะถูกตกแต่งให้สวยงามด้วยธงทิวต่าง ๆ รวมถึงมีผ้าป่า และสมณบริขารสำหรับถวายพระ และนมัสการพระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ และและเลี้ยงแขกผู้ร่วมงานในเทศกาลตรุษสงกรานต์

เมื่อเสร็จงาน ทางวัดจะนำทรายจากการก่อพระเจดีย์ทรายไปสร้างเสนาสนะ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ ปูชนียสถานในวัด หรือถมที่ทางบริเวณวัด ขณะที่วัดที่อยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง จะทำการขุดลอกทรายที่ฝนซัดไหลลงมา หรือที่เรียกว่า "ก่อพระทรายน้ำไหล" โดยจะมีการรวบรวมผู้คนช่วยกันขุดลอกให้สะอาด ฝนที่ตกลงมาจะได้ไหลผ่านได้อย่างสะดวก

แต่ในปัจจุบัน ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเครื่องมือ การขนทรายด้วยแรงคนแบบสมัยก่อนจึงไม่ค่อยมีให้เห็นกันในปัจจุบัน เหลือไว้เพียงการก่อพระเจดีย์ทราย และทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคลเท่านั้น 

  • จังหวัดใด จัดงานวันไหลปี 2566 บ้าง

1.งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน ประจำปี พ.ศ. 2566

ระหว่างวันที่ 16-17 เม.ย. 2566  ณ บริเวณชายหาดบางแสน ในการจัดงานครั้งนี้มีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย 

-  ปิดทอง และ สรงน้ำพระพุทธรูป  (16-17 เมษายน 2566) 

-  ทำบุญตักบาตรภัตตาหารคาว หวาน และข้าวสารอาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์จำนวน 37 รูป (เวลา 07.00 น. 17 เมษายน 2566) 

- รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ  (เวลา 08.30 น. 17 เมษายน 2566) 

- การประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน 

- การแข่งขันกีฬาพื้นบ้านสะบ้า ช่วงรํา วิ่งเปี้ยว ชักเย่อ มวยทะเล วิ่งผลัดข้าวหลาม การแข่งขันแกะหอยนางรม วิ่งสามขา 

- การจําหน่ายอาหาร และสินค้าพื้นเมือง 

- การแสดงวัฒนธรรมบนเวที และชมนิทรรศการทางวัฒนธรรม 

- การแสดงดนตรีของเหล่าศิลปิน นักร้อง นักแสดง ทั้งสตริงและลูกทุ่งชื่อดัง ฯลฯ

2. งานประเพณีวันไหลนาเกลือ และงานประเพณีวันไหลเมืองพัทยาประจำปี 2566

ระหว่างวันที่ 18-19 เม.ย. 2566 โดยแต่ละวันมีกิจกรรมดังนี้

วันที่ 18 เมษายน 2566 กิจกรรมประเพณีวันไหลนาเกลือ ณ ลานเอนกประสงค์ลานโพธิ์ นาเกลือ

- 07.00 น. กิจกรรมตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 99 รูป สรงน้ำพระพุทธรูป  พร้อมรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ และมอบของที่ระลึกผู้สูงอายุ 

-10.00 น. เริ่มเคลื่อนขบวนแห่รถบุปผชาติและพระพุทธรูป ออกจากมูลนิธิสว่างบริบูรณ์(นาเกลือ) มุ่งหน้าสู่สวนสาธารณะลานโพธิ์ 

วันที่ 19 เมษายน 2566 กิจกรรมประเพณีวันไหลเมืองพัทยา ณ วัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) และถนนชายหาดพัทยา 

-07.30 น. มีพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ มอบใบประกาศเชิดชูเกียรติผู้สูงอายุ พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ พิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน อาทิ ชักเย่อ  ปีนเสาน้ำมัน 

-12.00 น. เริ่มเคลื่อนขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป และรถบุปผชาติ 

-14.30 น. - 20.00 น.เวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย การแสดงวงดนตรีไทย การแสดงโปงลาง การแสดงรำวงย้อนยุค ก่อกองทราย การแสดงงานฝีมือนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา และการแสดงมินิคอนเสิร์ต จากเซ็นทรัล พัทยา 

 

3. วันไหลปลวกแดง 2566 จังหวัดระยอง

ระหว่างวันที่ 16-17 เม.ย. 2566  ซึ่งมีกิจกรรมดังนี้

วันที่ 16 เมษายน ประกวดแข่งขันก่อพระเจดีย์ทราย 

วันที่ 17 เมษายน (วันไหลปลวกแดง) มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลายอย่าง ได้แก่ ขบวนแห่หลวงพ่อโพธิ์ สรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ รำวงย้อนยุค มวยไทย การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน

 

4. ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2566 

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เดิมเรียกว่า สงกรานต์ปากลัด เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีศิลปวัฒนธรรมซึ่งสืบทอดกันมา หัวใจของงานคือการจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนแห่รถปุปผาชาติ การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย การฟื้นฟูสืบสานการละเล่นพื้นบ้าน วัฒนธรรมการแต่งกายและวิถีชีวิตของชาวมอญ หรือ ชาวไทยเชื้อสายรามัญ โดยในปีนี้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20

- 22 เม.ย. 2023  ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย
- การประกวดนางกรานต์ และหนุ่มลอยชาย
- พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่
- การกวนกาละแม
- การเล่นสะบ้า (สะบ้าบ่อน สะบ้าทอย)
- การแสดงทะแยมอญ ของชาวไทยรามัญ
- ขบวนแห่รถนางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ
- ขบวนแห่นก แห่ปลา
- การแสดงแสงสี ณ โบราณสถานป้อมแผลงไฟฟ้า
- การเล่นน้ำสงกรานต์
- ชมการแสดงบนเวที
- เลือกซื้ออาหารพื้นบ้าน และอาหารอร่อย